xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ! “การจัดการ กทม.” ภายใต้ปีกของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังวาทะเด็ด “ไม่อยากเสี่ยงน้ำท่วมให้หนีขึ้นดอย” ก็ทำเอาคะแนนนิยมผู้ว่าฯ กทม.ลดฮวบฮาบ นอกจากจะถูกตราหน้าเรื่องการจัดการน้ำที่ล้มเหลวจากสภาพน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดแล้ว ยังถูกสังคมถล่มถามผลงานเด่นๆ ตลอดการเป็นผู้ว่าฯ ถึง 2 สมัยด้วยว่ามีอะไรบ้าง? ทั้งการจัดระเบียบทางเท้าที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไหนจะปัญหารถติด เส้นทางจักรยานและสภาพฝาท่อและสภาพถนนที่ยังไม่พัฒนาไปไหน เห็นทีว่างานนี้อาจต้องมีคนหนีขึ้นดอยโดยที่ไม่ต้องรอน้ำท่วมเสียแล้ว




บทพิสูจน์ “อีคิว” ผู้นำ?

"เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ไปอยู่บนดอย ต้องอยู่บนดอยครับ" นี่คือวาทะเด็ดของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่แทนที่จะช่วยเรียกเสียงสนับสนุนชวนให้น่าเห็นใจ คำเปรียบเปรยดังกล่าวกลับส่งให้ผู้คนก่นด่าหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะประชาชนชาวกรุงที่กากบาทเลือกท่านมาดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย

แม้แต่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ยังอดมีน้ำโหต่อวิธีการจัดการกับปัญหาของผู้ว่าฯ ไม่ได้ ถึงกับโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ว่าเป็นผู้นำที่มีอีคิวต่ำ เมื่อใช้ “ทฤษฎีการสื่อสารในภาวะวิกฤต” ทั้ง 8 ข้อมาวัด บอกได้เลยว่าการกระทำของผู้ว่าฯ ไม่เฉียดใกล้ 1 ใน 8 ข้อที่พึงกระทำแม้แต่นิดเดียว และนี่คือใจความบางส่วนที่ตัดทอนมาจากโพสต์อันยาวเหยียดของนักวิจารณ์ชื่อดังของเมืองไทย

“ฟังผู้ว่าฯ กทม. แถลงเรื่องน้ำท่วมแล้วผิดหวังจริงๆ เพราะสิ่งที่ท่านพูดออกมานั้นตรงกันข้ามกับทฤษฎีการสื่อสารในภาวะวิกฤตโดยสิ้นเชิง ผิดแทบทุกข้อ... หรือท่านคิดว่าท่านเป็นมา 2 สมัยแล้วท่านจะไม่ลงสมัครอีก จึงไม่สนใจว่าประชาชนจะคิดอย่างไรกับท่าน จึงไม่รู้จักควบคุมตัวเอง แสดงตนเป็นคน EQ ต่ำ ไม่สนใจอารมณ์ของสาธารณชนที่รวมทั้งคนที่เลือกท่านด้วย จะลงต่อหรือไม่ลงต่อก็แสดงความสามารถในการทำงานและเป็นนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ให้เป็นเกียรติเป็นศรีกับความมนุษย์ที่มีคุณค่าเถอะค่ะ... แม้ท่านจะบอกว่าท่านไม่ใช่เทวดาที่จะหยั่งรู้ฟ้าดิน แต่การพูดของท่านดูเหมือนว่าท่านจะทำตัวเป็นเทวดาเหนือประชาชนนะ ผิดหวังจริงๆ


(ดร.เสรี ตอกกลับการรับมือเรื่องน้ำท่วมขังของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์)

หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จึงออกมาทำความเข้าใจว่าวาทะเด็ดนั้นเป็นเพียงการพูดทีเล่นทีจริง แค่อยากให้ทุกคนให้เกียรติลูกน้องที่ทำงานหนักเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องการจัดการนั้น ล่าสุดได้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการป้องกันน้ำท่วมแล้ว ขณะนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำและบุคลากรไว้พร้อมสำหรับสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้เรียบร้อยแล้ว และบรรทัดต่อจากนี้คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ โพสต์แจ้งเอาไว้ในเฟซบุ๊ก

