xs
xsm
sm
md
lg

หนัง “อาบัติ” จรรโลงหรือจัญ (อะ) ไร ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เนื้อหาไม่เหมาะสม, ตีแผ่เรื่องราวเชิงลบของพระพุทธศาสนา, เสียดสีการกระทำผิดพระธรรมวินัย ทั้งหมดนี้คือข้อครหาของภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" ที่ยังไม่ทันจะได้เข้าโรงฉาย ก็เป็นประเด็นถกเถียงถึงการวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์ไทยว่าควรหรือไม่? สะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธมองศาสนาเสื่อมไปแล้วจริงๆ หรือ? เพราะภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาแต่ละเรื่องนั้นใช้ผ้าเหลืองห่มคลุมความชั่วไปเสียหมด!?

 
ยังไม่ทันเข้าโรงก็ “อาบัติ” เสียแล้ว?

เกิดเป็นประเด็นดรามาทันที ทั้งๆ ยังไม่ทันได้เข้าโรงให้ได้ชม สำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “อาบัติ” ที่อำนวยการสร้างจากค่ายยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล และบาแรมยู ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างโหมกระหน่ำถึงเนื้อหาของเรื่องว่ามีความไม่เหมาะสม

เนื่องจากตีแผ่เรื่องราวเชิงลบของพระพุทธศาสนา โดยเนื้อหาของเรื่องเป็นการเสียดสีการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของสามเณร และเอาความผิดนั้นออกมาประจานออกสื่อเพื่อให้สังคมดูถูกเหยียบหยาม ซึ่งในหลักของความเป็นจริงแล้วหากสามเณรกระทำผิดหนักก็ต้องให้ลาสิกขาออกไป ถ้าผิดลองลงมาก็มีการลงโทษเบาลงมา




เมื่อประเด็นดังกล่าวของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแพร่สะพัดออกไป ผู้คนบางส่วนที่แสดงความเห็นกับหนังเรื่องนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเรื่อง ไม่เว้นแม่แต่ พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในทำนองที่ภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” มีความไม่เหมาะสมเพราะไม่ใช่หนังจรรโลงทางพระพุทธศาสนา โดยเนื้อหาบางส่วนมีใจความดังต่อไปนี้

“ล่าสุดตอนนี้ใกล้จะถึงประเพณีออกพรรษาแล้ว ก็มีหนังออกมาฉายอีกหนึ่งเรื่อง เป็นหนังที่มีเนื้อเรื่องเสียดสีการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ผู้สร้างหนังเรื่องนี้อาจจะคิดว่ามันเป็นหนังเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง แต่พระเณรทั้งประเทศกลับสงสัยว่ามันเป็นหนังจรรโลงหรือจัญอะไรพระศาสนากันแน่

ณ เวลานี้สังคมพระพุทธศาสนากำลังสงสัยจุดประสงค์หลักของหนังเรื่อง "อาบัติ" อยู่ เพราะหนังเรื่องนี้มีพระเอกตัวแสดงนำเป็นคนนับถือศาสนาคริสต์ แต่แสดงเป็นสามเณรในศาสนาพุทธ เนื้อเรื่องหลักสามเณรรูปนี้ได้กระทำผิดศีลธรรมที่ละเมิดศีลข้อ ๓ อะไรประมาณนี้ พูดง่ายๆ ก็คือหนังเรื่องนี้เอาความผิดของพระเณรบางรูปบางคนมาตีความประจานออกสื่อเพื่อให้สังคมดูถูกเหยียดหยามนั่นแหละ ซึ่งมันจะไปส่งผลทางจิตวิทยาให้กับผู้ชมว่าพระเณรนั้นปฏิบัติตัวไม่ดีประพฤตินอกรีตนอกรอย

อีกอย่างสังคมไทยชอบใช้ตรรกะเหมาเข่งอยู่ด้วยก็เข้าทางเลย ซึ่งเนื้อเรื่องของหนังมันอาจทำให้ศรัทธาของผู้ชมที่มีต่อพระพุทธศาสนาตกไปได้ อาตมาก็นั่งคิดอยู่ว่า "อาบัติ" หนังผีๆ หนังเปรตๆ มันจะช่วยจรรโลงพระศาสนาได้อย่าง อีกอย่างในหัวของผู้กำกับหนังไทยเวลาทำหนังเกี่ยวกับพระเณรทีไร ทำไมชอบทำหนังแนวผีๆ แนวเปรตๆ ทุกที เรื่องที่พระเณรทำความดีทำไมไม่ทำออกมาบ้าง”

