ปีการศึกษาใหม่ ปี 2559 ที่จะถึงนี้ มีมาตรการออกมาชัดเจนแล้วว่า สถาบันที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้ง 19 แห่ง จะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียน ตามเกณฑ์พิจารณาเรื่องบุคลิกภาพ ทรงผม และเครื่องแบบที่ตั้งใจปรับให้เข้มงวดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง! ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่าการแบ่งแยกคนบางกลุ่มออกไป จะช่วยทำให้ปัญหานักศึกษาอันธพาลและภาพเละๆ ที่เคยมีดีขึ้นได้จริงหรือ?
ไม่ได้ดูถูก แต่อยากปรับภาพลักษณ์สถาบัน
(ขอบคุณภาพ: mthai.com)
“ที่ออกมาตรการมาแบบนี้ เราไม่ได้ดูถูกนะครับ ไม่ได้ตัดสิทธิอะไรใครเลย แค่เป็นมติในที่ประชุม ก็แล้วแต่แต่ละสถาบันการศึกษาจะรับไปพิจารณาครับ อย่างในโรงเรียนมัธยมต่างๆ เราก็ทำมานานแล้ว สถานประกอบการ บุคลากรต่างๆ ก็มีการพิจารณาในเรื่องของภาพลักษณ์ตลอดอยู่แล้ว อันนี้ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งในนั้น
ที่สำคัญที่สุด เราอยากให้ผู้ที่สวมชุดนักศึกษาเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการทำงาน แล้วก็เป็นผู้ที่มีคุณค่า ไม่ใช่ว่ามีบุคลิกที่น่ากลัวจนทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมเสียหาย มันก็จะทำให้ความรู้สึกปลอดภัยต่อสังคม ต่อชุมชนหายไปด้วย
ปกติแล้ว การพิจารณารับนักศึกษาเข้าเรียนหรือไม่ มันจะมีเรื่องการแต่งกาย ความประพฤติ การสอบสัมภาษณ์อยู่แล้วนะครับ ทุกที่ก็จะสามารถรับหรือไม่รับนักศึกษาได้ครับ”
ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดใจให้รายละเอียดเอาไว้กับ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live หลังมีมติจากที่ประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 19 แห่งออกมา เห็นพ้องว่าจะทั้งหมดนี้เป็นสัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักศึกษาที่ควรกำหนดเข้มให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียที โดยให้สถาบันที่เปิดสอนด้านช่างอุตสาหกรรมเป็นสถาบันนำร่องไปก่อน หากเห็นผลออกมาดีอาจมีการขยายผลไปยังสถาบันที่เปิดสอนด้านอื่นๆ เพิ่มอีก โดยในขณะนี้ มีสถาบันอีกกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ อยู่ภายใต้การดูแลประสานงานของสมาคมแห่งนี้
“เรามีหลายมาตรการนะครับ มีทั้งเรื่องมาตรการการดูแลทรงผม เครื่องแต่งกาย และมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการพกอาวุธและยาเสพติดด้วย ถ้าตรวจพบที่นักศึกษาคนไหนเราก็จะจัดการให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา และยังมีการจัดทำลิฟต์สำหรับเฝ้าระวังโดยตรงด้วย
ส่วนเรื่องการเจาะหูและเรื่องรอยสักก็เป็นระเบียบข้อหนึ่งที่อยู่ในมาตรการการควบคุมเรื่องเครื่องแต่งกาย บุคลิกภาพ และทรงผม รอยสักที่ว่านี้หมายถึงรอยสักนอกร่มผ้า คือไม่อยู่ภายใต้เสื้อหรือกางเกง หรือเป็นรอยสักที่มีข้อความหรือตราสัญลักษณ์ในเชิงยั่วยุ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่แต่ละสถานศึกษาครับว่าเขาจะดำเนินการรูปแบบไหน เพราะบางสถานศึกษาก็ไปตรวจละเอียดเลย เพราะบางสถานศึกษาก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับโรงงานเลยครับที่จะมีการตรวจพนักงานในการเข้าไปทำงาน
