ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร แต่สะพานแห่งนั้นมันทำให้ความหลังของใครบางคนในวัยเด็กเป็นแบบนี้...
...อดขนม อดน้ำอัดลม ซ้ำยังแอบจิ๊กเงินแม่วันละ 20 บาท เพื่อเก็บเล็กผสมน้อยเอาเงินไปซื้อตลับเกมแฟมิลี่ 66 in 1 ในราคาเกินครึ่งพัน เพื่อที่จะมาพบว่าในอีกร้านไม่ไกลกันขายอยู่ในราคา 450 บาท !
“ไปบ่อยนะตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว แรกๆ ก็ดีนะของถูก แต่พอมาหลังยุคหัวโปร (super famicom) ถ้าไม่มีร้านประจำคุ้นเคย จะโดนฟันราคากันเยอะ ยิ่งเด็กอ่อนๆ หัวเกรียน เจอหลอกแน่นอนยุคนั้น” โด่ง หนึ่งในเซียนสะพานเหล็ก เล่าย้อนไปถึงความหลัง
สะพานเหล็กเคยได้ชื่อว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในการซื้อขายวิดิโอเกม จากสมัยตลับเกม famicom สู่เครื่อง mega drive เข้าสู่ยุคตลับ super famicom ต่อมาที่ยุคแผ่น floppy disc ของหัวโปร Nintendo อันรุ่งเรืองก่อนเข้าสู่ยุคแผ่น CD ของเครื่อง play station จาก sony รวมถึงของเล่น รถบังคับ ไพ่ยูกิ ทั้งโมเดลต่างๆ มากมาย ก่อนต่อมาจะขยายมาเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวมถึงเป็นแหล่งค้า BB Gun ในยุคหลัง
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมมาเดินซื้อหาสินค้าแนวนี้ที่สะพานเหล็กมากกว่าตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป เนื่องจากว่าของเล่นต่างๆ และวีดิโอเกมเหล่านี้ มีราคาถูกกว่าตามห้างและร้านค้าทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่ไม่ช่ำชองทางสายนี้แล้วก็มีสิทธิถูกหลอกและฟันราคาเช่นกัน! หากล่าสุดทาง กทม. จะทำการรื้อถอนปิดตำนานสะพานแห่งนี้ โดยสั่งให้ผู้ค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 15 วัน ! ในแง่หนึ่งแล้วคือการจัดระเบียบแห่งการค้า หากอีกมุมหนึ่ง กทม. ก็อาจจะไม่เหลือแหล่งการค้าเก่าแก่อีกต่อไปในอนาคต
กทม. สั่งรื้อถอนใน 15 วัน!
“แต่สะพานเหล็กทุกวันนี้ มันแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว แม้แต่ร้าน อังเคิลจู ในตำนานก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนผมไปสะพานเหล็ก ถ้าซื้อ hardware ซื้อธวัชชัย software ก็อยู่ที่ร้านใครร้านมัน นั่นแต่ก่อนนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ไปเดินร่วมปีแล้ว” นี่คือถ้อยคำจากโด่ง หนึ่งในเซียนสะพานเหล็ก
