ท่ามกลางกระแสดูถูก เหยียดหยาม และการตั้งคำถามถึงคุณภาพ "บัณฑิตราชภัฏ" ของบริษัทเอกชน ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live มีโอกาสนั่งคุยกับ "รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เพื่อถอดความคิด ในฐานะลูกหม้อที่เริ่มต้นชีวิตอาจารย์สอนหนังสือในสถาบันแห่งนี้จนขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ล่าสุด Webometrics Ranking เว็บไซต์ชื่อดังจากสเปนจัดอันดับให้เป็นราชภัฏอันดับที่ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้านวิชาการและงานวิจัย ถือเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญในการกู้คืนศักดิ์ศรีให้ "ราชภัฏ" ทั่วประเทศ
มีทัศนะอย่างไรต่อกระแสธนาคารชื่อดัง ไม่เอา "ราชภัฏ"
สิ่งที่ผมหงุดหงิดก็คือ มันเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาเลยว่ามีแค่ 14 สถาบันเท่านั้น ส่วนนี้ทำให้อธิการบดีทุกๆ คน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏตั้งคำถามว่า ทำไมออกประกาศมาแบบนี้ ถึงตอนนี้ มติที่ประชุมอธิการบดีราชภัฏว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น เราไม่ต้องการแพ้-ชนะ หรือแตกหักกันไปข้างหนึ่ง แต่ทำแบบนี้เราอยู่นิ่งไม่ได้
อย่างที่ผมเคยพูดออกไป ถ้ามีการจัดทำบัญชีรายชื่อมหาวิทยาลัยเพื่อเลือกรับเข้าทำงาน เราก็จัดทำบัญชีรายชื่อธนาคารที่จะทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนกัน หรือถ้าจะมาบอกว่า แล้วคุณเดือดร้อนอะไร คุณก็กลับไปพัฒนาคุณภาพนักศึกษาของคุณสิ ผมก็คงต้องบอกให้คุณกลับไปพิจารณาการกระทำของคุณด้วยเหมือนกัน
(ทั้งนี้ ในช่วงเย็นหลังเสร็จการสัมภาษณ์ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้าร่วมประชุมอธิการบดีราชภัฏ ระบุสาเหตุเกิดจากความบกพร่องภายใน ย้ำไม่เคยมีนโยบายนี้ พนักงานที่รับใหม่ตั้งแต่ปี 57 ถึงพ.ค.58 เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 30 เปอร์เซ็นต์ ด้านราชภัฏยังคงดำเนินธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารตามปกติ)
ดรามา "แบงก์ไทยพาณิชย์" ครั้งนี้ พอจะสรุปบทเรียนอะไรได้บ้าง
ถ้าธนาคารไทยพาณิชย์แสดงความจริงใจด้วยการขอโทษ และกล้ายอมรับผิดตั้งแต่แรก รวมไปถึงการให้ความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบคนที่ออกประกาศ เรื่องมันก็จบ แต่การที่ออกมาบอกว่า "สื่อสารผิดพลาด" ไม่ใช่อ่ะครับ เราไม่ได้โง่นะครับ ทุกคนอ่านหนังสือออก แล้วการมาบอกว่า รับแค่ตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด สาขาที่คุณเปิดรับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เราก็มีสาขาการเงินการบัญชี เรามีสาขาเศรษฐศาสตร์ การออกมาพูดแบบนี้มันยิ่งแถครับ
ดังนั้น นี่เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า 1.คุณมีการเลือกมหาวิทยาลัยชัดเจน ซึ่งผมไม่รู้ว่าคุณใช้เกณฑ์อะไรมาคัดเลือกคนเก่ง หรือไม่เก่ง 2. คุณทำให้มันเกิดเหตุขึ้นมา 3. เมื่อเกิดเหตุแล้ว คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปล่อยให้เรื่องเรื้อรังบานปลายมาเป็นสัปดาห์ คุณต้องกลับไปพิจารณาอย่างหนักแล้วล่ะครับ
