“การ์ตูนมันเป็นงานที่เหนื่อยที่สุดในบรรดาการวาดภาพ และมันก็ได้เงินน้อยที่สุดด้วย” ART JEENO นักวาดการ์ตูนชื่อดัง ผู้คว้ารางวัล International MANGA Award จากประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 2 สมัย ถ่ายทอดชีวิตนักวาดการ์ตูนไทยผ่านประสบการณ์ด้วยน้ำเสียงเนือยๆ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมวงการอีกไม่น้อยที่กำลังกัดฟันสู้ เพื่อให้การบอกเล่าผ่านลายเส้นด้วยหัวคิดคนไทย เป็นได้มากกว่าคำว่า “สื่อบันเทิงสำหรับเด็ก” หรืออคติจากกรอบความคิดที่มองว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”
หยุดวาทกรรม! “การ์ตูน = ไร้สาระ”
[เสวนา งานแถลงข่าวเปิดตัว “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)”]
“คนมักจะคิดว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมด การ์ตูนสำหรับเด็กก็มี แต่การ์ตูนก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ได้ด้วยเหมือนกัน คุณอ่านคำสาปฟาร์โรห์ คุณได้รับรู้ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสปี 1789 จากการ์ตูนเรื่องนี้ ผู้ใหญ่เยอะแยะในญี่ปุ่นที่อ่านการ์ตูน การ์ตูนเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่งที่มีอีกหลายประเภท แต่บ้านเรามักจะมองกันว่าเป็นความบันเทิงของเด็กไม่เกิน 6 ขวบ ซึ่งมันไม่ใช่ และการ์ตูนก็ไม่ใช่เรื่องไร้สาระด้วย ผมว่าคนพูดนั่นแหละที่ไร้สาระ!”
นี่คือเหตุผลที่ จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ตั้งใจหยิบเรื่องราวความเป็น “การ์ตูนไทย” ขึ้นมาเป็นพระเอกของงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)” ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. - 1 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้สังคมได้เข้ามาทำความรู้จักกับลายเส้นและคมคิดของนักวาดชาวไทยอีกครั้ง ในมุมมองที่แตกต่างออกไป
หวังกรุยทางให้การ์ตูนไทยกลับมามีที่ยืนและกลับมาขับเคลื่อนสังคมได้อีกครั้ง เหมือนอย่างที่ราชาการ์ตูนไทยอย่าง “ประยูร จรรยาวงษ์” นักเขียนการ์ตูนไทยเคยฝากลายเส้นสะท้อนสังคมเอาไว้ จากผลงานการทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย จนได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดการ์ตูนสันติภาพที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รางวัลมูลนิธิรามอนแมกไซไซ สาขานักหนังสือพิมพ์ ในปี 2514 สร้างผลงานอมตะที่ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การ์ตูนยังมีมิติที่หลายหลากเกินกว่าจะถูกขนานนามให้เป็นเรื่องเล่าสำหรับเด็กแต่เพียงอย่างเดียว
“การ์ตูนของอาจารย์ประยูร สะท้อนให้เห็นว่าในท่ามกลางความแหลมคมของเหตุการณ์ การ์ตูนทำหน้าที่อะไร ความจริงแล้วการ์ตูนก็มีหน้าที่รับผิดชอบสังคมและประเทศเหมือนกัน คิดดูว่าทำไม “โดเรมอน” ถึงได้เป็นมาสคอตของโอลิมปิกกรุงโตเกียว คนทั่วโลกรู้จักโดเรมอน มันเป็นเพราะว่าการ์ตูนมันมีมูลค่าอยู่ในตัวเอง
ถ้าเราคิดว่าการ์ตูนเป็นแค่สิ่งบันเทิงราคาถูก การ์ตูนก็อาจจะเป็นได้แค่เครื่องช่วยให้คุณอ่านประวัติศาสตร์ไทยได้ง่ายขึ้น เช่น ประวัติศาสตร์สามก๊ก, พระสุริโยไท หรือประวัติของใครต่อใครที่เล่าผ่านการ์ตูน แต่ถ้าคุณคิดว่าการ์ตูนมีส่วนในการสร้างชาติ การ์ตูนก็จะทำหน้าที่นั้นได้ เช่น การ์ตูนเรื่อง “อะตอมมิคบอย” ของญี่ปุ่น ที่เขาตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเห็นความโหดร้ายของปรมาณู”
[ลายเส้นของ "ประยูร จรรยาวงษ์" ราชาการ์ตูนไทย ซึ่งจะมีการจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย]
ถ้ายังวาดภาพไม่ออกว่าการ์ตูนจะสร้างมิติที่ลึกซึ้งทางด้านสังคมได้อย่างไร นิทรรศการ “100 ปี ประยูร จรรยาวงษ์ ราชาการ์ตูนไทย” คือไฮไลต์หนึ่งของงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ที่จะช่วยเปิดมุมมองของคนที่มองเห็นลายเส้นเหล่านี้เป็นเรื่องสำหรับเด็กได้มากขึ้น บวกพ่วงมาพร้อมคำถามสำคัญที่ตั้งเอาไว้ในนิทรรศการใหญ่ว่า “การ์ตูนไทยตายแล้ว?” ส่วนคำตอบจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับผู้มาเดินชมงาน ส่วนตัวนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยแล้ว มองว่า...
