รอง ผบ.ตร.วางมาตราการ เร่งรัดปราบปรามการค้ามนุษย์โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการค้าประเวณี เรื่องแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการจัดระเบียบขอทาน
วันนี้ (23 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นประธานประชุมสถานการณ์ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมี พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. พล.ต.ต.ทวิชชาติ พละศักดิ์ พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รอง ผบช.น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามทั่วนครบาลจำนวน 185 นาย เข้าร่วมประชุมด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.จึงเสร็จสิ้น
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อรับฟังผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของบช.น.ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมที่สำคัญคือการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการค้าประเวณี เรื่องแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการจัดระเบียบขอทาน และได้สั่งการให้หน่วยงานที่อยู่ในสังกัด ตร. คือ บช.น. กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1-9 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ยังมีกองบัญชาการสอบสวนกลาง กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่
พล.ต.อ.เอกกล่าวอีกว่า ได้เน้นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน แยกเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 51-56 รวบรวมคดีที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่นครบาล ตำรวจภูธร และ ศชต. มาเป็นสถิติ ส่วนปี 57 จากการตรวจสอบแล้วมีคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด 280 คดี ทั้งนี้ ภาพรวมในการปฏิบัติงานในนครบาลของคดีที่เกิดขึ้นในปี 58 มีระดับที่น่าพึงพอใจ คาดว่าหากการดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศสรรัฐอเมริกา ได้เห็นถึงการปฏิบัติงานอย่างจริงจังของตำรวจในส่วนของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ ปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่นครบาลที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เรื่องสถานบริการ จุดเสี่ยงที่สำคัญ แต่ทาง บช.น. ก็ได้มีมาตรการควบคุมในการเปิดปิดให้ตรงเวลา ส่วนกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน (ดส.) เข้ามาช่วยจัดระเบียบขอทาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเข้ามาดูแนวทางสืบสวนสอบสวน ให้ทราบถึงต้นตอและเครือข่ายของขอทาน อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดการต่อไปในอนาคต