อย่าเพิ่งโพสต์! เปลี่ยนขวดเบียร์เป็นขวดนมจะดีกว่า เพราะตอนนี้โพสต์รูปเหล้าเบียร์ลงโซเชียลก็มีความผิด แม้ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดาบ้านๆ ไม่ใช่ดาราหรือซูเปอร์สตาร์ก็ตาม!
แม้ไม่ใช่ดารา แต่ถ้าเจตนาโพสต์โฆษณาก็ผิด!
กลายเป็นประเด็นทางสังคมกับภาพทางสื่อออนไลน์ที่เหล่าดาราศิลปิน ดาราผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก ต่างโพสต์รูปภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง ผ่าน Instagram ( อินสตาแกรม) และ facebook ที่น่าแปลกคือศิลปินดาราเหล่านั้นโพสต์ภาพในลักษณธที่จงใจให้เห็นตราสินค้าคล้ายๆ กัน ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้แคปชั่นหรือคำบรรยายใต้ภาพยังมีลักษณะเชิญชวน เช่น รสนุ่ม ดื่ม หรือกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแพคเกจใหม่ของสินค้า โดยที่มาของประเด็นนี้ครั้งแรกเกิดจากการที่นักร้องหนุ่ม โดม ปกรณ์ ลัม ออกมาโพสต์ภาพของตัวเองกับเบียร์ยี่ห้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตามมีคำถามตามมาว่า หากดารานักแสดงที่โพสต์ภาพไม่ได้รับค่าตอบแทน เป็นการโพสต์ในนามส่วนตัว จะถือเป็นการโฆษณาแฝงหรือไม่ และนับว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดจริงหรือ โดยต่อมานายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเบียร์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต และจำหน่ายเบียร์ช้าง ได้ออกมาชี้แจงว่าเรื่องที่โดม ปกรณ์ลัม โพสต์รูปตัวเองลงโซเชียลมีเดียในขณะที่กำลังรินเบียร์ช้าง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ ทาง บริษัทฯ ไม่มีนโยบายที่จะใช้ดารา หรือศิลปินที่มีชื่อเสียงให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรม หรือโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด เพราะบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเรื่องดังกล่าวไม่ใชเรื่องของบริษัทฯ เป็นการกระทำของศิลปินคนนั้นเอง
หากประเด็นนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม รวมถึง เครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์อุตสาหกรรมสุรา และ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยกล่าวว่านอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ รวมถึง เป็นการโฆษณาแฝงเช่นกัน
แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้นคงเป็นความเห็นของ พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ (เฟซบุ๊ก) ที่ออกมาระบุว่าคนทั่วไปที่โพสภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย และอาจจะถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน!
กฎหมายมีมานานแล้ว
จากกรณีที่มีดาราบางกลุ่มแชร์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งใน Instagram จนเป็นกระแส เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครื่อข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้ออกมาเปิดเผยว่า ลักษณะการถ่ายภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วนำมาโพสต์ลงในสื่อโซเชียล ถือว่าเข้าข่ายการโฆษณาเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการตลาด และมีความผิดทางกฎหมาย
แน่นอนว่าหากเป็นสินค้าชนิดอื่นคงไม่มีผลกระทบกับสังคมได้เท่านี้ แต่เมื่อเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงส่งผลให้เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย ขณะเดียวกันยังเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนที่มีดารานักแสดงเป็นต้นแบบอยู่แล้ว คิดว่าการดื่มเหล้าเบียร์เป็นเรื่องปกติ และเท่ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเลียนแบบ และนำไปสู่การเริ่มอยากทดลองดื่มเร็วขึ้น โดยเชื่อว่าดารากลุ่มนี้จับมือกับกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ เพื่อส่งเสริมการตลาดอีกทางหนึ่ง โดยการตลาดทางนี้จะใช้งบประมาณน้อยกว่าช่องทางอื่นมาก
ทั้งนี้ กฎหมายได้ระบุโทษของ การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์ และทางป้ายโฆษณา พ.ศ.2547 ซึ่งออกโดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32
มาตรา32การโฆษณาจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง
การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์(วิทยุ,โทรทัศน์)
(1) การโฆษณาโดยผู้ใด(ทุกคน) ต้องเป็นไปตามประกาศของกรมประชาสัมพันธ์เรื่องหลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ (สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น.) และการโฆษณา นั้นจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา32ด้วย(ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดย อ้อม)
(2) การโฆษณาโดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(เฉพาะผู้ผลิตเท่านั้น) ต้องเป็นไปตามประกาศของกรมประชาสัมพันธ์เช่นกัน (สามารถโฆษณาเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น.) ประกอบกับการโฆษณานั้นจะต้องเป็นไป ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551มาตรา32วรรคหนึ่งและ มาตรา 32 วรรคสองด้วย คือต้องเป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์ สังคมเท่านั้น โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลย(ภาชนะที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกรูปแบบเช่น ขวด, กล่องกระดาษบรรจุ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,กระป๋องเป็นต้น) การโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ(โรงภาพยนตร์,ป้าย,หนังสือพิมพ์,นิตยสารฯลฯ) ผู้ใดและผู้ผลิตมีหลักเกณฑ์เหมือนข้อ(1)ทั้งหมด นอกจากนี้การโฆษณาทุกสื่อต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น
