“บทกวีดีๆจะไม่ตาย และ เพื่อนไม่ควรทวงบุญคุณเพื่อน” คือข้อคิดส่วนหนึ่งที่เก็บตกมาฝากจากงานฉลองครบรอบ 2 ปี ร้านหนังสือสุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งจัดขึ้นตรงกับ วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน และสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Change & Keep เนื่องจากทางร้านมองว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เราจะร่วมกันรักษาบางสิ่งให้คงอยู่ได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของ “บทกวี”และ “วรรณกรรมบางเล่ม” ที่มีอิทธิพลกับนักอ่านจำนวนมาก
ดังนั้นปีนี้นอกจากจะมีบรรดาศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กวี นักเขียน คนทำหนังสือ ตลอดจนนักอ่าน ไปร่วมกิจกรรมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งดังเช่นที่ผ่านมา อาทิ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และสามีซึ่งเป็นนักเขียนนักแปลรุ่นใหญ่ ดลสิทธิ์ บางคมบาง (สิทธิชัย แสงกระจ่าง), เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และนักเขียนรางวัลซีไรต์,ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และนักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย ,จรัล หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ,วัธนา บญยัง, จักษณ์ จันทร,สิริมา อภิจาริน,ซะการีย์ยา อมตยา กวีรางวัลซีไรต์ ,ปณิธาน นวการพานิชย์, หนึ่ง ลาวาภูกระโดง ,โขงรัก คำไพโรจน์, น้าป่อง คันนายาว,นกน้อย ชูเกียรติ ฉาไธสงค์,ปฐพี กวีดิน,นิวรรฒ์ ทองจำปา ,เอก มือกู่เจิ้ง ,เทพ สิทธานี ,ลุงเหมอ ขุนลำยอง , กล้วยและวินัย จากสำนักพิมพ์เคล็ดไทย , สโมสรนักเขียนภาคตะวันออก , เหล่าจิ๊กโก๋ อ.แกลง ในนามกลุ่ม “สามย่านบอย” ตลอดจนครูและนักเรียนจาก โรงเรียนแกลง "วิทยสถาวร"
ทางร้านยังจัดให้มีกิจกรรม “จิบชา ร่ายกวี” โดยเฉพาะสนทนาระหว่างกวีว่าด้วยเรื่อง “ทำอย่างไรบทกวีจึงจะยังดำรงอยู่ในสังคมไทย”
รวมไปถึงการสนทนากับ ชาติ กอบจิตติ ผู้เป็นเจ้าของนวนิยาย พันธุ์หมาบ้า ที่เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และ เคยมีอิทธิพลต่อเหล่าจิ๊กโก๋ ในตลาดสามย่าน อ.แกลง ในนามกลุ่ม สามย่านบอย จนต้องไปตามหาหนังสือมาอ่าน หลังชมภาพยนตร์จบ อีกทั้ง อำพล ลำพูน หนึ่งในแสดงของเรื่องก็ยังเกิดและเติบโตที่ตลาดสามย่านนี้อีกด้วย
บทกวีดีๆจะไม่ตาย
กิจกรรมเริ่มด้วยการอ่านบทกวีของนักเรียนจากโรงเรียนแกลง "วิทยสถาวร" ต่อด้วยการสนทนาว่าด้วยเรื่องบทกวี
