ในขณะที่คนจากทั่วทุกมุมโลกกำลังช่วยกันภาวนาและหาทางเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับประเทศเนปาล จากภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนจากเหตุแผ่นดินไหวท่ามกลางความหนาวเหน็บของสภาพอากาศและจิตใจ แต่กลับมีคนดังในวงการบางคน หยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้มาโยงเข้าเรื่องการเมือง ยกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องของผลกรรม และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ โปรดรู้ไว้ว่ามันคือการยิ่งย้ำซ้ำบาดแผลแห่งความสูญเสียแก่เพื่อนร่วมโลกให้ลึกลงไปยิ่งกว่าเดิม...
ตอกย้ำภัยพิบัติโดยสุจริตใจ?
“รู้งี้ ยอมขายบ้านขายรถซื้อทัวร์ให้พวกซาตานนรกแผ่นดินบ้านเกิดทั้งแก๊ง ไปเที่ยวเนปาลและปีนเขาเอเวอเรสต์ตรงกับวันแผ่นดินไหว คงทำให้ชีวิตเรารู้สึกตื่นเต้นมีลุ้น เหมือนนั่งลุ้นหน้าจอทีวีวันหวยออก แค่ฝันเล่นๆ ก็เป็นสุขแล้ว”
ด้วยโพสต์ต้นเหตุจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ “Chai Rachwat” หรือ “ชัย ราชวัตร” นักวาดการ์ตูนเสียดสีการเมืองชื่อดังของเมืองไทยในครั้งนี้เอง จึงก่อให้เกิดดรามาบนโลกออนไลน์ครั้งใหญ่ ผู้คนมากมายไหลหลั่งเข้ามาวิจารณ์การหยิบเอาความสูญเสียมาล้อเลียนเรื่องการเมืองอย่างผิดกาลเทศะ แม้แต่แฟนเพจ “Drama-addict” ซึ่งติดตามการจิกกัดปัญหาในสังคมก็ออกมาแชร์โพสต์นี้ พร้อมกับแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า
(จ่าพิชิตแห่ง Drama-addict ขอประณาม)
“ลุงชัยราชวัตร ควรเพลาๆ เรื่องการเมืองมั่งนะครับ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่สมควรถูกส่งไปตายกับภัยพิบัติครั้งนี้ทั้งนั้น และโศกนาฏกรรมนี้ไม่สมควรถูกหยิบมาล้อเล่น เพื่อสนองความมันส์ทางการเมืองของลุงว่ะครับ ขอประณามนักเขียนการ์ตูนเสียดสีการเมืองคนนี้มา ณ ที่นี้ว่ะ”
ที่เห็นได้ชัดคือ ไม่มีใครอยากให้ความสูญเสียครั้งใหญ่ในครั้งนี้ต้องถูกผูกโยงเข้าสู่เรื่องการเมืองหรือสีเสื้อให้ต้องปวดหัวเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะแค่หยาดน้ำตาและความหนาวเหน็บที่เกิดขึ้นภายในใจชาวเนปาล ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหาทางเยียวยารักษากันแล้ว และบรรทัดต่อจากนี้คือความคิดเห็นจากผู้คนบนโลกออนไลน์ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิวาทะของนักวาดการ์ตูนชื่อดังรายนี้
"แยกการเมืองกับภัยพิบัติไม่ออก ถึงจะเอียงแค่ไหนก็ให้มันมีลิมิตบ้างเถอะ ชัย ราชวัตร วันนี้ผู้บริหารของ Google คนนึงที่เดินทางไปเนปาลเพื่อไปปีนเขาก็เสียชีวิตไปเหมือนกัน น่าเศร้าใจที่โลกเสียบุคลากรด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไอทีไปอีกคน"
"เล่นกับความรู้สึกของคนที่สูญเสียเนี่ยนะ ยังเป็นคนอยู่หรือเปล่า #ขอให้ชาวเนปาลปลอดภัย"
"คนเนปาลคงไม่มีใครอยากให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศตนหรอก แล้วเขาก็คงจะเสียใจที่มีคนต่างชาติต้องร่วมชะตากับเขา คงมีแต่คนไทยบางคนที่สะใจ เห็นคนตายในหายนะชาติอื่น"
"อย่าเอาความรู้สึกของผู้สูญเสียมาผสมโรงกับความสะใจเลยค่ะ เขาจะมองว่าคุณแย่เอาได้นะคะ ชัย ราชฯ"
ก่อนที่โพสต์ต้นเหตุจากนักเขียนการ์ตูนชื่อดังของเมืองไทยคนนี้จะสร้างความไม่เข้าใจให้บานปลายมากไปกว่านี้ ล่าสุด เจ้าของประเด็นจึงออกมาโพสต์อธิบายเพิ่มเติม แต่แทนที่จะช่วยคลายอุณหภูมิให้ลดลงได้ กลับยิ่งใช้ถ้อยคำรุนแรง กลายเป็นการโหมไฟเรื่องการเมืองให้หนักขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก และนี่คือใจความบางส่วนจากโพสต์ของเขา
“ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า การพูดคุยกันในเฟซบุ๊กเปรียบเหมือนการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในห้องอาหาร มันเป็นโต๊ะจองส่วนตัวเพื่อสังสรรค์ ส่วนคนอื่นไม่ได้รับเชิญอาจแอบได้ยินบ้าง ถ้าตั้งใจเงี่ยหูฟัง แต่คนมีสมบัติผู้ดีจะไม่สอดเสือกเรื่องคนอื่นที่ไม่ได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็น
