เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเนปาล (2015 Nepal earthquake หรือ Himalayan earthquake ) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 25 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงใหญ่หลวงที่สร้างความตื่นตระหนกและโศกสลดไปทั่วทั้งโลกอย่างมิอาจปฏิเสธได้
เหตุแผ่นดินไหวธรณีวิปโยคครั้งนี้ที่ประเทศเนปาล ซึ่งสามารถวัดความรุนแรงได้ที่ระดับ 7.8 ตามมาตราแมกนิจูด ถูกระบุว่า มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองลัมจุงไปทางตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้ราว 34 กิโลเมตร และมีความลึกลงไปใต้ดินเพียง 15 กิโลเมตร
แผ่นดินไหวระดับ 7.8 แมกนิจูดที่เนปาลหนนี้ ถือได้ว่า เป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 81 ปี ที่เกิดขึ้นในดินแดนพุทธภูมิซึ่งเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า หรืออาจกล่าวได้ว่า มีความรุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลเมื่อปี ค.ศ.1934 เป็นต้นมา
ข้อมูลล่าสุดที่มีการสรุปไว้เมื่อ 30 เมษายนระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุธรณีวิปโยคที่เนปาลได้พุ่งสูงทะลุ 5,200 รายไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลของเนปาลเองคาดว่า โศกนาฏกรรมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่ทันคาดฝันหนนี้ อาจคร่าชีวิตผู้คนไปมากเกินกว่า 10,000 ราย ทั้งในเนปาล ที่เป็นศูนย์กลางของภัยพิบัติ ตลอดจนในประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งในอินเดีย เขตปกครองทิเบตของจีน รวมถึง ในบังกลาเทศ
นอกเหนือจากยอดผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจพุ่งสูงแตะหมื่นศพแล้ว ยังมีรายงานถึงจำนวนผู้คนที่สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวเนปาลจำนวนระหว่าง 450,000 – 600,000 คน ต้องกลายสภาพเป็น “คนไร้บ้าน” ภายในระยะเวลาเพียงชั่วพริบตาเดียว
องค์การ “UNICEF” ในสังกัดสหประชาชาติ ออกมาประกาศว่า มีเด็กๆได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ต้องกลายสภาพเป็น “กำพร้า” จากการที่ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง เพราะสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตทั้งหมดจากภัยพิบัตินี้
ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังอย่าง “หิมาลายัน ไทม์ส” รายงานว่าในขณะที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ตามมาตราแมกนิจูดนี้ มีพลเมืองของต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาพักผ่อนและทำกิจกรรมอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วเนปาลมากกว่า 20,000 คน และหลายคนในจำนวนนี้ ต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่เนปาล
แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลยังส่งผลกระทบให้เกิดเหตุหิมะถล่มบริเวณภูเขาชื่อดัง “Mount Everest” คร่าชีวิตนักไต่เขาไปอย่างน้อย 19 ราย กลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันในคราวเดียวมากที่สุดบริเวณยอดเขาที่ได้ชื่อว่า “สูงที่สุดของโลก” แห่งนี้
ไม่เพียงเท่านั้น เหตุธรณีพิโรธในเนปาลที่รุนแรงที่สุดในรอบ 81 ปี ยังสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับสิ่งก่อสร้างอันทรงคุณค่า และโบราณสถานมากมายในเนปาล โดยหลายแห่งได้รับความเสียหายเพียงบางส่วนแต่บางแห่งก็พังทลายลงจนแทบไม่เหลือซาก โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) อย่างอาคารเก่าแก่บริเวณ “Kathmandu Durbar Square”
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.8 แมกนิจูดที่เนปาลหนนี้ มิได้สร้างแต่เฉพาะความเสียหายในเชิงรูปธรรมที่มองเห็นจับต้องได้อย่างความเสียหายในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย ตลอดจนสภาพพังย่อยยับของอาคารบ้านเรือนเท่านั้น
แต่เหตุแผ่นดินไหวคราวนี้ยังสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในเชิงเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยทางผู้บริหารของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลให้จีดีพีของเนปาลหดหายไปตั้งแต่ 9% - 50% ซึ่งถือเป็น “ข่าวร้าย” ซ้ำเติมเศรษฐกิจเนปาล ที่ติดอันดับเป็นหนึ่งในดินแดนที่ได้ชื่อว่า “ยากจนข้นแค้นที่สุดของเอเชีย” อยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการ “ฟื้นฟูบูรณะประเทศ” ของเนปาลจากมหาภัยพิบัติครั้งนี้ คาดว่า จะสูงเกินกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 164,310 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของจีดีพีของเนปาลเลยทีเดียว ตามการประเมินเบื้องต้นของสถาบัน “IHS Inc.” ซึ่งมีฐานอยู่ในมลรัฐโคโลแรโดของสหรัฐฯ
ฤาเนปาลจะเข้าสู่ยุคมิคสัญญี?