“ในอดีตบทบาทของการ์ตูนมีเยอะครับ แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ อยู่ที่ใครเขาจะหยิบเอามาใช้ตรงไหน อย่างในไลน์ (โปรแกรมแชตบนมือถือ) ถามว่าทำไมถึงใช้การ์ตูนหมด ก็เพราะมันมีอิทธิพลเยอะครับ เราเลยต้องกระตุ้นให้มาสนใจการ์ตูน แต่รัฐไม่เคยพูดถึงการ์ตูน ทั้งที่มีนักเขียนการ์ตูนไทยเยอะแยะที่ไปได้รางวัลที่เมืองนอก ถามว่าการ์ตูนไทยจะไปได้แค่ไหน มันก็อยู่ที่การยอมรับของคนไทยว่าเราสนใจเขาไหม และนิทรรศการในครั้งนี้ก็อยากจะช่วยเรียกร้องให้คนหันมาสนใจพวกเขา ถ้าทุกคนกลับมาสนใจ ซื้อหนังสือเขา ดูผลงานเขา อย่านิ่งดูดาย การ์ตูนไทยก็จะไม่ตาย การ์ตูนไทยก็จะฟื้นได้แล้วครับ”
จำเป็นไหม? การ์ตูนไทย = ลายเส้นไทย
[ลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของ ART JEENO/ ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @artjeeno]
“การ์ตูนไทยอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ คนเลยไม่รู้ว่ามีการ์ตูนไทยอยู่ แต่เราก็ยังสามารถอยู่ได้ และกำลังไปได้ในทิศทางที่ดีด้วยครับ” ปิยพัชร์ จีโน หรือ ART JEENO นักวาดการ์ตูนวัยรุ่นชื่อดัง เจ้าของรางวัลระดับนานาชาติ “Bronze Award” จากการประกวด ”International MANGA Award” ที่ประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ปีซ้อน บอกเล่ามุมมองเอาไว้ในฐานะศิลปิน บอกได้เลยว่ายุคแห่งโซเชียลมีเดียเป็นแรงผลักสำคัญที่ช่วยให้นักวาดไทยมีที่ยืน!
“โลกออนไลน์มันเป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดครับ คนสามารถสร้างผลงานหลากหลายรูปแบบตามที่ตัวเองถนัด ตามสไตล์ตัวเองเลย ถ้าเกิดสำนักพิมพ์มาเห็นและชอบ เขาก็ขอไปพิมพ์ ยิ่งเรามีเพจเป็นของตัวเองในเฟซบุ๊ก ก็จะมีกลุ่มที่ติดตามเพจอยู่ อย่างของผมเริ่มมาจากก่อนหน้านั้น ผมจะเป็น Blog ครับ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเพจ คนก็ตามมาเล่นเพราะมันเข้าถึงง่ายกว่า
แต่บางทียอดไลค์ในเพจมันก็ไม่ได้วัดอะไรมากหรอกครับ มีคนตามเยอะๆ มันก็ไม่ได้แสดงว่าเราเป็นคนเก่ง มันอยู่ที่ความตั้งใจด้วย เพราะถ้าแฟนเพจเยอะก็อาจจะเหลิงก็ได้ แต่มันเป็นตัวเลขที่จะทำให้สำนักพิมพ์ค่อนข้างมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะขายได้ หรือจะมีคนสนับสนุนก่อนที่เราจะเปิดตัวหนังสือจริงๆ แต่มันก็มีอีกกรณีหนึ่งครับ ที่คนกดไลค์น้อยๆ แต่ลายเส้นเกิดถูกใจสำนักพิมพ์ขึ้นมาก็แจ้งเกิดได้เหมือนกัน หน้าเพจมันเหมือนเป็น Portfolio ครับ ไม่จำเป็นต้องมีคนกดไลค์เยอะก็ได้ เพราะยอดไลค์มันแค่การันตีว่างานนี้น่าจะขายได้ แต่งานที่ดีไม่จำเป็นว่าคนต้องไลค์เยอะ เพราะบางทีงานดีแต่คนยังไม่เห็นก็มี”
[ปิยพัชร์ จีโน หรือ ART JEENO/ ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @artjeeno]
คำว่า “การ์ตูนไทย” ทุกวันนี้เป็นแบบไหน? เพราะเมื่อพูดถึงคำคำนี้ คนส่วนหนึ่งมักจะอดนึกถึงลายเส้นชนิดเดียวกับลวดลายไทยไม่ได้ จึงมาพร้อมคำถามที่ว่าผลงานของศิลปินสมัยใหม่ไม่ค่อยมีความเป็นไทย แต่ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องนี้คนถูกถามจึงช่วยแสดงทัศนะตามแบบของเขาด้วยน้ำเสียงเย็นๆ
“ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดเลยว่าการ์ตูนไทยต้องมีลายเส้นไทยไหม ผมว่าแค่คนไทยเขียนก็เป็นการ์ตูนไทยได้แล้ว ลายเส้นจริงๆ มันเป็นรูปแบบสากล มันคือการหยิบยืมกันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าลายเส้นแบบนี้เป็นลายเส้นญี่ปุ่นเหมือนกันครับ เขาก็หยิบยืมมาจากต่างประเทศเหมือนกัน
ทุกวันนี้ ผมมองว่าการ์ตูนไทยตอนนี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองคือ เราจะเป็นตัวใครตัวมัน แต่ละคนจะมีลายเส้นเป็นของตัวเอง จะแตกต่างกันเยอะเลยครับ เพราะมันเป็นยุคของการทดลองครับ ไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าการ์ตูนไทยต้องเป็นแบบนี้
ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ข้อได้เปรียบของเราคือเราสามารถทดลองทำอะไรก็ได้ครับ ไม่ได้หวังผลการตลาดอะไรมากมาย เราไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่อย่างญี่ปุ่นเขามีการแข่งขันกันสูงมาก การที่จะได้ลงอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ต้องแข่งขันกับคนอื่นสูงมาก ถ้างานไม่ได้รับความนิยมจะถูกตัดจบเลย แล้วเอาเรื่องอื่นมาแทน เป็นแบบนี้ตลอดเวลา อาทิตย์หนึ่งจะมีประมาณ 20 เรื่องที่ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ การแข่งขันสูงมากจนน่ากลัว และพอทำแบบนี้นานๆ มันจะเริ่มเป็นระบบ ก็เลยมีสูตรค่อนข้างชัดเจน
ถือว่าเรามีอิสระมากกว่า แต่ข้อเสียเปรียบก็คือบางทีเราก็เอาการ์ตูนไปต่อยอดแบบเขาไม่ได้ครับ เพราะที่ญี่ปุ่นเขาจะมีคนสนับสนุนเยอะ มีบริษัทที่ทำของเล่นโดยเฉพาะ ชอบการ์ตูนเรื่องนี้ก็เอาไปทำ บริษัทที่ทำหนังจากการ์ตูนก็มี หรืออย่างการ์ตูนญี่ปุ่นจะเห็นว่าเรื่องหนึ่งความยาว 50-60 เล่ม แต่ของเรา เราจะไม่สามารถทำเรื่องยาวได้ขนาดนั้นครับ ทำเล่ม 2 เล่มก็จบแล้ว เพราะมันไม่ได้การันตียอดขายว่าเราจะได้ไปต่อหรือเปล่า
สิ่งที่ผมอยากเห็นในวงการนี้ก็คือ ผมอยากให้มีสำนักพิมพ์ที่เพิ่มมากขึ้นครับ เพราะตอนนี้นักเขียนก็เริ่มมากขึ้นแล้วเหมือนกัน และในปัจจุบันงานที่โชว์ในอินเทอร์เน็ตมันมีเยอะมากเลยและงานดีด้วย และนี่แหละครับคืออนาคตของการ์ตูนไทยเลย เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน คนวาดการ์ตูนเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขียนการ์ตูนแล้วจะอยู่ได้หรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ก็ดูมีความเป็นไปได้ที่จะทำอาชีพนี้และดำรงชีวิตต่อไปได้ ถ้าอยู่อย่างพอเพียง
ทุกวันนี้ ระบบในเมืองไทยเรายังเทียบกับญี่ปุ่นเขาไม่ได้เลยครับ ถ้าเกิดเราอยากได้ผู้ช่วยเก่งๆ เขาก็ไม่มาเป็นหรอกครับ เพราะเขาก็อยากทำงานของเขา อีกอย่าง เราไม่มีเงินไปจ้างเขาด้วย การ์ตูนมันเป็นงานที่เหนื่อยที่สุดในบรรดาการวาดภาพ และมันก็ได้เงินน้อยที่สุดด้วย ถ้าเทียบกับวาดภาพประกอบ เราแค่ตีโจทย์บทความที่เขาส่งมา วาดภาพเดียว เราก็ได้เงินก้อนหนึ่งแล้ว แต่การ์ตูน กว่าจะได้หน้าหนึ่ง เราจะวาดกี่ช่องๆ ใช้เวลาบางทีเป็นวันๆ กว่าจะได้หนึ่งหน้ากระดาษ และเงินที่ได้มามันก็ได้ตามอัตรานักเขียนทั่วไป คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดพิมพ์
