ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อสัปดาห์ก่อนมีเรื่องวุ่น ๆ เกี่ยวกับ“การจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Passport”ถึงขั้นกระทรวงการต่างประเทศ ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม คสช. เร่งด่วน เพื่อขอใช้ ม.44 เป็นปัญหาที่คนไทยต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมีกระแสข่าวสะพัดไปทั่วสังคมออนไลน์ว่า วันที่ 3 มี.ค.นี้พาสปอร์ตจะหมด กรมการกงสุลจะไม่มีทำแล้ว
ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ ออกมายืนยันว่าตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่าโครงการหนังสือเดินทาง อิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ระยะที่ 2 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 มี.ค.60 นั้น ขอเรียนยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศยังให้บริการการทำหนังสือเดินทางแก่ประชาชนต่อไปตามปกติ ไม่มีกำหนดสิ้นสุด
ย้อนกลับไปดู “โครงการการจัดจ้างทำหนังสือเดินทาง”ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเว็บไซต์กรมการกงสุล (http://www.consular.go.th/index.php)และเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (www.mfa.go.th) เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ส.ค.53 (ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) ระบุว่า
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.48 กระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ลงนามสัญญาว่าจ้าง"กลุ่มบริษัทจันวาณิชย์ฯ" ให้ทำการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรก หรือที่เรียกกันว่า "อี พาสปอร์ต" ให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกำหนดเวลาสิ้นสุดการว่าจ้างฯไว้ที่จำนวน 7 ล้านเล่ม หรือระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา แล้วแต่เวลาใดจะถึงก่อน
ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ ประเมินแล้วว่าจะมีการส่งมอบเล่มหนังสือเดินทางครบ 7 ล้านเล่ม ประมาณเดือนส.ค.54 จึงได้เตรียมการจัดจ้างภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2
มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด คือ 1 . คณะกรรมการรับมอบระบบงานโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและรับมอบอุปกรณ์เครื่องมือ/เครื่องใช้ ซึ่งรวมถึง hardware/software ตลอดจนรับมอบระบบงานการผลิต และ 2. คณะกรรมการเพื่อการจัดทำและพัฒนาระบบหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและพิจารณารูปแบบของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ และวิธีการบริหารจัดการโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 และดำเนินการเพื่อจัดทำข้อกำหนดโครงการฯ(Term of Reference - TOR) ระยะที่ 2
มีการจัดจ้าง“สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”ซึ่งเป็นหน่วยราชการภายนอกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับระบบหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สถาบันฯ มาเป็นที่ปรึกษาสำหรับโครงการผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 และ เพื่อจัดทำ TOR รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์
มีการระบุ รูปแบบการดำเนินการโครงการฯ ระยะที่ 2 ว่า กระทรวงการต่างประเทศจะจัดจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุนในการพัฒนาระบบการผลิตทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดหา และพัฒนาระบบ การติดตั้งและพัฒนาระบบเครือข่าย การดำเนินการผลิต และการให้บริการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มต้นกระบวนการจัดจ้างได้ประมาณสิ้นปี 2553
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.55 ครม. ยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอก่อหนี้ผูกพันข้ามปีในวงเงินค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการจัดจ้างผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Passport ของประเทศ ระยะที่ 2 ไม่เกิน 5,804 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2562 เพื่อปรับปรุงรูปแบบหนังสือเดินทางให้ทันสมัยและเป็นแนวทางเดียวกันกับต่างประเทศ และสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
กล่าวคือ จะมีการทำสัญญากับผู้รับจ้าง คือกลุ่มบริษัท จันวาณิชย์ จำกัด
ทั้งนี้ กระทรวงได้กำหนดแผนวิธีพิเศษ มีการตั้งคณะกรรมการจัดจ้างดำเนินโครงการ โดยได้เชิญบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาตาม TOR มาเจรจาต่อรองราคา และสรุปค่าจ้างในราคาเล่มละ 829 บาท โดยกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้หักเงินค่าธรรมเนียมการกงสุลที่ได้รับชำระตามกฎหมาย ในอัตรา 30% ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำ E-Passport จำนวน 7 ล้านเล่ม ได้จนถึงสิ้นสุดปี 2560
มีการขออนุมัติ ครม.ในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณก่อนดำเนินการทำสัญญาจ้าง และงบประมาณในการดำเนินการมาจากค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ E-Passport ไม่ใช่งบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงไม่จำเป็นต้องขออนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี
สาเหตุที่กระทรวงการต่างประเทศใช้การจัดจ้างแบบพิเศษ เนื่องจากในการจัดทำโครงการประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เชิญชวนเอกชนผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา
"มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 4 ราย ทำการสาธิตและทดสอบระบบ ปรากฏว่า มีเอกชนเพียงรายเดียวผ่านเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคา กระทรวงจึงต้องยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุฯ"
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค.55 มีการทำสัญญา ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับเอกชน กล่าวคือนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ในฐานะ “ผู้ว่าจ้าง”เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการลงนามเซ็นสัญญากับ น.ส.จิรวัลย์ ยุทธโกวิท ในฐานะ“ผู้รับจ้าง”เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ,บริษัท จันวาณิชย์ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด และ บริษัท NEC ASIA PACIFIC., LTD.ตามสำเนาเอกสาร Consortium Agreement of E-Passport Project ซึ่งได้มีการลงนามโดยบริษัททั้งสามข้างต้น ปรากฏตามสำเนาร่วมค้า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.54 แบบท้ายสัญญาฉบับนี้
อ่านสัญญาว่าจ้าง ผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาเลขที่ 17 /2556 http://www.mfa.go.th/…/…/bulletin- 20170214-110521-845366.pdf
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ.60 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศราคากลางโครงการจัดจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม (Repeat Order)ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโครงการจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 1,243,875,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 60 ได้มีการกำหนดราคากลาง ตามจำนวนดังกล่าวตกเล่มละ 829.25 บาท
สำหรับปัญหาที่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช. "พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าถึงการประชุมเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันมีประชาชนเดินทางไปติดต่อขอทำพาสปอร์ต และต่อพาสปอร์ต วันหนึ่งประมาณ 10,000 เล่ม ซึ่งในการทำ e-Passport นั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)ได้ไปตกลงว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้ดำเนินการ โดยมีสัญญาว่าจ้างระบุไว้ 7 ล้านเล่ม หากการดำเนินการ e-Passport ครบ 7 ล้านเล่มถือว่าหมดสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้ เหลือพาสปอร์ตอยู่จำนวนประมาณ 30,000 เล่ม ก็จะครบ 7 ล้านเล่มตามสัญญาว่าจ้างที่ตกลงไว้ ไม่เกินวันที่ 3 มี.ค.60 ก็จะครบตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ซึ่งถ้าเลยวันที่ 3 มี.ค.60 ประชาชน หรือบุคคลใดจะไปขอทำพาสปอร์ตไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่าได้มีการคิดและจัดเตรียมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว โดยมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding เพื่อหาบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการดำเนินการ
ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี เนื่องจากต้องมีลายน้ำ ลายเส้น และต้องมีการประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงของทุกประเทศ เพราะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยของทุกประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนร่างขอบเขตงานจ้างหรือ TOR ได้ง่าย ๆ
ซึ่งระหว่างที่รอการดำเนินการดังกล่าว 1 ปี นั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศได้หาแนวทางออกไว้โดยจะทำสัญญาใหม่กับบริษัทเดิม หรือ Repeat Orderกับบริษัทเดิมต่อไปอีก 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องและบรรจบกับห้วงเวลาที่ทำ e-Biddingโดยเก็บค่าบริการกับประชาชนสำหรับการทำพาสปอร์ต 1,000 บาท
ซึ่งการที่กระทรวงการต่างประเทศ จะทำ Repeat Orderกับบริษัทเดิม จึงได้นำสัญญาในการที่จะทำ Repeat Order ดังกล่าวให้ “สำนักงานอัยการสูงสุด”ตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเดิมอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และหากจะดำเนินการก็จะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ และพบเป็นความผิด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การออกมาตรา 44 เพื่อให้บริษัทเดิมทำงานไปก่อน 1 ปี ระหว่างที่รอทำ e-Bidding ให้บริษัทใหม่เข้ามาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม คสช. ยังไม่มีมติที่จะให้มีการออกคำสั่งตาม มาตรา 44 แต่มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้บริษัทเดิมทำหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ e-Bidding โดยมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ในการที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง. สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจกับ ตง. ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยไม่ยึดเพียง กฎ กติกา หรือระเบียบอย่างเดียว แต่ให้พิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ประกอบการดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44
ทั้งนี้ หากสตง. ยังยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จึงค่อยกลับมาพิจารณาในเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 อีกครั้ง
สรุปง่าย ก็คือ คสช.อยากจะให้ โครงการนี้ผ่านไปโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีปัญหากับประชาชนที่มีความต้องการใช้ “e-Passport “จำนวนมาก แต่กลับกัน หากอัยการสูงสุด หรือ สตง. หลับตาปล่อยให้ “กระทรวงการต่างประเทศ ”ต่อสัญญาอีพาสปอร์ตไป ก็จะกลายเป็นปัญหาอื่นขึ้นมา ม.44 คือ ทางออกสุดท้าย