* 1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์ การโฆษณา เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์(ฉบับที่2)
* 2) กฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และ เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์ และทางป้ายโฆษณา พ.ศ. 2547เช่น ต้องไม่ เป็นข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม (ใช้นักกีฬานักแสดงนักร้องภาพการ์ตูนเป็นต้น) เพื่อให้การดำเนินการในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ตามมาตรา32หมวดที่4เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไป ด้วยความเรียบร้อย และเพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันการริเริ่มดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป อันเนื่องจากโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนเพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติถึงการกระทำที่มีลักษณะส่อหรือแสดงให้ เห็นว่ามีเจตนาที่จะโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา32ดัง ต่อไปนี้
1. โฆษณาที่ทำให้เกิดทัศนคติว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ประสบ ความสำเร็จทั้งทางสังคมและทางเพศหรือทำให้สมรรถนะทางร่างกายดีขึ้น
2. การโฆษณาที่ชักจูง เชิญชวน หรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์
(3) โฆษณาใช้ดารานักร้องนักกีฬาผู้ใช้แรงงานผู้มีชื่อเสียงในวงสังคมหรือเด็ก อายุต่ำกว่า 20ปีบริบูรณ์ เป็นผู้แสดงแบบโฆษณาโดยถือสถานภาพการเป็นดารานักร้อง นักแสดงณวันที่ออกอากาศเป็นครั้งแรก
(4) การโฆษณาที่ใช้ภาพการ์ตูน
(5) การโฆษณาที่มีการปรากฎภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์
(6) การโฆษณาที่มีลักษณะ แถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือมีการให้ ของแถม
(7) การโฆษณาที่มีลักษณะอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(8) การโฆษณาอื่นๆที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน การโฆษณาที่สามารถกระทำได้โดยผู้ผลิตจะต้องไม่ขัดต่อแนวปฏิบัติข้างต้นและ ให้ กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏ ภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเว้นแต่เป็นการปรากฏ ของภาพ สัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม แอลกอฮอล นั้นเท่านั้นทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆที่มีผลใช้บัง คับในปัจจุบันด้วย
สำหรับบทลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืน มาตรา 32 ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ายังไม่มีการแก้ไข หรือยังมีการฝ่าฝืนกระทำความผิดอยู่ จะมีการปรับรายวันอีก วันละ 50,000 บาท จนกว่าจะไม่พบว่ามีการกระทำผิดดังกล่าวแล้ว โดยบทลงโทษคือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนอย่างเช่นไม่ลบออก ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าหมื่นบาท
แต่ที่สร้างกระแสสังคมได้มากที่สุด คือประเด็นที่ไม่ใช่แค่คนมีชื่อเสียงเท่านั้นที่มีความผิด หากประชาชนทั่วไปหากมีการโพสต์ภาพลักษณะถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เห็นเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ชัดเจน ก็จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เนื่องจากตามกฎหมายครอบคลุมการโฆษณาหมายถึงการสื่อสารการตลาดด้วย กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้จึง ไม่ใช่เฉพาะดาราศิลปินหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่เป็นประชาชนทุกคน ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปหากมีการกระทำดังกล่าวก็ถือว่ามีความผิดทางกฏหมายเช่นกัน
อย่าจำกัดเสรีภาพ-ขอแค่ดื่มอย่างรับผิดชอบ
ภายหลังข่าวแพร่กระจายออกไป สร้างความไม่พอใจให้แก่นักดิ่มเบียร์ที่ชอบโพสต์ภาพ หรือรีวิวเบียร์เป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการริดลอนสิทธิเสรีภาพกันเกินไป แม้ภายหลังจะมีการชี้แจงว่าว่าในกรณีดังกล่าวหากมีการถือเฉยๆ ไม่ผิด แต่หากมีการอวดอ้างสรรพคุณหรือมีลักษณะในการโฆษณาเชิญชวนให้ลอง จะถือว่ามีความผิด ทั้งนี้จะดูที่เจตนา และเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว ในลักษณะนั้นก็จะไม่ผิดกฎหมาย
โดยภายหลังมีประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลมากมาย บางคนชี้ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินไป ทั้งบ้างก็ว่าหากดื่มอย่างมีจิตสำนึก รับผิดชอบ ดื่มแล้วไม่ขับก็น่าจะเพียงพอ
"ประเด็นนี้ ผมมองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินไป และแทบไม่มีประเทศไหนในโลกที่ทำแบบนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมองประชาชนเป็นเพียงเด็กน้อยที่ไม่มีความคิดวิจารณญาณ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทย ที่ไม่มีความเชื่อในวุฒิภาวะของคนในประเทศนี้เอาเสียเลย บางทีคนเราโตแล้วมีสิทธิที่จะเลือกดื่มบนความรับผิดชอบของตนเองและสังคม และดื่มแล้วไม่ขับน่าจะเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญและรณรงค์มากกว่า เพราะการบังคับให้คนไม่โพสต์ภาพ มันเป็นแค่ปลายเหตุ ไม่โพสต์แต่เขาก็ดื่มอยู่ดี ที่น่าจัดการมากกว่าคือพวกดื่มแล้วขับไปเป็นฆาตกรบนท้องถนน"
"รัฐเครือข่ายทางศีลธรรมและองค์กรขจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี่แหละ ที่มีพฤติกรรมมึนเมาที่สุด ข่มขู่คุกคามสร้างความเสียหายด้านสิทธิพลเมืองอย่างเรียกได้ว่าเป็นการกระทำชำเราอย่างที่สุด ในเมื่อผมมีวุฒิภาวะที่จะดื่มและเลือกดื่มได้ และสนับสนุนการดื่มแล้วไม่ขับรถ และไม่ไปลิดรอนสิทธ์ผู้อื่น ดังนี้แล้วท่านจะเอาอะไรอีก รู้ไหมพวกท่านน่ะเมามากแล้ว ไปนอนพักไปทำตัวอันธพาลระรานพลเมืองน่ะ"
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754