"นั่งห้องแอร์ แต่วางแผนทำนา" ในยุคหนึ่งประโยคนี้เคยใช้อธิบายถึงปัญหาในระดับบริหารของระบบการศึกษาไทย เป็นที่รู้กันดีว่า “กระทรวงศึกษาธิการ” เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด แต่คุณภาพการศึกษาของไทยยังคงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนตั้งคำถาม เช่นเดียวกันกับ “ครู” บุคลากรสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของระบบการศึกษา แต่ปัญหาและคุณภาพของครูยังคงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมตั้งคำถามมาในทุกยุคสมัย...
ตั๋วครู อาจไม่ได้ชี้วัดความเป็น “ครู”
การขาดแคลนครูเป็นหนึ่งในอุปสรรคของวงการศึกษาไทย ความพยายามในการพัฒนาครูผู้สอนด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตร และการกระจายสถาบันผลิตครู ถือเป็นความหวังในการยกระดับครูผู้สอนและลดปัญหาด้านการขาดแคลนครูในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งบอร์ดคุรุสภา เคยเสนอให้ปรับเกณฑ์ใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อเอื้อให้แก่บัณฑิตในทุกสาขาสามารถได้ใบประกอบวิชาชีพหรือตั๋วครู เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีหลายสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู แต่กลับยังไม่ได้รับการรับรองจากคุรุสภา! และหากมองเจาะลึกถึงปัญหาครูไทยจะพบถึงสาเหตุอีกหลายอย่างที่ควรต้องมีการแก้ไขเช่นกัน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายมารุต ครูอาสาท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า “ทั้งๆ ที่เมืองไทยขาดแคลนครู แต่การรับรองและออกใบวิชาชีพครูกลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเย็น มีครูอาสาบางส่วน และรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่ต้องกลายเป็น “ครูเถื่อน” เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ที่จริงแล้วคำว่าครูยิ่งใหญ่มาก ผมเป็นอีกคนที่ไม่ได้จบสายครู และไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่เป็นครูเพราะใจรัก เพราะเคยฝันว่าอยากจะเป็น ผมละอายใจเวลาที่ใครต่อใครเรียกว่าผมครู เพราะมันเป็นคำที่มีความหมายและการรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง แต่ผมยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเรียกว่าครูได้ ไม่อยากรับคำนั้นด้วยซ้ำ แต่ด้วยสถานนะการทำงาน จึงต้องสวมหน้ากาก ใส่หัวโขน และจิตวิญญาณความเป็นครูลงไป”
“ปัญหาที่มาทั้งหลายเกิดจากการที่ระบบราชการครู ที่ต้องให้ครูทำผลงานวิชาการ เพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้ได้ค่านั่น ค่านี่ เข้ามาในเงินเดือน ทำให้ครูทั้งหลายลืมบทบาท และหน้าที่ความเป็นครูของตนเองไป ครูอาสาฯ หรือครูดอยที่สังกัด กศน.ไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นเพียงพนักงานของรัฐ ต่างก็พยายามที่จะสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู เพราะสวัสดิการต่าง ๆ ดีกว่า ครูดอยที่มีใบประกอบวิชาชีพครูส่วนใหญ่ จึงทำงานสอนเพื่อรอสอบบรรจุ เป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ, สพท.หากในความเป็นจริงแล้วครูเหล่านี้กลับมีจิตวิญญาณความเป็นครูมากกว่าครูที่มีใบประกอบวิชาชีพหลายๆ คนด้วยซ้ำ”
“เรื่องการขาดแคลนใบประกอบวิชาชีพครู เป็นหนึ่งในปัญหาของการผลิตบุคลากรครู ปัจจุบันหลายสถาบันมีความพยายามในการเพิ่มบุคลากรครู แต่กลับยังไม่ได้ใบรับรอง ที่ผ่านมาพบว่าครูผู้สอนในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น มักขาดแคลน แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาวิชาชีพครูแต่การพัฒนาครูกลับมีการถูกมองว่ายังคงไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระ เช่น บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา ให้หันเข้ามาหาวิชาชีพครู” เลขาธิการ ก.ค.ส. กล่าวเสริม
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้สำรวจความเห็นของครูสอนดี จำนวน 210 คน กลุ่มตัวอย่างกระจายใน 4 ภูมิภาคของประเทศ เพื่อสอบถามถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ครูและแนวทางการส่งเสริมครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ผลการสำรวจพบ 6 ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรค ประกอบด้วย
1)ภาระหนักนอกเหนือจากการสอน 22.93%