สะพานเหล็กนั้นมีประวัติและชื่อเสียงการค้าขายมาอย่างยาวนาน แต่ล่าสุดสะพานแห่งนี้กำลังจะปิดตำนานของตัวเองลง โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยว่า วันนี้ (28 กย.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตพระนคร และสัมพันธวงศ์ เข้าไปติดประกาศแจ้งให้ผู้ค้าตลาดริมคลองโอ่งอ่างหรือสะพานเหล็ก ตั้งแต่บริเวณสะพานดำรงสถิตย์ ถึง สะพานบพิตรพิมุข ประมาณ 500 ราย ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน เพราะบริเวณดังกล่าวไม่ใช่จุดที่อนุญาตให้ทำการค้าขาย หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างผู้ค้าที่ปลูกสร้างในพื้นที่คลองจะต้องเป็นผู้ออกเองทั้งหมด เพื่อจัดระเบียบเมืองและคลองที่ได้รับความเสียหายจากการถูกรุกล้ำ
โดยตอนนี้ทาง กทม. ได้นำแผ่นป้ายขนาดใหญ่มาติดไว้ ใจความระบุว่า “บุคคลที่เข้าไปก่อสร้างอาคารหรือที่ตั้งทำการค้าในบริเวณคลองและที่ดินริมคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ขัดขวางการจราจรของประชาชน หรือทำให้สกปรกรกรุงรัง เป็นอุปสรรคขัดขวางการขุดคลองและพัฒนาคลอง ก่อให้เกิดปัญหาด้านการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 กำหนดบทลงโทษ ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ปัจจุบันคลองโอ่งอ่างได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การบุกรุกคลองโอ่งอ่างจึงถือว่าผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการรื้อถอนได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยและแจ้งให้ผู้บุกรุกทราบล่วงหน้ามาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ส่วนหนึ่งได้เตรียมตัวจะรื้อถอนแล้ว แต่มีบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจก็จะมีการทำความเข้าใจ
“เมื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกแล้วจะช่วยให้การระบายน้ำในคลองทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้จะปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่ริมคลองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสัญจรทางเรือด้วย เพราะตลาดริมคลองโอ่งอ่าง หรือสะพานเหล็ก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานเขตพระนครและสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ มีผู้ค้าประมาณ 500-600 ราย ส่วนหนึ่งมีร้านค้าอยู่แล้วแต่ส่วนที่บุกรุกต้องรื้อถอนนั้น กทม.ได้เตรียมพื้นที่รองรับบริเวณตลาดของกทม. และตลาดเอกชนไว้รองรับ โดยหลังจากดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าริมคลองโอ่งอ่างแล้ว กทม.จะตรวจสอบอาคารที่มีการต่อเติมผิดกฎหมายและจะดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว
“เดี๋ยวนี้ซื้อร้านไหนก็ได้ ถูก คนน้อย เป็นพอ ได้ของแล้วก็รีบกลับไม่อยากเหยียบที่นั่นนานๆ มันก็คงหมดเวลาของที่นี่แล้วมั้ง” โด่งบอกด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย
สะพานเหล็กในความทรงจำ
“เด็กยุคผม ยอมไม่กินขนมเก็บวันละ10บาท 35 วันเพื่อเกมก๊อบเกมเดียว แต่เด็กยุคนี้แผ่นเกมขึ้นราคา20บาท โวยวายประท้วงจะเลิกซื้อเกม ทั้งๆที่ค่าขนมตัวเองเป็น100”