โดยรวมแล้วมันคือการควบคุมเรื่องบุคลิกภาพครับ เพราะปัจจุบันพบว่านักศึกษาบางแห่งดูแล้วมีความน่ากลัว แสดงท่าทีไม่เหมาะสมต่อการเป็นสถานภาพนักศึกษาอยู่ ทางสถานศึกษาต่างๆ ก็ควรจะต้องเร่งปรับแก้ไขจุดนี้ เพราะตอนนี้รัฐบาลก็กำลังมุ่งเน้นในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาอาชีวศึกษาด้วยครับ แต่ถ้ายังมีประเด็นปัญหาตรงนี้กันอยู่ มันก็จะกลายเป็นปัญหาในประเด็นสำคัญต่อไปเรื่อยๆ การมีมาตรการในครั้งนี้ออกมาถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบัน และคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของนักเรียนนักศึกษาของเราครับ”
ในสายตาผู้ใหญ่คนหนึ่ง นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ยังคงมองว่าภาพลักษณ์ภายนอกของนักศึกษาถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบบเดินไปไม่ถึงไหน
“ผมคิดว่าประเด็นเรื่องรอยสักมันก็ยังมีประเด็นในสังคมไทยอยู่ โดยเฉพาะรอยสักที่มีลักษณะที่น่ากลัว แต่ผมคงไม่มาลงรายละเอียดว่ารอยสักแบบไหนดีหรือไม่อย่างไร แต่ในฐานะที่เป็นนักศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา ก็ควรจะต้องตามกฎระเบียบของสถานศึกษา ทั้งที่ทั้งนั้น ถ้าเกิดเรียนในภาคปกติแล้วมีปัญหา อาจจะมาลงเรียนในภาคทวิภาคีก็ได้ครับ คือสามารถทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยได้
ผมย้ำเลยครับว่าทางเราไม่เคยคิดจะไปตัดโอกาสใครไม่ให้เรียน นี่คือข้อตกลงกันที่ทางแต่ละสถาบันต้องรับเอามาพิจารณาตามแบบของตัวเอง ถ้าคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับสถาบันการศึกษานี้ ก็อาจจะไปยังสถาบันการศึกษาที่มีความเหมาะสมมากกว่า ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่น่าจะทำได้ หรือนักศึกษาบางกลุ่มอาจจะต้องมาเรียนระบบทวิภาคี เราต้องการให้นักศึกษาได้รู้สึกว่าได้รับการพัฒนาในเรื่องคุณภาพ ทักษะการทำงาน และวุฒิภาวะไปด้วยในคราวเดียวกัน”
ย่ำรอยดรามาอาชีวะรัฐ ไม่หวั่นถูกกระแสต่อต้าน!
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันในเครืออาชีวศึกษาออกมาประกาศงดรับคนที่เจาะหู มีรอยสัก และเด็กที่มีประวัติตีกัน ลองย้อนกลับไปในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว จะพบว่ามีข่าวที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งอยู่ในการดูแลของภาครัฐ ก็เคยออกประกาศไปในทิศทางเดียวกันนี้เช่นกัน
แต่เมื่อผลสะท้อนกลับมาเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดีนัก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ในขณะนั้นก็ออกมาชี้แจงว่าไม่เคยมีคำสั่งห้ามรับเด็กเหล่านี้เข้าเรียนแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่าเข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะเรื่องการเจาะหูและสักร่างกาย มีเด็กๆ ในสถาบันทำกันเยอะ และไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่มีและไม่สามารถที่จะมาเรียนอาชีวะได้
เมื่อคำเหตุการณ์นี้กลับไปถาม ผศ.ดร.จอมพงศ์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ผู้เผยแพร่มาตรการนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ จึงได้คำตอบกลับมาว่า...