เมื่อวาน ผมรำพึงรำพันให้เพื่อนๆ ฟังบนโต๊ะอาหารเรื่องความฝันใฝ่ส่วนตัว อยากให้พวกซาตานเนรคุณแผ่นดินบ้านเกิดไปทัวร์ที่เนปาลในวันเกิดแผ่นดินไหว โดยไม่ได้เอ่ยชื่อใครหรือกลุ่มคนใดทั้งนั้น”
(การ์ตูนล้อเลียน - ขอบคุณภาพจากแฟนเพจ "Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท")
ชัย ราชวัตร ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจจะทำให้กลายเป็นประเด็น แต่ไม่คิดว่าจะมีสื่อออนไลน์รายใหญ่คาบไปเขียนเป็นข่าว ตีความไปเองว่าเป็นการโพสต์ย่ำยีคนเนปาลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงที่ต้องการจะสื่อ หากติดตามอ่านโพสต์ในแต่ละเพจของเขาจะรู้ว่ารู้สึกอย่างไรต่อโศกนาฏกรรมของเพื่อนร่วมโลกในครั้งนี้ ขณะนี้เขาและผองเพื่อนศิลปินระดับแนวหน้าของประเทศหลายท่านกำลังเร่งผลิตเสื้อยืดจำหน่ายเพื่อหาทุนช่วยซับน้ำตาชาวเนปาลโดยส่งผ่านไปยังทางสภากาชาดไทย พร้อมทั้งทิ้งท้ายแบบแสบๆ คันๆ ฝากถึงคนบางกลุ่มที่เจตนาตีความโพสต์ของเขาไปในแง่ลบว่า “แผ่นดินบ้านเกิดตัวเองยังไม่รัก อย่าดัดจริตมีคุณธรรมรักและห่วงใยแผ่นดินชาติอื่น”
(โพสต์อธิบายเพิ่มเติม เพิ่มความคุกรุ่น)
คิดไปได้! “ผลกรรมของการบูชายัญ”
ความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินสะเทือนในครั้งนี้ นอกจากจะถูกโยงใยไปในทางการเมืองแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เดียวกันนี้ยังสามารถถูกตีความไปในทางศาสนาและความเชื่อด้วย “โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร” นางแบบชื่อดังของเมืองไทย ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว “Yossavadee Hassadeevichit” แชร์ภาพของเพื่อนของเธอ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรดูแลเรื่องช่วยเหลือสัตว์ เธอได้พูดถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นว่าอาจเป็นผลมาจากการบูชายัญจึงทำให้ได้รับผลกรรม ผู้คนล้มตายมากมายจากเหตุสลดในครั้งนี้
(โพสต์ต้นเหตุของ โย-ยศวดี)
“I totally agree!! เมื่อไม่กี่เดือนที่ได้โพสต์และพูดถึงพิธีกรรมที่คนเนปาลมีความเชื่อในเรื่องฆ่าสัตว์บูชายัญมากๆ ตัดคอวัวควายปีละแสนๆ หัวเซ่นไหว้แผ่นดิน อาบนองด้วยเลือดน่าสยดสยองเป็นที่กล่าวขวัญถึงคนทั่วโลก มาวันนี้ ภาพกลับมาเป็นแบบเดิม แต่เซ่นด้วยชีวิตคนต่อภัยพิบัติจากพระเจ้ากำหนดอีกเช่นกัน เราจะทำยังไง คนมีความเชื่อในเรื่องบาปมั้ยคะ! แต่ที่รู้คือเกิดการสูญเสียมากมายจริงๆ ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะที่บังเอิญคิดตรงกันกับคุณ Patarin Phadungpisuth จริงๆ”
ไม่ว่าความสูญเสียครั้งใหญ่ของโลกในครั้งนี้จะถูกใครตีความไปในทิศทางใดก็ตาม แต่สำหรับ ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก นักสื่อสารมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT: Information and Communication Technology) ผู้แทนประเทศไทยให้ไปพูดเรื่องจริยธรรมด้านสารสนเทศบนเวทียูเนสโก มองว่าปัญหาใหญ่ๆ จากโพสต์ของคนดังในวงการในกรณีนี้คือ ประเด็นเรื่องผู้ใช้โซเชียลมีเดียยังขาดสำนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมอันติดตามมาจากการกระทำของตัวเอง
“ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ของคุณชัย-ราชวัตร หรือคุณโย-ยศวดี ถ้าพิจารณาจากหลักการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์แล้ว ทั้งสองท่านควรจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอันเกิดมาจากสิ่งที่คุณโพสต์ออกไปด้วย และไม่ว่าสังคมจะรับรู้ด้วยวิธีการไหนก็ตาม ถือว่าสังคมได้รับรู้แล้ว ผลที่ตอบกลับมาที่เห็นคือการตอบโต้จากสังคม เพราะฉะนั้น คำว่า “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” มันคือเครือข่ายทางสังคม ผู้ใช้แต่ละคนมีเครือข่ายของตัวเองที่แตกต่างกันไป แต่ต้องอย่าลืมคำนึงถึงด้วยว่าเนื้อหาบนเครือข่ายเหล่านี้มันสามารถแพร่กระจายไปสู่เวทีระดับสาธารณะได้