“จะว่าไปสะพานเหล็กเป็นแหล่งช็อปปิ้งเกมและ hardware ที่สนุกในอดีตนะ อย่าลืมว่าสมัยก่อนมันไม่มีอินเตอร์เน็ต มีแต่หนังสือเกม แต่ข้อมูลมันก็จะช้าไง” โด่งเล่าย้อนความทรงจำ
สะพานเหล็กจึงเหมือนจุดศูนย์กลางที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของวงการเกมในอดีต
“สมัยป.1 พอจำได้ว่าครั้งแรกที่ไปสะพานเหล็ก เพราะพ่อผมพาไปที่แห่งหนึ่งผมจำได้ไม่ชัดเจนเพียงแต่คุ้นกับเหล็กที่พื้นเพดานมืดๆทางแคบๆ เวลาเดินเหยียบไปบนพื้นก็จะดังก๊องแก๊งๆ เพดานก็มืดทึบ อับๆ ตอนนั้นไปเพื่อซื้อเครื่องเกมอาตาริ (เครื่องเล่นเกมในยุค 80's)” นั่นเป็นสะพานเหล็กในความทรงจำครั้งแรกของโด่ง
“ต่อมาคงราวป.3-ป.4 พ่อพาไปที่นั่นอีกครั้งเพื่อเทิร์นเครื่องอาตาริ เป็นฟามิค่อม FR 101” เครื่องเล่นเกมสุดฮิตในยุคนั้น อันถือว่ามีราคาแพงมากในยุคนั้นคือ2,000บาท! “ผ่านมาหลายปีจน ม.ต้น ตอนนั้นผมลืมสะพานเหล็กไปแล้ว แต่จำได้ว่าผมอยากเล่นเกม rock man 3 มาก แต่มันหายากตอนนั้น แล้วที่มีก็ราคาแพงมาก เพื่อนผมแนะนำที่ให้มาที่นี่ ซึ่งตอนนั้นผมลืมไปแล้วนะ พอได้ไปถึงรู้ว่าเราเคยมาแล้วนี่หว่าเมื่อตอนเด็กๆ พอจำได้ว่าตอนนั้นซื้อตลับ rock man 3 มาด้วยราคาแค่ประมาณ 350 บาทเองมั้ง” แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้วสำหรับผู้ไม่สันทัดและหน้าใหม่ ก็อาจโดน “ต้ม” ได้เช่นกัน
“ร้านที่ผมซื้อประจำ พึ่งมาทราบตอนหลังว่าชื่อร้านธวัชชัย (หรือที่เรียกกันร้านเฮียตี๋) แต่ร้านไม่ดีก็เยอะนะ มันมาเริ่มต้นเอาช่วงยุคหัวโปรนี่แหละ (หัวโปรของ super famicom) มักจะใช้มุกพวกนี้เป็นประจำ อย่าง ร้านพี่ของแท้แน่นอน และราคาถูกกว่าร้านอื่นชัวร์ กับ นี่! หัวอ่านเหล็กอันนี้แน่นอนกว่า หรือ น้องซื้อร้านพี่นะ พี่รับประกัน 5 ปี 10 ปี ยันตลอดชีวิตเลย มุกนี้ก็ถือว่าเป็นมุกหากินแทบทุกร้าน” โดยเป็นที่รู้กันว่า ถ้าเกิดคุณเชื่อ ราคาที่คุณจ่าย จะไม่อยู่อยู่ที่ราคานั้นแน่นอน เพราะเขาก็จะมีลูกล่อลูกชนของเขา อย่าง น้องๆ เอาอันนี้ดีกว่าเพิ่มอีกนิดเดียว 400 เอง มือหนึ่งและเล่นเกมได้นานกว่าเครื่องตัวแรก คุ้มค่ากว่า ชัวร์”
“นี่คืออดีตของผมกับสะพานเหล็ก ม.ต้น ซื้อเครื่อง FR 101 ร้านสะพาน2 (ตอนนี้เจ๊งแล้ว) เป็นของมือสองราคา 900 บาท ม.ปลาย ซื้อ megadrive ร้านสะพาน1 ราคา 1,100 บาท (เจ๊งแล้วร้านนี้) แล้วก็ซื้อsuper famicom มาได้ในราคาที่ถูกมากๆ 1,800 บาท จากร้านโนเนม (เจ๊งแล้วร้านนี้) แต่ตอนนั้นไม่มีเงินซื้อหัวโปร ราคา 4,000
ม.ปลายอีกครั้ง ซื้อหัวโปรมือสองถูกๆจากร้านสะพาน4 โดนหลอกครั้งแรกในชีวิตพานเหล็ก (ความชั่วสะพานเหล็กมันเริ่มยุคหัวโปร) ม.ปลาย ซื้อ3DO ด้วยการขายทุกเครื่องที่สะสม แล้วเสียบไฟผิด เอาไปซ่อม โดนหลอกครั้งที่ 2 โดนยึดเครื่องไปเลยบอกว่าส่งกลับjap (เหยดเช่?) แล้วซ่อมไม่ได้ ร้านชื่อ มิลเลี่ยนเกมส์ ยังคงอยู่ทุกวันนี้