ในอนาคตก็ต้องรอดูครับว่าจะมีคนมาติดตามผลงานเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น เขามีคิดตามราคาค่าหน้ากระดาษเลยครับ และบางที่ก็มีเงินเดือนให้ด้วย และเขาจะมีการทำงานที่เป็นระบบ จ้างผู้ช่วยได้อีกประมาณ 4-5 คน คนเขียนหลักมีหน้าที่คิดเรื่องและวาดตัวละคร ส่วนผู้ช่วยก็มีหน้าที่แค่ถมดำ ลบรอยดินสอ ลงน้ำหนัก วาดแบ็กกราวนด์ ฯลฯ ผู้ช่วยมาจากคนที่ยังไม่มีผลงานตีพิมพ์แต่อยากรับจ็อบก่อน
ส่วนเรื่องคนจะสนับสนุนการ์ตูนไทยมากน้อยขนาดไหน ผมว่าความหวังคงต้องรอคนรุ่นใหม่ๆ แล้วครับ เพราะผู้ใหญ่ยุคนี้เขาอาจจะไม่ได้โตมากับการ์ตูนครับ ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น การ์ตูนเขาแข็งแรงมา 50-60 ปีแล้ว เด็กในยุคนั้นก็โตมาเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่ยังอ่านการ์ตูนอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีก็อ่าน แต่อย่างของเรา คงต้องรอคนรุ่นใหม่โตเป็นผู้ใหญ่ก่อน”
รอวัน “วัฒนธรรมการ์ตูน” แข็งแรง!
[ลายเส้นจากนามปากกา "คิ้วต่ำ"/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "คิ้วต่ำ"]
“ตอนนี้ผมอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้อย่างเดียวครับ ไม่ได้ทำงานกราฟิก ทำแค่วาดภาพประกอบครับ แต่ถามว่ามันอยู่รอดขนาดนั้นไหม เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราก็ไม่ได้รวยจนมีเงินเป็นแสนๆ ในแต่ละเดือน แต่เราก็คิดว่ามันเป็นหนึ่งอาชีพที่อยู่รอดด้วยเพราะเราใจรัก ยิ่งเราเกิดมาจากเพจ กระแสมันขึ้นๆ ลงๆ ยิ่งถ้าเราถอดใจไปตั้งแต่ช่วงกระแสลง เราก็อาจจะไม่ได้วาดรูปต่อ แต่เพราะเรามองว่ามันคืออาชีพที่เรารัก เราเลยอยู่กับมัน ผมว่าถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะไม่ทำร้ายเรา”
อนุชิต คำน้อย เจ้าของนามปากกา “คิ้วต่ำ” นักวาดชื่อดังจากโลกออนไลน์ มองว่าวัฒนธรรมการ์ตูนในบ้านเรายังไม่แข็งแรงเพียงพอ แต่ถือว่ายังโชคดีที่มีโซเชียลมีเดียช่วยหนุน ทำให้แจ้งเกิดได้ไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ได้ง่ายในระยะยาว
“เราสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้ง่ายขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะถึงมันจะช่วยให้เกิดง่าย แต่ถ้าไม่มีใครสนับสนุนต่อ ไม่ได้รับโอกาสต่อ หนทางของเขาก็อาจจะหยุดอยู่แค่นั้น เลยจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ก็เลยอยู่ที่แต่ละคน และอยู่ที่คนให้โอกาสด้วย ส่วนจะอยู่รอดไปได้แค่ไหน ต้องอยู่ทั้งที่ตัวนักวาดเองด้วยครับที่ต้องฝึกฝนตัวเอง เพื่อให้มีผลงานที่เป็นตัวเราเอง เป็นลายเส้นของเราเอง กับอีกด้านคือแรงสนับสนุนในการติดตามผลงานจากทางผู้ใหญ่ บางคนเขาเก่งนะครับแต่ไม่มีโอกาส เราควรให้โอกาสเขาเพื่อให้เขาได้เปิดเผยตัวตน ได้ออกหนังสือ
