“ติ๋ม ทีวีพูล” ยืนยันไม่หมดตูด เลิกทำทีวีดิจิตอลแล้ว
เบนเข็มทำสื่ออื่นกำไรกว่า รับสมัครพนักงานเพิ่ม
เป็นประเด็นความสนใจ เมื่อผู้ประกอบการประมูลทีวีดิจิตอลอย่าง “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล - พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์” เจ้าของช่อง “ไทยทีวี” และ “โลก้า” ประกาศว่าจะไม่จ่ายเงิน จะไม่ทำทีวีดิจิตอลต่อ เพราะว่าขาดทุน 320 ล้าน พนักงานระส่ำระสายกลัวจะถูกลอยแพ ออกจากงาน “บริษัทไทยทีวี” จึงได้จัดงานแถลงช่าวถึงเหตุผลครั้งนี้กลางรายการ ส.น.17 และถ่ายทอดสด ท่ามกลางสื่อมวลชนเข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก
ตามกำหนดการ ฝ่ายกฎหมายจะพูดก่อนในเบรกแรก และเบรกหลังจะให้สื่อมวลชนซักถาม “เจ๊ติ๋ม” แต่พอถึงเวลาจริง กลับไม่มีเจ๊ติ๋ม ทีมงานและพิธีกรรู้เพียงว่า “ไม่มาแล้ว ไปร่วมงานเลี้ยง วปอ.(วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร)แล้ว” จึงเหลือเพียง 3 ท่าน “ศุภิญโญ มั่นรู้ธรรม ผู้อำนวยการช่องไทยทีวี, โดม เจริญยศ เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ (CTO), สุชาติ ชมกุล ที่ปรึกษาทนายความ” ตอบคำถามแทน
“ศุภิญโญ มั่นรู้ธรรม” ผู้อำนวยการช่องไทยทีวี
ลอยแพพนักงานจริงไหม ?
ลอยแพแปลว่าอะไร ทิ้งไปเลย ณ ขณะนี้เวลานี้ท่านก็ยังดูไทยทีวีอยู่ ผ่านกล่องผ่านจานผ่านสื่อที่ท่านดูอยู่ ไทยทีวียังทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม เหมือนเดิมทุกอย่าง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวียังอยู่ครับ ไม่มีการเลย์ออฟ ยังอยู่เหมือนเดิม เรายังจะรับพนักงงานเพิ่มด้วยครับ บางส่วนที่ไปก็เป็นปกติของทุกบริษัทที่มีการถ่ายเทพนักงาน ต้องบอกว่าเราจะออกอากาศไปอย่างนี้เป็นปกติ ในแพลทฟอร์มที่ท่านชมอยู่ ยกเว้น “ดิจิตอลทีวี” เท่านั้นเอง หมายถึงว่า กล่อง, จาน, มือถือ,เว็บไซด์,แอพลิเคชั่นต่างๆ ท่านยังชมไทยทีวีได้เหมือนเดิม
ทีวีพูลจะเจ๊งไหม กับข่าวว่าขาดทุน 320 ล้าน บางกระแสข่าวก็ว่ามากกว่านั้น ?
การลงทุนคือความเสี่ยง ก่อนที่พี่ติ๋มได้เข้าไปร่วมประมูลได้ศึกษาถ่องแท้ถ้วนถี่แล้ว ด้วยเงื่อนไข ด้วยแฟคเตอร์ที่มันควรจะเป็นไป เหมาะสมเหมาะควรแล้วที่จะเข้าร่วมประมูลเข้าร่วมการลงทุนด้วยความมุ่งหวังเหมือนที่นักธุรกิจทุกคนต้องการ ก็คือผลกำไรต่างๆ ต้องบอกว่ามีความเจ๊งอยู่ เจ๊งเลยหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่มีเปอร์เซ็นต์ หนึ่งปีที่ผ่านมาพี่ติ๋มเป็นคนพูดตรงๆ บอกว่าขาดทุนก็ขาดทุน เท่าไร ว่าไปเลย แต่ว่าไม่หมดตูด ผู้ประมูลทั้ง 17 เจ้าที่ประมูลได้ต้องมีแบงค์การันตี มีธนาคารค้ำประกันเพื่อบอกว่าเมื่อคุณเบี้ยว ธนาคารจะจ่ายให้ 1,750 ล้าน อยู่ในธนาคาร พี่ติ๋มมีสินทรัพย์ที่อยู่ในนั้น พร้อมที่จะจ่าย ไม่ได้หมดตูด ไม่ได้เจ๊ง ไม่เป็นท่า เรากำลังจะเดินหน้าต่อไป ตอนนี้เราพิจารณาแล้วว่าเราไม่ควรจะพุ่งไปในทางนี้ เรามีสติ เราก็หยุดแล้วก็หันไปหาทางใหม่ ก็เท่านั้นเอง
เชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ดูผ่านกล่องดิจิตอลแน่นอน ดูผ่านจานแดง จานดำ จานเหลือง จานเขียว จานฟ้า จานส้ม นอกจากนั้นก็สื่อใหม่ เก็ดเจ็ทต่างๆ ดีไวซ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แทปเล็ต โน้ตบุค คนเมืองที่มีอินเตอร์เน็ทสามารถเข้าถึงเนื้อหาของเราได้ทั้งสิ้น คุยเลยดีกว่า เราครอบคลุมหมด
“สุชาติ ชมกุล” ที่ปรึกษาทนายความ
วันนี้ไปพบ กสทช.แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
“วันนี้กสทช.ได้มีหนังสือจะมีการนัดหารือ นัดประชุมกันเกี่ยวกับความไม่เข้าใจกัน ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ถ้าจะเลิกจะต้องทำยังไง จะเลิกเลยได้ไหม แล้วความเสียหายเป็นยังไง ได้ไปพูดคุยกันเมื่อบ่ายนี้ กสทช. บอกว่าเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจระหว่าง กสทช.กับไทยทีวี
ได้ถอนสัญญาหรือไม่ ?
อยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งขบวนการในการถอดถอน ไม่ใช่อยู่ๆ จะบอกเลิกได้เลย ในทางเดียวกัน กสทช.จะมาบีบบังคับให้เราถอดถอนเลยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะว่าตรงนี้ต่างฝ่ายต่างมีข้ออ้างอยู่ เกี่ยวกับหลายๆ เรื่องที่กสทช.เคยให้คำมั่นไว้ ตั้งแต่ก่อนการประมูลว่า ทีวีดิจิตอลดีอย่างไร ผู้ประกอบการจำนวนมากก็เข้าไปร่วมประมูลโดยหวังว่าจะดีอย่างที่กสทช.บรรยายไว้ ล่วงเลยระยะเวลามา เราประมูลปี 56 แต่แผนแม่แบบต่างๆ ที่กสทช.ต้องทำตั้งแต่ปี 55 จนถึงวันนี้ก็ยังได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ช่องทีวีดิจิตอลต่างๆ ที่ไปชำระเงิน ทุกคนก็จะบอกว่าวันนี้เราชำระนะ แต่เราสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องกับกสทช. คือความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น การบริหารงาน วันนี้คุณแจกกล่องไปแล้วเท่าไร คุณบอกว่า มี 22.5 ล้านครัวเรือน แต่วันนี้คุณแจกไป 4.2 ล้าน เทียบเปอร์เซ็นต์ก่อนว่าวันนี้คุณแจกไปกี่เปอร์เซ็นต์ ต่อมามีให้ข่าวว่าจะแจกเพียง 4.5 ล้าน มีคำถามว่า ประชาชนที่เหลือ คุณลอยแพเขาไว้ตรงไหน แล้วกล่องที่แจกไปดูได้ไหม กสทช.ก็ยังไม่เคยสำรวจ วงพื้นที่ว่าดูได้หรือไม่ได้ ก็ยังไม่มีแบบสำรวจออกมาให้เราเห็น เพราะฉะนั้นในการทำทีวีดิจิตอลต่อไปของผู้ประกอบการหลายราย ผมคิดว่าก็คงต้องถอนตัวเช่นเดียวกัน
ข้อขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายจะบานปลายไหม ?
ผมคิดว่าไม่บานปลาย เพราะว่าตามกำหนด กสทช. ผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิ์ที่จะเพิกถอนได้ มันมีเงื่อนไขในการเพิกถอนทั้งนั้น คือคนเราถ้าทำธุรกิจด้านนี้ต่อไปไม่ได้ ทำไปก็เกิดความเสียหาย ถามว่าท่านจะทำต่อหรือไม่ ถามว่าแผนแม่บทตั้งแต่ปี 55 จนถึงปัจจุบันนี้ กสทช.ก็ยังไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักเลยว่า ไอ้ทีวีดิจิตอลคืออะไร คุณลองไปสำรวจในต่างจังหวัด ยิ่งไม่รู้จักเลยนะ ถึงตอนนี้บอกว่า จะทำ จะทำ ก็เพียงแต่คำว่าจะทำ เท่านั้น คุณต้องประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ปีแรกแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาประมูล ให้ประชาชนได้รับรู้ ตอนนี้ถามกสทช.ๆ บอกว่า ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ นี่คือผลกระทบที่มาจากการทำงานล่าช้า การไม่ทำตามแผนแม่บทต่างๆ เป็นผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการ ทำให้มีคนดูคนชมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
วันนี้ที่ไปคุยกับ กสทช. ได้ยื่นคำขออะไร และนัดพูดคุยกันอีกไหม ?
