เกิดเป็นศึกโต้แย้งระหว่างอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มศว กับเพจต่อต้านสิ่งงมงาย จุดประเด็นวิพากษ์ร้อนแรง พร้อมตั้งคำถาม อาจารย์มีสิทธิห้ามเด็กกดไลค์-แชร์เพจดังกล่าวหรือไม่ ส่วนเพจฟักโกสต์ แม้จะตั้งขึ้นมาเพื่อ "ท้าลองของ" ในสิ่งที่ใครหลายคนเชื่อหรืองมงาย แต่ก็ถูกวิพากษ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการดูถูก เหยียดหยามความเชื่อส่วนบุคคลของคนอื่น ซึ่งบางครั้งก็เข้าข่ายลามกอนาจาร!
เปิดศึก "ความเชื่อ" เรื่องลี้ลับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่องความลี้ลับ เป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยเว็บวิกิพีเดียภายใต้โครงการวิกิสิ่งลี้ลับ ได้ระบุความหมายของสิ่งลี้ลับว่า คือสิ่งซึ่งไม่สามารถสัมผัสหรือพบเห็นได้โดยทั่วไป แต่เมื่อสัมผัสหรือพบเห็นแล้ว ในบางคนอาจเกิดอาการตื่นตระหนก หรือในบางคนอาจเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้นแล้วแต่บุคคล สิ่งลี้ลับที่อยู่ในรูปของพลังงาน คือ ผี วิญญาณ และสปิริต แต่สำหรับสิ่งลี้ลับที่มีตัวตน (มีร่างกายที่ไม่ใช่พลังงาน) คือ ปิศาจ และสัตว์ประหลาด
การสัมผัสของมนุษย์โดยทั่วไปต่อสิ่งลี้ลับนั้น จะใช้ประสาทสัมผัส 4 อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก และการรับรู้ทางผิวหนังเมื่อถูกสัมผัส แต่สำหรับมนุษย์ที่มีพลังเหนือธรรมชาติแล้วอาจใช้ประสาทสัมผัสพิเศษ เช่น การรับรู้ได้ด้วยจิต เป็นต้น โดยสิ่งลี้ลับจะแตกต่างไปตามพื้นที่ หากแบ่งตามประเภทของความเชื่อแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก นอกจากนี้สิ่งลี้ลับยังสามารถพบได้ทุกสถานที่ตั้งแต่ในเมืองจนไปถึงป่าเขา
แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้สิ่งลี้ลับ ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงกันมากขึ้น เห็นได้จากการตั้งกลุ่มขึ้นมาของเพจ "FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย" ที่ประกาศตัวชัดเจนเลยว่า "ไม่เชื่อต้องพิสูจน์" เนื่องจากมองว่า สังคมไทยมีเรื่องงมงายมากจนเกินไป โดยมีสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต คอยยัดเยียดในเรื่องดังกล่าวโดยขาดข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล
ทว่า การแสดงพฤติกรรมการไปท้าพิสูจน์ของทีมงานประจำเพจ กลับถูกตั้งคำถามตามมาถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการดูถูกและเหยียดหยามความเชื่อส่วนบุคคลของคนอื่น
เห็นได้จากกรณีล่าสุดที่เหล่าสมาชิกเพจได้ทำการลองของลบหลู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต่างนับถืออย่าง นางกวัก-นางตะเคียน ด้วยวิธีการที่ส่อไปในทางดูถูก เหยียดหยาม เป็นเหตุให้อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Wathin Chatkoon ถึงกรณีดังกล่าวว่า "การไม่เชื่อและมองว่าความเชื่อนั้นงมงาย" กับ "การแสดงพฤติกรรมดูถูกเหยียดหยามความเชื่อนั้น" ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ส่วนตัวพอรับได้กับอย่างแรก แต่ไม่สามารถรับการกระทำของเพจดังกล่าวได้
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว สิ่งที่จุดประเด็นดรามาให้ร้อนแรงขึ้นไปอีก ก็คือข้อความที่เขียนในเชิงข่มขู่นักศึกษาด้วยการห้ามเข้าไปกดไลค์ และแชร์เพจฟักโกสต์ หากเข้าไปสนับสนุนก็ไม่ควรมาเรียนในสาขาที่ตัวเองสอน จุดประเด็นให้ลุกลามบานปลาย โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าวนี้
ขณะที่เพจ FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า
"ผมล่ะหนักใจจริง ๆ กับเรื่องความเชื่อของอาจารย์ ของมหา'ลัยนี้?