คิดอย่างไรกับการแบ่งเกรด หรือเลือกมหาวิทยาลัยของบริษัทเอกชนในการรับคนเข้าทำงาน
ผมเข้าใจในประเด็นนี้นะครับ และยอมรับกันมานานแล้ว เพราะมันเป็นเอกสิทธิ์ของบริษัทเอกชนที่จะเลือกคนเข้าไปทำงาน แต่ตามมารยาททางสังคมจะไม่มีการออกประกาศกันอยู่แล้ว รู้ๆ กันในวงใน ซึ่งเรื่องนี้ผม และใครหลายๆ คนก็รู้ เนื่องจากบางบริษัทมีกลุ่มพี่กลุ่มน้องในองค์กร ยกตัวอย่างผมจบจากจุฬาฯ ผมก็อยากรับเด็กจุฬาฯ เข้าทำงาน แต่ก็คงไม่มีใครออกมาประกาศกันหรอกว่าไม่เอาสถาบันนั้น ไม่เอาสถาบันนี้ แบบนั้นเขาเรียกว่าไม่ให้เกียรติกันครับ
ทำไมสังคมไทยบางกลุ่มยังชอบดูถูก "เด็กราชภัฏ"
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เด็กราชภัฏมีความหลากหลาย ในประเทศไทยมีราชภัฏ 40 แห่ง เมื่อมีเยอะ จำนวนคนเยอะมันก็คละเคล้าเด็กกันไป พูดง่ายๆ ก็คือ มีหลายเกรด แต่ไม่ใช่ว่าเด็กราชภัฏจะแย่ทั้งหมด เด็กเก่งๆ ก็มี ซึ่งผมเชื่อว่ามีอยู่เยอะด้วย แต่การไปเหมารวม เหมาเข่งว่าเด็กราชภัฏคือเด็กไม่มีคุณภาพ เวลาพูดออกไปปากต่อปากคนก็ยิ่งไม่เชื่อมั่นในความเป็นเด็กราชภัฏ
พอได้ยินแบบนี้ ผมก็รู้สึกไม่ดี ถามว่าเรากลับมาดูคุณภาพไหม ดูครับ เราดู และตระหนักในคุณภาพอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเด็กของเรา ต้องยอมรับว่า เป็นเด็กชั้นรองลงมา เก่งๆ ก็เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่เหลือก็กระจัดกระจายกันไป ส่วนของราชภัฏเราอยู่กลางๆ แต่ก็ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด ผมจบจากจุฬาฯ ส่วนอาจารย์ผู้สอนก็จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งนั้น การที่ผมสอนเด็กราชภัฏมันทำให้ศักยภาพของผมด้อยลงทันทีเลยหรือ ถ้าผมไม่มีคุณภาพ คงต้องไปถามจุฬาฯ ถามมหิดล เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ผมจบออกมา
ถ้าพูดถึง "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา" จุดแข็งของราชภัฏแห่งนี้อยู่ตรงไหน
ผมกล้าพูดได้เลยว่า ระบบในการพัฒนาอาจารย์ให้มีคุณภาพดีกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายแห่งอีก เงินเดือนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาดีกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายๆ แห่งด้วยซ้ำ ดังนั้นผมไม่เชื่อเลยว่า ระบบของเราจะสู้ที่อื่นเขาไม่ได้ ส่วนระบบต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ได้มีการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
เห็นได้จากหลักสูตรที่เปิดสอนเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร บัญชี สกอ.บอกว่ามีมาตรฐานนะครับ หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาตรวจก็บอกว่ามีมาตรฐานนะครับ เมื่อมีการยืนยันชัดเจนแบบนี้แล้วยังมาบอกว่าราชภัฏไม่มีคุณภาพก็คงต้องยุบ สกอ.และ สมศ.ครับ เพราะเป็นหน่วยงานที่ยืนยันมาตรฐานให้เรา
