xs
xsm
sm
md
lg

ประชาวิพากษ์ "แลนด์มาร์กเจ้าพระยา" พัฒนา หรือทำลาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพฝัน "แลนด์มาร์ก" ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้ายา ตามนโยบาย "บิ๊กตู่" ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ไปจนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แม้จะถูกวาดขึ้นให้ดูสวยหรู มีประโยชน์ทั้งลานกีฬา หรือเส้นทางจักรยานในรูปแบบสะพานขนาบแม่น้ำที่มีความกว้างฝั่งละไม่ต่ำกว่า 20 เมตรด้วยงบลงทุน 1.4 หมื่นล้าน

ทว่า "เมกะโปรเจกต์" ในครั้งนี้ กลับมีเสียงทัดทานอย่างซีเรียส และจริงจังจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบในวงกว้างทั้งวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และการป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังมีการตั้งข้อสงสัยถึง "ผลประโยชน์" ที่อาจไม่ได้ตกเป็นของ "ประชาชน" อย่างแท้จริง

ภาครัฐต้องฟัง! ก่อนลงมือทำ

ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามนโยบายของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร ให้เกิดทัศนียภาพสวยงาม ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเพื่อการพักผ่อน การออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพ และนันทนาการ

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างสัญลักษณ์แห่งใหม่ หรือแลนด์มาร์กให้แก่กรุงเทพมหานคร และประเทศไทย โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีการลงเสาเข็มลงไปแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดความกว้างฝั่งละ 20 เมตร แต่ไม่ได้ทำสะพานข้ามเชื่อมระหว่างกันด้วยงบเงินดำเนินการเบื้องต้น 14,006 ล้านบาท

ด้วยภาพความสวยหรูที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมองให้ลึกลงไป ยังมีประเด็นในเรื่องของผลกระทบตามมามากมาย ทั้งสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์น้ำ และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ทำให้ภาคประชาชนทั้งสถาบันการศึกษาด้านการผังเมือง เครือข่ายสถาปนิก นักสิ่งแวดล้อม และชุมชน เกิดความเป็นห่วงในหลายๆ เรื่อง และออกมาส่งเสียงให้รัฐบาลทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 1 ระยะทาง 14 กิโลเมตร เริ่มจาก

- โครงสร้างมีขนาดกว้างถึง 19.50 เมตร และเป็นพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ จะสร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน และไม่สามารถหวนคืนได้

- รูปแบบมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียว ตลอดความยาวสองฝั่งในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างทั้งหมด 14 กิโลเมตร ขาดความเชื่อมโยงต่อภูมิสัณฐานของตลิ่ง โครงข่ายการสัญจรของเมือง รวมทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะบางบริเวณเป็นวัดและชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์



- ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และการวิเคราะห์งบประมาณอย่างเหมาะสม

- ขาดกระบวนการการสำรวจความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ที่จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอรูปแบบของโครงการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในระดับพื้นที่โดยรอบและในระดับเมืองอย่างแท้จริง ที่จะสามารถสร้างความหวงแหน และเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะริมน้ำของโครงการในระยะยาวได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากทางผังเมืองจุฬาฯ ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศ พบว่า เส้นทางดังกล่าวผ่านชุมชนมากที่สุด ประมาณ 5.9 กิโลเมตร หรือ 29 ชุมชน ซึ่งล้วนเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ สถานที่ราชการ 8 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง ศาสนสถาน 8 แห่ง เป็นต้น ก่อนจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีความกว้างเท่ากันตลอดแนว จึงมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการพัฒนาก่อสร้างพื้นที่ขนาดเท่ากันตลอดแนว

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านโครงการฯ แต่คัดค้านรูปแบบโครงการ ที่ควรมีกระบวนการศึกษาอย่างรอบคอบ รวมไปถึงการให้ข้อมูลโครงการแก่ประชาชน และให้เกิดการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ไม่อยากให้มีการเร่งรีบทำจนเกินไป



