xs
xsm
sm
md
lg

เอาจริง! จัดระเบียบลดจำนวน “ขอทาน” ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบลดจำนวนขอทานในประเทศ โดยฝึกอาชีพให้สามารถเลี้ยงตนเองได้แทน ผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พร้อมบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด มาตรการนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการจัดระเบียบขอทานเพื่อหยุดธุรกิจบาป แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ!?

ยกเลิก พ.ร.บ. ขอทาน = แก้ที่ปลายเหตุ

จากกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน โดยมีคำสั่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการแก้ไขจัดระเบียบขอทาน ยกเลิก พ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ. 2484 พร้อมควบคุมการขอทาน ห้ามไม่ให้บุคคลใดทำการขอทาน พร้อมระบุลักษณะผู้ที่เป็นขอทาน ดังนี้

การที่ผู้อื่นมอบทรัพย์สินให้ โดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด การให้ผู้อื่นเกิดความสงสารโดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด รวมถึงไม่ให้มีการแสดงในที่สาธารณะ อาทิ การเล่นดนตรีเปิดหมวก โดยขอรับทรัพย์สินจากผู้ฟัง ซึ่งการเล่นดนตรีในที่สาธารณะต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานก่อน และต้องมีการกำหนดพื้นที่ในการแสดง




อีกทั้งยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม ให้ผู้อื่นขอทานอีกด้วย โดยขอทานที่เป็นคนต่างด้าวให้ส่งกลับประเทศ และขอทานที่เป็นคนไทยให้ฝึกอบรมและฝึกอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ส่วนขอทาน เด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วย ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น ให้พ้นสภาพจากการเป็นคนขอทาน และดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับมาดำรงชีพในสังคมได้

จากประเด็นข้างต้นนี้ “ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร” อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ความเห็นกับทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ว่า วิธีการเช่นนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยมุ่งในการปราบปรามอย่างเดียว

“โดยภาพรวมกว้างๆ ถือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่มันควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องของวิธีการนะครับว่าการจะควบคุมไม่ให้มี ใช้วิธีการแบบไหน แบบบังคับ แบบลงโทษ ถ้าตัวพ.ร.บ. เขียนออกมาในแนวบังคับ ลงโทษ อาจารย์คิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุ คือมุ่งในการปราบปรามอย่างเดียว จริงๆ แล้ว พ.ร.บ. มันจะต้องมีมิติการเขียนในเชิงมาตรการป้องกันด้วย โดยต้องให้มีหน่วยงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วก็แก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ”




สาเหตุที่แท้จริงของขอทาน มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือขอทานที่เกิดจากความยากจนจริงๆ และขอทานที่ทำเป็นกระบวนการ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกให้ออก และต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูแล

“สาเหตุของขอทานจริงๆ เกิดจากความยากจน กับสาเหตุหนึ่งคือกระบวนการในการใช้ขอทานในการทำธุรกิจ ซึ่งทำกันอย่างเป็นกระบวนการ อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไปเอาขอทานจากต่างชาติ จากประเทศที่ยากจนเอามาใช้เป็นเครื่องมือ อันนี้เราต้องแยกให้ออกว่าขอทานที่มีอยู่ในประเทศไหน ประเทศที่เกิดมาจากความยากจนแล้วไม่มีทางทำอย่างอื่นเลยนอกจากขอทาน อันนี้ก็ต้องมีกระบวนการหรือการกำหนดบทบัญญัติที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบไปดูแลนะครับ”

อมตะ “ขอทาน” กำจัดไม่หมด!

ทั้งนี้ ต้องมีการจำแนกประเภทของขอทานให้ดีว่าอยู่ในกลุ่มไหน และหากเป็นกลุ่มคนพิการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกระบวนการค้ามนุษย์ ต้องมีบทบัญญัติการใช้อำนาจของตำรวจเข้าไปจัดการและสาวถึงต้นตอกระบวนการผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

“ถ้าเจอขอทานต้องมีการจำแนกประเภท มีการสอบสวนสืบสวนว่าเขาอยู่ในกลุ่มไหน เป็นกลุ่มที่ยากจนไม่มีโอกาส หรือไม่มีทุนทำมาหากิน หรือว่าไม่มีความรู้ ต้องใช้กระบวนการหนึ่งที่เข้าไปทำให้เขามีความรู้ มีทักษะ มีอาชีพที่เหมาะสมกับเขา ต้องฟื้นฟูจิตใจด้วย เขามีศักยภาพ มีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่าการไปนั่งขอทานแบมือขอเงินจากคนอื่น

ในรายที่ทุพพลภาพ เช่น มือกุด ขาขาด อันนี้ก็ต้องเข้าไปสู่กระบวนการฟื้นฟูครับ เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คนพิการ คือพอเราจับได้ ไม่ใช่ไปให้เขายกเลิกอาชีพโดยไม่มีกระบวนการอะไรรองรับเลย ต้องเข้าไปเพิ่มพูนความรู้ทักษะเรื่องอาชีพให้เขา
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนพิการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกระบวนการ แก๊งหรืออะไรต่างๆ เราต้องมีบทบัญญัติให้อำนาจจากตำรวจหรือพนักงานสอบสวนเข้าไปจัดการ พยายามสาวไปถึงต้นตอหรือกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังให้ได้ แล้วก็ต้องมีบทลงโทษคนที่ประกอบอาชีพโดยใช้ขอทานเป็นเครื่องมือนะครับ เพราะอันนี้ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ประเด็นก็คือต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้นคือมันต้องโยงกันด้วย พ.ร.บ.ขอทานกับการปราบปรามการค้ามนุษย์”




อย่างไรก็ตาม การมี พ.ร.บ. นี้ขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลเพราะขอทานไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม กล่าวทิ้งท้าย

“ลักลอบการค้ามนุษย์มันมีอยู่แล้ว มันเป็นกระบวนการที่จัดการยากเพราะมีความซับซ้อน มีรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปเยอะ เราตามไม่ทันมันก็จะเล็ดลอดสายตา มันจะหลุดจากการป้องกันปราบปรามไปได้ เพราะฉะนั้น ยังไม่เชื่อว่าการมี พ.ร.บ. แล้วจะทำให้ขอทานหมดไป มันต้องมีมาตรการแจ้งถามทางต้นตอของปัญหาด้วยนะครับ

ถ้าเป็น พ.ร.บ. ประเภทมีบทลงโทษจับขอทานมา มันต้องใช้กระบวนการของการพัฒนาการปราบปรามอย่างจริงจัง ต่อกระบวนการนำเข้าขอทานที่เป็นกระบวนการการค้ามนุษย์ ต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เพราะขอทานไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีเพียงแต่ว่ารูปแบบมันอาจจะต่างกัน

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น