ซื้อ 3DO อีกครั้ง ที่ร้านธวัชชัย ร้านนี้ยอมขายให้ราคาพิเศษเพราะรู้ว่าผมโดนโกง แล้วก็จะตัดจอยกับหม้อแปลงออก (มีแล้ว) แล้วลดให้อีกต่อนึง จากนั้นมา ps1 gbp gbc gba gbasp gbm nds ps2 xbox gc ผมก็ซื้อร้านธวัชชัยหมดเลย ไม่เคยโดนโกงที่ร้านนี้ ร้านมีความรับผิดชอบสินค้า แถมราคาก็ถูกด้วย แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่เกิดไม่ถูกใจไม่ชอบหน้าขึ้นมา ก็ไปซื้อร้านอื่น”
นอกจากเกมแล้วในยุครุ่งเรืองสุดขีดของรถแข่งทามิย่า ภาพที่เห็นจนชินตา คือเด็กๆ จับกลุ่มมุงร้านแต่งรถพันมอเตอร์ดำแดงกันอย่างบ้าคลั่ง นอกจากรถทามิย่า ยังเป็นยุคบูมของโมเดล (พวกเรซิ่นคิต ซอฟท์ไวนิล) อีกด้วย ส่วนร้านขายโมเดลก็อปหล่อคุณภาพต่ำผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้วก็ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมีรถเข็นในตำนานกับคำเชิญชวนติดหูเด็กสะพานเหล็ก “โป๊มั้ยพี่ โป๊มั๊ย? แผ่นละ 60 ซื้อเยอะเหลือแผ่นละ 30บาท!” กล่าวได้ว่านอกจากจะเป็นแหล่งเกม สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเพศของวัยรุ่นยุคนั้นแห่งแรกๆ เลยก็ว่าได้ รวมถึงร้านนาซ่าที่ขายม้วนวีดิโอหนังต่างประเทศเรื่องดังมากมาย นอกจากหนังธรรมดาแล้ว ก็ยังมี "หนังอย่างว่า" จนตอนหลังร้านนาซ่าต้องปิดตัวไป เพราะลูกค้าเยาวชนเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนตำรวจต้องมาจับ
“หลายปีหลังๆ นี้สะพานเหล็กถึงยุคตกต่ำแล้ว แต่ก่อนไปสะพานเหล็กบ่อยมากๆ เดือนๆ หนึ่งนี่ราว 7-8 ครั้ง เวลามาสำเพ็ง ก็ต้องมาเดินเล่นสะพานเหล็กทุกครั้ง เดินดูนั้นดูนี่เพลินๆ ในมุมหนึ่งมันก็ดีนะการจัดระเบียบ เพราะหลายๆ ร้านก็ผิดรุกล้ำคลองจริงๆ แต่ก็ใจหายนะ ก็ไม่รู้ว่าต่อไปที่ไหนจะโดนปิดอีก อีกหน่อยก็คงต้องเดินห้างอย่างเดียวล่ะมั้ง” โด่งบอกกับเรา
ย่านค้าขายเก่าแก่คือเสน่ห์ของเมือง แต่ต้องไม่ละเมิดส่วนรวม
“ปัจจุบันโล่งมาก ขายกันอยู่ฝั่งเดียว อีกฝั่งปิดไปเกือบจะหมดแล้ว ร้านแผ่นเกมก็ยังเหลืออยู่บ้าง เอาจริงๆ แล้วส่วนหนึ่งที่คนไม่เดินไม่ใช่เพราะสะพานเหล็กมันชอบฟันขาจรหรอกครับ เพราะร้านดี ๆ ในนั้นมันก็มี แต่ที่คนไม่เดินเพราะเกมสมัยนี้มันโหลดเอาได้ bit เอาได้ สั่งซื้อออนไลน์ง่ายกว่าเยอะ” โด่งบอกถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ซบเซาลงในช่วงหลัง
ในอดีตคลองโอ่งอ่างเคยมีพื้นที่ 7-8 เมตร แต่ปัจจุบันถูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำจนเหลือพื้นที่คลองเพื่อระบายน้ำเพียง 1 เมตร นอกจากนั้นยังกลายเป็นแหล่งมั่วสุม แหล่งก่ออาชญากรรม ทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานเป็นจำนวนมาก เหล่านี้เป็นปัญหามาช้านาน เมื่อมองในมุมนี้ กทม.จึงต้องแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด หากในอีกมุมหนึ่งการจัดการโดยไม่เป็นการทำลายแหล่งพื้นที่ค้าขายเก่าแก่ดั้งเดิม ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเช่นกัน หากเราจะมองในมุมนี้