"รูปแบบไม่จำเป็นต้องเหมือนกันตลอดทั้งสาย ส่วนเส้นทางก็ไม่จำเป็นต้องขนานริมน้ำ อีกส่วนที่เป็นปัญหาก็คือ รัฐบาลใช้กรอบการดำเนินงานกระชั้นชิดเกินไป วิธีแบบนี้จะเกิดปัญหาหลายอย่าง บางชุมชนอาจจะไม่พอใจ บางคนรู้สึกว่าเสียผลประโยชน์ หรือบางกลุ่มยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ตรงนี้ก็เลยมีเรื่องให้คุยกันไม่จบ ดังนั้น การทำงานต้องมีแผนแม่บทในการพัฒนาริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนว่าส่วนไหนจะอย่างไร ส่วนไหนจะพัฒนาได้ก่อนหรือหลัง พร้อมกับรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็จะได้ทางริมน้ำเป็นที่น่าพอใจของทุกๆ ฝ่าย" ดร.วิภากร ธรรมวิมล อุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทยให้ความเห็น และอยากให้รัฐบาลนำไปกลับไปพิจารณา

เช่นเดียวกับ 5 องค์กรวิชาชีพสถาปัตย์ ก่อนหน้านี้ได้ออกมายื่นจดหมายถึงรัฐบาล เพื่อจี้ให้ทบทวนโครงการทางจักรยานคนเมืองริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคำนึงถึงผลดี ผลเสียต่อประชาชนให้ถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นต่อวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม การป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงผู้รับผิดชอบดูแลหลังจากที่โครงการแล้วเสร็จ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

ที่สำคัญ การสร้างเส้นทางนี้อาจจะทำลายวิถีชีวิตอันเป็นรากเหง้านั้นลงก็เป็นได้ เนื่องจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนในไทยซึ่งความผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน ซึ่งกรุงเทพมหานครกำลังจะใช้จุดแข็งตรงนี้ผลักดันให้พื้นที่อันเป็นภูมิทัศน์วัฒนธธรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นมรดกของโลก

โซเชียลฯ ตื่นตัวหาทางออกให้แม่น้ำ

ทางฟากของชาวสังคมออนไลน์ก็มีการตื่นตัวอย่างซีเรียส และจริงจังถึงผลกระทบที่จะตามมาจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน เห็นได้จากแฟนเพจ Friends of River ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนใจ และติดตามเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวเพื่อหาทางออกให้แม่น้ำ โดยพยายามเรียกร้องให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อให้โครงการริมน้ำนี้ตอบโจทย์ ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ใช่จากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว



นอกจากนั้น ยังเชิญชวน "เพื่อนแม่น้ำ" ตั้งคำถาม และร่วมหาคำตอบกับการใช้แม่น้ำอย่างยั่งยืนร่วมกันจากโครงการ " คำถามจากริมน้ำ 14 กม. : 14 Km. Questions For The River " ผ่านการแสดงความคิดเห็นใต้รูป หรือตั้งคำถามส่งเป็นข้อความผ่านทางอินบ็อก โดยประเด็นคำถามและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่น่าสนใจจะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอในเพจ Friends of River และนำเสนอต่อรัฐบาล

นี่คือตัวอย่างคำถามที่น่าสนใจจากการเปิดพื้นที่ในแฟนเพจดังกล่าว ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอต่อ เช่น

"โครงการเล็กๆ ยังต้องมีการจัดทำ EIA แต่ทำไมโครงการทางเดินริมน้ำขนาดใหญ่ถึงไม่ต้องทำ"

"ไม่มีหนทางที่ทางเดินริมน้ำจะอยู่ร่วมกับชุมชนริมน้ำที่อยู่มานานได้เลยหรือ"

"รัฐได้วางแผน หรือวิเคราะห์เรื่องค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารายเดือนหรือรายปีไว้บ้างหรือไม่ ถ้ามีควรเป็นอย่างไร คุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร"

"รัฐบาลได้มองไปที่ประวัติศาสตร์บ้างไหม และถ้ามองรูปแบบของริเวอร์ฟรอนต์ที่ว่าหน้าตาหรือรูปแบบควรที่จะสะท้อนอะไรหรือเปล่า เพราะเส้นเลือดใหญ่เส้นนี้เต็มไปด้วยอารยธรรม ความคิดเห็นของผมไม่ได้จะต่อต้านแต่อย่างใด รูปแบบที่สะท้อนออกมาที่จะสร้างเป็นเอกลักษณ์นั้น เป็นแบบไหน"

ขอขอบคุณคำถามจากคุณ Jirapatr Jitwattanasilpขอเชิญชวนเพื่อนแม่น้ำตั้งคำถามและร่วมหาคำตอบ กับการใช้แม่น้ำอย่างยั่งยืนร่ว...