และคนที่อุดหนุนผลงาน ถ้าเขาได้อ่านลายเส้นเหล่านี้แล้วมีความสุข ก็อยากให้ลองไปติดตามนักวาดดู ไม่ว่าจะเป็นผลงานเขียน งานหนังสือ หรือผลงานออกแบบต่างๆ ที่เป็นการ์ตูน มันเหมือนเป็นการให้กำลังใจกันและกัน เหมือนเราได้ความสุขจากการอ่านแล้ว เราก็ควรจะส่งคืนกลับมาด้วยการติดตามผลงานของเขาดู แค่ 3-4 ส่วนที่ร่วมมือกันตรงนี้ก็น่าจะทำให้ทุกอย่างแข็งแรงขึ้นได้มากแล้วล่ะครับ”
[เจ้าของนามปากกา "คิ้วต่ำ" นักวาดการ์ตูนชื่อดังบนโลกออนไลน์]
ถ้าให้พูดถึงการ์ตูนไทยที่มีลายเส้นแบบไทยๆ จริงๆ เขามองว่าการ์ตูนผีเล่มละ 3 บาทคือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และช่วยสะท้อนวิถีความเป็นไทยหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกับลายเส้นจากนักวาดการ์ตูนไทยอย่างเขา ที่พยายามสอดแทรกวิถีชีวิตหลายๆ อย่างเข้าไปเช่นเดียวกัน
“ที่จริงผมชอบอ่านการ์ตูนเล่มละ 3 บาทนะ “ผีหัวขาด” “ฝังหลุม” “ตามล่าผัวเมีย” อะไรแบบนี้ (ยิ้ม) เรารู้สึกว่านั่นคือการ์ตูนไทยจริงๆ ถามว่ามันหายไปไหม มันไม่ได้หายหรอกครับ มันยังอยู่ตามท้องตลาด เพียงแต่เราไม่ได้สนใจที่จะไปมองมันมากกว่า
คำว่าการ์ตูนไทยสำหรับผม ไม่จำเป็นต้องเป็นลายเส้นไทยๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย ต่อให้เราวาดงอบแต่เป็นลายเส้นญี่ปุ่น คนก็รู้ว่านี่คือการ์ตูนไทย ถึงแม้มันจะได้รับอิทธิพลมาจากลายเส้นญี่ปุ่นก็ตาม เพราะมันคือวิถีชีวิต มันมีกลิ่นของความเป็นไทยอยู่ เพราะอย่างแรกเลย เราคือคนไทยที่วาด พอคนไทยวาดปุ๊บ มันก็ต้องเป็นการ์ตูนไทยแน่นอน ที่สำคัญคือเรื่องที่เราเล่า บางทีให้ฝรั่งมาอ่าน เขาไม่เข้าใจหรอกครับ เพราะไม่เข้าใจมุก อย่างมุกแท็กซี่ไม่รับ เป็นคนไทยก็รู้กันทั้งประเทศแล้ว
เอกลักษณ์งานของผมคือ เราจะคุยกันเหมือนเพื่อนครับ ลายเส้นบางลายเส้น คนอ่านหลายๆ คนยังบอกเลยว่าเขาวาดสวยกว่าอีก เป็นเพราะลายเส้นเราเป็นมิตร มันเป็นธรรมชาติ มันธรรมดามาก เพราะอยากให้มันเข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนสมัยนี้ที่อาจจะยากในการหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน อาจจะรู้สึกมันเป็นเรื่องยาก แต่เขาอยากให้มันเป็นเรื่องง่ายๆ มันเข้าถึงง่าย
เมื่อก่อนผมอาจจะทำรูปในเพจพร้อมคำสั้นๆ แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าใครได้เข้าไปติดตามอยู่จะเห็นว่ามันกลายเป็นคำยาวหมดแล้ว เขียนยาวเป็นหน้าๆ เลยก็มี ผมรู้สึกว่าอยากท้าทายตัวเองว่าเราจะมีความสามารถพอที่จะเขียนยาวกว่า 1 บรรทัดได้ไหม ก็เลยพยายามเขียนให้เยอะขึ้น เขียนให้ยาวขึ้น และมันก็กลับกลายเป็นว่าเด็กสมัยนี้เขาก็ไม่ได้สมาธิสั้นนะ เขาก็อ่านยาวได้ แค่เป็นเรื่องที่เขาอยากอ่านเท่านั้นเอง เรื่องที่อยากอ่าน จะยาว 3-4 หน้ายังไง เขาก็อ่าน ถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาชอบ”
[ปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ]