ก่อนเข้าสู่ประเด็นในการสนทนา วัธนา บุญยัง นักเขียนรุ่นใหญ่ ในฐานะผู้ที่เคยได้รับทุนไปเรียนที่อังกฤษและระหว่างนั้นเคยท่องเที่ยวไปทั่วอังกฤษ รวมถึงบ้านเกิดและหลายสถานที่ที่ทำให้ระลึกถึง วิลเลียม เชกสเปียร์ กวีและนักเขียนบทละคร ชื่อดังของอังกฤษ
และเคยเขียนบันทึกชีวิตนักเรียนไทยในเมืองผู้ดี ออกมาเล่มหนึ่งชื่อ ใบไม้ผลิที่เคมบริดจ์ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับเชกสเปียร์
กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดาย ที่บ้านเราไม่มีการเก็บรักษาสถานที่ที่กวีเอกอย่างท่านสุนทรภู่เคยใช้ชีวิตอยู่ เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จะมีก็แต่ผลงานเท่านั้นแตกต่างจากที่ประเทศอังกฤษ ที่ได้มีการเก็บรักษาสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเชกสเปียร์ เอาไว้อย่างดี
"ของเชกสเปียร์ ไม่ว่าจะเป็น บทกวี บทละคร บ้านเกิด บ้านพ่อแม่ บ้านภรรยา โรงละคร หลุมฝังศพ ยังอยู่ครบหมด
ตอนผมไปอังกฤษมา เมื่อปี 2535 ได้ไปบ้านและเมืองที่เชกเปียร์เคยอยู่ ประทับใจมาก และเมืองนั้นทั้งเมืองมีชื่อเสียงเพราะเชกเปียร์ มีนักท่องเที่ยวไปเยือนตลอดทั้งปีทั้งชาติ โรงละครก็ยังเล่นละครอยู่ทุกวัน วันละ 2 รอบ มีคนดูเต็มเกือบทุกรอบ ผมได้เข้าไปดู ก็ประทับใจ
เชกเปียร์เมื่อเทียบยุคแล้วก็ยุคเดียวกับพระนเรศวรมหาราช เวลาผ่านมา 500 ปี แต่ทุกอย่างยังอยู่ครบ แต่ของเราแทบไม่มีเหลืออยู่เลย”
ส่วนในเรื่องทำอย่างไรบทกวีจะยังคงอยู่ต่อไปในสังคมไทย วัธนาเชื่อว่า ถ้าบทกวีนั้นเป็นบทกวีที่ดีและมีคุณค่าจริง ย่อมจะยังคงอยู่และไม่ตายไปจากสังคมไทย
“ยกตัวอย่างบทกวีของท่านสุนทรภู่บทที่ว่า ‘แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน’ รับรองว่าจะคงอยู่ต่อไปอีกนาน ถึงแม้ว่าหนังสือที่ตีพิมพ์บทกวีจะขายไม่ดีก็ตาม”
และบอกเล่าด้วยว่า ในต่างประเทศ เวลามีปาฐกถา หรือกล่าวในที่สาธารณะบรรดานักการเมือง หรือนักธุรกิจมักจะหยิบเอาวรรคทองในบทกวีของกวีในอดีตที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มากล่าว
“เพราะมันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเสริมบารมีของเค้าด้วย”
ต้องทำให้บทกวีไปอยู่ในจิตวิญญานของสังคมไทย
ด้าน ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สะท้อนจากประสบการณ์ที่ต้องเดินทางไปเป็นวิทยากรให้กับ “ค่ายวรรณกรรม” อยู่เรื่อยๆ พบว่าบทกวีได้รับความสนใจน้อยกว่า ผลงานวรรณกรรมในแขนงอื่นๆ
“หลังได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็ใช้งานดิฉันหนักมาก เช่น ต้องไปเป็นวิทยากรค่ายวรรณกรรม ค่ายภาษาไทย ทำให้ได้พบว่า ในบรรดาผลงานวรรณกรรมแขนงต่างๆ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์
