คอลัมน์ : คนดูหนังไทย
____________________________________
สารภาพตามตรงครับว่า “เกาะกระแส” แบบเต็มๆ รถไฟบางขบวนก็เย้ายวนหัวใจให้เราอยากนั่ง เหมือนรถไฟขบวนนั้นที่จูลี่ เดลพี นั่งไปกับอีธาน ฮอว์ก ในเรื่อง Before Sunrise...เพราะทันทีที่ปรากฏการณ์ “แตงโม-โตโน่” เด่นขึ้นบนพื้นที่สื่อ ก็มีเพื่อนผู้มีเกียรติท่านหนึ่งสะกิดให้ผมนึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ขณะที่หลายคนซึ่งมีอารมณ์ขัน พยายามไปเอาหนังเมืองนอกมาจับเปรียบเทียบเคียงกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างครื้นเครงขบขัน นับเป็นการเปลี่ยนวิกฤติ (ของผู้อื่น) ให้เป็นโอกาส (แห่งความตลก ของตนเอง) ได้เฮฮาปาจิงโกะกันไป ตามประสาคนไทยผู้ได้ฉายาที่อาศัยว่าเป็น “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” (The Land of Smile) เราพร้อมจะยิ้มได้กับทุกๆ เรื่อง แม้แต่เรื่องที่เห็นว่าไม่น่าจะยิ้มได้ “อ้าว ก็แล้วจะเครียดกันไปทำไมล่ะ” บางคนอาจจะบอกเช่นนี้ ซึ่งก็น่าจะจริง ตามหลักการแพทย์ก็ชี้ชัดว่าความเครียดเป็นสาเหตุที่มาของโรคต่างๆ ดังนั้น ในเมื่อคนไทยไม่ค่อยเครียด คนไทยจึงป่วยกันน้อย จริงหรือไม่? เอาล่ะ...ก่อนจะออกทะเลไปไกลกว่านี้ ขอหันหัวเรืออีโปงกลับเข้าฝั่งมายังหนังที่เพื่อนผู้มีเกียรติท่านหนึ่งแนะนำมา และผมนำมาแนะนำต่ออีกทอดหนึ่ง
นี่คือหนังไทยที่เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ.2556 และผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ว่าเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งซึ่งเข้าฉายในปีนั้น ถึงแม้จะมีคำว่า “โง่” อยู่ในชื่อเรื่อง แต่หนังเรื่องนี้กลับฉลาดมากในการนำเสนอแง่มุมความรัก ชนิดที่ว่า คนอารมณ์อ่อนไหวกับเรื่องหัวใจอยู่แล้ว มีน้ำหูน้ำตาไหลกันได้ไม่ยาก คำว่า “รักโง่ๆ” มีน้ำเสียงที่สื่อได้หลายทิศทาง ถ้าพูดแบบขึงขัง ก็อาจจะได้อารมณ์เยาะหยันใครบางคนที่ตกอยู่ในห้วงรักแบบไม่ลืมหูลืมตาทั้งที่เส้นทางอนาคตก็เห็นอยู่ทนโท่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าพูดผ่านปากของคนที่ผ่านโลกมามาก คำว่า “รักโง่ๆ” ก็อาจจะได้อารมณ์แบบผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก แบบตลกในความรักของวัยรุ่นหรือคนหนุ่มคนสาว แต่ไม่ว่าจะได้อารมณ์ไหน “รักโง่ๆ” เป็นหนังที่สื่อให้เห็นถึงอารมณ์รักได้ลึกซึ้ง ซาบซึ้ง และคมคาย มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ด้วยความฉลาดของการเขียนบทสร้างเรื่องราว (หมายเหตุ : คำว่า “ฉลาด” ในที่นี้ หมายถึง สมาร์ทหรือสามารถในการคิดได้เฉียบแหลม ไม่ใช่ฉลาดเจ้าเล่ห์อย่างศรีธนญชัย) “รักโง่ๆ” น่าจะมีหนังรักอย่าง