อย่างไรก็ดี แม้ความช่วยเหลือจากทั่วโลกทั้งในรูปของเงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์ จะหลั่งไหลเข้าสู่เนปาลไม่ขาดสาย แต่เรากลับเริ่มเห็นภาพของความวุ่นวายไร้ขื่อแปเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วเนปาล ทั้งภาพของการแย่งชิงสิ่งของ อาหาร น้ำดื่ม ยา ภาพของการปะทะกันระหว่างผู้ประสบภัยที่โกรธแค้นกับตำรวจจากกรณีที่รถโดยสารและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆมีไม่เพียงพอ และภาพของการปล้นชิงวิ่งราวที่แสดงถึงสันดานดิบและความต้องการเอาตัวรอดของมนุษย์
นอกเหนือจากภาพความวุ่นวายที่เริ่มถูกฉายออกมาแล้ว บรรดานักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างแสดงความกังวลต่ออนาคตที่มืดมนของเนปาลที่เผชิญวิกฤตความแตกแยกหนักทางการเมืองมานานหลายปี และกำลังจะถูกถาโถมเข้าใส่ด้วย “มรสุมทางเศรษฐกิจ” จากผลพวงของภัยพิบัติทางธรรมชาติคราวนี้ ที่ว่ากันว่า อาจผลักเนปาลเข้าสู่ยุค “มิคสัญญี” ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เฮติ เผชิญแผ่นดินไหวระดับ 7.0 เมื่อปี 2010 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 316,000 ราย
ปรากฏการณ์ส่งกำลังใจ-ความช่วยเหลือผ่าน “Social Media”
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ไม่พูดถึงไม่ได้” นั่นคือ ปรากฏการณ์ของการที่ผู้คนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อในรูปแบบ “Social Media” ในการรายงานความเคลื่อนไหวของเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลกันแบบนาทีต่อนาที
รวมถึง การใช้สื่อชนิดนี้เป็นช่องทางในการติดต่อแจ้งข่าวกับญาติมิตรและสมาชิกในครอบครัว ตลอดจน ใช้เป็นช่องทางสำหรับส่งมอบกำลังใจ และรวบรวมความช่วยเหลือที่จำเป็นส่งไปยังเนปาล จนเราได้เห็นการติดแฮชแท็กยอดนิยมเกิดขึ้นมากมายบนโลกไซเบอร์โดยเฉพาะPrayForNepal และ NepalEarthquake เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีในยามเกิดวิกฤตได้เป็นอย่างดี
แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาสรุปความเสียหายอย่างเป็นทางการจากเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลแต่เราก็คงพอสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ภัยพิบัติหนนี้เป็นหนึ่งในครั้งที่เลวร้ายรุนแรงที่สุด ที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติและไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นอีก แต่ถึงกระนั้น ในอีกด้านหนึ่งหายนะที่เกิดขึ้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงด้านดีในการที่เพื่อนร่วมโลกได้แสดงออกถึงมิตรภาพและความจริงใจในการหยิบยื่นความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆให้กับชาวเนปาลเพื่อให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้โดยเร็วและเป็นการตอกย้ำว่า พวกเขามิได้อยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้