ปีนี้ถ้านับเด็กที่มาสมัคร และจ่ายเงินแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามี 60,000 กว่าๆ เลยนะ แต่ถ้านับรวมทั้งหมด มีเด็กแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าที่นี่ประมาณ 80,000 กว่าๆ ทีนี้ลองมาดูในส่วนของเด็กที่จะรับบ้าง เรารับได้แค่ 7,000 คนนะครับ สาขาบัญชีมาสมัคร 2,414 คน แต่เรารับแค่ 120 คนเท่านั้น ผมถามหน่อยว่า กระบวนการในการคัดเลือกคนของเรา คุณไม่เชื่อหน่อยเหรอว่าผมจะได้คนดี มีคุณภาพ ผมว่าผมมีตัวเลือกมากกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายๆ แห่งอีกนะ จะไม่ได้คนเก่งเลยก็ให้มันรู้กันไปครับ
ในฐานะที่เคยสอนเด็กราชภัฏฯ มีความรู้สึก หรือความเห็นอย่างไรต่อเด็กกลุ่มนี้
เรื่องไม่สู้งาน ไม่ใช่เด็กราชภัฏแน่นอน เด็กราชภัฏเป็นเด็กสู้งาน อดทน ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นจุดโดดเด่นที่ยืนยันได้จากผลวิจัยบัณฑิตราชภัฏในตลาดแรงงาน แต่แค่นั้นไม่พอครับ ในฐานะอธิการบดี ใครมาบอกเด็กผมเป็นแบบนี้ผมไม่โอเค พูดหยาบๆ เหมือนเด็กเราคนโง่แล้วขยัน ซึ่งผมไม่ต้องการ ผมต้องการให้เด็กราชภัฏมีความเฉลียวฉลาด มีความโดดเด่นด้านวิชาการ เอาวิชาการนำ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอด 3 ปี
ดังนั้น นอกเหนือจาก "ทรงปัญญา ศรัทธาธรรม นำสังคม" ซึ่งเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาแล้ว เด็กเรายังต้องเก่งไอที ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีการฝึกอย่างหนัก ซื้อโปรแกรมด้วยงบลงทุนมหาศาลเพื่อให้เด็กได้เรียน และสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน สุดท้ายคือ เด็กสวนสุนันทา ต้องเป็นคนดี มีพรสวรรค์ ไปจนถึงมีความสุขในการทำงาน เมื่อเราตั้งใจ และทุ่มเทขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ให้โอกาสเด็กเราเลย
ถ้าธนาคารชื่อดังไม่เอา "ราชภัฏ" คิดว่ามีผลต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาหรือไม่ อย่างไร
จริงๆ ถ้าเอาแค่ 14 สถาบัน โดยไม่มีเราเลย มันไม่ได้กระทบกับเราเลยครับ บางบริษัทมาจองตัวเด็กตั้งแต่ปี 3 แล้ว อย่างตัวผมประกาศจะเอาเด็กที่จบบัญชี 1 คน การเงิน 1 คนมาทำงานในมหาวิทยาลัย พวกเขายังไม่ทำเลย เพราะมีบริษัทที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านั้น
หลายคนบอกว่า อธิการบดีคิดเหมือนเด็ก ใช่ครับ ผมคิดเหมือนเด็ก ผมเอาหัวใจของเด็กมาใส่ในตัว แล้วก็ไม่ใช่เด็กสวนสุนันทาด้วย แต่เป็นเด็กราชภัฏทั่วประเทศ ผมต่อสู้ให้พวกเขามีศักดิ์ศรี จริงๆ ผมไม่จำเป็นต้องต่อสู้ก็ได้ เพราะผมไม่ได้จบราชภัฏ แต่ผมรู้จักเด็กราชภัฏดี ผมทนไม่ได้ที่สังคมไม่ให้โอกาสพวกเขา
มีข้อมูลยืนยันหรือไม่ว่า "เด็กราชภัฏ" เป็นที่พึงพอใจของตลาดแรงงาน