Love Actually เป็นแบบแผนแม่บทอยู่บ้างในเชิงโครงสร้างของเรื่อง เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรักของตัวละครหลายคู่ที่พาดเกี่ยวกันใน “กาละ” และ “เทศะ” หนึ่ง แต่ก็สะท้อนย้อนกลับ รับและส่งกันและกันในเชิงเนื้อหาอันว่าด้วยความรัก คือที่ผ่านมา มีหนังไทยหลายเรื่องที่พยายามจะเดินตามแบบแผนโครงสร้างของ Love Actually แต่ส่วนมากมักล้มเหลว ทว่าสำหรับหนังเรื่องนี้ เราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าประสบความสำเร็จ “รักโง่ๆ” มีคนเขียนบทถึงห้าคน! และได้เข้าชิงรางวัลในสาขานี้หลายเวที ขณะที่ผู้กำกับ “พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์” นั้นก็เคยมีเครดิตในฐานะผู้กำกับหนังเรื่อง “ไอ้ฟัก” ที่สร้างมาจากนวนิยาย “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ
เนื่องจากตัวละครมีหลากหลาย แต่ไฮไลท์แรกๆ ของเรื่อง น่าจะเริ่มด้วยดารานำทั้งสองคน คือ “โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” และ “ยิปซี-คีรติ มหาพฤกษ์พงษ์” ที่ได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมมาหลายเวที ทั้งคู่ในหนังเรื่องนี้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย หนังเปิดแง้มให้เราเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ ของเรื่องที่ทั้งคู่ไปดูหนังรักด้วยกัน แล้วคนหนึ่ง (โตโน่) ร้องไห้ขี้มูกโป่ง อีกคนซึ่งได้แก่ยิปซีก็เกทับบลัฟแหลกว่าช่างเป็นคนอ่อนไหวง่ายและจะซึ้งอกซึ้งใจอะไรนักหนากับหนังรักน้ำเน่าแถมเดาได้ว่าฉากต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ความแตกต่างในข้อนี้ทำให้ตัวละครของยิปซีเป็นคนที่ไม่เคยเชื่อในเรื่องความรักและไม่เคยมีความรัก...
“โจ” (ยิปซี) เรียนคณะไหนไม่แน่ใจ เธอสนใจเรื่องศิลปะการทำละคร และในเทอมนี้ เธอจะต้องทำละครหนึ่งเรื่อง เรื่องที่เธอเลือกครั้งแรกไม่ผ่าน (เพราะดันจะทำละครพุทธประวัติที่ไม่มีพระพุทธศาสนา!) แต่ระหว่างนั้น นักศึกษาหน้าตาหล่อที่ชื่อ “ฟอง” (เลโอ โซสเซย์) ก็เข้ามาทำความรู้จักกับเธอ และนำไปสู่แรงบันดาลใจของละครเรื่องใหม่อย่าง “เพื่อน-แพง” จากคนที่ไม่เชื่อในความรักจนมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า “ไผ่” (เพราะเธอเกิดจากสเปิร์มบริจาค เธอมีแค่แม่ ไม่มีพ่อ เธอจึงเชื่อว่าการเกิดมีชีวิตไม่จำเป็นต้องมีความรักก็ได้) ภายหลังการเข้ามาในชีวิตของฟอง ไผ่เริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นหวั่นไหวในใจของตัวเองทีละเล็กทีละน้อย นี่ใช่หรือไม่ว่า เธอกำลังจะเป็น “แมงเม่าแรกเกิด ในโลกของความรัก” และปลายทางข้างหน้าคือกองไฟที่เธอโผเข้าไปหา...
