ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่งจะฉาวโฉ่กับกรณีทุจริตใน “สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)” ยังไม่สะเด็ดน้ำดี “ธนาคารไทยพาณิชย์” ซึ่งจำยอมต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้กับ สจล. ในส่วนเงินฝากที่หายไปจำนวน1,500 ล้านบาท เนื่องเพราะเป็นเงินที่ถูกยักยอกออกไปจากบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมต่อเนื่องเป็นคำรบที่สอง
จะเรียกว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก แม้จะมีทำบุญสุนทานเพื่อสะเดาะเคราะห์ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง 2 คราก็ตาม
แถมงานนี้ดูเหมือนเรื่องจะขยายวงกว้างและใหญ่โตกระทบกับภาพลักษณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์สาหัสสากรรจ์ทีเดียว
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า มีการแพร่ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์รับสมัครงานในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด” ทางเว็บไซต์สมัครงาน โดยระบุคุณสมบัติลงไปว่า จะต้องเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพียง 14 แห่งเท่านั้น โดยไม่มี “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” และ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” ซึ่งส่งผลทำให้เกิดกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติและดูหมิ่นคุณภาพของสถาบันการศึกษาต่อสาธารณชนอีกด้วย
มหาวิทยาลัยทั้ง 14 แห่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ปรารถนาจะให้มาร่วมงานประกอบไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.อัสสัมชัญ ม.กรุงเทพ ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.หอการค้าไทย และ ม.แม่ฟ้าหลวง
แม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะพยายามอธิบายจะพยายามชี้แจง โดย วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล ออกแถลงการณ์ระบุว่า ธนาคารขออภัยในการสื่อสารที่ผิดพลาดและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับนักศึกษาเข้าทำงาน ในความเป็นจริงธนาคารมีนโยบายเปิดกว้างในการรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าทำงานเป็นพนักงาน โดยตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันธนาคารได้เปิดรับพนักงานใหม่ไปแล้วทั้งหมดกว่า 2,700 คน โดยมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา แต่กระแสความไม่พอใจก็ยังคงคุกรุ่นและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งในที่สุดเรื่องก็ถึงจุดเดือดเมื่อเฟซบุ๊กสำนักทรัพย์สินและรายได้ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) ได้เผยแพร่ข้อความว่า “ตามมติที่หารืออธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง และสำนักทรัพย์สินและรายได้ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะทำการตอบโต้ โดยเลิกการทำธุรกรรมการเงินทุกชนิดกับธนาคารไทยพาณิชย์”
นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่ธนาคารชี้แจงเป็นเพียงการแก้ตัว สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีจิตสำนึกและทัศนคติดีต่อสังคม อีกทั้งทำให้เกิดการแตกแยกสังคมด้วยการกีดกั้นและแบ่งแยกมาตรฐานบัณฑิต ดังนั้นในการประชุม ทปอ. มรภ. จะนำเรื่องนี้เข้าหารือว่าอธิการบดี มรภ.แต่ละแห่งมีความคิดเห็นอย่างไร และจำเป็นจะต้องมีมติให้ มรภ.ทั่วประเทศ ยกเลิกการทำธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์หรือไม่
ทั้งนี้ มรภ.เข้าใจและรู้ว่าสถานประกอบการต่างๆ มีอำนาจในการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับทำงานได้ แต่อยากจะขอให้เปิดโอกาสแก่บัณฑิตจากทุกสถาบัน ไม่ใช่เพียงแค่บกพร่องไปเรียนในสถาบันอื่นที่ธนาคารไม่ได้กำหนด แล้วทำให้หมดสิทธิ์ในการแข่งขันเข้าทำงาน ที่ผ่านมา
ด้าน ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้ข้อมูลเสริมว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยมาระยะหนึ่งแล้วผ่านโปรแกรมแชตไลน์ซึ่งกลุ่ม ทปอ.มรภ. ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า จะยกเลิกทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารดังกล่าว