กดถูกไลค์เพจ ฟักโกสต์ นี่ถึงกับยุติการเรียนการสอนของนักศึกษาเลยหรือ?
ไม่อยากจะนึกเลยว่าที่ผ่านๆ มาอาจารย์ได้ใช้การตัดสินแบบนี้กับนักศึกษาที่มีความเห็นต่างกับอาจารย์ไปแล้วกี่คน ?
B FuckGhost >>ผมว่าผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องดูแลสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาหน่อยนะครับ.. แบบนี้ออกแนวใช้อำนาจโดยมิชอบนะเนี่ย
**นักศึกษาอาจจะกดไลค์เพจฟักโกสต์เพื่อติดตามข่าวสาร หรือ อาจจะไม่เห็นด้วยกับฟักโกสต์ แค่นิ้วชี้ไปกดถูกใจโดนดรอปวิชานี้ ผมว่ากดเลิกเป็นเพื่อนกับอาจารย์เถอะครับ**
ไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ควรเหยียดหยาม
เมื่อล้วงลึกลงไปในประเด็นโต้แย้งระหว่างอาจารย์ มศว กับเพจฟักโกสต์ แม้ทางฝั่งอาจารย์ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก "เปาบุ้นจุ้น" ในนามเปาบุ้นจุ้น 2 ว่า "ได้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทีนิวส์ไปแบบพิเศษแล้ว เข้าใจว่าได้ตอบครอบคลุมทุกประเด็นแล้ว คงไม่ให้สัมภาษณ์ที่ไหนอีก กรุณาติดตาม ที่สำนักข่าวทีนิวส์นะครับ ขอบคุณมาก"
ทว่าความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กของอาจารย์ท่านนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ดูได้จากการแคปเจอร์ภาพข้อคิดเห็นของชาวเน็ตที่มีต่อประเด็นดังกล่าวมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมชี้แจงแถลงไขในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการ หรือการใช้อำนาจในฐานะอาจารย์ว่าเหมาะสมหรือไม่
"...ผมเชื่อว่า การไม่สนับสนุนใดๆ ต่อการดูถูกเหยียดหยามต่อความเชื่ออื่นๆ เป็นสิ่งที่ควรทำ และในฐานะคนสอนต้องแจ้งจุดยืนนี้ให้คนที่จะมาเรียนทราบก่อน และการใช้มาตราการแบบ ม.44 ในกรณีนี้เข้าใจได้สำหรับนิสิตที่เรียนในสาขาปรัชญาและศาสนา คือถ้าคุณคิดว่า 2 ภาพนั่นถูกต้อง คุณก็ไม่ควรมาเรียนปรัชญา และศาสนาตั้งแต่แรก แต่อาจต้องไปเรียนอย่างอื่น เช่น รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออะไรอื่นแทน" เป็นข้อความที่อาจารย์ มศว โพสต์ตอบความเห็นของนิสิตจุฬาฯ รายหนึ่งที่แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว
เจตนาดี แต่วิธีการรุนแรง
เมื่อถามไปยัง ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองแบบไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างกรณีอาจารย์ มศว เจตนาดี แต่วิธีการรุนแรงไป
"ถ้าอาจารย์ท่านนี้มองว่า การไปสนับสนุนกระทำที่ไม่เหมาะสมของเพจดังกล่าว มันก็ไม่เหมาะสมไปด้วย ควรจะใช้วิธีอื่นที่เบากว่านี้ เช่น กลัวว่าลูกศิษย์จะเดินทางผิด ก็อาจเรียกมาคุยเพื่อชี้แนะหรือปรับทัศนคติ เนื่องจากส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การใช้วิธีตัดคะแนน หรือให้ไปดรอปเรียน แบบนั้นรุนแรงเกินไปครับ"