กวีนิพนธ์ หรือ บทกวี ลำบากที่สุด แม้ว่าอาจารย์วัธนาจะบอกว่า ถึงอย่างไร บทกวีดีๆ ก็จะยังคงอยู่
ที่พูดว่าลำบากก็คือ เวลาที่เราจะหาคนมาเรียนหรืออบรมด้วย ยากมาก หรือเวลาให้คนที่มาเข้าค่ายวรรณกรรมเลือกกลุ่ม สมมุติว่ามีทั้งหมด 120 คน ส่วนใหญ่จะยกมือไปอยู่กลุ่มนวนิยาย ,เรื่องสั้น และสารคดี มากกว่า แต่มาอยู่กลุ่มบทกวี แค่ 4-5 คน ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ต่อไปนี้เราต้องพยายามทำให้บทกวีเข้าไปอยู่ในจิตวิญญาณของสังคมไทยให้มากกว่านี้”
โดยชมัยภรแนะแนวทางที่จะทำให้บทกวีเข้าไปอยู่ในจิตวิญญาณของสังคมไทยว่า
“เช่นถ้าเวลานายกรัฐมนตรี ออกกมาพูดเป็นบทกวี สักบทและทำหน้ายิ้มๆ ก็อาจจะทำให้บทกวีอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น หรือเวลาที่เราจัดงาน เช่น กรณีวันนี้ ที่มีการอ่านบทกวี ก็ถือว่าเป็นการทำให้เห็นว่า สังคมไทยมันมีงานหลายแบบ และมีบทกวีอยู่ด้วย
เวลาที่ดิฉันไปร่วมงานกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็จะพยายามเสนอเขาว่า เวลาเปิดงานก่อนจะมีอภิปราย หรืออะไรก็ตาม เราอ่านบทกวีดีไหม แล้วเวลาปิดงานก็ให้มีบทกวีปิดงานด้วย คือการทำแบบนี้จะทำให้กวีเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตที่เป็นปกติของผู้คน
แล้วเวลาที่เราเข้าไปอ่านอะไรในเฟซบุ๊ก เวลาเห็นคนเขียนกลอน เขียนบทกวี ให้ถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าเท่ดีหรือว่าบ้าดี หรือว่าทำไมเขากล้าหาญขนาดนี้ ทำไมเขาถึงเขียนกลอน และเขาเขียนดีหรือไม่ดี เราวิจารณ์เขาได้ไหม เรามองเห็นไหมว่าคำดีๆมันเป็นยังไง คือถ้าเรามองเห็น ว่ามันเป็นเรื่องปกติ และเราสามารถที่จะช่วยกันทำได้ ก็แสดงว่าดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเห็นว่า ท่าจะบ้าแล้ว ทำไมต้องเขียนเป็นกลอนด้วย เชยจังเลย หรือว่า โอ้ย.. ไม่กล้าเขียนหรอก เดี๋ยวครูภาษาไทยมาอ่าน คือถ้ากลัวแบบนี้ บทกวีจะไม่อยู่ หรือมันจะอยู่อย่างยากลำบาก เราอยากจะทำให้บทกวีมันอยู่ง่ายขึ้น อยู่สบายขึ้น
และอย่างที่แนะนำน้องๆนักเรียนจากโรงเรียนแกลง "วิทยสถาวร" ไปว่า ให้เขียนกลอน เขียนบทกวีทุกวัน
เพราะสมัยเรียนจุฬาฯ อาจารย์ก็ เขียนทุกวันจริงๆ เขียนวันละบท ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเพราะเราอยากเขียน และมันก็เป็นการช่วยให้เราได้ฝึกฝนวิธีหนึ่งด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่อ่านบทกวีเลย แล้วเราจะเขียนบทกวีได้นะคะ”
บทกวีขายไม่ได้ ปลุกอย่างไร ไม่อยากให้ตาย