“ผมได้สั่งให้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีการก่อสร้างในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะเราพบว่า บางที่การก่อสร้างนั้นได้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ผมไม่ได้โยนความผิดให้ใครนะครับ แต่เราต้องร่วมมือกันครับ นั้นหมายความว่า กทม. จะเรียนเชิญประชุมเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสำคัญๆ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง บริษัทโทรศัพท์ต่างๆ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยด้วย ที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในหลายพื้นที่ครับ ซึ่งการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีมากจริงๆ ครับ ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าแต่ละฝ่ายกำลังทำอะไรอยู่ และแต่ละฝ่ายเจออุปสรรคอย่างไร เราจะได้ช่วยกันแก้ไข ทำงานเชิงบูรณาการที่จะป้องกันปัญหาน้ำท่วมครับ”




ไม่มีความพร้อม! ขาดการทำงาน “เชิงรุก”

ถึงกับได้รับคำเตือนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ส่งมายังผู้ว่าฯ กทม.ว่าต้อง “ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับ” เพียงอย่างเดียว แค่เพียงเท่านี้ก็พอจะช่วยสะท้อนให้เห็นการทำงานของผู้บริหารกรุงเทพฯ ว่าที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางใด ลองให้ หาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ช่วยวิเคราะห์การทำงานของ กทม.จากประเด็นปัญหาน้ำท่วมขังครั้งนี้บ้าง ในสายตาของประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการแล้ว บอกได้เลยว่า บกพร่องและขาดความพร้อมอย่างเห็นได้ชัด

คำว่า “เชิงรุก” ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะจัดการน้ำในแต่ละแบบยังไง อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะแตกต่างกันออกไป แต่กลายเป็นว่า กทม.ทำ “เชิงรับ” ไม่ว่าฝนจะตกลงมาแบบไหน เราก็จะพูดถึงแค่เรื่องการมีอุโมงค์ยักษ์เพื่อจัดการอย่างเดียว เรียกว่าอุปกรณ์ที่มีมันไม่สอดคล้องกับฝนนอกฤดู ถามว่าทำไมไปพูดถึงแต่เรื่องอุโมงค์ยักษ์เพราะมันเป็นงบประมาณ 2-3 หมื่นล้านที่ทางรัฐบาลอนุมัติให้ไปก่อสร้าง ซึ่งจริงๆ แล้ว จะจัดการเรื่องน้ำใน กทม.อย่างที่เกิดขึ้น จัดการแค่สเกลเล็กๆ ก็พอครับ ไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลขนาดนั้น


ปัญหาน้ำท่วมตอนฝนตกที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ มันคือการท่วมระยะสั้น เราต้องพูดถึงเรื่อง “เครื่องสูบน้ำ” ที่จะช่วยทยอยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำเล็กไปลงแหล่งน้ำทั่วไปเพื่อลดน้ำที่อยู่ในจุดที่เป็นเส้นทางสัญจรเดินรถให้เร็วที่สุด เช่น กรณีน้ำท่วมแถวลาดพร้าวที่เมื่อก่อนเคยท่วม วันนี้ไม่ท่วมแล้ว เพราะเขาใช้วิธีการสูบน้ำเข้ามาช่วย หรือสถานีสูบน้ำที่เขตบางซื่อ, ทวีวัฒนา, ประเวศ ที่ท่วมบ่อยๆ แต่พอเข้าหน้าแล้งปุ๊บ กทม.กลับไม่มีเครื่องสูบน้ำมาประจำเอาไว้ตามจุดต่างๆ ตรงนี้เลย ทำให้น้ำไม่สามารถเดินทางไปยังจุดระบายใหญ่ๆ ได้ทัน ทำให้ต้องรอให้น้ำไหลลงท่อริมคูถนนอย่างเดียว บางจุดต้องรอเป็นชั่วโมงๆ ทำให้เกิดน้ำขัง แทนที่จะตั้งเป้าว่าถ้าเกิดฝนตกหนักจะต้องรีบสูบน้ำออกให้ทันท่วงที


เรื่องน้ำท่วมกับคน กทม.เป็นเรื่องที่คู่กันมา ทุกคนก็อยากจะหาผู้นำที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ แล้วก็เรื่องปัญหาการจราจรและการจัดการกับขยะ เป็นประเด็นหลักๆ ซึ่งนโยบายเรื่องน้ำท่วมเป็นนโยบายหลักๆ ที่ออกปากไว้ว่าจะมาแก้ไข และที่สำคัญ การพยากรณ์อากาศสมัยนี้สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ แต่ที่ท่านอธิบายว่าเป็นสิ่งที่เหนือการคาดการณ์ของทาง กทม. ก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และเมื่อคาดการณ์ไม่ถึงแล้ว ในสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ลงไปแก้ไขยังไงหรือเปล่า จุดนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่า พอไม่เห็นภาพผู้ว่าฯ ลงไปใส่รองเท้าบูตลุยน้ำ แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นก็มาแถลงข่าวพูดเรื่องให้ขึ้นดอยอีก มันเลยยิ่งไปกันใหญ่