“อันนั้นเป็นส่วนของรัฐครับ ตรงนั้นฝั่งผมไม่ทราบ แต่ครั้งนี้เป็นของเอกชนที่เกิดจากทางสถานศึกษาได้คุยกัน และบางสถาบันทำอยู่แล้วด้วย เพียงแต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งหนึ่งที่เราประกาศออกมาเป็นมาตรการกลาง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันและเป็นมติร่วมกัน ผมก็คิดว่าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งและอยากให้มีอย่างต่อเนื่อง เพราะเราก็อยากจะยกระดับให้นักศึกษาเป็นความหวัง เป็นที่เชื่อมั่นของสังคม ของประเทศ เพราะปัจจุบันทั้งยูเนสโกและองค์กรต่างๆ ก็ถือว่านักศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของภูมิภาค
ทั้งหมดนี้มันเป็นดุลยพินิจในการรับนักศึกษา เป็นสิทธิของสถานศึกษานะครับ สามารถดำเนินการได้เลยแล้วแต่สถานศึกษานั้นๆ แต่ให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ยาเสพติดต่างๆ เป็นเรื่องที่ผู้อยู่ในสภาพนักศึกษาไม่ควรมีอยู่แล้ว ที่ทำออกมาก็เพื่อให้มันชัดเจนมากขึ้นมาสิ่งเหล่านี้เป็นของต้องห้ามครับ ผิดกฎหมาย สามารถควบคุมได้เลย ซึ่งผมก็ดีใจครับที่ทุกสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลมีการตอบรับเป็นอย่างดี
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ผมไม่คิดว่าจะทำให้เกิดดรามาอะไรนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องของสถานศึกษาที่จะต้องดำเนินการ ส่วนเรื่องที่นักศึกษาจะประท้วงหรือไม่ ผมว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นครับเพราะจริงๆ แล้ว เราก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้มาอยู่แล้วในบางสถานศึกษา ถ้าจะประท้วง ผู้บริหารสถานศึกษาก็คงต้องทำความเข้าใจต่อนักศึกษาครับ ควรจะต้องมีการพูดคุยกัน เพราะในบ้านเมืองเราก็พูดถึงเรื่องสิทธิของคนนั้นคนนี้กันอยู่บ่อยๆ และสิทธิอย่างหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เลยในการเป็นนักศึกษาก็คือ “หน้าที่” ที่นักศึกษาต้องรับผิดชอบ
อีกอย่าง มาตรการที่กำหนดอะไรหลายๆ อย่างตรงนี้ จะเป็นเรื่องของปีการศึกษาใหม่ครับ ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับผู้ที่ดำเนินการอยู่แล้ว หรือผู้อยู่ในสถาบันการศึกษาอยู่แล้วครับ เราไม่ได้มีนโยบายจะไล่นักศึกษาที่สักหรือเจาะหูอยู่ออกครับ เพราะในฐานะที่เรารับเขาเข้ามาตั้งแต่แรก เราก็ต้องเยียวยาเขาให้ถึงที่สุด
ผมคิดว่านักศึกษาทั้งประเทศ มีนักเรียนนักศึกษาอยู่เกือบ 1 ล้านคน แต่ที่มีปัญหามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่ทำให้ภาพลักษณ์ เกียรติภูมิ คุณค่าของการเป็นนักเรียนนักศึกษามีส่วนถอยลง ก็คิดว่าทุกภาคส่วนคงต้องร่วมกันครับ ทั้งครอบครัว สถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ที่ดูแลด้านนโยบายเพื่อมาช่วยปรับภาพลักษณ์ในจุดนี้
เราอยากได้นักศึกษาที่มีคุณภาพ มีผลการเรียนที่ดี มีภาพลักษณ์ที่ดี แล้วก็พร้อมจะออกไปทำงาน ที่สำคัญ เรียนสายนี้ไม่ตกงานอยู่แล้วอย่างที่ทราบกัน เพียงแต่ว่าต้องปรับในเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ให้มีความเหมาะสม จะได้เป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสังคมอย่างแท้จริงครับ”
ย้อนรอยคมคิด “อย่าดูถูกคนสัก”
คล้ายเหตุการณ์เดิมเวียนมาบรรจบ เมื่อปีที่แล้วเคยเถียงกันในตอนที่มีข่าวว่าสถาบันอาชีวะของภาครัฐออกมางดรับนักศึกษาที่ประวัติไม่ดี มีรอยสัก หรือระเบิดหูอย่างไร ปีนี้ก็แทบไม่ต่างกัน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวจากสถาบันอาชีวะฝั่งเอกชน เพื่อให้เข้าใจมุมมองความรู้สึกของคนที่สักและถูกคนบางกลุ่มในสังคมตัดสินมากยิ่งขึ้น ความคิดเห็นจากผู้ชื่นชอบลายสักทั้งสองนายนี้ ซึ่งเคยออกมาต่อต้านเหตุการณ์ในอดีต ก็ยังคงหยิบเอามาย้ำในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่าวันเวลาผ่านไป ทัศนคติในเรื่องเดียวกันนี้ในสังคมไทยแทบไม่ต่างออกไปเลยแม้แต่นิดเดียว
(แทค-ภรันยู เคยออกมาเหวี่ยงกับประเด็นเดียวๆ กันนี้แล้วตั้งแต่เมื่อปีก่อน)
เริ่มกันที่ “แทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม” นายแบบเซ็กซี่ชื่อดังที่เคยออกมาโพสต์อินสตาแกรม @pharunyoo เอาไว้ ด้วยความฉุนสุดขีดหลังทราบข่าว "คนมีรอยสักมันไม่ดีตรงไหน พูด! ทำไมต้องคิดว่าคนมีรอยสักเป็นคนไม่ดี ทำไมชอบดูแต่ภายนอกวะ และคนเจาะหูอีก คิดอะไรกันอยู่ งั้นดาราต่างประเทศมาสัก เขาก็คนไม่ดีใช่ไหม มาช่วยคนยาก เขาไม่ดีใช่ไหม ความคิดโง่ๆ เอาตรงๆ เลย สักไม่ดีตรงไหนวะ ไปโกงชาติ ไปฆ่าขมขื่นใคร หรือไปขโมยของใคร ไหนพูดสิ ดูบางคนไม่สักไม่เจาะหูยังฆ่า ยังโกงคน ยังข่มขืน จริงไหมละ อ่านข่าวแล้วขึ้น"
อีกคนคือ “เก่ง ลายพราง” เน็ตไอดอลที่สักทั้งตัวและหน้า ได้ออกมาอัปคลิปลงบนโลกออนไลน์ ตั้งชื่อว่า "อย่าดูถูกพวกมีลายสัก" จนได้รับการแชร์อย่างมากในครั้งนั้น มาจนถึงวันนี้ที่เหตุการณ์คล้ายจะซ้ำรอย คลิปของเขาก็เริ่มมีคนหยิบขึ้นมาแชร์ ให้คมคิดเหล่านี้ได้กลับมาอยู่บนหน้าจอโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอีกครั้ง
(ประกาศลั่น "อย่าดูถูกพวกมีลายสัก" คลิปที่ผู้คนกำลังหยิบขึ้นมาแชร์อีกครั้งหนึ่ง)
“จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากออกมาพูดนะ แต่พอดีผมอยู่ในส่วนนั้น เราสักเยอะที่สุด มันเต็มหน้าเลย เราก็ต้องออกมาพูดเกี่ยวกับสถาบันอาชีวะหรือสถานศึกษาเนี่ย ไม่รับนักเรียนที่เจาะหูแล้วก็มีลายสัก ผมก็อยากจะถามตามสถานศึกษาต่างๆ ว่าเวลานักเรียนเขาเข้าไปเรียนโรงเรียนของคุณ เขาใช้ต่างหูไปเขียนหนังสือ หรือว่าเขาใช้ลายสักเนี่ยคิดออกมา จริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยวเลยนะครับกับลายสัก แต่สังคมไทยทุกวันนี้เหมือนจะดูถูกคนที่มีลายสัก ผมก็เลยออกมาพูดนิดหนึ่ง บางเพจต่างๆ ก็ออกมาพูดประมาณว่าต่อต้านลายสัก สักเยอะทำไม มันน่าเกลียดน่ากลัวรู้ไหม
อยากจะบอกอย่างหนึ่งนะ คนที่มีลายสักกับคนที่ไม่มีลายสัก ส่วนมากคนที่ไม่มีลายสักชอบนินทาคนมีลายสักนะ แต่เรา พวกที่มีลายสัก เวลาไปเดินที่ไหน ไม่เคยไปนินทาพวกไม่มีลายสักเลยนะ จริงๆ แล้วก็ไม่อยากจะพูดอะไรมากเพราะพูดไปก็เท่านั้น บางทีความคิดของคนคิดยังไง เราไปลบล้างของเขาไม่ได้ นอกจากตายไปถึงจะคิดได้ วันนี้ฝากไว้แค่นี้สำหรับคนที่ชอบดูถูกลายสัก ขอให้คิดเสียใหม่ด้วยนะว่าคนมีลายสักเนี่ย บางครั้งเขาก็เป็นคนดีได้ เขาอาจกลับตัวได้ เข้ากับสังคมไทยได้ และเป็นคนในสังคมที่ดีได้เหมือนกัน”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754