“การที่ธนาคารระบุว่าเป็นการสื่อสารผิดพลาดนั้น ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่เชื่อถือได้ เพราะมีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนแสดงว่าต้องเป็นเรื่องจริง ดังนั้นเมื่อธนาคารระบุรายชื่อมหาวิทยาลัยที่จะรับเข้าทำงาน เราก็จะระบุรายชื่อธนาคารที่จะทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเช่นกัน การคัดเลือกคนเข้าทำงานเป็นสิทธิ์ขององค์กร แต่การประกาศ เป็นลายลักษณ์อักษรแบบนี้เป็นการไม่ให้เกียรติกัน”
ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏเท่านั้น เรื่องยังลุกลามไปถึงมหาวิทยาลัยราชมงคลอีกด้วย
“รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ประกาศชัดว่า “เมื่อแบงก์ไทยพาณิชย์จำกัดการรับนักศึกษา เราเองก็คงจะทบทวนว่า ควรทำธุรกิจทางกรรมเงินต่อหรือไม่ โดยเฉพาะการดูแลกองทุน 500 ล้านบาทว่าจะดำเนินการต่อหรือยกเลิก
ขณะที่นายนำยุทธ สงธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร. ล้านนา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี มทร. 9 แห่ง เตรียมนำเรื่องหารือในที่ประชุมอธิการบดี มทร. 9 แห่งเพื่อหาข้อสรุปและมาตรการในในเรื่องนี้
ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญกับอาฟเตอร์ช็อกตามมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต” ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ว่า เรียน ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัดตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศรับสมัครผู้สำ เร็จการศึกษาจาก 14 สถาบัน และกรุณาจัดอันดับ มหาวิทยาลัยรังสิต ไว้ในระดับ BB ในลำดับสุดท้าย ที่ 34 นั้น มหาวิทยาลัยรังสิต รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
กรณีของมหาวิทยาลัยรังสิตยิ่งเห็นได้ชัดว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยที่พึงประสงค์รับสมัครงานจริงๆ แถมยังมีการจัดอันดับเอาไว้อย่างเสร็จสรรพเหมือนอย่างเช่นที่มูดี้ส์หรือเอสแอนด์พีจัดอันดับความน่าเชื่อกันเลยทีเดียว
งานนี้ เล่นเอาธนาคารไทยพาณิชย์เต้นเป็นเจ้าเข้าเลยทีเดียว พร้อมออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง โดย น.ส.จันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อํานวยการ ผู้บริหาร Integrated Digital Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า “ในฐานะพนักงาน SCB คนหนึ่ง กราบขออภัยอย่างสูงในความผิดพลาดของประกาศรับสมัครงานของธนาคาร ที่อาจทําให้ท่านและทางสถาบันไม่สบายใจ และใคร่ขออนุญาตเรียนชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับเอกสารการจัดแบ่งมหาวิทยาลัยตามเกรดนั้น ไม่ใช่ของธนาคารไทยพาณิชย์แต่อย่างใด”
แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์แต่ประการใด และถ้าจะกล่าวว่า วิบากกรรมของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้นั้น ถือว่าหนักหนาสาหัสก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
เมื่อเป็นเช่นนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องกระทำเป็นการเร่งด่วนเพื่ออธิบายให้เห็นว่า เป็นความผิดพลาดจริงๆ
โดยรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล ให้ข้อมูลว่า ในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีพนักงานราว 22,000 คนนั้นประกอบไปด้วยผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏถึงกว่า 4,500 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลประมาณ 1,500 คน หรือรวมแล้วคิดเป็น 1 ใน 4 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานธนาคารเลยทีเดียว
ขณะที่พนักงานไทยพาณิชย์ที่จบการศึกษามาจากเครือข่ายของ 2 มหาวิทยาลัยก็ช่วยกันโพสต์ข้อความสถานศึกษาของตนเองเป็นการใหญ่เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่า ความจริงมิได้เป็นอย่างที่เห็นประการใด
ด้านนางพรรณพร คงยิ่งยง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสเครือข่ายสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้กล่าวหลังเข้าพบประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) ว่า ผู้บริหารของ มรภ.ได้ให้การตอบรับและรับฟังข้อเท็จจริงจากธนาคารเป็นอย่างดี รวมทั้งได้มีการพูดคุยถึงความร่วมมือกันในการสร้างบุคลากรของภาคการเงินให้ออกมามากยิ่งขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้ผู้บริหารของธนาคารและผู้จัดการสาขาของแต่ละพื้นที่ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของ มรภ.เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