ในทางกลับกันเมื่อโพสต์ดังกล่าวข้างต้นถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกระลอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับพุทธศาสนิกชนแต่อย่างใด เนื่องจากพุทธศาสนิกชนสามารถที่จะแยกแยะได้ และหากผู้ใดร้อนตัวอาจเป็นเพราะรับไม่ได้ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง




“ถ้าคนเสื่อมศรัทธา รายได้ของอาชีพพระจะลดลงครับ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้หนังเรื่องนี้มันไม่สามารถที่จะสั่นคลอนศรัทธาอะไรได้เลยถ้าพวกคอสเพลย์ทำตัวให้น่าศรัทธา พุทธศาสนิกชนก็ฉลาดพอที่จะแยกแยะได้ หากแยกแยะไม่ได้ก็ไม่ใช่พุทธศาสนิกชนที่ดี ก็แค่นั้น ทองแท้ไม่กลัวไฟ พระจัญไรกลัวหนังผี”

“กดเข้าไปดู แล้วคิดหนักกว่าเรื่องหนังอีก พระเณร เซลฟี่ ถ่ายรูป เช็กอิน กันรัวๆ เฟซบุ๊กมีไว้ศึกษาพระธรรมวินัยสินะ แถมพระบางรูป เมนต์แบบทางโลกเลย จิกกัดเล็กน้อย อ่านแล้วเหมือนท่าน เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆ นี่แหละ ยังไม่ตัด รัก โลภ โกรธ หลง เลยเพลียจริงๆ ที่เห็นแบบนี้”

“นอกจากมีเหยียดชนชาติแล้ว กำลังจะมีเหยียดศาสนาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองด้วย”

“เขาไม่ได้ทำหนังออกมาจรรโลงศาสนาหรอกครับพระคุณท่าน แต่เขาประจานสงฆ์ที่ทำตัวให้ศาสนาเสื่อมต่างหาก”

“ดูแลพระแท้ๆ ให้ปฏิบัติอย่าให้ใครถากถางก่อนจะดีนะ หนังมันก็คงสะท้อนมาจากเรื่องจริง ทำเป็นรับไม่ได้กัน”

 
ถ้าหลวงพี่ดู หลวงพี่จะไม่ทำ

หลากหลายข้อครหาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ในข้างต้น ทำให้ เสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ได้ออกมาเผยว่า ได้ยื่นหนังสือต่อ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้ทบทวนเนื้อหาภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่าเหมาะสมและมีความเป็นธรรมต่อคณะสงฆ์และชาวพุทธหรือไม่

โดยองค์กรภาคีเครือข่ายชาวพุทธประกอบด้วยสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เครือข่ายสตรีชาวพุทธแห่งประเทศไทย องค์กรเครือข่ายพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และองค์กรเครือข่ายชาวพุทธ ได้ประชุมหารือร่วมกันจากตัวอย่างหนัง และได้ข้อสรุปดังนี้
1.เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เป็นการดูหมิ่นและไม่เคารพต่อพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

2.ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าใดๆ ต่อสังคมไทย นอกจากความเกลียดชังและความขัดแย้งของผู้คนในสังคม

3.ผู้สร้างมีเจตนาที่น่าสงสัยว่าจะทำลายศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่

4.ไม่มีศาสนิกในศาสนาใดๆ สร้างภาพยนตร์จากจินตนาการแต่กลับไปรุกล้ำล่วงเกินต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างชัดเจน

โดยเนื้อเรื่องภาพยนตร์นำเสนอแง่มุมของพระสงฆ์ที่ประพฤติผิดศีลในข้อ 3 (ประพฤติผิดในกาม) การนำเสนอเนื้อเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน อาจจะทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ ดังนั้น การนำเสนอภาพยนตร์แนวนี้อาจเกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์




“หลวงพี่อยากดูนะให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดูหลวงพี่จะไม่ทำ” พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live อีกทั้ง ยังกล่าวต่อว่าคนดูมีวิจารณญาณในการรับชม เขาตัดสินและแยกแยะเองได้ว่าทั้งหมดนี้คือภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องจริง