เช่นเดียวกับลักษณะการท้าพิสูจน์ของ เพจ "ฟักโกสต์" อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เป็นการท้าพิสูจน์ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ออกไปในทางต่อต้านสิ่งงมงายที่มีลักษณะเหยียดหยาม หรือเข้าข่ายลามกอนาจาร ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงต่อนางกวัก แม้ในทางพระพุทธศาสนาจะไม่มีนางกวัก แต่ถ้าเทียบเคียงแล้วก็เปรียบได้กับนางฟ้า นางสวรรค์ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง การแสดงอากัปกิริยาด้วยวิธีแบบนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ใช่การกระทำของคนที่มีการศึกษา หรือมีวัฒนธรรมที่เจริญแล้ว
ล่าสุด (21 ก.ค.58) สำนักข่าวทีนิวส์ ได้ลงบทสัมภาษณ์ ดร.เวทิน ชาติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยอาจารย์ยอมรับในประเด็นดรอปเรียนว่า อาจจะใช้คำพูดที่แรงเกินไป ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้ว การกดถูกใจ หรือแชร์เป็นเรื่องสาธารณะ ถ้ามีนักศึกษาเข้าไปกด และสามารถปรับความเข้าใจกันได้ ตรงนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง ตนก็พร้อมเปิดกว้างรับฟัง ถ้าทัศนคติของนักศึกษามองเรื่องศาสนาเป็นเรื่องดูแคลนไปแล้วก็คงยากที่จะไปทำความเข้าใจศาสนาอื่นที่ตนเองไม่เชื่อ
ส่วนการนำเสนอภาพและเนื้อหาของเพจดังกล่าว อาจารย์ท่านนี้ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงเวลาต้องมีการปราม และเฝ้าดู เพราะการพิสูจน์ต้องอยู่ในขอบเขตแห่งความเหมาะสม
เรียนอะไร? "ปรัชญาและศาสนา"
ปิดท้ายกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาควิชาปรัชญาและศาสนา เรื่องนี้ ศ.ดร.วัชระ ให้ข้อมูลว่า เป็นสาขาที่ผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้ สามารถนำแนวคิดทางปรัชญามาศึกษาและอธิบายคุณค่า ความหมายของศาสนา เน้นการตั้งคำถามเชิงศาสนาและพยายามหาคำตอบด้วยหลักการของปรัชญา
"ปรัชญา ศาสนา เป็นแนวคิด คำสอน หรือความเชื่อของนักปราชญ์ หรือศาสดาในศาสนาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตโลก และจริยธรรม โดยจะมีเรื่องของสิ่งลี้ลับรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะมีการพูดถึงในปรัชญาตะวันออก และศาสนา ผู้เรียนจะมีความเข้าใจ ความเชื่อ และแนวคิดที่แตกต่าง นำไปสู่การอยู่ร่วมกันบนความต่างได้อย่างมีความสุข เพราะแต่ละคนเขาก็มีเหตุผล และความเชื่อของเขา ไม่มีใครสามารถตัดสินได้เด็ดขาดหรอกว่า ฝ่ายโน้นผิด ฝ่ายนี้ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการเรียนสาขาวิชานี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมเขาทำแบบนี้ หรือเชื่อแบบนี้"
ทั้งนี้ ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา ได้ฝากถึงพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับความเชื่อไว้ว่า ไม่ควรเชื่ออย่างงมงาย แต่ควรเชื่ออย่างมีสติ
"เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ทางที่ดีควรตั้งสติ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ อย่าทำอะไรที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้ เช่น เชื่อคนบางคนที่อ้างตัวเองว่ามีอำนาจวิเศษต่างๆ สุดท้ายอาจถูกหลอก เสียเงินเสียทองได้ ทางที่ดี ควรใช้ปัญญา และหาข้อมูลให้มากๆ ก่อนจะเชื่อสิ่งใดๆ"
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754