Posted by Friends of River on Tuesday, June 16, 2015


อย่างไรก็ดี ในประเด็นคำถามเรื่องการทำอีไอเอ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จากการศึกษาเบื้องต้นในเรื่องระเบียบการทำรายงานอีไอเอโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยการทำเลนจักรยาน ลานกิจกรรมไม่เข้าข่าย เนื่องจากถือว่าเป็นกิจกรรมการก่อสร้างที่เข้าข่าย พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของกรมโยธาธิการ และผังเมือง ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการทำอีไอเอ หรือศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เสนอ "ทางออก" บอกทางแก้

แม้จะมีความหวังเล็กๆ ที่ผุดพรายขึ้นจากการตื่นตัวของภาครัฐในการรับฟังความเห็นของภาคประชาชน รวมไปถึงนักวิชาการ แต่สิ่งที่อุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย อยากเห็นก็คือ กระบวนการหารือกับภาคประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายมากกว่านี้

"ถึงตอนนี้เราต้องตั้งเป้าเดียวกันไว้ก่อนว่า พื้นที่ตามโครงการฯ ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกระทบกระเทือนกับสิ่งอื่นๆ น้อยที่สุด จากนั้นมาดูว่า จริงๆ แล้วเราจะทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการได้มาของกายภาพสุดท้าย ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ศึกษาถึงผลกระทบทั้งหมด มีการวิเคราะห์ และให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นั่นก็คือประชาชนเขาได้ลองโหวต หรือคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้ออกความคิด แต่ที่ผ่านมามันมีน้อยมาก ซึ่งมีแบบเฉพาะกลุ่ม ส่วนตัวรู้สึกว่า เหมือนกับรัฐบาลอยากจะไปทำประชาพิจารณ์กับกลุ่มคนที่รัฐบาลชัวร์ว่าไม่มีการคัดค้าน

ถึงเวลานี้ ยังไม่มีเวทีประชาพิจารณ์ชัดเจนของรัฐบาลเพื่อภาคประชาชนได้นำเสนอความคิด หรือเสนอแนะในโครงการของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และชุมชนของพวกเขา รวมไปถึงนักวิชาการเก่งๆ หลายคนที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ในการออกเสียงเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

หรือแม้กระทั่งทหารเรือที่อาจมีผลกระทบในเรื่องของท่าจอด หรือการลงเรือพระราชพิธีผ่านท่าวาสุกรี ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพที่ได้อาจได้รับผลกระทบครบหมดแล้วหรือยัง ถ้าได้ฟังก็จะได้นำไปปรับแก้การออกแบบให้เหมาะสม"
อุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทยเผย ก่อนจะเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟัง และนำไปปรับในเชิงวิธีการทั้งหมด ไม่ใช่แค่ในเชิงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงการวางแผนเพื่อให้ออกมาเป็น "ภาพสุดท้าย" ที่ดี เหมาะสม เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเพจเฟซบุ๊ก Friends of River, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



ก่อนจะผ่าต้อกระจกในดวงตา จงผ่าตัดการขัดกันผลประโยชน์ออกไป และตอบคำถามราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ให้ได้เสียก่อน
ก่อนจะผ่าต้อกระจกในดวงตา จงผ่าตัดการขัดกันผลประโยชน์ออกไป และตอบคำถามราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ให้ได้เสียก่อน
ครูแพทย์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี) ของเพื่อนแพทย์ของผู้เขียน (ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร) มักจะย้ำเตือนเสมอๆ ว่า หลักจริยธรรมทางการแพทย์ ข้อแรกที่ต้องยึดถือคือ “First of all do no harm” หมายความว่า “สิ่งแรกที่แพทย์ต้องคำนึงถึงคือห้ามทำร้ายผู้ป่วย” เพื่อนแพทย์ของผู้เขียนยังให้ความเห็นอีกว่า การผ่าตัดไม่ว่าจะปลอดภัยแค่ไหนก็ไม่มีที่ปลอดภัย 100% ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการผ่าต้อกระจกเกินความต้องการไปประมาณ 5 หมื่นรายต่อปี หมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่โครงการนี้ได้ทำร้ายคนไทยโดยการผ่าตัดที่เกินจำเป็นไปแล้วนับแสนราย
กำลังโหลดความคิดเห็น