“หลวงพี่เป็นกลางนะไม่ด่วนรับและไม่ด่วนปฏิเสธ เวลาที่เรารับสิ่งนี้ ถ้าเป็นตัวหลวงพี่คือเคารพวิจารณญาณของผู้ชม ว่าเขาไม่ได้เชื่อหมด เมื่อเขาดูแล้วเขาก็จะได้ตัดสินเอง ที่บอกว่าดูแล้วมันจะเชื่อหมดมันจะเสื่อมเสีย สมมติโยมดูโยมก็ไม่เสื่อมเสียหรอก เพราะว่าหนังก็คือหนัง แม้แต่หนังพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ตรงพระไตรปิฎกประเทศไทยในหลายเรื่องหลายตอน หนังก็คือหนังนั่นแหละ และมันก็ไม่ได้ย้อนกลับไปหาองค์พระพุทธเจ้า องค์จริงที่อยู่ในพระไตรปิฎก ในส่วนนี้มันก็เป็นเครื่องทดสอบนะ เหมือนอาศัยเรื่องนี้เป็นการเรียนรู้”

ภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาในปัจจุบันมีหลายแบบ หลายแง่คิดด้วยกัน ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์แนวอาชญากรรม เมื่อคนดู ดูแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตาม แต่เนื้อหานั้นๆ มันสอดแทรกข้อคิด หรือเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนดูมากกว่าว่าถ้ากระทำแบบในภาพยนตร์แล้วจุดจบคืออะไร

“หนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูเพื่อการบันเทิงแน่นอน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เลยว่าหนังก็คือหนังเป็นกรณีศึกษา ในนั้นก็มีพระ มีเณรอยู่องค์หนึ่งด้วยซ้ำไป หลวงพี่อยากดูนะให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดูหลวงพี่จะไม่ทำ มันมีหนังสงคราม หนังคนบาป หนังข่มขืน หนังฆ่า ทุกคนดูแล้วทำตามไหม หนังทุกวันนี้เป็นยังไงบ้างมีแต่หนังอาชญากรรม โจรแหกคุก แล้วมันสอนให้คนทำหรือสอนให้คนระวังตัว มันคล้ายๆ กัน แต่พอมาเป็นเรื่องศาสนา อะไรที่จับต้องไม่ถึง มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มันจะถูกหลงลืมไป

เป็นเครื่องวัดผล ยังไม่จรรโลงหรือทำให้ดีขึ้นหรือลดลง ถ้าหากว่าดูแล้วภาพรวมโดยส่วนมาก ข้อที่หนึ่ง มั่นใจว่าคนที่ดูไม่เลียนแบบหรอก พวกหลวงพี่ที่บวชอยู่ไม่เลียนแบบแน่นอน อันที่สอง หลวงพี่ว่าคนที่ไปดูครึ่งๆ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ มีวิจารณญาณว่านี่ไม่ใช่ มันเป็นแค่หนัง เป็นแค่กรณีศึกษา ไม่ได้เชื่อหรอก แล้วก็กลับไปกราบหลวงพ่อตัวเองที่วัดก็เหมือนเดิม”



อย่าเหมารวม..หนังเรื่องนี้ไม่ได้แทนพระสงฆ์ทั้งหมด!

พระมหาวิชาญ ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” อีกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเครื่องมือการเรียนรู้ อย่างหนึ่ง หากใครที่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเหมารวมว่าพระสงฆ์ไม่ดี หรือเป็นภัยไปเสียหมด ถือว่าขาดความรู้และเป็นการคิดจินตนาการมากจนเกินไป

“มันแปลกมากถ้าจะมีคนไปดูหนังแล้วบอกว่าคณะสงฆ์ไม่ดี มันเป็นเรื่องที่คิดจินตนาการเกิน แล้วถ้าดูหนังวัยรุ่นอะไรที่ออกมา ถ้าจะบอกว่าเด็กทุกคนเป็นหมด หลวงพี่ว่าไม่นะ คือส่วนตัวนะไม่ใช่ทั้งหมดหรอก เป็นเครื่องมือการเรียนรู้แล้วก็วัดผลว่า ถ้าคณะสงฆ์เห็นเรื่องนี้มันเป็นภัย แสดงว่าความรู้ของพุทธศาสนิกชนหรือว่าเยาวชนไม่เพียงพอ

