xs
xsm
sm
md
lg

คอการ์ตูนเคืองหนักมาก! สำนักพิมพ์ “ดองลิขสิทธิ์” หันรุกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดรามาหนักมาก! หลังผู้จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง “วิบูลย์กิจ” ออกมาประกาศปิดตัวนิตยสาร “วิว่า ฟรายเดย์” การ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ถูกลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย พร้อมขอยุติการตีพิมพ์การ์ตูนเล่มบางส่วนไปก่อนทั้งๆ ที่ยังตีพิมพ์ไม่ครบชุด เล่นเอาฝันของเหล่านักอ่านนักสะสมหนังสือเล่มที่รอซื้อมานานแรมปีต้องพังทลาย
 
เมื่อบรรณาธิการโอดผ่านสื่อว่าอยู่ไม่รอดเพราะคนหนีไปอ่านแบบละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านออนไลน์ บอกจำต้องปรับกลยุทธ์รุกตลาดดิจิตอล คอลายเส้นเวอร์ชันรูปเล่มจึงทนคำกล่าวโทษไม่ไหว ทยอยออกมาฟื้นฝอยพฤติกรรม “ดองลิขสิทธิ์” ของสำนักพิมพ์นี้ออกมาแบบจัดเต็ม ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสำนักพิมพ์ใหญ่รายอื่นๆ ให้รีบออกมาเรียกความมั่นใจจากนักอ่านว่า จะยังร่วมฝ่าวิกฤตขาดทุนเละจากระบบการ์ตูนเล่มไปด้วยกันใช่หรือไม่?
 


 

คอการ์ตูนรุม! เจ๊งเพราะ “ดองลิขสิทธิ์” อย่าโทษออนไลน์

(การ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ถูกลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการในที่สุด)
"ในช่วงปี 2558 ที่เราเห็นว่า ยอดมันตกลง ขายได้ 700 กว่าเล่ม เราก็รู้สึกว่า โอ... มันไม่ไหว เราไม่สามารถจะคงสภาพการออกจำหน่ายแบบนี้ต่อไปได้ มันมีแต่ Suffer อย่างเดียวเลย เราเลยต้องตัดสินใจหยุดการตีพิมพ์ หยุดการจำหน่ายนิตยสาร วิว่า ฟรายเดย์ ด้วยสาเหตุหลักๆ คือเรื่องยอดขายนี่แหละครับ
 
มันไม่มีทางเลือกอื่นครับ เรารู้ตัว ถ้าเราพิมพ์เป็นหนังสือมา มันก็ต้องไปค้างอยู่ในสต๊อกของเราแหงๆ แต่พอเราทำเป็นดิจิตอล เราไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ค่ากระดาษก็ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องเก็บของ ไม่ต้องลอจิสติกส์อะไรทั้งนั้น ให้ระบบเขาไปทำงาน เราก็รู้สึกว่าตัวนี้ ในอนาคตมันจะค่อยๆ เกิดขึ้น เยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ
 
ตอนนี้หนังสือที่เกี่ยวกับนิตยสารหลายๆ เรื่องต้องหยุดพิมพ์ ที่หยุดพิมพ์ก็เพราะว่ามันต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลเลยครับ ไปจัดการกับการพิมพ์ ค่าลิขสิทธิ์ก็ถือว่าสูง เราก็ต้องรองรับภาระพวกนี้ไป ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องตีพิมพ์เฉพาะเรื่องที่ขายได้ดีๆ ก่อน เรื่องที่ยอดขายน้อย คงจะต้องเห็นกันช้าหน่อย ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวิบูลย์กิจก็คือ เราจะเห็นหนังสือวางตลาดน้อยลง น้อยลงแน่ๆ ผมว่าภายใน 2 ปีนี้ หนังสือจากเราจะน้อยลงมาก"
 

(หลังบรรณาธิการสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ให้สัมภาษณ์กับรายการ Voice News ก็เกิดดรามาคอการ์ตูนขึ้นทันใด)
ด้วยคำให้สัมภาษณ์ในคลิปข่าวสั้นๆ ที่ทาง “พิธูร ตีรพัฒนพันธุ์” บรรณาธิการสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ บอกเอาไว้กับรายการ Voice News บวกกับการประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Vibulkij" อย่างเป็นทางการว่า ขอยุติการจำหน่ายนิตยสารการ์ตูน “วิว่า ฟรายเดย์” หยุดการตีพิมพ์ฉบับรวมเล่ม และเล่มการ์ตูนจากค่ายอาคิตะโชเต็นไปสักระยะในครั้งนี้เอง ที่ทำให้เกิดกลายเป็นกระแสประท้วงจากแฟนการ์ตูนกันยกใหญ่ ซึ่งมองว่าทางสำนักพิมพ์รับมือกับวิกฤตครั้งนี้ด้วยความรับผิดชอบที่ไม่มากพอ

ส่วนใหญ่วิเคราะห์กันว่าถึงอย่างไรก็ไม่ควรโยนภาระมาให้ผู้อ่านต้องแบกรับเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะคออ่านนักสะสมที่รอคอยการตีพิมพ์ออกมานานแรมปี แต่กลับมีผลิตให้เห็นน้อยเกินทน ยิ่งทางสำนักพิมพ์ออกมาให้เหตุผลว่าที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นเพราะพฤติกรรมการอ่านของคอการ์ตูนที่หันไปนิยมการอ่านละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านออนไลน์กันหนักมาก ทำให้การ์ตูนแบบรูปเล่มขายไม่ได้กำไรอีกต่อไป


(มุ่งสู่การ์ตูนออนไลน์ถูกลิขสิทธิ์ เพราะหากำไรจากแบบรูปเล่มไม่ได้อีกแล้ว)

ทางแฟนการ์ตูนจึงไม่ขอทนคำกล่าวโทษฝ่ายเดียวได้ พากันออกมาโต้แย้งถึงสาเหตุของการขาดทุนในอีกมุมหนึ่งว่า เป็นเพราะตัวสำนักพิมพ์เองต่างหากที่ไม่มีศักยภาพมากเพียงพอที่ผลิตได้เพียงปีละไม่กี่เล่ม มัวแต่เอาเวลาและเงินทุนไปเหมาซื้อลิขสิทธิ์เล่มใหม่ๆ มาเก็บไว้ จนเกิดกลายเป็นภาวะดองการ์ตูน มีการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์ในมือ แต่ไม่ปล่อยออกมาตีพิมพ์ให้ผู้รอคอยได้อ่านเสียที จนผลักให้คอการ์ตูนต้องหันไปพึ่งการอ่านการ์ตูนเถื่อนจากระบบออนไลน์ในที่สุด และบรรทัดต่อจากนี้คือความรู้สึกบางส่วนที่คอการ์ตูนฝากเอาไว้และได้รับการกดไลค์มากที่สุด จากแฟนเพจ "Vibulkij" แฟนเพจอย่างเป็นทางการของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

"ไม่รู้ว่า บก.เองจะมาอ่านคอมเมนต์ไหมนะครับ ผมเชื่อว่าอ่าน นี่คือเฮือกสุดท้ายแล้วนะครับที่จะเอาไปปรับปรุงแก้ไข ขายออนไลน์ผมไม่ซื้อแน่นอนล่ะครับคนหนึ่ง หนังสือการ์ตูนออนไลน์สำหรับคนอื่นคืออะไรผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม อี-บุ๊กมันไม่มีคุณค่า ผมไม่ได้ต้องการอ่านรู้เรื่องให้มันจบๆ ผมต้องการเก็บเป็นเล่มๆ มันมีคุณค่ากว่าเยอะ

http://news.voicetv.co.th/thailand/236610.html

Posted by Vibulkij on Saturday, July 25, 2015

(คอมเมนต์จากคอการ์ตูน เสียความรู้สึกหนักมาก)