(ความสูญเสียที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ)
ด้วยชื่อของคนมีชื่อเสียงทั้งสองท่านนี้ คนก็ติดตามอยู่แล้ว ยิ่งลักษณะการโพสต์บนเฟซบุ๊กที่สามารถแชร์ต่อไปเรื่อยๆ ได้ จนก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมมานานแล้ว ทั้งด้านบวกและด้านลบ และคนที่ใช้ทุกคนควรจะต้องยอมรับในจุดนี้ก่อน และอยากให้คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอันติดตามมาจากการกระทำของคุณด้วย คือต้องยอมรับก่อนว่าสิ่งที่โพสต์ไป คนในสังคมมีสิทธิเข้ามาเห็นและเข้ามาตอบโต้ได้ เพราะถ้าเป็นการโพสต์ส่วนตัวจริงๆ ก็ยังมีสื่ออื่นๆ ที่มีระบบปฏิบัติการช่วยป้องกันไม่ให้สังคมเข้ามารับรู้เรื่องของคุณได้ดีกว่านี้
ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงกันว่าคุณชัย ราชวัตร ล้อเลียนหรือกล่าวอ้างถึงประเทศเนปาลเรื่องภัยพิบัติในครั้งนี้ ตรงนี้ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ Sensitive มากๆ จะโพสต์หรือพูดถึงเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับภัยพิบัติหรือความสูญเสียของชาติใดก็ตาม เราก็ต้องระวังให้มากๆ ในขณะที่มีกลุ่มคนกำลังสูญเสียอยู่ อย่าเอาความสูญเสียของเขามาล้อเล่นหรือเปรียบเปรยเป็นอันขาด เพราะมันมีแต่จะทำให้เสียหาย
การที่เขาหยิบเรื่องนี้มาพูดในวันนี้ วันที่ภูเขาเอเวอเรสต์มันถล่ม ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะหยิบเอาเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเปรียบเทียบพูดถึงในลักษณะนี้ ถ้าอยากจะเปรียบเทียบ ให้หยิบไปเปรียบกับสิ่งที่ยังไม่เกิดดีกว่าไหม
มาที่กรณีของคุณโย-ยศวดี เป็นปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เราไม่มีสิทธิไปคอมเมนต์หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เป็นความเชื่อ วัฒนธรรม หรือประเพณีของชาติอื่นๆ นะคะ ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกรอบความเชื่อตามประเพณีไทยหรือศาสนาพุทธก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงเลยค่ะ
ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ ภัยครั้งนี้ก็เป็นภัยธรรมชาติ ถามว่าแผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยไหม ก็เคยเกิดเหมือนกัน แล้วถ้าประเทศอื่นมาหาว่าที่มีแผ่นดินไหวในไทยเพราะคนเชียงรายทำผิดผีอย่างนั้นอย่างนี้ คนเชียงรายก็จะโกรธและไม่พอใจเหมือนกัน”
ถามว่าถ้าเปลี่ยนจากโพสต์บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว มาเป็นการเขียนการ์ตูนล้อเลียนและเผยแพร่ในรูปแบบคอลัมน์บนหนังสือพิมพ์แทน จะทำให้ ชัย ราชวัตร ได้รับกระแสลบตอบกลับมาอย่างถล่มทลายอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์หรือไม่ ถ้าเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจารย์ตอบว่าทุกวันนี้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงมาก และคนอ่านในบ้านเราไม่ค่อยออกมาตอบโต้แสดงอาการไม่เห็นด้วยต่อคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์กันมากนัก ดังนั้น สื่อออนไลน์จึงเป็นตัวจุดประเด็นที่ต้องใช้อย่างระแวดระวังมากๆ โดยเฉพาะคนมีชื่อเสียงในสังคม
“ข้อแรกเลย ควรใช้มันเพื่อการแสดงความเสียใจค่ะ ข้อที่สอง ใช้เพื่อรวบรวมระดมข้อมูลว่าสามารถส่งความช่วยเหลือไปสู่เนปาลด้วยวิธีไหนได้บ้าง ถ้าใช้ได้สร้างสรรค์แบบนี้ คนที่ติดตามก็จะรักและชื่นชมคุณ ทำตามกำลังความสามารถที่จะทำได้ค่ะ อย่างที่คุณชัย ราชวัตร บอกว่าจะออกมาทำเสื้อเพื่อหาทุนซับน้ำตาชาวเนปาล อันนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีค่ะ เพราะบางทีคนเราอาจจะไม่อยากเสียเงินเฉยๆ อาจจะอยากได้อะไรกลับมาบ้าง ถ้ามีเสื้อที่เป็นสัญลักษณ์ออกมาให้รู้ว่าคนคนนั้นได้ช่วยบริจาคไปแล้ว ก็อาจจะช่วยสร้างกระแสสังคม ช่วยส่งใจไปช่วยเหลือไปให้อย่างสร้างสรรค์”