ถึงตรงนี้ ฐอน - รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ เจ้าของร้านหนังสือสุนทรภู่ กล่าวถึงความตั้งใจในช่วงแรกที่คิดจะเปิดร้านหนังสือขึ้นที่ อ.แกลง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสุนทรภู่และบ้านเกิดของตนว่า ต้องการจะเน้นขายบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และบทกวีของกวีในปัจจุบันเป็นหลัก แต่เนื่องปัจจุบันมีการตีพิมพ์ผลงานของสุนทรภู่น้อยมาก จึงหามาขายไม่ค่อยได้ และที่ผ่านมาบทกวี ก็ขายไม่ดีเท่าไหร่ จึงเน้นมาขายงานวรรณกรรมหลายๆแขนง
อย่างไรก็ตามหากมีกิจกรรมใดที่จะช่วยส่งเสริมให้คนหันมาสนใจบทกวีมากขึ้น ตนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ
“ท้ายที่สุด กลัวว่าคนที่เป็นกวีรุ่นใหม่จะถอดใจกันไปซะเปล่า แต่เวลาเราได้ยินใครอ่านกลอน อ่านบทกวี หรือแต่งได้ เราจะรู้สึกชื่นชม แล้วถ้ามันจะหายไปจากสังคมไทย เราจะทำอย่างไรดีนะ
แม้ร้านเราจะเป็นส่วนเล็กๆของสังคมตรงนี้ แต่เราก็เป็นร้านที่พร้อมจะช่วยขาย และช่วยปลุกไม่ให้บทกวีตายไปจากสังคม เพียงแต่เราจะทำอย่างไร เพราะปัจจุบันไม่มีคนเสพ”
ชมัยภรจึงเสนอแนะเพิ่มเติมว่า อยากให้ทางร้านเข้าไปจัดกิจกรรมร่วมกับนักเรียนที่โรงเรียนใน อ.แกลง
ทำความดี ไม่ต้องขออนุญาตใคร
ขณะที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และนักเขียนรางวัลซีไรต์ กลับมองว่า ไม่ควรให้ทางร้านเข้าไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียน ได้เสนอความคิดในการจัดกิจกรรม หรือจะเลือกมาจัดกิจกรรมนอกโรงเรียนก็ได้ โดยเฉพาะที่ร้านหนังสือสุนทรภู่
“เพราะร้านหนังสือเล็กๆ ตรงนี้ จะเป็นจุดสำคัญเป็นหัวใจของเมืองแกลงได้ และเป็นแหล่งชุมนุมของคนที่รักหนังสือ รักงานสุนทรภู่
ผมจึงยุให้ครู เปิดโอกาสให้นักเรียนประกวดความคิด แล้วมาจัดกิจกรรมที่นี่ สัปดาห์ละครั้งก็น่าจะเป็นไปได้ และไม่ต้องไปหวังคนมาเยอะหรอก ขอให้มีคนพอประมาณ แต่ เป็นกิจกรรมที่หนังสือได้เข้าถึงคนอ่าน และนำพาคนอ่านมาเข้าถึงหนังสือ
ทำกิจกรรมให้สม่ำเสมอ แล้วมันก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ที่อื่นๆทำตาม เราจะไปรอให้ทางการกำหนด ให้ทางโรงเรียนมาคิด ไม่มีทาง ประเทศนี้ไม่ทาง ประเทศนี้ เราต้องทำของเราขึ้นมาเอง เพราะทำความดี ไม่ต้องขออนุญาตใคร และพวกเราที่เป็นนักเขียนทุกคน ก็พร้อมที่จะมาช่วยกันสนับสนุน ขอให้มีศูนย์กลางเท่านั้นแหล่ะ คิดจะเชิญใครมา ประสานกันให้ได้ มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหล่ะครับ
