xs
xsm
sm
md
lg

เรามีวัดไปเพื่ออะไร? ถึงเวลาพลิกฟื้นสู่ความหมายที่แท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอดีต "วัด" เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม พื้นที่วัดถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม ทั้งทางด้านจิตวิญญาณ การส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงวิชาการความรู้ให้แก่สาธุชน โดยพระมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทางสติปัญญา และเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน

แต่ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ได้ทำให้บทบาทความเป็นศูนย์กลางของวัดลดความสำคัญลง ถูกจำกัดอยู่เพียงมิติทางศาสนาและการทำบุญ ส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชนลดน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ "วัดบันดาลใจ" จากความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์ ชุมชน และเหล่าภาคีเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อพลิกฟื้นในมิติทั้งด้านกายภาพในพื้นที่วัดและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยด้านกายภาพ ได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบมืออาชีพ เหล่าสถาปนิกและภูมิสถาปนิกที่อาสามาช่วยงานนี้

เบื้องต้นได้นำร่องคัดเลือก 9 วัดจากทั่วประเทศ ได้แก่ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ, วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ, วัดชลประทานรังสฤษฏ์ นนทบุรี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา, วัดภูเขาทอง อยุธยา, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม, วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ และวัดศรีทวี นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นวัดต้นแบบ และเป็นกรณีศึกษาในการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนคนรุ่นใหม่และพระสงฆ์อย่างยั่งยืน รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับวัดและชุมชนอื่นๆ มาร่วมมือกันพลิกฟื้นวัดทั่วประเทศให้เป็นวัดบันดาลใจของทุกคน


"ที่ผ่านมาเหล่าสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบใช้ทักษะด้านการออกแบบมาเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นหากเหล่านักออกแบบมาร่วมกันออกแบบพื้นที่วัด ก็น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสูงสุดของวิชาชีพที่จะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจและเกิดคุณค่าขึ้นแก่สังคมและชีวิต" ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์บอก หัวเรี่ยวหัวแรงในการขอร่วมพลิกฟื้นวัดด้วยการใช้วิชาชีพ นักออกแบบ


บางคนอาจจะไปวัดเฉพาะวันสำคัญ หรือไปเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่สมัยก่อนวัดเป็นที่ที่เราเข้าไปทำอะไรมากกว่านั้น นั่นจึ...

Posted by วัดบันดาลใจ on Tuesday, July 14, 2015


ด้าน พระมหาสุทธิต อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม หนึ่งในเก้าวัดนำร่องในการเป็นวัดต้นแบบของโครงการวัดบันดาลใจ กล่าวว่า คนจะรู้จักวัดสุทธิวรารามในนามของโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตร เพราะว่าเป็นโรงเรียนชายล้วน ที่วัดจริงๆ เดิมไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ภายหลังการเจริญเติบโตของบ้านเมือง มีการรุกที่เข้ามาบ้าง ความโล่ง โปร่ง สบายหรือต้นไม้มากๆ ก็ลดลงไป


สำหรับหัวใจหลักของการที่จะพัฒนาวัด คือ สร้างพื้นที่อยู่สามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การสร้างพื้นที่ทางกายภาพวัดให้สะอาดร่มรื่นโดยใช้หลักอีโค ทาวน์ (เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโบสถ์, ปรับปรุงลานจอดรถสำหรับนั่งพักผ่อนและปฏิบัติภาวนา) เมืองกับคนอยู่ด้วยกันได้ ขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมร่มรื่นเป็นสัปปายะ

สองคือ สร้างพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ (ห้องสมุด,พื้นที่นันทนาการอเนกประสงค์, จัดนิทรรศการย่านเจริญกรุงใต้) อย่างน้อยที่สุด ให้โรงเรียน บริษัทและห้างร้านและคนในย่านนี้ ได้เข้ามาเรียนรู้ และสุดท้าย พื้นที่ที่สาม คือ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา อยากให้คนมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดเข้าไปในอุโบสถซึ่งจะให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา มีโครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา


ทั้งนี้ โครงการวัดบันดาลใจ มีแผนเดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวิร์กชอปไปยังวัด และชุมชนอื่นๆ การจัดนิทรรศการสรุปภาพรวมของ 9 วัดบันดาลใจ เพื่อขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ให้มาร่วมแรงร่วมใจ ทำให้แต่ละโครงการเป็นจริง การจัดทำสารคดีวัดบันดาลใจ เพื่อเผยแพร่แนวคิดออกไปในวงกว้าง ตลอดจนสานต่อโครงการนี้ไปยังวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ


นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ทุกท่านสามารถร่วมเป็นหนึ่งคนจิตอาสา เพื่อเป็นเครือข่ายขับเคลื่อน ทำให้วัดในพื้นที่ชุมชนของคุณ เป็น "วัดบันดาลใจ" สามารถรวมพลังก่อศรัทธาด้วยความมุ่งหวังร่วมกันได้ในเฟซบุ๊ก "วัดบันดาลใจ" เพื่อพลิกฟื้นให้ทุกวัดเป็นวัดบันดาลใจอย่างแท้จริง


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น