“ไม่ใช่ทุกร้านที่บุกรุกลงไปในคูคลอง ความจริงแล้วจะดีกว่าไหมหากเราจะจัดระเบียบเพาะร้านค้าเหล่านี้ โดยไม่ได้เหมารวมไปทั้งหมด เพราะร้านที่ทำถูกต้องความจริงแล้วก็มีอยู่มากเช่นกัน แล้วที่ตรงนี้มันก็ถือเป็นแหล่งค้าขายเก่าแก่ที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาช้านาน บางทีเราก็ควรจะอนุรักษ์ย่านการค้าเช่นนี้ไว้บ้าง” เฮียปอ หนึ่งในผู้ค้าย่านสะพานเหล็กให้ความเห็น
สอดคล้องกับร้าน Chanita Games - สะพานเหล็กที่ 9 ที่ได้ออกมาเรียกร้องผ่านทาง FB ส่วนตัวไว้ว่า “เรียนลูกค้า ร้านชนิตาเกมส์ สะพานเหล็ก ที่ 9 ที่รักทุกท่าน. เนื่องจากทางกรุงเทพมหานคร ประกาศรื้อถอน บริเวณริมคลองและที่ดินริมคลองโอ่งอ่าง คือ สะพานเหล็ก นั่นเอง ร้านชนิตาสะพานเหล็กที่9 ยินดีให้ความร่วมมือ ในการปรับวิสัยทัศน์ คูคลอง ให้ทางน้ำไหล สะดวก เพื่อเป็นประโยชน์แก่ สาธารณชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว, แหล่งช๊อปปิ้งและ เป็นสถานที่ที่ชุมชนสะพานเหล็กประกอบอาชีพมานานกว่า40ปี และเนื่องด้วยพื้นที่สาธารณะ สมบัติของแผ่นดินดังกล่าว เราจึงขออุทธรณ์ ขอความเมตตา. ภายใต้กระบวนกฎหมาย ด้วยกระบอกเสียงประชาชนชาวสะพานเหล็ก เพื่อให้มีชุมชนสะพานเหล็ก ต่อไป และเป็นระบบระเบียบเรียบร้อย เป็นสัดส่วน ในพื้นที่ไม่สร้างความเดือดร้อนใดๆ แก่พี่น้องประชาชนรวมถึงเรา ชุมชนสะพานเหล็ก เองค่ะ ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ”
หรือหากจะยกตัวอย่างเช่นในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองแห่งจักรยานและแม่น้ำลำคลอง ที่มีการจัดระเบียบย่านการค้าเก่าแก่ไว้ โดยคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ยังรักษาความสะดวกของการสัญจรและเคารพพื้นที่ส่วนรวม โดยตลาดนัดเก่าแก่หลายแห่ง จะมีการจัดระเบียบและดูแลความสะอาดกันเอง และจำกัดจำนวนร้านค้าเพื่อไม่ให้มีมากเกินไปจนรุกล้ำพื้นที่ส่วนรวม กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยไม่บดบังทัศนียภาพ รวมถึงการขายสินค้าที่มีคุณภาพและไม่เอาเปรียบคนซื้อ
“แต่กับเมืองไทยแล้ว ผมว่าคงยาก อย่าลืมว่าคุณภาพของคนในประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้านเราคนยังคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม” โด่งบอกทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก kanynegamer.blogspot.com
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754