ผมคิดว่ากิจกรรมทำนองนี้ต้องมี ไม่เช่นแล้ว กลางวันคนก็เดินห้าง กลางคืนก็นั่งเฝ้าจอ และนอนรอถูกหวย เด็กของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่อยากให้เขานั่งก้มหน้าอยู่กับจอ มันต้องมีกิจกรรมอะไรทำนองนี้เกิดขึ้น”
บทกวียังไม่ตาย กำลังงอกงามบนโลกออนไลน์
ในช่วงท้ายๆของการสนทนา มุมมองของ ซะการีย์ยา อมตยา กวีรางวัลซีไรต์ ก็ทำให้หลายคนได้ฉุกคิดไปในทางตรงกันข้ามเช่นกันว่า แท้ที่จริงแล้วบทกวีไม่ได้กำลังจะตาย ทว่ากำลังงอกงาม แต่จะงอกงามอย่างมีคุณภาพหรือไม่เท่านั้นเอง
“ผมเห็นว่าบทกวีไม่ได้กำลังจะตาย เพราะถ้าเราไปดูตามโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ มีคนรุ่นใหม่เขียนบทกวีกันมากขึ้น เพียงแต่ไม่ได้ถูกรวบรวมเพื่อพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเท่านั้น ส่วนจะเป็นบทกวีที่มีคุณภาพหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ต่อจากนั้นเป็นการเป่าเค้กอวยพรย้อนหลังเนื่องในคล้ายวันเกิดของ ชาติ กอบจิตติ (25 มิ.ย.) และของร้านฯ (26 มิ.ย.)ตามด้วยการร่ายกวีโดยกวีรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ประกอบการบรรเลงกู่เจิงและขับเสภา ไม่ว่าจะเป็นบทกวี สุนทรภู่เล่นเฟซ โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง ,บทกวี เนปาล โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (เข้ากับวาระที่ทางร้านฯ ยังจัดให้มีกิจกรรมปั่นจักรยาน Bike for Nepal และหักรายได้จากการจำน่ายหนังสือ Trekking กับหญิงอ้วน ที่เจ้าของร้านเขียนเอง ไปช่วย ประเทศเนปาล) รวมไปถึงการอ่านกวี จากบทกวี ที่ถูกรวมเล่มเป็นครั้งแรกในชีวิต“คะนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง”ผลงานของกวีรุ่นใหม่ โขงรัก คำไพโรจน์ ต่อด้วย ปณิธาน นวการพานิชย์ ,ซะการีย์ยา อมตยา ฯลฯ ซึ่งรายหลังนี้ มาพร้อมบทกวีที่มีจังหวะในการอ่านแปลกต่างไปจากที่ทุกคนเคยฟัง เพราะแสนจะคึกคักและเร้าใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
สุนทรภู่เล่นเฟซ
หากครูกลอนสุนทรภู่อยู่วันนี้
จะยินดีหรือยินร้ายในภาษา
ครูคงเห็นความเปลี่ยนไปในนานา
อาจผสมสารพัดมาให้เป็นไทย
นางละเวงของครูมีอยู่ทั่ว
พูดฝรั่งไม่มั่วพอใช้ได้
ส่วนสุวรรณมาลีนั้นหนีไป
ใช้ชีวิตไกลไกลอยู่ต่างแดน
สุดสาครขี่แว้นแสนสาหัส
สินสมุทรสุดถนัดพกดาบแน่น
พระอภัยมณีมากมีแฟน
ฤาษีแน่นในอกตกใจจัง
หากครูกลอนสุนทรภู่อยู่วันนี้
พระอภัยมณีคงมีหวัง
เป็นละครตอนดึกคึกเสียงดัง
ตบตีกันตึงตังกระมังครู
โลกมันเปลี่ยนล้ำไปไม่หยุดนิ่ง
ภาษาวิ่งตามภาษาฟังบ้าหู
กลอนสุภาพไม่สุภาพต้องกราบครู
พวกหนูหนูสมัยนี้ไม่มีกลอน
มีแต่คริมีแต่เคร้เย่เย่แว้ว
