“นมบูด เป็นก้อนเหนียวข้น มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง ระบุวันหมดอายุเดือน ก.พ. 2559” อีกครั้งกับปัญหาที่ไม่เคยจบสิ้นของนมโรงเรียน อะไรคือสาเหตุ ความบกพร่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเป็นความสะเพร่าของผู้ประกอบการกันแน่?!
ยืดเยื้อ! บูดแล้วบูดอีก
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มักจะเห็นจากข่าวหรือได้ยินอยู่บ่อยครั้งสำหรับปัญหา ‘นมโรงเรียนบูด’ ที่เรียกได้ว่าเป็นปัญหายืดเยื้อมานานและไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้เสียที ล่าสุดเกิดเหตุการณ์นมโรงเรียนบูดซ้ำขึ้นอีก คราวนี้เป็นการแจ้งจาก “วิไลวรรณ กองนันท์” ครูในโรงเรียนบ้านน้ำลี ต.ปิงหลวง อ.นาหมื่น จ.น่าน โดยแจ้งว่ามีนมเน่าเสียปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก เกรงว่าหากมีเด็กเคราะห์ร้ายดื่มเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายได้
โดยนมมีสภาพเป็นนมบูด เป็นก้อนเหนียวข้น มีกลิ่นเหม็น และที่อึ้งไปกว่านั้นที่ตัวกล่องระบุวันหมดอายุเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 และจากการตรวจสอบยังพบว่าจะมีนมบูดปะปนมาในกล่องทุกครั้ง แต่ครั้งล่าสุดพบเป็นจำนวนมาก โดยใน 1 หีบ จะมี 48 กล่อง แต่พบนมที่สามารถดื่มได้เพียง 1-2 กล่องเท่านั้น โดยทางโรงเรียนได้แจ้งไปยัง อบต. แล้ว ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่าทางบริษัทจะรับเปลี่ยนให้
ภายหลัง “อุทัย ทองคุ้ม” ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพื้นที่น่าน จึงได้เข้าตรวจสอบโดยเฉพาะเอกสารสัญญากับบริษัทผู้ผลิต พบว่าบริษัทดังกล่าวอาจไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นคู่สัญญา เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกนมคุณภาพขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.)
จึงให้มีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่บริษัทนำมาประกอบการทำสัญญาต่อคณะกรรมการ เพื่อเป็นผู้ผลิตและส่งนมให้โรงเรียนในพื้นที่ ว่ามีการแอบอ้างหรือปลอมแปลงเอกสารหรือไม่ โดยจะประสานกับ อสค. ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้คณะกรรมการทบทวนหาข้อมูลให้ชัดเจนโดยเฉพาะกระบวนการผลิตและคุณภาพของนมด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกแพร่สะพัดออกไป ทางเขตพื้นที่การศึกษาน่านเขต 1 ขอชื่นชมครูสาวที่นำเรื่องนมบูดดังกล่าวออกมาเปิดเผยสู่สังคม เพราะถือเป็นเสียงสะท้อนจากครูโรงเรียนเล็กๆ แต่นำไปสู่การแก้ไขที่ดีขึ้นในระดับประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อเด็กนักเรียนทุกคน และเตรียมมอบใบประกาศให้เป็นครูดีเด่น
ต้องโปร่งใสและชัดเจน!