2)จำนวนครูไม่เพียงพอ สอนไม่ตรงกับวุฒิ 18.57%
3)ขาดทักษะด้านไอซีที 16.8%
4)ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว 16.49%
5)ครูสอนหนัก ส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น 14.33%
6)ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน 10.88%
ดังจะเห็นได้ว่า ปัจจัยฉุดรั้งการทำงานของครูไทยนั้นมีทั้งปัจจัยที่มาจากครูผู้สอน และปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยส่งเสริมที่ครูต้องการพบว่า 39% เป็นปัจจัยเพื่อการพัฒนากระบวนการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันสะท้อนให้ถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู
คนรุ่นใหม่ฮิตเรียนครู แต่อยากเป็นติวเตอร์
เป็นความจริงที่ว่าอาชีพครู เคยเป็นความใฝ่ฝันลำดับท้ายๆ ของเด็กรุ่นใหม่ ด้วยภาระความรับผิดชอบในหน้าที่สูง และภาพลักษณ์ของความยากลำบากของอาชีพเรือจ้าง ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงภาพพจน์และความนิยมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชาครู แต่จากข้อมูลในหลายปีหลังกลับขัดแย้งกัน เพราะพบว่า จำนวนเด็กที่เลือกเรียนครูกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่าเด็กเหล่านี้มีเพียงส่วนหนึ่งที่จบออกมาเป็นครูในระบบตามที่ร่ำเรียนมา หากบัณฑิตครูระดับหัวกะทิ กลับนิยมไปเป็นติวเตอร์ตามโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ มากขึ้น รวมถึงครูบางส่วนยังเลือกที่จะเปิดโรงเรียนกวดวิชาควบคู่กันไป เนื่องจากสร้างรายได้ที่มากกว่า
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยทั้งหมดว่า ล้วนมีผลต่อวิชาชีพครู และต่อภาพลักษณ์ของครูอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาครูแล้วนั้น ครูก็ควรจะมีความกดดันในการดำรงชีพน้อยลง ด้วยการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพครูให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการลดภาระครูและส่งเสริมอัตราเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตครูรุ่นใหม่ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจ เรื่อง “ภาพสะท้อนครูไทยในสายตาศิษย์” ของศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ศิษย์เห็นว่าครูในปัจจุบันควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดอันดับแรก คือ เรื่องเทคนิคการสอน จากผลสำรวจดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ทำให้เด็กในปัจจุบันต้องเรียนเสริมนอกเวลากันอย่างหนักหน่วง การเรียนในระบบเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน หรือครูผู้สอนทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ คำถามต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้ต้องมีการทบทวนในเรื่องเทคนิควิธีการสอน และการถ่ายทอดวิชาความรู้ของครู
อย่างไรก็ตาม หากมองถึงโครงสร้างเงินเดือนครูในระบบราชการ กล่าวได้ว่าฐานเงินเดือนครูปัจจุบันนั้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หากเด็กรุ่นใหม่บางคนก็ยังมองว่าหากไปประกอบอาชีพอื่นจะมีรายได้มากกว่า การเพิ่มแรงจูงใจด้านรายได้เพื่อแข่งขันกับโรงเรียนนอกระบบ จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมทั้งหมด จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องมองข้ามปัญหาการรักษาครูบางส่วนไป เพราะอย่างไรแล้วเด็กกลุ่มหนึ่งก็ยังเลือกที่จะไปเป็นติวเตอร์ รับสอนพิเศษ หรือเปิดโรงเรียนกวดวิชาอยู่เช่นเคย
“การที่เด็กต่างแห่กันไปเรียนพิเศษกับสถาบันกวดวิชา ส่วนหนึ่งก็เพราะครูหรืออาจารย์ที่สอนตามโรงเรียนกวดวิชานั้นมีเทคนิคการสอนที่สนุกและเข้าใจง่ายกว่า ขณะที่ครูในระบบบางคนยังคงมีวิธีการสอนแบบโบราณ ขาดทักษะการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดจากขาดการพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลก ครูยุคใหม่จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรายังต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ก็เพราะระบบที่ไม่เอื้อในการรักษาและจูงใจครูรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไว้ได้ เมื่อเทียบกับสถาบันติวเตอร์ต่างๆ ที่ให้อิสระในการสอนและมอบผลตอบแทนที่ดีกว่า” เจ้าหน้าที่จาก ก.ค.ศ. กล่าวให้ข้อมูล