---ล้อมกรอบ---
รวมใจชาวไทย บริจาคเพื่อ #PrayForNepal
สภากาชาดไทย
ธนาคารกสิกรไทย สาขาสีลม ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ” ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 001-1-34567-0
สำหรับท่านที่ต้องการรับใบเสร็จรับเงินให้ส่งหลักฐานการโอนเงิน พร้อมชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ และระบุว่า “เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เนปาล” เลือกส่งเอกสารมาทางใดทางหนึ่งมาที่แฟกซ์ 0-2250-0312 หรือ 0-2652-4440 หรืออีเมล pr-fund-rc@hotmail.com สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2256-4440-3, 0-2255-9911 และ 0-2251-1218
รัฐบาลไทย
ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” ประเภทบัญชี “ออมทรัพย์” เลขที่ 067-0-10330-6
มีการสรุปยอดเงินช่วยเหลือประจำวันในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน
กองทัพบก
ธนาคารทหารไทย สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ชื่อบัญชี “น้ำใจไทยเพื่อผู้ประสพภัยในเนปาล” ประเภทบัญชี “ออมทรัพย์” เลขที่ 038-7-29632-0 (ไม่มีค่าธรรมเนียมธนาคาร)
หรือเดินทางมาบริจาคด้วยตนเองที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในช่วงการจัดรายการพิเศษ ชื่อรายการ "น้ำใจไทยเพื่อผู้ประสบภัยเนปาล" ในวันอังคารที่ 28 เมษายน 2558 ระหว่างเวลา 20.20-22.220 น. โดยถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักรัชโยธิน ชื่อบัญชี “มูลนิธิสยามกัมมาจล - ไทยพาณิชย์ เพื่อผู้ประสบภัย” ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 111-3-90911-5
หากต้องการใบเสร็จลดหย่อนภาษี กรุณาส่งสำเนาการโอนเงิน พร้อมแจ้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ได้ที่อีเมล helpnepal@scb.co.th หรือโทรสาร 0-2544-1040
องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย
ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงาน ก.พ. ชื่อบัญชี “องค์การยูนิเซฟ” ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่บัญชี 201-3-01324-4
สามารถบริจาคออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ "ระดมทุนช่วยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเนปาล" (คลิก) โดยชำระผ่านบัตรเครดิตออนไลน์ หรือแบบฟอร์มบริจาคเงินผ่านตู้ ATM, โอนเงินผ่านธนาคาร หรือบริจาคผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ทุกสาขา
หลังจากดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องการใบเสร็จเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี กรุณาส่งใบโอนเงิน พร้อมทั้งชื่อ ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ ส่งโทรสารกลับมาที่ 02-356-9229 หรือ 02-281-6033 วงเล็บว่า “เนปาล ออนไลน์”
สอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ โทรศัพท์ 0 2356 9299 หรืออีเมล psfrbangkok@unicef.org
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: #PrayForNepal
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- (รวมข้อมูลบัญชีรับบริจาค) เชิญร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในเนปาล #PrayForNepal
- #PrayForNepal บีบหัวใจ สัญญาณวิกฤติใหญ่ ธรณีสะเทือน!
- In Pics & Clips : เหยื่อแผ่นดินไหวเนปาลล่าสุดไม่ต่ำกว่า 3,300 หลังผ่าน 2 วัน - “คลิปหิมะถล่มยอดเขาเอเวอร์เรสต์” แฉวิกฤตนาทีชีวิต เชอร์ปาและนักปีนเขาหนีตาย
- เนปาลใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ อพยพผู้ที่ติดอยู่บนเอเวอร์เรสต์