xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางหัวเว่ย สู่มหาอำนาจแห่งการสื่อสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีอีโอหัวเว่ย เผยวิสัยทัศน์การนำบริษัทก้าวขึ้นสู่ผู้นำทางด้านไอซีที ไม่เฉพาะในกลุ่มของการวางโครงสร้างการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโอเปอเรเตอร์ แต่จะครอบคลุมไปถึงธุรกิจทางด้านเอนเตอร์ไพรส์ และคอนซูเมอร์ ที่กำลังจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของหัวเว่ยในอนาคต

อีริค ซวี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารหมุนเวียนตามวาระ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้หัวเว่ย มีการกำหนดกลยุทธ์ใหม่ที่จะให้ความสำคัญต่อทั้ง 3 ส่วนธุรกิจร่วมกัน เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนให้ทั้งองค์กร และกลุ่มผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างไอซีทีครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีการเชื่อมต่อเข้าหากันมากยิ่งขึ้น หัวเว่ย จากเดิมในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อ ก็จะหันมาให้ความสำคัญทางด้านบริการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านเชิงพาณิชย์ที่จะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิตอล”

นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะเป็นผู้นำด้านการวางแผนเน็ตเวิร์ก การบริหารจัดการระบบเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมเครือข่ายจากเดิมที่เน้นในแง่ของประสิทธิภาพ ไปสู่การให้บริการแบบครบวงจร สร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดี ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน หน่วยธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่มของหัวเว่ย จะประกอบไปด้วย หน่วยธุรกิจโทรคมนาคม โดยมีลูกค้าหลักเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หน่วยธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ ที่จะเน้นในส่วนของการเชื่อมต่อภายในองค์กรธุรกิจ โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจร และสุดท้าย หน่วยธุรกิจคอนซูเมอร์ ที่จะมีผลิตภัณฑ์หลักคือ สมาร์ทโฟนตอบสนองผู้บริโภคทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หัวเว่ยได้มีการเปิดเผยแนวทาง “ROADS” ที่จะเป็นเส้นทางหลักของหัวเว่ย เพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดการสื่อสารคือ Real Time ในการเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา On Demand การเชื่อมต่อตามความต้องการ All Online ทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์ DIY ผู้บริโภคสามารถปรับแต่งเพื่อใช้งานได้ด้วยตนเอง และสุดท้ายคือ Social เพื่อให้มีการเชื่อมต่อเข้าหากัน

วิลเลียม ซวี ผู้อำนวยการบริหารคณะกรรมการบริษัท และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์การตลาด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด กล่าวเสริมว่า ด้วยสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันของหัวเว่ยที่ปัจจุบันมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 67% อาจจะไม่ได้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันหลายๆ โอเปอเรเตอร์ได้ลงทุนเครือข่ายไปหมดแล้ว

โดยการเติบโตของกลุ่มนี้จะมาจากการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของ 4G และอาจจะรวมไปถึง 5G ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็จะรวมเป็นการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างการเชื่อมต่อพื้นฐานทั้งหมด โดยมีฟิกซ์บรอดแบนด์ หรือไฟเบอร์ในการเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าหากัน

ขณะที่ในส่วนของกลุ่มคอนซูเมอร์ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 26% หัวเว่ย พยายามล้างภาพลักษณ์แบรนด์จากเดิมที่ทำตลาดในกลุ่มเอนทรีเลเวล มาเป็นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ นำเสนอนวัตกรรมสู่ท้องตลาด เช่นเดียวกับช่องทางจำหน่ายที่จากเดิมทำตลาดร่วมกับโอเปอเรเตอร์ ก็เปลี่ยนเป็นการสร้างช่องทางจำหน่ายร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายขึ้น

“การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ถือเป็นการปูพื้นฐานให้แก่การเติบโตในกลุ่มของคอนซูเมอร์ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของตลาดสมาร์ทโฟนที่จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาตำแหน่งอันดับที่ 3 ของโลกไว้เช่นเดิม จากปัจจุบันที่มียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วโลก 75 ล้านเครื่อง”

สุดท้ายในกลุ่มของธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 7% จะเน้นเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิตอล และเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในแง่ของการบริหารจัดการระบบที่มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับระบบคลาวด์ที่จะถือเป็นพื้นฐานโครงสร้างในการเชื่อมต่อในอนาคต ด้วยการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

อีริค ซวี กล่าวต่อถึง 3 อุตสาหกรรมหลักที่จะให้ความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาต่อไปในอนาคต คือ 1.อุตสาหกรรมคมนาคม อย่างระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ และระบบการจราจรอัจฉริยะ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ก็จะมุ่งเน้นไปที่ระบบการผลิตอัจฉริยะ การควบคุมค่าใช้จ่าย และระบบขนส่งสินค้าอัจฉริยะ สุดท้าย 3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อพลังงานที่จะนำระบบอัจฉริยะต่างๆ เข้ามาช่วย

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงแผนในการรวมเหล่าธุรกิจออกมาเป็นบริการให้แก่ผู้ใช้ ภายใต้แนวคิด “Huawei 1+2+1 IoT Solution” ที่จะสร้าง 1 แพลตฟอร์มในการใช้งาน ผ่านการเชื่อมต่อ 2 ระบบคือ ระบบเครือข่ายไร้สาย และผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่ออัตโนมัติ ภายใต้ 1 อินเตอร์เฟสการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้บนประสบการณ์เดียวกัน

ทั้งนี้ หัวเว่ยตั้งเป้าการเติบโตทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 7 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2018 จากในปี 2014 ที่มีรายได้ 4.65 หมื่นล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 10% หรือมากกว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้หัวเว่ยกลายเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก จากพนักงานกว่า 1.7 แสนรายในปัจจุบัน

***ประเดิมเปิดพับลิกคลาวด์ในจีน

นอกจากการประกาศพันธกิจหลักของหัวเว่ยที่จะขับเคลื่อนองค์กรแล้ว ภายในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Huawei Global Analyst Summit 2015) ที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ยังมีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการลงทุนในการเปิดให้บริการพับลิกคลาวด์ (Public Cloud) ในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้ในกลุ่มธุรกิจองค์กรของหัวเว่ย

โดยทางไอดีซี มีการประมาณว่าภายในปีนี้มูลค่าของตลาดคลาวด์ในประเทศจีนจะสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในระดับ 33% ในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่า ก่อนหน้าที่หัวเว่ยจะเข้ามาในตลาดนี้ก็มีผู้เล่นเดิมที่ทำตลาดอยู่ก่อนหน้า ทำให้หัวเว่ยกลายเป็นผู้ให้บริการรายล่าสุดในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม อีริค ซวี ยอมรับว่า รายได้ในกลุ่มธุรกิจองค์กรของหัวเว่ยที่เคยตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2019 นั่นอาจจะคลาดเคลื่อนออกไป เพราะปัจจุบันในปี 2015 หัวเว่ยมีรายได้จากธุรกิจในกลุ่มนี้ราว 3 พันล้านเหรียญ

“จากเป้าหมายที่วางไว้ทำให้หัวเว่ย ต้องมีการลงทุนวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน 3 ปีข้างหน้าจะใช้งบลงทุนกว่า 350 ล้านเหรียญ เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบบริหารจัดการที่จะเชื่อมต่อเครือข่าย และดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งหลายเข้าด้วยกัน”

ขณะที่แผนการเปิดให้บริการพับลิกคลาวด์นอกประเทศจีน เบื้องต้น จะใช้ความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายในแต่ละประเทศในการเปิดให้บริการก่อน ซึ่งก็จะดูความพร้อมของแต่ละประเทศในการเปิดให้บริการต่อไป

***หวัง 5G ช่วยเปลี่ยนโลก

ภายในงานดังกล่าว หัวเว่ย ยังได้มีการอัปเดตสถานการณ์ล่าสุดของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อในยุคที่ 5 หรือ 5G ว่า ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เริ่มลงทุนในการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2009 และเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา ได้ประกาศว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านเหรียญ เพื่อนำมาใช้ในงานวิจัยไปจนถึงปี 2018 โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมๆ กับการกำหนดมาตรฐานขึ้นมา ซึ่งเมื่อมีการนำมาใช้งานจริงในอนาคต หัวเว่ยก็พร้อมที่จะทุ่มเงินลงทุนเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รองรับการใช้งานอีก

ปัจจุบัน หัวเว่ยได้เริ่มมีการนำระบบ 5G มาทดลองใช้งานในสถานที่จริงแล้ว (Field Tests) และคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 จะเริ่มมีการเปิดตัวนวัตกรรมให้ฝั่งผู้ผลิตได้เริ่มนำไปพัฒนา ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการร่วมกับพาร์ตเนอร์ได้ภายในปี 2020

เบื้องต้น หัวเว่ยวางเป้าหมายในการก้าวข้ามระหว่าง 4G LTE ไปยังระบบ 5G แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ การลด Latency หรือเวลาในการเชื่อมต่อจากเดิมที่อยู่ราว 30-50 ms ให้เหลือ 1 ms, Throughput หรือ การส่งข้อมูลจาก 100 Mbps เป็น 10 Gbps, Connections หรือปริมาณการเชื่อมต่อจากหลักพันสู่หลักล้าน, Mobility หรือการรับส่งสัญญาณขณะเคลื่อนที่จากความเร็วไม่เกิน 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และด้านสถาปัตยกรรมจากที่ไม่มีความยืดหยุ่น ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

***ไทยอยู่อันดับ 31 จากรายงานประจำปี

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารทนเทศ และการสื่อสาร (Global Connectivity Index 2015 : GCI) ว่า การลงทุนทางด้านไอซีทีเพิ่มขึ้น 20% จะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆ บริษัทที่เคยออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการให้ข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักที่หัวเว่ยวางไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ 2025 คือ การเชื่อมต่อกว่า 1 แสนล้านครั้ง ผ่านทั้งผู้บริโภค และเครื่องจักร โดยสัดส่วนการใช้งานจะมาจากกลุ่มธุรกิจองค์กรราว 55% ส่วนที่เหลืออีก 45% จะมาจากฝั่งผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อจากสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี สมาร์ทโฮม และอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ที่มีหลากหลายขึ้น

ภายในรายงานดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนประเทศที่ได้รับการประเมินจาก 25 ประเทศ เป็น 50 ประเทศ และเพิ่มดัชนีจาก 16 เป็น 38 ตัว โดยจากรายงานดังกล่าว สหรัฐอเมริกา สวีเดน และสิงค์โปร์ ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับสูงสุด ขณะที่จีนอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา

ขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 31 ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา สูงกว่าฟิลิปปินส์ อินโดเนเชีย อินเดีย เวียดนาม ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่กำลังเริ่มต้นพัฒนาทางด้านไอซีที แน่นอนว่าการที่หัวเว่ยได้มีการเพิ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น แปลว่า ทางหัวเว่ย มองถึงโอกาสที่กลุ่มประเทศแถบนี้จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Company Related Link :
หัวเว่ย

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น