“ไผ่” มีน้องชายอยู่หนึ่งคนชื่อ “เปตอง” (โกเมนทร์ สวนสมัย) หนุ่มน้อยวัยมัธยมที่แอบรักเพื่อนเลิฟอย่าง “อิง” (วิรพร จิรเวชสุนทรกุล) ความรักของเปตองออกแนวค่อนข้างวุ่น เพราะถึงแม้เขาจะชอบอิงเต็มหัวใจ แต่อิงกลับเป็นทอมและแถมมีแฟนหญิงแล้ว หลังคิดอยู่เป็นนานว่าจะมีวิธีไหนที่จะทำให้อิง “ยูเทิร์น” มาชอบผู้ชายและรักเขา เปตองจึงเริ่มปฏิบัติการตามหนังสือฮาวทู “100 วิธี เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” แถมยังพาอิงไปพบกับป้าที่แต่ก่อนเคยเป็นทอมแต่ “ยูเทิร์น” มาเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชายเหมือนเดิมแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อวิธีการตามหลักสูตรถูกใช้ไปเกือบหมด ก็ถึงเวลาเผด็จศึกเสียที และนั่นกลับนำไปสู่สถานการณ์ที่ยุ่งยากมากขึ้น...เนื้อเรื่องในส่วนของเปตอง ยังมีอีกหนึ่งตัวละครแทรกเสริมอยู่ นั่นก็คือ “ฮา” (กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา) หนุ่มน้อยที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียนและเพื่อนสนิทของเปตอง...
พ้นไปจากนี้ ยังมีเรื่องของ “พริกแกง” (ธิติรัตน์ โรจน์แสงรัตน์) สาวออฟฟิศขี้เหงาที่มีละครหลังข่าวเป็นเพื่อน และไม่เคยมีความรัก กระทั่งได้พบกับ “เต็งหนึ่ง” (อดุล เจริญรัศมีเกียรติ) หนุ่มหล่อหน้าสำอางซึ่งช่างเข้ามาได้ถูกที่ถูกทาง เขาเหมือนเจ้าชายผู้เพียบพร้อมที่ “ซินเดอเรลล่า” อย่างพริกแกงนั้นฝันถึงมาโดยตลอด แม้กระทั่งเพื่อนรักอย่าง “น้ำแข็ง” จะชี้แจงและหาเหตุผลเท่าไหร่มาอธิบายว่าเต็งหนึ่งนั้นเป็นเกย์ แต่ “นางซิน” ของเราก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจในรัก...
สุดท้าย ดารานำชายของเรื่อง “โตโน่-ภาคิน” กับบท “อาร์ม” ชายหนุ่มที่ยังยึดมั่นในรักเก่าไม่เสื่อมคลาย เขาถูกเพื่อนรุ่นน้องอย่างไผ่กระแนะกระแหนเสมอว่า ไม่สามารถสลัดรักและจมปลักกับคืนวันเก่าก่อน (เช่นเดียวกับที่ดูหนังรักแล้วร้องห่มร้องไห้) แต่อาร์มก็เชื่อว่าเขาก็เหมือนแหวนวงนั้นที่เกิดมาเพื่อจะเป็นของ “พิณ” (กานต์พิชชา พิชยศ) แฟนเก่าที่เขารักตั้งแต่สมัยเรียน ม.4 ถึงแม้ตอนนี้จะจากกันไปไกลแล้ว แต่เรื่องของเธอก็ยังอยู่ในใจเขาตลอดมา จนกระทั่งว่า คล้ายๆ ฟ้าจะเป็นใจ พิณที่ไปอยู่เมืองนอกกำลังจะกลับมา และมันเป็นโอกาสที่จะทำให้อาร์มได้รื้อฟื้นถ่านไฟเก่าและ “รักของเรา” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง...