มีแต่แป่วมีแต่ป่นไร้คนสอน
เหล่ากวีหงอยเหงาเอาแต่นอน
คิดถึงครู “สุนทร”จนอ่อนใจ
ครูคิดถึงพวกเราหรือเปล่าครู
ครูไปอยู่สรวงสวรรค์วิมานไหน
โปรดช่วยดลบันดาลโดยเร็วไว
ปลุกกวีตื่นทันใดไปเล่นเฟซ
ปลุกกวีตื่นทันใดไปอินเตอร์
ชมัยภร แสงกระจ่าง
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘
27 ปี พันธุ์หมาบ้า การพบกันของคน “พันธุ์เดียวกัน” ที่ตลาดสามย่าน
จากนั้นเวทีสนทนา ก็ถึงคราว เปลี่ยนให้ เหล่าจิ๊กโก๋ สามย่านบอย เข้ามาคุม ... ผิดๆ ต้องบอกว่าเข้ามาล้อมวงสนทนา (เพราะเวลานี้พวกเขาคือจิ๊กโก๋กลับใจ) กับ ชาติ กอบจิตติ เจ้าของนวนิยาย พันธุ์หมาบ้า ที่พวกเขาคลั่งไคล้ในผลงาน
บรรยากาศการสนทนา ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และหยอกอำกันไม่หยุดหย่อน ราวกับว่ารู้จักกันมานานเป็นชาติ ถ้าไม่บอกคงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นการครั้งแรกของการพบกันระหว่าง “ชาติ” กับ “สามย่านบอย” อดีตจิ๊กโก๋ที่ปัจจุบันต่างมีหน้าที่การงานดีๆด้วยกันทั้งนั้น และเวลาจัดงานสามารถรวมพลกันได้มากเกือบ 500 คน
ก่อนที่ชาติ จะมีงานฉลองครบรอบ 27 ปี นวนิยาย “พันธุ์หมาบ้า” อย่างเป็นทางการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (5 กรกฎาคม)
ระยะเวลาของการรู้จักกันไม่สำคัญ แต่คงเพราะ "พันธุ์เดียวกัน" เลยต่อกันติดไม่ยาก บางคนบอกอย่างนั้น
ภสุจ์ ฟุ้งเฟื่อง หนึ่งในสมาชิกสามย่านบอย ซึ่งปัจจุบันมีอาชีพทนายความ บอกถึงเหตุจูงใจที่ทำให้สนใจอ่านนวนิยายเรื่อง “พันธุ์หมาบ้า” กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในแฟนหนังสือของชาติว่า
“ที่ผมอ่านพันธุ์หมาบ้า เพราะเขาเอามาสร้างเป็นหนัง เอา อำพล (ลำพูน) กับ พงศ์พัฒน์(วชิรบรรจง) มาเล่น พอดูๆไปผมก็รู้สึกว่า นี่มันเอามันชีวิตจริงของสามย่านบอย ไปทำนี่ และลึกไปกว่านั้น เรื่องราว มันมีทุกรสชาติ ผมก็เลยต้องมาหาหนังสืออ่าน พอมานั่งเปิดอ่าน อ๋อ...ชีวิตที่พี่(ชาติ) ต้องการสื่อสารก็คือ ความเป็นเพื่อน หรือจริงๆแล้วต้องเรียกว่าความเป็นพวก(หัวเราะ) คือถ้าพวก จะไม่มีเหตุผลไง มึงผิดก็คือถูก มึงจะไปแดกเหล้า กูเปิดร้าน เมียกูจะด่าก็เรื่องของเมีย คือคำว่าพวก ไม่มีเหตุผล
ดังนั้นนี่คือบัญญัติศัพท์ใหม่ที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้ พ.พาน คือ เป็นเพื่อน (หรือเป็นพวก) ว.แหวน คือ ไว้ใจกัน และ ก.ไก่ คือ เกรงใจกัน และคือพันธุ์หมาบ้า ของชาติ กอบจิตติ ผมถึงอ่านงานของชาติ กอบจิตติ”
ขณะที่ชาติเมื่อได้ฟังก็อดยิ้มไม่ได้และได้หยอกล้อกลับไปว่า “ตอนเขียนไม่คิดอย่างนี้นะ คิดว่าจะเอาตังส์อย่างเดียว”