“จริงๆ แล้วกรณีอย่างนี้มันไม่น่าเกิดขึ้นแล้วเกิดซ้ำอีก เพราะว่าถ้ามันสามารถที่จะบริหารอย่างโปร่งใส มันไม่น่าที่จะมีปัญหา” และนี่คือทัศนะของ “รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์” ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวข้างต้นผ่านทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live อีกทั้งยังมองว่าต้องหาสาเหตุของกรณีนี้ให้ได้ว่ามาจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ให้ถูกทาง เพราะหากไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
“การมีส่วนร่วมมันจะมีความสำคัญ เพราะฉะนั้น มันต้องบริหารอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าใครผูกขาดแล้วก็จัดการ มันก็จะเป็นปัญหานี้ แต่ว่าประเด็นสำคัญคือต้องหาสาเหตุก่อนว่ามันมาจากไหน ยังไง อะไร แล้วมันถึงจะแก้ถูกจุด ถูกที่ถูกทาง สาเหตุมันมาได้หลายทางมาก แต่ว่ากรณีนี้อาจารย์ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง
บางโรงเรียนอาจใช้วิธีการซื้อเป็นแบบไม่เป็นกล่องพาสเจอไรซ์ เราก็ไม่รู้ว่ามันมาจากแบบไหน บางโรงเรียนเขาใช้วิธีการที่ให้ส่งนมสดมา กับอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกพาสเจอไรซ์ ซึ่งพวกพาสเจอไรซ์นั้นมันก็อยู่ที่กระบวนการขนส่ง แล้วก็การที่มันต้องดูแล เพราะว่าถ้าพาสเจอร์ไรซ์มันมาเป็นอุตสาหกรรม มันต้องมียี่ห้อ ต้องสาวไป ต้องมีการรับผิดชอบว่ามี อ.ย. หรือเปล่า
มันผลิตถูกต้องตามกระบวนการหรือเปล่า แต่ว่าถ้าเป็นในลักษณะที่จัดในพื้นที่ อันนี้ต้องดูว่ากระบวนการในการมันถูกต้องไหม มันบริสุทธิ์ไหม มันต้องขึ้นอยู่กับแต่ละที่ที่จัดการ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง มันก็จะช่วยได้เยอะ ปัญหาเหล่านี้มันก็ไม่ควรจะเกิด”
เมื่อมีข่าวกรณีนมบูดเกิดขึ้น หลายคนสงสัยทำไมส่วนใหญ่ถึงเกิดขึ้นเฉพาะกับนมโรงเรียนเท่านั้น? รศ.จิราพร สร้างความกระจ่างโดยมองว่าเพราะนมโรงเรียนเป็นล็อตใหญ่เลยยากต่อการตรวจสอบ ส่วนการแก้ปัญหาและทางออกที่ดีที่สุดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อให้ความโปร่งใส และชัดเจนต่อผู้บริโภค
“เพราะว่านมโรงเรียนมันเป็นล็อตใหญ่ คือมันจัดซื้อกันเพราะเด็กนักเรียนมีเยอะมันก็มีปัญหาแบบนี้ แต่ถ้ากรณีผู้บริโภคเองเราไปซื้อ ผู้บริโภคเองก็สังเกตถึงได้รู้และตรวจสอบ แต่พอซื้อมาล็อตใหญ่มันก็เป็นผู้บริหารโรงเรียนต้องตรวจสอบ ในกรณีนี้อาจเป็นครูที่เขาเห็นแล้วทำไมมีกลิ่นไม่ค่อยดี อาจกังวลว่าลูกศิษย์จะท้องเสียเลยร้องเรียนไป
การแก้ปัญหา คือการบริหารจัดการของเรานั้นต้องโปร่งใส ต้องชัดเจน ต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกรรมการ ในเรื่องอะไรก็ตามที่บริหารจัดการเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปแก้ไขที่ต้นตอด้วย ส่วนเรื่องระบบก็สำคัญ ระบบการจัดการของแต่ละที่มันก็ต่างกัน ถ้าเป็นระบบที่ดีคือระบบที่มีส่วนร่วม ช่วยกันในการพิจารณาด้วยความโปร่งใส ชัดเจน”
ต่อข้อซักถามที่ว่าผู้บริโภคเชื่อมั่นได้อย่างไรว่านมโรงเรียนจะมีความปลอดภัยที่มากพอ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้ายว่า หากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ทุกคนต้องช่วยกันบริหารจัดการความโปร่งใสอีกทางหนึ่ง เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้บุตรหลานตกเป็นเหยื่อความสะเพร่าของผู้ประกอบการ
“มันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม ถ้ามีส่วนร่วมแล้วมันจะแก้ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีได้ ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนของครู อาจารย์ในโรงเรียนนั้นก็มาช่วยกันบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส มันถึงจะแก้เรื่องภาพลักษณ์ได้ ไม่อย่างนั้นมันคล้ายกับความไว้วางใจมันไม่มี”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754