เรามีการติดตามบัณฑิตทุกปี เราเข้มข้นถึงขนาดให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงไปดูด้วย หลังจากการลงไปติดตามแล้ว ถามว่าเด็กเราทำงานเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ประเมินได้ว่า ผู้ใช้ก็พึงพอใจ ส่วนบริษัทที่ไม่เอาเรา ขอแค่โอกาสได้ไหม แล้วลองเปรียบเทียบดู ซึ่งมิติการทำงานมีหลายมิตินอกเหนือจากศาสตร์ความรู้ คนเก่งๆ บางคนเข้ากับใครไม่ได้เลยก็มีให้เห็นกันอยู่ แต่ผมเชื่อมั่นว่าเด็กราชภัฏไม่เป็นแบบนั้น
ยกตัวอย่างบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เรามีหลายคนที่ได้ดี เติบโตมีหน้าที่การงานดีๆ อย่างนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ในพระบรมราชูปถัมภ์คนปัจจุบัน ท่านเคยทำงานปูนซิเมนต์ไทยมาก่อน หรือนายกสมาคมศิษย์เก่าอีกคน "พลเอกสิทธิ สิทธิมงคล" ท่านจบราชภัฏสวนสุนันทา เข้าสู่วงการทหาร ท่านได้ถึงพลเอก ถ้าคนไม่มีคุณภาพคงยากที่จะไปถึงพลเอก
คิดว่าอะไรคือจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของ "เด็กราชภัฏ"
เด็กราชภัฏมีความโดดเด่น อยู่กับใครคนนั้นจะมีความสุข เขาจะเป็นลูกน้องที่ดี เพื่อนที่ดี และเป็นคนที่มีประโยชน์ในองค์กร หน่วยงานไหนขาดเด็กราชภัฏ หน่วยงานนั้นจะขาดเสน่ห์ และดูแห้งแล้งไปเลย ถ้ารับเขาไปแล้ว ใช้เขาให้เกิดประโยชน์ เห็นคุณค่าในตัวเขา แล้วเขาจะสร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อหน่วยงานหรือองค์กรของคุณ ลองเทียบดูกับเด็กเก่งบางคน จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่อยู่กับใครไม่ได้
ดังนั้น ขอแค่โอกาส ขอให้เด็กราชภัฏได้มีโอกาสพิสูจน์ สังคมทุกวันนี้เราต้องการความเท่าเทียมกัน และเราก็ชื่อมั่นในตัวบัณฑิตของเรา บางคนบอกว่า ให้หันกลับไปดูคุณภาพตัวเองก่อนค่อยมาโทษคนอื่น ผมดูครับ ผมตระหนัก และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผมมั่นใจว่าเราแข่งได้ ส่วนเด็กราชภัฏเองก็ต้องพัฒนาคุณภาพ ใฝ่หาความรู้ อาจจะต้องมากกว่าคนอื่นหลายเท่า
มีมุมมอง หรือข้อเสนอแนะอย่างไรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ดีขึ้น
ผมมองในระบบโครงสร้าง ของเรายังโบราณอยู่มาก เป็นแบบก๊อบปี้เดียว มันจึงทำให้ผลผลิตที่ออกมาของมหาวิทยาลัยเหมือนกันหมด ซึ่งการมีบล็อกเดียวกันมันก็ดีครับ แต่มันก็มีข้อเสียตามมาคือ มันขาดเสรีภาพทางความคิด เราไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้ หรือถ้ามีก็มีได้น้อย เด็กจึงไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่มีความโดดเด่น อย่างเวลามีการตรวจมาตรฐานคุณภาพหลักสูตร มุ่งไปดูห้องสมุด นับจำนวนหนังสือว่ามีกี่เล่มๆ โลกวันนี้เด็กเขาอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ หรือมือถือกันเกือบจะหมดแล้ว
ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่อธิการบดี มร.สส. พยายามฉายภาพ และให้ข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่า จบจาก "ราชภัฏ" ไม่ได้ด้อยคุณค่า หรือไร้ประสิทธิภาพ เพราะราชภัฏในวันนี้มีการพัฒนาคุณภาพหลักสูตร บุคลากร รวมไปถึงนักศึกษาไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของประเทศไทย
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754