เนื่องจากความหลากหลายของตัวละครเช่นนี้ ถ้าคนทำมือไม่นิ่งพอหรือเขียนบทออกมาสะเปะสะปะ โอกาสจะเละก็มีอยู่สูงครับ แต่สำหรับ “รักโง่ๆ” เรากลับไม่พบปัญหาเช่นนั้นเลย หนังอาจเล่าสลับกันไปมาระหว่างคู่ต่างๆ แต่ก็จัดวางจังหวะในการเล่าเรื่องได้ดี ชนิดที่ไม่ใช่แค่ไม่งง หากแต่ยังสามารถส่งพลังความซาบซึ้งในส่วนของตัวละครแต่ละคู่แต่ละตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเนื้อหาของแต่ละคู่นั้นทับทาบอยู่ในระนาบเนื้อหาเดียวกัน ถ้าจะสรุปอย่างย่นย่อก็คงพอพูดได้เหมือนกับที่โตโน่พูดไว้ในเรื่องว่า รักที่ไม่สมหวังคือรักโรแมนติก
รายละเอียดปลีกย่อยและแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนบทสนทนาแทบทุกฉากในหนังนั้น ผ่านการคิดมาดีมากว่าจะต้องหนุนส่งโครงสร้างหลัก ทุกตัวละครทุกคู่และทุกพฤติกรรม ทุกถ้อยคำ มีความหมายอย่างมองข้ามไม่ได้ รักโง่ๆ จึงเป็นหนังรักที่ไม่มีความโง่ให้เห็นแม้เพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับความรักที่มักถูกผลักด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ความคิดที่ต้องใช้สติปัญญามาชี้วัดตัดสิน เราเพียงล่องไปในสายธารแห่งความรู้สึก รักก็คือรัก ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น และ “รักโง่ๆ” ในความหมายรวมๆ ที่หนังนำเสนอ ก็คงหมายถึง รักที่ดูเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าไปถามตัวละครพวกเธอและเขาเหล่านั้น สุดท้ายแล้ว ก็คงจะเหมือนกับบทสนทนาระหว่างพริกแกงและน้ำแข็งเพื่อนรัก แม้ความรักจะไม่ควรเป็นงานหนัก อย่างที่โดโรธีพูดไว้ในเรื่อง Jerry Maguire แต่เพียงได้ลองพยายามอย่างจริงจังสักครั้งแล้วก็นับว่าไม่สูญเปล่า...
“แกจะพยายามไปทำไม ทั้งๆ ที่รู้ว่าความรักของแก มีแต่จะทำให้แกเจ็บ” น้ำแข็ง กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง แต่หน้าตาของพริกแกงก็จริงจังไม่น้อยไปกว่า ก่อนจะพูดว่า
“แล้วถ้าแก ไม่พยายามทำอะไรเพื่อความรักเลย สุดท้าย มันไม่เจ็บกว่าเหรอ”
“รักคนที่ไม่ควรรัก” หรือ “รักที่ไม่ยอมจาก ทั้งที่ไม่เห็นโอกาสจะเป็นจริง” ล้วนแล้วแต่สามารถจัดไว้ในหมวด “รักโง่ๆ” ตามแบบฉบับของชื่อหนังได้ทั้งนั้น แต่ความรัก บางทีก็อาจเหมือนหนังรัก เรารู้ว่ามันเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังจะรักและรักอยู่เช่นนั้น เหตุผลเรียบง่ายก็คงไม่ต่างไปจากคำพูดของ “แพง” จากละครที่ไผ่ทำ แพงพูดว่า “ฉันไม่ได้รักพี่ลอ เพราะพี่ลอไม่มีเจ้าของ ไม่เพราะเหตุอะไรทั้งนั้น ฉันรักพี่ลอ เพราะฉันเกิดมาเพื่อรักพี่ลอคนเดียว”
ในทำนองเดียวกันนั้น... “ความรักไม่ใช่การเป็นเจ้าของ รักไม่ได้สมหวังเพราะมีรักตอบ แต่รักมันสมหวังในตัวของมันเอง” ถ้อยคำนี้ของตัวละครบางตัวในเรื่อง อาจฟังดูเหมือนประโยคของพวกอกหักรักคุดหรือมนุษย์โรแมนซ์อะไรก็ตามที แต่นี่ก็คือความจริงที่ทำให้ความรู้สึกนั้นงดงาม ไม่ว่าสำหรับ “พริกแกง” สำหรับ “เปตอง” หรือแม้กระทั่ง “ไผ่” และ “อาร์ม”