รวมทั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมนายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล และ น.ส.อารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ได้เข้ามาหารือกรณีที่มีข่าวเกิดขึ้น รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)โดยทางผู้บริหารได้ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค และยืนยันว่าทางธนาคารรับนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันเข้าทำงาน แต่สำหรับตำแหน่งดังกล่าวที่รับเฉพาะจากสถาบันการศึกษา14 แห่ง เนื่องจากเป็นตำแหน่งเฉพาะ จึงไม่ได้เปิดรับทั่วไป ส่วนตำแหน่งอื่นๆ เปิดโอกาสให้บัณฑิตจากทุกสถาบันเข้ามาแข่งขันและไม่มีการปิดกั้นใดๆ
ถึงตรงนี้….คงต้องกล่าวว่า วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ต้องบอกว่า เป็นวิบากกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเรื่องที่การยักยอกเงินของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังออกไปจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ในปลายปี 2557 และจบลงด้วยการยินยอมคืนเงินในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หรือกินเวลานานถึง 3 เดือน ที่ฝ่ายผู้บริหารพยายามแก้ไขสถานการณ์ เพราะกระทบกับความเชื่อมั่นที่มีต่อธนาคารโดยตรง
นี่ไม่นับรวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้เอสซีบีพาร์ค ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตที่เกิดขึ้นกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ทว่า พอจะหายใจหายคอได้คล่องขึ้นไม่นานนัก ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2449 และขณะนี้มี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร ก็ต้องมาเผชิญกับปัญหาเป็นคำรบที่สองเกี่ยวกับเรื่องการรับสมัครงานจนต้องวิ่งวุ่นชี้แจงมือเป็นระวิง
แน่นอน นี่คือบทเรียนที่สำคัญยิ่งของบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ต้องตระหนัก เพราะในความเป็นจริง ไม่ใช่เฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้นที่กำหนดสถาบันการศึกษา “ต้องประสงค์” หากแต่เป็นที่รับรู้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็มิได้แตกต่างไปจากธนาคารไทยพาณิชย์เช่นกัน
เผลอๆ...จะหนักกว่าเสียด้วยซ้ำไป เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็น ทางการเท่านั้น
แต่กระนั้นก็ดี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่สำคัญของวงการศึกษาไทยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับเช่นกันว่า การจัดประเภทและลำดับสถาบันการศึกษาในสังคมไทยนั้นมีอยู่จริง และเป็นที่รับรู้กันในสังคมกันมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ไม่ได้กระทำอย่างเป็นทางการเท่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว สถาบันการศึกษาก็จำเป็นเช่นกันที่จะหันมาสำรวจ “ตัวเอง” อย่างจริงจริงถึงต้นสายปลายเหตุของการจัดลำดับและการกำหนดคุณสมบัติการรับสมัครของบริษัทต่างๆ เกิดขึ้น เป็นความเข้าใจผิดหรือได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นเช่นนั้นจริงๆ
ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งปรับปรุงและปฏิวัติการเรียนการสอนของสถาบันตนเองอย่างรอบด้านเพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งสุดท้ายกฌะเกิดอานิสงส์ต่อทั้งตัวนักศึกษาเองและการพัฒนาประเทศไปในอีกทางหนึ่งพร้อมๆ กันด้วย
เหมือนดังที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า “มรภ.จะต้องมองย้อนกลับด้วยว่า สาเหตุใดธนาคารถึงออกมาประกาศเช่นนั้น หรือว่า กลุ่ม มรภ.ยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร หากกลุ่ม มรภ.ได้ทบทวนแล้วว่า การจัดการเรียนการสอนของ มรภ.ยังบกพร่องอยู่ ก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน เพราะหากปรับปรุงจนเป็นที่โดดเด่นแล้ว หน่วยงานหรือองค์กรแต่ละแห่งจะให้ความสำคัญและยอมรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้นเข้าทำงานเอง”