เพราะฉะนั้น ที่มีการสอบธรรมศึกษายังไม่มีความคุ้มกันดีพอ เป็นเครื่องประเมินผล และเราก็หันหน้ามาจัดการการศึกษาและก็ให้ความรู้แก่เยาวชนหรือสามเณรที่จะหลงไป เหมือนกับมีเครื่องวัดผลชนิดหนึ่งที่อยู่กันไปตามประสาไม่มีแรงกระตุ้นที่ดีพอ เพราะเขาไม่ได้ประกาศว่าหนังเรื่องนี้แทนพระสงฆ์ทั้งหมด บางทีเขาก็บอกว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นบทบาทสมมติเขาก็จะขึ้นหน้าจอเอาไว้”




ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ในสมัยนี้ผลิตออกมาเสียดสีพระพุทธศาสนาหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ เรื่อง นาคปรก ที่ใช้ผ้าเหลืองมาห่มคลุมความชั่ว สะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธมองศาสนาเสื่อมไปแล้วหรือไม่?

“มันไม่ได้เสียดสีอย่างเดียวหรอก ยกตัวอย่าง เรื่องข้ามากับพระก็ดี มันมีสลับกันอยู่นะในโลกนี้ ถึงแม้คนเขาจะทำแบบมีเจตนาแอบแฝงก็ตาม แต่ว่าเราควรมีศรัทธาที่มั่นคง แล้วหนังมันก็คือหนังไม่ใช่เรื่องจริง หนังเกี่ยวกับพระส่วนมากก็ทำเสียดสีในแนวตลกนะ

หลวงพี่ว่ามาสนใจในยูทิวบ์ หรือในเฟซบุ๊ก ที่เณรกะเทยมาลง มันน่าสนใจและเป็นเรื่องจริงมากกว่าหนังอีกนะ แต่ในหนังนี่ก็รู้ว่ามันไม่จริงใครจะเชื่อว่าหนังเป็นเรื่องจริง อย่าไปเอาความกับเรื่องไม่จริง เรื่องสมมติ เรื่องมายา หลวงพี่ว่ามาจัดการพระ หรือเณรที่ทำกระกระทำที่ไม่เหมาะสมดีกว่า ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องจริง ต้องตามให้เจอ จัดการให้ได้”

อย่างไรก็ตาม พระมหาวิชาญ กล่าวทิ้งท้ายไว้วว่า ผู้สร้างภาพยนตร์แนวนี้ ต้องคำนึงการสอดแทรกคำสอนไว้ในบทด้วย เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นการให้แง่คิดกับคนดู และในส่วนของคนดูนั้น ควรจะดูเพื่อให้เกิดปัญญาและก็คิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้

“ความจริงการวิจารณ์ทำให้หนังเขาดังมากขึ้นด้วยซ้ำไป ควรจะแทรกคำพูดหรือบทบาท ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีคนไปดูแต่พอมีกระแสขึ้นคนอาจจะไปดูเยอะขึ้น และก็ควรแทรกบทกลางหรือสุดท้ายแทรกคำสอนไว้ ก็เสริมบทเป็นการเรียนรู้ เหมือนเอากฎแห่งกรรมมาเป็นกรณีศึกษา ก็สรุปเป็นบทเรียนให้ประชาชน ที่ไม่ควรกระทำแบบเณรองค์นี้แบบนี้เป็นต้น หรือคำพูดของตัวละครก็แทรกข้อคิดเกี่ยวกับหลักศาสนาด้วยไปด้วย

ความจริงอาบัติในพระไตรปิฎกก็มีเยอะมากเขาก็ยกมาข้อเดียวสองข้อ เรื่องจริงมันมีมากกว่าหนังอีกก็ต้องควรจัดการมากกว่า สิ่งที่ฝากคนดูหรือว่า หน่วยงานที่เดือดร้อนเราก็มองหาแนวทางประชุมหาทางป้องกันให้ความรู้กับสามเณรบวชใหม่ หรือระบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริงๆ ในวัด ในศาสนสถาน ในเฟซบุ๊กจะดีกว่า และถ้าเรื่องนี้มันกระตุ้นขึ้นก็หันมาทำอันนี้ซะ อย่าไปเอาความอะไรกับหนังเล็กๆ น้อยๆ เลย”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน: เฟซบุ๊ก พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น