...ความงามและความสุขของความรักนั้นสามารถมีได้หลายแบบ และแบบที่หนังนำเสนอ อาจจะเป็นแบบที่ต้องอาศัยการก้าวผ่านอะไรบางอย่าง ถึงจุดนี้ ผมนึกถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งในหนังซึ่งมีบทบาทไม่มากนัก แต่กลับแสดงทัศนียภาพอันสวยงามของความรักได้อย่างน่ารัก นั่นก็คือบทของ “แจ็ค-กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา” ที่แสดงเป็นเพื่อนของเปตอง
บทของเขาทำให้เรารู้สึกว่า ขณะที่คนอื่นๆ พยายามดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อได้รักมาครอง เขากลับนั่งมองความรักนั้นเติบโตอยู่ในใจตนอย่างไม่กระวนกระวาย แน่นอนว่า มันอาจจะไม่ใช่สำหรับใครที่คิดว่า ถ้ารักแล้วชอบแล้วก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา แต่บางที การเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ พร้อมกระเถิบเข้าหาถ้าเขาคนนั้นต้องการ และยินดีที่จะถอยกลับออกมา ถ้าเขาคนนั้นอยากอยู่เงียบๆ
...มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า หนังรักที่ดีควรจะมีด้านโศก นั้นดูเหมือนจะจริง “รักโง่ๆ” ด้านหนึ่งคือหนังที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน แต่ลึกๆ มันคือความรู้สึกแห่งรักโศกที่ไม่สมหวัง ถ้าใครดูหนังเรื่องนี้ แล้วมีอารมณ์อ่อนไหวเป็นทุนเดิมและน้ำตาซึม คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องกลัวกับการถูกมองในทำนองว่าบ้าบอไปกับหนัง และบทสนทนาถัดจากนี้ น่าจะเป็นหลักยึดให้คุณได้...
“เฮ้ยพี่ ซาบซึ้งมากเหรอ หนังแม่งทั้งห่วยทั้งเชย” ยิปซีในภาพของไผ่ แซวโตโน่ในตัวละครอาร์ม
“โถ อีสั...ไผ่ อีผู้หญิงไม่มีหัวใจ มึงเคยได้ยินมั้ย รักที่ไม่สมหวังคือรักโรแมนติก แล้วรักโรแมนติกไม่มีวันเชยนะเว้ย” อาร์มร่ายยาว
“อะจ๊า โรแมนติก ไอ้อย่างที่เขาไม่เอาเราแล้วทิ้งเราไปอยู่เมืองนอกนี่โรแมนติกสุดๆ”
“รบกวนมึงวิจารณ์เฉพาะหนังก็พอ ไม่ต้องลามปามมาถึงชีวิตกู” โตโน่ในตัวละครของอาร์ม กล่าวตอบอีกครั้ง ขณะที่ไผ่ยังรุกไล่ไม่เลิก
“แหม ก็ชีวิตรักของพี่กับหนัง มันก็ดันจบไม่สวยเหมือนกันนิ น้องก็เลยสับสน”
“อีไผ่ มึงไม่เคยชอบใคร มึงมาตัดสินอะไรกู คอยดู ถ้าวันหนึ่งมึงเจอเข้ากับตัวเองนะ ชีวิตรักมึงจะห่วยกว่าในหนังที่มึงด่าอีก”
...ในปริมณฑลของความรัก ไม่น่าจะมี “ชายโง่” หรือ “หญิงโง่” เพราะแต่ละคนต่างก็มี “เหตุผลแห่งรัก” เป็นของตนเอง เราอาจฟูมฟาย เราอาจฟุ้งฝัน เรื่องแบบนี้ บางที ไม่เจอเข้ากับตัวเอง ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า รักนั้นเป็นฉันใด...
ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |