“เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ออกมาประกาศขอให้พนักงานไทยทีวีสมัครใจลาออก เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว กระแสสังคมโซเชียลฯ ต่างตั้งคำถามว่า ลาออกเอง กับ เลิกจ้าง มันคนละอย่างกัน? เลิกจ้างต้องจ่ายเสียหายให้กับพนักงาน แบบนี้ถือว่าหัวหมอและเป็นการเอาเปรียบเพราะไม่อยากจ่ายค่าชดเชยหรือไม่!?
แบกรับไม่ไหว ขอสมัครใจลาออก!
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกครหาอยู่ในขณะนี้เมื่อ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” เจ้าของธุรกิจสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ทีวีพูล ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ส่งไลน์แจ้งพนักงานไทยทีวี ขอความสมัครใจลาออก เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพราะตอนนี้ช่องไทยทีวีจะขาดทุนเดือนละ 10 ล้านบาทแล้ว พร้อมย้ำว่าจะไม่มีใครลำบากจากการลาออก เพราะยังรับเงินจากประกันสังคมได้ 3 เดือน
หลังจากส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอยกเลิกทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวีและช่องโลก้า พร้อมทั้งประกาศว่าจะไม่จ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 2 เพราะที่ผ่านมาธุรกิจขาดทุนมากกว่า 300 ล้านบาทนั้น โดยมีใจความว่า
“สำนักข่าวต้องจ่ายถึงเดือนละ 1.9 ล้าน ยังไม่รวมข่าวภูมิภาคอีกประมาณ 1 แสน และค่าน้ำมันรถ และค่าเสื่อมมากมายกว่าจะได้ข่าวมาแต่ละชิ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง เราจึงต้องลดค่าใช้จ่าย และจะลดลงไปเรื่อยๆ ให้เหลือเท่าโต๊ะข่าวบันเทิง คือประมาณ 600,000 บาท ขอย้ำว่าเราจะไม่ไล่ใครออก เพราะจะทำให้พนักงานคนนั้นๆ เสียประวัติไปตลอดชีวิตการทำงาน
ใครยังไม่มีทางไปจะอยู่ก็ไม่ว่านะคะ เพราะถ้าลาออกเราก็สามารถรับเงินจากประกันสังคมได้ 3 เดือน เพราะบริษัทเราส่งประกันสังคมเดือนละหลายล้านบาท การลาออกไม่มีใครลำบากหรอก แต่จะทำให้บริษัทอยู่ได้ ทีวีพูลจะมาเลี้ยงไทยทีวีตลอดไม่ได้ เพราะทีวีพูลมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า ต้องทำกำไรโชว์ในตลาดด้วยนะคะ
เราต้องลดคนเพราะประชุมฝ่ายขายแล้วยอดรายได้ไม่ได้ตามเป้า ขายได้เดือนละ 3-4 ล้าน เฉพาะเงินเดือนพนักงานของไทยทีวี 8.5 ล้าน รวมค่าเช่าดาวเทียม HD แล้ว เป็นเงินเดือนละ 13.5 ล้าน บริษัทต้องลดค่าใช้จ่ายทุกประเภท มิฉะนั้นไทยทีวีจะขาดทุนเดือนละ 10 ล้าน จะให้ทีวีพูลมาเลี้ยงทุกเดือนก็ไม่ไหว ใครที่มีทางไปก็ไปก่อน เมื่อมีรายได้เพิ่มเราจะเรียกกลับมาใหม่ หรืออาจมารับเป็น Freelance ก็ได้ ขอบคุณ”
สื่อสารผิด = ฆ่าตัวตายทางอ้อม
เมื่อข่าวดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป ในกระแสสังคมโซเชียลฯ ต่างตั้งคำถามว่าถ้าเลิกจ้างต้องจ่ายเสียหายให้กับพนักงาน การที่เจ๊ติ๋มทำแบบนี้ถือเป็นเอาเปรียบ เพราะไม่อยากจ่ายค่าชดเชยหรือไม่? จากมุมมองของนักสื่อสารการตลาดอย่าง “กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เขามองว่า นายจ้างไม่ควรสื่อสารแบบผิดๆ ด้วยการชักชวนให้พนักงานลาออกเองและควรปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
“ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง และเจ้าของเองก็เป็นที่รู้จักในสังคม ควรปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดว่าหากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทางเจ้าของธุรกิจไม่ควรสื่อสารแบบผิดๆ ด้วยการชักชวนให้ลาออกเอง และนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง แต่ถ้าหากลูกจ้างสมัครใจลาออกเองก็ไม่ถือเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะเรียกร้องค่าชดเชยได้เช่นกันครับ”
การสื่อสารอย่างไม่ถูกต้องเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ไทยทีวี แต่ส่งผลกระทบไปยังทีวีพลูอีกด้วย และนอกจากนี้ยังไม่สามารถทำให้พนักงานเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรได้อีกเช่นกัน
“ไม่เห็นด้วยที่ใช้วิธีการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะจะมีผลกระทบต่อแบรนด์ขององค์กรด้วย ตอนนี้สาธารณชนกำลังสงสารไทยทีวีที่ไม่มีเงินจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอล มาจากสภาพการแข่งขันไม่เอื้ออำนวย ภาครัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทีวีดิจิตอลเกิดอย่างเต็มที่
แต่พอเจอเหตุการณ์เรื่องขอให้พนักงานลาออกเอง คะแนนความสงสารก็หายไป นับว่ากระทบต่อแบรนด์องค์กรทั้งไทยทีวี ทีวีพูล และเจ๊ติ๋มมาก ลองคิดดูว่ากรณีอย่างนี้คนจะจดจำยาวแล้วในอนาคตบุคลากรดีๆ จะเกิดความภักดีต่อองค์กรได้ยังไงครับ”
ถึงแม้ว่าการสื่อสารที่ออกมานั้น จะออกมาในทิศทางที่ว่าแนะนำให้ลูกจ้างออก และขอความเห็นใจจากทุกฝ่าย ทว่า อีกด้านหนึ่งก็ยังคงเป็นความคลาดเคลื่อนเรื่องการรับเงินชดเชยจากประกันสังคม และไม่เสียประวัติถ้าหากพนักงานเต็มใจลาออกเอง
“ยุคนี้คำว่าเอาเปรียบด้วยข้อมูลข่าวสารที่เหนือกว่าคงยากแล้ว ถึงแม้เจ๊ติ๋มจะสื่อสารออกมาในทิศทางที่แนะนำลูกจ้างให้เสียเปรียบและดูเหมือนจะขอความเห็นใจ แต่ลูกจ้างเองก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทันควันจากโลกออนไลน์ และเจ๊ติ๋มเองต่างหากที่จะตกเป็นรองและต้องมาแก้วิกฤติการสื่อสารอีก นอกจากประเด็นเรื่องให้ลาออกเอง ยังมีประเด็นที่คลาดเคลื่อนเรื่อง การรับเงินชดเชยจากประกันสังคม และการไม่เสียประวัติถ้าลาออกเอง ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงครับ”
เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาของสังคม การแก้ปัญหาหรือทางออกที่ดีที่สุดในกรณีนี้คือ ต้องมายอมรับและสื่อสารให้ถูกต้องว่าเลิกจ้างกับลาออกเอง มีความแตกต่างกันอย่างไร อีกทั้ง มาตรการการช่วยเหลือพนักงานต้องให้ความเป็นธรรมและทำตามข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง
“พูดผิด พูดแก้ เป็นหนึ่งในหลักง่าย ๆ ของการแก้ไขปัญหาการสื่อสารในภาวะวิกฤต สิ่งใดที่พูดแล้วผิดไปคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็ต้องมายอมรับ แล้วสื่อสารไปให้ถูกต้องว่าเลิกจ้างกับลาออกเอง มีความแตกต่างกันยังไง ค่าชดเชยจากประกันสังคมได้เท่าไร และทางองค์กรบริหารงาน คาดการณ์ผิดพลาดไป ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จะมีมาตรการอย่างไรมาช่วยเหลือคนเล็กคนน้อย ให้เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนงานใหม่ บนค่าชดเชยที่เป็นธรรมขั้นต่ำตามกฎหมาย
ส่วนพนักงานนั้นควรรวมตัวกันเข้าไปขอคำชี้แจง และขอทางออก ทางเลือกใหม่จากนายจ้าง และทั้งสองฝ่ายควรเริ่มต้นด้วยการเจรจาหาทางเลือก ทางออกต่าง ๆ กันเสียก่อน ถ้าหากไม่สำเร็จจึงค่อยให้ภาครัฐ ศาลแรงงาน หรือ กระแสความเห็นในสังคมมาช่วยผลักดันกันอีกทางหนึ่งครับ”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754