“แต่ทั้งนี้ การที่จะรั้งครูเก่งๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไว้ได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เด็กรุ่นใหม่นิยมเรียนครูเพิ่มมาก แต่คุณภาพของครูกลับเป็นสิ่งที่สวนทางกัน เป็นผลทำให้เด็กแห่ไปเรียนพิเศษกันมาก ต่างจากสมัยก่อน เพราะเด็กมีความเชื่อว่าครูที่สอนในโรงเรียนกวดวิชาเก่งกว่า สอนเข้าใจง่ายกว่า เด็กเก่งๆ เดี๋ยวนี้ก็เลือกที่จะเป็นติวเตอร์กันมากขึ้น ดังนั้นภาพสะท้อนที่ว่า เด็กไทยเรียนครูมากขึ้น จึงอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนที่ไม่ได้ฉายภาพของปัญหาทั้งหมด”
เพิ่มเงินเดือนครู เพิ่มคุณภาพการศึกษาจริงหรือ
เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ และเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครู ส่งผลให้มีการเพิ่มเงินเดือนครูเมื่อปี 2554 ทำให้ครูในยุคปัจจุบันมีรายได้สูงกว่าครูยุคก่อนมาก จนทำให้สัดส่วนการขึ้นเงินเดือนครูสูงกว่าข้าราช การฯ อุดมศึกษา รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า จากการเปลี่ยนระบบราชการจากซี มาเป็นแท่ง หลังการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการยุบรวมกรมต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ สำนักงาน ก.ค. ถูกยุบรวมเป็น สำนักงาน ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ
“เมื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พบว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปรับเงินเดือนขึ้น 8% ก่อนที่จะเปลี่ยนจากระบบซีมาเป็นแท่ง แต่ข้าราชการฯ อุดมศึกษาไม่ได้ปรับ ในการขึ้นเงินเดือนเมื่อ 1 เมษายน 2554 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าพวกข้าราชการฯ อุดมศึกษา สัดส่วนการขึ้นเงินเดือนจึงสูงกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษา เมื่อรัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือน 5% ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีฐานเงินเดือนมากกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษาย่อมมีสัดส่วนการเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษา”
นอกจากการเปรียบเทียบผลประโยชน์ระหว่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ในปี 2555 ที่ผ่านมาคณะวิจัยทีดีอาร์ไอซึ่งนำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ยังประเมินว่าเงินเดือนครูขึ้นมาก รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 15,000 บาท ในปี 2544 เป็นประมาณ 24,000-25,000 บาท ในปี 2553 นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเดือนของครูที่ผ่านมานั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า จนปัจจุบันเงินเดือนครูสูงกว่าเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้น หากระบบยังเป็นเช่นนี้อยู่ เงินเดือนครูจะสูงกว่าแทบทุกอาชีพ
คณะวิจัยยังระบุว่า ปัจจุบันอาชีพครูไม่ได้มีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป แต่เมื่อมองถึงผลลัพธ์ทางการศึกษา กลับพบว่า ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง! โดยคณะนักวิจัยได้เสนอการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเอกชนได้รับการอุดหนุนน้อยกว่าโรงเรียนรัฐถึงเท่าตัว อีกทั้งเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเขตร่ำรวยและยากจนเท่าที่ควร การปฏิรูปจึงควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายคะแนนการทดสอบมาตรฐานขั้นต่ำของนักเรียนที่ต้องการ และจัดสรรเงินอุดหนุนจำนวนมากกว่าให้แก่โรงเรียนในเขตพื้นที่ด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร จากนั้น นำข้อมูลผลสอบมาตรฐานของนักเรียนที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับคะแนนเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อประเมินผลการทำงานและให้รางวัลแก่ผู้บริหาร
ในอนาคตรายได้ผลตอบแทนจึงอาจไม่ใช่สาเหตุของปัญหาว่าจะไม่ดึงดูดคนเก่งๆ ให้อยากเป็นครู หากสิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญของระบบการศึกษาไทยต่อไป กลับเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามว่า..
เราจะทำอย่างไรให้มีระบบการคัดเลือกครูที่มีมาตรฐานดีกว่าในปัจจุบัน?
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754