ทำไมนักเขียนถึงยังใช้ปากกาลงหมึกจริงในกระดาษกันอยู่ ทั้งที่ถ้าวาดในคอมพ์ก็สะดวกรวดเร็วแถมประหยัดค่าอุปกรณ์กว่าเยอะ แต่เขาก็ยังเลือกปากกาและกระดาษ มันคือเหตุผลเดียวกับที่ผมไม่ซื้ออี-บุ๊กครับ หวังว่านี่จะเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายที่คุณต้องเร่งปรับปรุงตัวเองเต็มที่นะครับ อย่าลืมว่าตั้งแต่เรื่องดรามาไม่พิมพ์ “โคทาโร่” ตอนนั้น ชื่อเสียงคุณก็เสียมาตลอด กู้มันคืนมาให้ได้ในเฮือกสุดท้ายนี้ละกันครับ ผมบอกได้แค่ว่าถ้าออกออนไลน์ ผมไปซื้อฉบับภาษาญี่ปุ่นมาเก็บดีกว่าครับ ยอมลงทุนไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเลย" Witthaya Suthathongthai

"คนที่อ่านในเน็ตแล้วไม่สนับสนุนลิขสิทธิ์ ผมเดาเอาเองว่ามันอาจจะไม่เยอะเท่าไหร่มั้งครับ ผมอ่านในเน็ตแต่ซื้อทุกเรื่องทุกเล่ม ผมปลูกบ้านขึ้นมาเชื่อมกับห้องนอน ทำเป็นห้องนั่งอ่านและเก็บการ์ตูนโดยเฉพาะ สำนักพิมพ์คุณจะขึ้นราคา จะพิมพ์มาห่วยๆ เปื้อนๆ ผมไม่เคยบ่นกับใคร ไม่เคยแม้แต่จะคิดว่ามันไม่ดี ผมคิดแค่ว่ามีให้อ่านก็ดีแค่ไหนแล้ว

ผมรักการ์ตูน ผมขออย่างเดียวแค่ "พิมพ์ให้จบ" คุณยังทำไม่ได้ แถมทำทุเรศๆ อีกต่างหาก คนเขาเข้ามาตำหนิคุณในแฟนเพจไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง พวกคุณก็ทำเป็นไม่สนใจ "พิมพ์ใหม่ลอยแพ พิมพ์ใหม่ลอยแพ" ทำวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์อยู่อย่างนี้ ผมล่ะแช่งอยากให้สำนักพิมพ์คุณมันเจ๊งๆ ไปเลยเสียด้วยซ้ำครับ อย่าโทษคนอื่นเลยครับ มองตัวเองบ้างเถอะ" กชกร อโณวรรณพันธ์

"ดูสยามฯ (สำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์คอมมิกส์) เป็นตัวอย่าง เขาปรับตัวให้ทันโลก มีปัญหาตรงไหนก็แก้ อะไรที่ห่างจากต้นฉบับเยอะ เค้าก็เร่งออกทีเดือนละ 2 เล่ม ที่ของคุณจบไปเป็นชาติละยังไม่เห็นหัวเลย อย่าแก้ตัวเลย ทุกคนเขาเห็นกันหมดแล้วว่าการจัดการห่วยขั้นเทพแค่ไหน" Nut Tana Chaumngam

"อย่างเรื่อง “Worst” ถ้าไม่ดองก็มีคนซื้อ นี่เล่นดองจนออกปีละเล่ม จนปัจจุบันที่ญี่ปุ่นจบไปน่าจะ 3 ปีแล้ว ท่านก็ยังไม่พิมพ์ต่อ พอคนรอไม่ไหว เขาก็ไปบริโภคทางอื่นสิครับ แล้วทำเป็นมาโอดโอยน้อยใจ “อีกา” (การ์ตูนเรื่อง “เรียกเขาว่าอีกา”) อีกเรื่อง อีกไม่กี่เล่มจะจบอยู่แล้ว หยุดไปซะดื้อๆ" Romwarat Jongprajan