วัฒนธรรมการ์ตูนของบ้านเรายังไม่แข็งแรง! ปราบดา หยุ่น ช่วยวิเคราะห์ในฐานะอุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้การ์ตูนเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมแล้ว ถือว่าพื้นที่การ์ตูนไทยยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายประการ
“ถ้าไปที่ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าการ์ตูนมันซึมซับอยู่ในวัฒนธรรมเขาเยอะ แทบจะทุกอย่าง ไปในที่สาธารณะทุกอย่างเราก็จะเห็นเป็นการ์ตูนหมด อย่างบ้านเราป้ายจะเป็นตัวหนังสือ เป็นภาพถ่ายบ้าง หรือในทีวี แม้แต่รายการที่ดูซีเรียส แม้แต่รายการข่าว เขาก็จะมีการ์ตูนอยู่ในนั้นเสมอ มันเหมือนเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมเขาไปแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าบ้านเราจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้มากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าวัฒนธรรมไทยยังมีเส้นของการกำหนดว่า อะไรคือเรื่องจริงจัง อะไรคือเรื่องไร้สาระ อะไรคือการ์ตูน อะไรคือเรื่องของผู้ใหญ่หรือเด็ก ถ้าอะไรที่เป็นการ์ตูนมักจะถูกมองว่าคิกขุไปหน่อย แบ๊วไปหน่อยนะ ในขณะที่ที่ญี่ปุ่น เส้นพวกนี้มันไม่มีแล้ว ถึงจะเป็นอาจารย์ที่มีอายุ มีคุณวุฒิสูงๆ คุณก็ยังสามารถอ่านการ์ตูนหรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นรูปการ์ตูน คนก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป ในขณะที่ถ้ามาทำอย่างนั้นในบ้านเรา อาจจะถูกมองว่าทำตัวไม่เหมาะสมกับวัยหรือเปล่า
เส้นแบ่งอะไรหลายๆ อย่างอาจจะดีขึ้น ถ้าต่อไปคนไทยผลิตการ์ตูนที่มีสาระมากขึ้น หรือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่อ่านมากขึ้น ผมว่าสังคมก็จะเข้าใจได้เองว่า นิยามของคำว่า “การ์ตูน” ไม่ใช่เฉพาะความบันเทิงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นวิธีการสื่อสารและเล่าเรื่องแบบหนึ่งที่สามารถพูดถึงได้ทุกเรื่องทุกประเด็น อย่างเช่นในต่างประเทศมีการ์ตูนที่เกี่ยวกับค่ายกักกันนาซี ทุกเรื่องทั้งซีเรียส ทั้งตลก ทั้งเครียด มันก็เป็นการ์ตูนได้หมด
ถามว่าการ์ตูนไทยจะตายไหม? สำหรับผม ถ้าการ์ตูนยังสามารถไปอยู่ในโลกออนไลน์ ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ ผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นความหมายของ “ความตาย” ครับ ถ้าย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์เลย ก็อาจจะนับว่าการสลักรูปบนหินเป็นการ์ตูนก็ได้ การ์ตูนคือภาพวาดและการสื่อสารด้วยภาพ โดยที่คนจะรู้สึกถูกดึงดูดได้ง่ายเพราะเข้าใจง่าย สามารถซึมซับสารที่ต้องการสื่อได้เร็วกว่าการอ่านหนังสือ แล้วก็มีความบันเทิงด้วย เพราะฉะนั้น ความเป็นการ์ตูนมันไม่มีทางตาย เพียงแต่มันจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่แบบไหนเท่านั้นเอง”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
รายละเอียดเพิ่มเติม: “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 21 ต.ค. - 1 พ.ย.นี้
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754