และเมื่อถูกตั้งคำถามจากเหล่าสามย่านบอยคนอื่นๆว่า “ลุงชาติเขียนเรื่องนี้มีอะไรเก็บกดหรือเปล่า”
คนถูกถามสวนกลับไปอีกว่า “มีคนสองแบบที่เราไม่เคารพคือ หนึ่งคนไม่อ่านหนังสือ และสองคนที่เรียกเราว่าลุง ถือว่าไม่เป็นพวก ไม่เกรงใจกัน”
ก่อนจะตอบคำถามเป็นเรื่องราว และชวนให้คนฟังขบคิดถึงเรื่องเพื่อนในชีวิตจริงที่ผ่านพบมาว่า
“ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะผมออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 11-12 ขวบ ไม่เคยเข้าบ้านเลย เพราะบิดามารดาผม ต้องทำมาหากิน เมื่อผลิตบุตรธิดามาเยอะ(9 คน)ก็ต้องแยกย้าย เมื่อก่อนประชาชนน้อยไง สมัย จอมพล ป. ก็แนะให้มีลูก
แม่ผมอยู่เรือ ริมคลองหมาหอน แถววัดโบสถ์ (จ.สมุทรสาคร) ที่นี้พ่อมีอาชีพค้าเกลือ ก็ต้องล่องเรือ วันหนึ่งพ่อก็ไปดูอาชีพใหม่ แล้วเห็นว่าไปค้าทรายดีกว่า เพราะทรายไม่เค็ม แต่เกลือเค็ม ที่นี้ พอจะค้าทรายก็ต้องไปอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพ ผมก็เลยต้องมาอยู่กับยาย เพราะเศรษฐกิจที่บ้านยากจน
พอออกจากบ้านไป ชีวิตของเราตามประสาผู้ชาย ก็ได้สัมผัสกับความเป็นเพื่อน ซึ่งจะบอกให้นะ คนบางคนเราคิดว่ามันเป็นเพื่อน แต่ถึงเวลามันไม่ใช่ก็มีนะ (ถูกเพื่อนแทงข้างหลัง?) แต่โชคดีมันแทงประมาณชายโครง (หัวเราะ)
แต่ผมโชคดีที่ผมมีเพื่อนเยอะ และผมพูดอยู่เสมอว่า เพื่อนในฐานะของผมดีกว่าพี่น้อง บางคนนะๆ(เน้น) บางทีผมได้ยินคนเราบ่นว่า เฮ้ย ฉันไม่มีเพื่อนเลย ถ้าคุณไม่มีเพื่อน ผมว่าคุณต้องพิจารณาตัวเองนะ ทำไมเพื่อนไม่คบเรา ทำไมเราอะไรอย่างนี้ เผอิญว่าผมมีเพื่อน เวลาผมได้รางวัลมันไม่มานะ แต่เวลาผมเดือดร้อน จะมีเพื่อนมาคอยถาม มึงเอาตังส์เท่าไหร่ มันมีที่มาจากสิ่งที่คุณเคยปฏิบัติต่อเขา ว่าคุณเคยให้เขาหรือเปล่า”
เพื่อนไม่ควรทวงบุญคุณเพื่อน
และชาติได้แลกเปลี่ยนกับชาวสามย่านบอยถึงสิ่งที่เพื่อนควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติต่อเพื่อนในทัศนะของเขาว่า
“ถ้าคุณมีเพื่อนต้องใช้ ต้องใช้เลยนะ และเมื่อเพื่อนใช้คุณ คุณต้องรีบทำ และสิ่งที่เราไม่ควรจะทำกับเพื่อน คือทวงบุญคุณเพื่อน ไม่ต้องถามไม่ต้องลำเลิก
ถ้าโลกนี้มีสิ่งสวยงามเหลืออยู่บ้าง เพื่อนเป็นส่วนหนึ่งของความสวยงามในโลก ผมเชื่ออย่างนั้น”
ทันทีที่ประโยคสวยๆจากปากนักเขียนรุ่นใหญ่มาดจิ๊กโก๋จบลง ทุกคนโดยรอบวงสนทนาก็ได้ยินเสียงปรบมือด้วยความพอใจกราวใหญ่ของคนพันธุ์เดียวกัน “พันธุ์หมาบ้า”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : พลภัทร วรรณดี
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754