"โทษผู้บริโภคก็ไม่ถูก สำนักพิมพ์ทำตัวเองทั้งนั้น ตามตลาดไม่ทัน ไม่สนใจลูกค้า พ่อค้าไม่ง้อลูกค้า แล้วมันจะอยู่ได้ยังไงล่ะครับ หัดดูสำนักพิมพ์อื่นๆ เป็นตัวอย่างบ้างสิครับ ทำไมเขาถึงยังอยู่ได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่อ่านในเน็ตแล้วซื้อรวมเล่มด้วย แต่พอเห็นใครออกรวมเล่มแบบถี่ๆ ก็คิดว่ารวมเล่มออกถี่ขนาดนี้ ผมเลิกอ่านเน็ตเลยมารออ่านรวมเล่มเอา ได้อรรถรสกว่าเยอะ

สำนักพิมพ์ของคุณ มังงะดังๆ ก็มีตั้งเยอะ คุณบอกว่าเรื่องดังๆ ถึงจะออกเร็ว แล้ว “โคนัน” “ไยบะ” นี่มันไม่ดังเหรอครับ กว่าเล่ม 79, 80 จะออก คนอ่านรอนานแค่ไหน ปัจจุบันญี่ปุ่นอยู่ที่เล่ม 86 แล้ว ห่างกันตั้งขนาดนี้ แต่ที่ไทยยังไม่รู้ด้วยว่าเล่ม 81 เมื่อไหร่จะออก คนอ่านเขาถึงต้องไปอ่านในเน็ตไงครับ ถ้าคุณแก้ปัญหาได้ตรงจุด ปัญหาคุณก็จะคลี่คลายครับ" Weerawut Sitthichindawong

"วิธีแก้คือ คุณต้องออกให้เร็วกว่าในเน็ต หนังสืออยู่ตอนที่ 10 ในเน็ตไปแล้วตอนที่ 40 แล้วคุณจะให้เรารอเหรอ? โดยส่วนตัว ซื้อหนังสือเก็บสะสมด้วย แต่ก็ต้องอ่านในเน็ตเพราะมันเร็วกว่า" Anochow Chaiyakran

"ไม่มีใครที่ทำธุรกิจแล้วโทษผู้บริโภคหรอก มีแต่ต้องทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจให้มากที่สุด" Panupong Ton Suksawasd

สาเหตุที่ใกล้ล่มสลาย อยากฝากให้ Vibulkij อ่าน1.คนอ่านในเนตไม่ยอมซื้อ2.ที่คนอ่านในเนตเพราะเขาขี้เกียจรอเพราะค่ายดอง3....

Posted by Myplern มายเพลิน on Sunday, July 26, 2015

(แฟนเพจ "Myplern มายเพลิน" ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับลายเส้นการ์ตูน ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเสนอความคิดเห็นในปรากฏการณ์นี้)
 


 

เสี่ยงสูงแค่ไหน ก็ต้องเสี่ยงพิมพ์!

(บรรณาธิการสำนักพิมพ์การ์ตูนไทย “LET'S Comic” ช่วยเสนอทางออกตามแบบตลาดเฉพาะกลุ่ม)
“การที่ออกมาประกาศว่าจะยุติแบบนี้ทีเดียว มันอาจจะดูโหดร้ายไปสำหรับคนอ่านที่ติดตามอยู่ ผมว่าน่าจะหาทางเลือกให้เขาได้เลือกได้ผ่อนคลายบ้าง ผมมองว่าการทำสื่อการ์ตูน มันไม่ใช่เรื่องของการจะมาบอกเขาว่า คุณออกมาแล้วมีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงสูงก็เลยไม่ออก ผมมองว่ามันเป็นความรับผิดชอบระดับหนึ่งเลยแหละ เราต้องทำให้คนอ่านที่เคยอ่านไปแล้ว เขารู้สึกพอใจที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเลยคิดว่าถ้าเกิดพิมพ์ไม่ไหว คงต้องใช้วิธีขายตรงแทน