ยังไม่มีข้อตกลงหรือข้อเสนอใดๆ ถามว่าวันนี้ได้อะไรบ้าง ก็ได้แค่เจรจา พูดคุยกันในเบื้องต้นเท่านั้นเอง ไม่มีความคืบหน้าอะไร
ไม่ว่าจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ กสทช. ก็จะยึด เอาเงินไปจริงไหม ?
ถ้าเราดูตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับกสทช. ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขหรือสัญญาใดๆ ที่กสทช.จะมายึดได้ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายที่เราจะต้องมาดูว่าใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องไปว่ากล่าวกัน อยู่ๆ จะมายึดเงินไม่ได้ ต้องดูว่ากสทช.ทำอะไรไปบ้าง ปฏิบัติตามแผนหรือยัง ปฏิบัติตามที่ให้ไว้หรือยัง อยู่ๆ ไม่ทำอะไร จะมายึดเงิน ไม่ได้ อันนี้ต้องกลับไปทบทวนกันใหม่นะครับ
“โดม เจริญยศ” เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ (CTO)
ถ้าไม่ทำทีวีดิจิตอลแล้ว จะทำอะไรต่อ ?
“ปัจจุบันเรามีหนังสือ 3 เล่ม สามารถทำกำไรให้ เป็นเทรดดิชั่นนอลมีเดีย เรายังทำอยู่แล้วมีกำไรต่อไป อีกฝั่งที่เราทำแล้วดีขึ้นในปีที่แล้วคือนิวมีเดีย เป็นเซกเมนท์ใหม่ของธุรกิจเลย ประกอบไปด้วย โซเชียล ก็จะมีเฟสบุค โตจากสองแสนมาเป็น 2.3 ล้านในปัจจุบัน เท่ากับ 150 เท่าในหนึ่งปี เราเป็นเพจทีวีพูลบุฟเฟต์ ที่มีเครื่องหมายสีเขียวอยู่ด้านขวา เป็นโมดิฟายเพจโดยเฟสบุคต่างประเทศ เพราะฉะนั้นอัตราการรีชจะมากกว่าปกติ มีเปอร์เซ็นต์การกดไลค์ที่สูงมาก ตัวไลน์แอคเคานท์เรามีที่กดไลค์อยู่ที่ 8 ล้าน
ส่วนการออกอากาศหลังจากนี้ไป เรายังอยู่บนดาวเทียม ที่มีเลข 7 อยู่บนกล่อง เราก็เพิ่มเซกเมนท์ไปเจรจาให้ช่องเราอยู่ต้นๆ อันนี้ก็ครบทุกประเภทแล้ว คราวนี้ก็ประกาศเป็นฟูลเอชดีต่อไป เป็นไฮเดฟต่อไป อีกฝั่งหนึ่งที่เราเลือกขึ้นมาใหม่คือ โอทีที ก็คือ โอเวอร์เดอะท็อป คือการดูจากดีไวซ์อื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ไอแพด โน้ตบุค โมบายทั้งหมดที่ถือ ฝั่งนี้จะออกอากาศในระบบอุลตร้าไฮเดฟ ก็คือ 4 K ซึ่งเรามีพาร์ทเนอร์หลักก็คือ ยูทูบ ไทยแลนด์ ซึ่งเราจะไปออกอากาศบนแพลทฟอร์มของยูทูบ
เรามีรายการที่จะเพิ่มใหม่ในโอทีที เพื่อจะให้แมทช์กับทุกหน้าจอ เป็นมัลติแพลทฟอร์ม สามารถดูบนจอไหนก็ได้ เป็นธุรกิจที่ยังทำกำไรอยู่ ก็ยังทำต่อไป ทั้งหนังสือ แล้วก็ตัวใหม่ที่จะออกอากาศผ่านดาวเทียม และทีวี ทั้งหมดจะดูได้ ยกเว้นกล่องดิจิตอล”
เป็นอันได้คำตอบ แม้จะไร้เงา “ติ๋ม ทีวีพูล” ยังคงต้องติดตามต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประมูลช่องทีวีดิจิตอล, ฝ่าย กสทช. (และฝ่ายประชาชน ขอตอบว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่เนื้อหาการออกอากาศ ที่จะสามารถดึงดูดยึดเหนี่ยวสร้างความนิยมความสนใจให้เกิดแก่ประชาชนติดตามได้ เมื่อนั้นกำไรก็จะไหลมาเทมา)