เราไม่สามารถไปโทษผู้อ่านได้อยู่แล้วครับ เราก็ต้องดูให้ออกว่าจะทำยังไงให้มันผ่านไปได้ แต่สำหรับผม ผมมองในมุมของผู้ผลิตมากอยู่แล้วไงครับ ผมเลยค่อนข้างเข้าใจทางสำนักพิมพ์ที่ต้องเลือกทางนี้ แต่สำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ เขาอาจจะไม่เข้าใจเพราะไม่จำเป็นต้องมีมุมมองแบบนั้น

ซัน-ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์การ์ตูนไทย “LET'S Comic” วัย 30 ปี ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์การปิดตัวหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ในครั้งนี้เอาไว้ในฐานะคนในวงการเดียวกัน ถึงแม้ว่าขอบข่ายความรับผิดขอบของเขาจะเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เทียบกับโมเดลธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง “Big Three” จากสำนักพิมพ์ผู้จัดจำหน่ายการ์ตูนในไทยอย่าง “วิบูลย์กิจ” “สยามอินเตอร์คอมมิกส์” และ “NED Comics” ไม่ได้ แต่ก็พอจะมองออกว่าปัญหา ณ ขณะนี้คืออะไรในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการลายเส้นการ์ตูนมานาน


(หนึ่งในสาเหตุที่ "นิตยสารการ์ตูน" อยู่ไม่รอด เป็นเพราะแผงหนังสือในบ้านเรารองรับรูปแบบ "พ็อกเก็ตบุ๊ก" มากกว่า)
“ถ้าให้ผมมองในฐานะผู้อ่าน ผมคิดว่าถ้าเกิดจะประกาศเปลี่ยนแปลงแบบฉบับรูปเล่มไป จะไม่ผลิตแล้วหรือจะลดจำนวนอะไรก็ตาม เราต้องมีทางเลือกที่ 2 สำหรับเขาเสมอ อาจจะบอกว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไงนะ คือเราจะไม่โยนแค่ปัญหาเข้าไป แต่เราจะโยนทางออกเข้าไปด้วย อย่างน้อยๆ เราต้องทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเราพยายามที่สุดแล้วนะ เราทำได้ดีที่สุดแล้วนะ ไม่ว่าผลมันจะออกมาเป็นการอ่านการ์ตูนผ่านช่องทางอะไรก็ตามแต่ ให้รู้สึกว่าเราคิดเพื่อคนอ่านแล้ว

ปีนี้การ์ตูนของ Let's Comic ได้รับรางวัล 7 book awards ถึงสามรางวัลด้วยกัน คือรางวัลชนะเลิศ - Based On True Stories โดย...

Posted by Let's Comic on Monday, July 27, 2015

(ยุคนี้ถ้าหนังสือ-สิ่งพิมพ์อยากรอด ต้องใช้โปรโมชันและอีเวนต์เข้าช่วย)

สำหรับเล่มที่คนอ่านบางคนอยากให้ผลิตต่อเพราะอยากสะสมให้ครบชุด ทางสำนักพิมพ์อาจจะเปิดให้สั่งซื้อแบบ On Demand จะเพิ่มรูปเล่มให้มีมาตรฐานเท่าญี่ปุ่นเลยนะ ราคาอาจจะสูงขึ้น แต่จะตั้งใจ ใส่ใจเรื่องการออกแบบมากๆ มีของพิเศษแถม อันนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องคนที่เข้ามาบ่นได้ เพราะคนที่มาส่งเสียงให้เราเห็นก็คือคนที่ติดต่อกับเราผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และถ้าเราใช้ช่องทางเดียวกันนี้ตอบกลับไป เขาก็น่าจะเห็น ถ้าใช้แฟนเพจเฟซบุ๊กคอยให้ข้อมูลหรือตอบคำถามไปเลย ผมว่ามันน่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

ส่วนผู้อ่านที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ เราคงแก้ปัญหาได้ไม่หมดอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องทำใจไป ที่สำคัญ คนอ่านต้องการอะไรก็ขอให้เข้าไปบอกสำนักพิมพ์เขาดีๆ ครับ ไม่งั้นมันจะเละกันเสียเปล่าๆ ต้องบอกว่าทุกวันนี้ตลาดการ์ตูนหรือตลาดอะไรก็ตาม คนจะลงมาหาเงินกับมันนี่ ยากระดับหนึ่งแล้ว เราต้องมองว่าจะทำยังไงให้มันเซฟตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่เจ็บตัวเกินไป อาจจะต้องมองเรื่องกำไรลดลงด้วย


(การ์ตูนเรื่อง “เรียกเขาว่าอีกา” อีกเรื่องจากสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ที่ยังออกมาไม่ครบก็มีอันขอยุติการพิมพ์ไป)
ปัญหาหลักๆ ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจน่าจะมาจากค่าลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาจำนวนมากจนแบกรับไว้ไม่ไหว บวกกับราคาขายของการ์ตูนในบ้านเราที่อยู่ในระดับต่ำเตี้ยติดดินมากอยู่แล้ว เลยยิ่งทำให้อาการร่อแร่หนักกว่าเดิมเข้าไปใหญ่

“การ์ตูนในบ้านเรา มันเริ่มมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาขาย ใช้วิธีลอกลาย ก๊อบปี้เอาครับ ทำให้ราคาหนังสือการ์ตูนในยุคแรกต่ำมาก พอยุคต่อมา มีเรื่องซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาแล้ว เขาจำเป็นต้องตั้งราคาขายให้เท่ากับตอนละเมิดมา เพราะกลัวว่าจะขายไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ราคาก็เลยยังต่ำมาจนถึงทุกวันนี้

ลองมองไปที่ญี่ปุ่น ตีราคาง่ายๆ เล่มหนึ่งก็ตก 100 บาทขึ้นไปแล้วครับ จาก 30-40 บาท ตรงนี้คนอาจจะมองว่าเป็นเพราะทางญี่ปุ่นเขาค่าครองชีพสูง เลยทำให้ราคาการ์ตูนบ้านเขาสูง แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวครับเพราะต้นทุนการผลิตทั่วโลกมันเท่ากันอยู่แล้ว เราก็อิมพอร์ตกระดาษของญี่ปุ่นเข้ามาพิมพ์ ต้นทุนมันเลยไม่ต่างกัน

พอราคาขายมันต่ำปุ๊บ มันทำให้ต้องอาศัยยอดขายที่สูง พอยอดขายตกลง ราคาก็ขึ้นไม่ได้ พอขึ้นราคาคนก็ด่า เลยอาจจะทำให้หาทางออกได้ยากเหมือนกัน การหนีไปอยู่ในออนไลน์ก็ถือเป็นการลดต้นทุนที่ชัดเจนที่สุด ง่ายที่สุด แต่ก็ต้องดูไปอีกระยะหนึ่งว่ามันจะช่วยได้จริงหรือเปล่า เพราะผมเองก็ยังหวั่นๆ เรื่องคนอ่านออนไลน์ในไทยอยู่เลย

(หนังสือการ์ตูน อนาคตร่อแร่ ต้องรอลุ้น)

ถ้าลงมาเล่นในแง่ของตลาดการ์ตูนออนไลน์ ผมว่ายากนะครับ เพราะแม้แต่เมืองนอกยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่เลย ทางญี่ปุ่นเองก็เคยมีออกมาปิดเว็บการ์ตูนที่เถื่อน ละเมิดลิขสิทธิ์ สักวันหนึ่งเราอาจจะต้องพึ่งตำรวจออนไลน์ตรวจเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ถ้ายังไม่มี เราอาจจะต้องหาลูกเล่นอะไรบางอย่างที่ทำให้ของที่เราใส่ลงไปมันแตกต่างจากฉบับที่การ์ตูนเถื่อนเขาอัปโหลดลงเว็บ อาจจะมีการทำ Motion Graphic อันนี้ก็ยังคิดทางออกไม่ออกเหมือนกันครับ

ปรากฏการณ์การปิดตัวของสำนักพิมพ์ผู้บุกเบิกนิตยสารการ์ตูนในไทยอย่าง “วิบูลย์กิจ” เล่นเอาผู้จัดจำหน่ายวงการนี้อกสั่นขวัญแขวนกันไปตามๆ กัน ล่าสุด “สยามอินเตอร์คอมมิกส์” ค่ายใหญ่ยักษ์อีกแห่งถึงกับต้องออกมาหยั่งเสียงแฟนๆ ผ่านแฟนเพจ "Siam Inter Comics" เอาไว้ว่า “นายจะยังซื้อหนังสือการ์ตูนต่อไปใช่ไหม?” พร้อมขอแรงช่วยแชร์เพื่อเป็น 1 พลังให้ทุกสำนักพิมพ์เดินหน้าผลิตผลงานใหม่ๆ กันต่อไป

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นมากมายขอขอบคุณที่ยืนหยัดอยู่ร่วมกับเรามากว่า 25 ปีวันนี้ แอดมึนขอกำลังใจจากทุกๆคนฝ่าวิกฤตไปด้...

Posted by Siam Inter Comics on Sunday, July 26, 2015


จุดนี้เองที่ “บก.ซัน” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์การ์ตูนไทย “LET'S Comic”มองว่าการออกมารณรงค์ในช่วงกระแสยังร้อนอยู่แบบนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศดีขึ้น

“อย่างน้อยๆ คนอ่านน่าจะได้รับการกระตุ้น คนที่เคยสงสัยอาจจะรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว ผมว่ามันมีความแตกต่างค่อนข้างสูงมากจากเรื่องตลาดการขายของญี่ปุ่นและในไทย เพราะถ้าเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะซื้อของแท้ อุดหนุนของจริง ต่อให้เราเอาของฟรีไปให้เขา เขาก็ไม่เอานะ อันนี้เคยได้ยินมาจากคนใกล้ตัวครับ แต่ในบ้านเรายังปลูกฝังในเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก ไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือเอง ที่เห็นได้ชัดคือซีดีเพลง ยกตัวอย่างง่ายๆ พี่ตูน-บอดี้สแลม ผมยังเห็นคนที่ซื้อแผ่นพี่ตูนน้อยมากในขณะที่พี่ตูนเขาดังขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะฟังแผ่นผี มันเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันสำหรับคนในบ้านเราว่า ทำยังไงที่จะทำให้เขารู้ว่าเรื่องลิขสิทธิ์มันสำคัญ

ถ้าเกิดถามผมในฐานะผู้บริโภคว่าทำไมผมถึงซื้อ ผมรู้สึกว่ามันคุ้มค่า มันสบายใจ และผมก็ไม่อยากรู้สึกว่าผมไปเอาเปรียบใคร มันเป็นเรื่องที่สอนยากเหมือนกันนะ ของแบบนี้ ถามว่ามันมีผลอะไรต่อชีวิตไหม มันก็ไม่มี มันเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ เลย การที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องของระบบการศึกษาล้วนๆ เลย เราอาจจะต้องไปเริ่มต้นปลูกฝังกันตั้งแต่ตรงนั้นกันเลยด้วยซ้ำ

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น