ท่านผู้ว่าฯ พยายามจะอธิบายว่าถ้าจะต่อว่าให้ต่อว่าท่านคนเดียว อย่าต่อว่าคนทำงาน แต่ถามว่าการสั่งการได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง เริ่มทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ เรายังไม่เห็นการอธิบายที่ช่วยให้เห็นภาพ แต่ภาพที่ออกมาเราไม่ค่อยจะเห็นว่าตอนน้ำท่วม ได้มีรถที่มีโลโก้ของ กทม.ได้ออกมาอำนวยความสะดวก ตั้งเครื่องสูบน้ำ วางแผงกั้นในจุดเสี่ยงแล้วหรือยัง ถ้าภาพออกมาแบบนี้ คนก็จะตัดสินได้เองว่า กทม.ได้ดำเนินการอย่างที่สุดแล้ว แต่รับมือน้ำไม่ไหวจริงๆ คนอาจจะยังไม่เห็นภาพผู้นำที่ลงไปอยู่กับปัญหานั้นจริงๆ เท่าไหร่ แต่ถามว่าวันนี้การเตรียมตัวของ กทม.เป็นยังไง ต้องบอกว่าเขาไม่กล้าออกมายอมรับจริงๆ ว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ผู้ว่าฯ เป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงต้องเป็นเรื่องของประชาชนเองที่จะต้องตัดสินว่าจะไว้วางใจท่านต่อไปอีกหรือเปล่า”




“ทางเท้า” การจัดระเบียบที่ยังไม่เท่าเทียม

(การจัดระเบียบทางเท้า "คลองถม")
“นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป คลองถมจะต้องปราศจากแผงค้าผิดกฎหมายรุกล้ำทางเท้า” คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของทาง กทม. สำหรับคนเดินถนนแล้วถือว่าช่วยให้สัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น แต่สำหรับเหล่านักชอปและพ่อค้าแม่ขายแล้ว มันคือฝันร้ายของคนหาเช้ากินค่ำ เมื่อลองให้มองผลงานของ กทม.ในประเด็นนี้บ้าง หาญณรงค์ กรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ มองว่ายังไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควรนัก

ที่เห็นอยู่ตอนนี้คือการรื้อทางเท้าในบริเวณถนนคลองถม ไปทะเลาะกับชาวบ้านแล้วก็ยังหาทางออกไม่ได้ หรือแม้แต่แผงค้าบริเวณโบ๊เบ๊ และอีกหลายๆ อย่างทั้งเรื่องการแก้ปัญหาการจราจร การเดินบนฟุตปาธ รถย้อนศร ถึงจะมีการจัดการเรื่องราคาวินมอเตอร์ไซค์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ฝีมือของทาง กทม.โดยตรง ต้องให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยดูแล เพราะฉะนั้น ถ้าให้มองภาพรวม ให้ให้คะแนนจาก 5 คะแนน ผมว่ายังไม่ได้ผ่าน เพราะยังไม่เห็นมีอะไรเด่น ส่วนเรื่องรถติดในเขตรถติดหลักๆ ก็ยังติดเหมือนเดิม อำนาจในการจัดการดูแลก็ยังเป็นตำรวจจราจร ไม่ได้ขึ้นกับ กทม.ฝ่ายเดียว”


(พ่อค้าร้านน้ำมะพร้าวขอเรียกร้องความยุติธรรมจากการจัดระเบียบทางเท้า)
ความไม่เท่าเทียมคือปัญหาใหญ่ของการจัดระเบียบทางเท้าที่กำลังเกิดขึ้น เอกฤทธิ์ ลิลิตวรางกูร พ่อค้าหาบเร่ขายน้ำมะพร้าว บริเวณรถไฟฟ้าอุดมสุข วัย 43 ขอบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงว่าเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานแบบไม่ใส่ใจประชาชนเท่าที่ควร ส่งให้ผู้ค้าหลายรายได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม

“เขาอ้างว่า รองผู้ว่าฯ ส่องกล้องบีทีเอสแล้วเห็นว่าร้านค้าเยอะแยะเต็มไปหมด ก็เลยต้องให้จัดระเบียบ จากก่อนหน้านี้ขายได้ปกติ พอช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีคำสั่งให้ตั้งร้านได้หลัง 1 ทุ่มเป็นต้นไป ผมก็ทำตาม แต่เมื่อ 10 กว่าวันที่ผ่านมา จู่ๆ เขาก็เริ่มเข้มงวด บอกว่าห้ามขายทั้งหมดตลอด 24 ชั่วโมง จะให้คนเลิกขายของกันเลยโดยที่ไม่เตรียมพื้นที่รองรับอะไรไว้ให้เลย ผมถามหน่อย กรุงเทพฯ มีอาชีพอะไรให้เขาทำบ้าง

เปรียบเทียบกับที่คลองถมที่จัดระเบียบสิครับ คุณให้เวลาตั้ง 3 เดือน พวกพ่อค้าแม่ค้าตรงนั้นยังพอมีเวลาเตรียมตัว คุณมองเขาเป็นคน แล้วคุณมองเห็นพวกผมตรงนี้เป็นอะไร เคยให้เงื่อนไขเวลาหาที่ใหม่บ้างมั้ยถ้าจะให้พ่อค้าตรงนี้เลิกขาย และที่จัดที่คลองถมอ้างว่ามันแออัดกลัวไฟไหม้ ตรงนั้นผมเห็นด้วย แต่ถามว่าตรงนี้มันแออัดมั้ย ถ้าจะจัดระเบียบอะไรก็ตามผมไม่ว่าครับ แต่ขอให้ลงรายละเอียดและมีความยุติธรรมหน่อย

ตอนนี้ผมยังต้องอยู่ตรงนี้เพราะผมไม่มีปัญญาไปหาที่อื่น ไม่มีปัญญาไปเช่าตึกแถวหรอก นอกจากทาง กทม.จะจัดที่ขายที่อื่นให้ และที่ใกล้ตรงนี้มีซอยอุดมสุขเป็นจุดผ่อนผันขายได้ แต่ที่มันก็เต็ม ทุกวันนี้ผมต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน, ค่านมลูก อีกคน 2 ขวบ อีกคน 8 ขวบ, ค่าเทอม, ค่าดูแลแม่ ฯลฯ ทุกวันนี้จ่ายไม่มีเงินเก็บ


(ร้านที่มีชายคา ล้ำเขตออกมายังทางเท้ามากกว่า แต่ไม่โดนไล่)

รองผู้ว่าฯ สั่งไม่ให้ขาย แต่ทำไมตรงปิยรมย์ เขตพระโขนง (ถัดไปอีกไม่กี่ซอย) ขายได้ แถมตั้งร้านชิดขอบถนนด้วยนะครับ ไม่ได้ตั้งฝั่งในกำแพงเหมือนผม ตรงโลตัส อ่อนนุช ก็ตั้งได้หมด พอตกดึกตั้ง 2 ฝั่งด้วย แต่ทำไมเขตบางนากลับไม่ให้ขายเลย ผมไม่รู้ว่านี่เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลหรือเปล่า ทำไมไม่มีความเสมอภาคกันเลย ตรงนี้โดนแดดโดนฝนแค่นี้ชีวิตก็ลำเค็ญแล้ว แต่กลับอนุญาตให้แค่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายใต้ชายคาขายได้อย่างเดียว

ร้านที่ตั้งในชายคา ที่อยู่หน้าเซเว่นและบ้านร้างตรงนั้น เขาเคยจ่ายค่าที่ให้มั้ย เขาไม่ได้จ่ายหรอกครับ ถ้าจะจัดระเบียบทางเท้าแต่ละท้องที่ต้องรู้รายละเอียดมากกว่านี้ครับ และร้านที่มีตัวร้านข้างใน แต่ตั้งร้านเกินออกมาข้างนอก เลาะอิฐบล็อกของหลวงออก เจ้าหน้าที่กล้าปรับเขามั้ย ไม่กล้าเลยครับ สิ่งที่เขาทำอยู่คือการเล่นงานคนจน

(บางร้านเลาะอิฐบล็อก กทม.ออก แต่ไม่ถูกปรับแต่อย่างใด)

ถามว่าการจัดระเบียบดีมั้ย มันก็ดีครับ จุดใหญ่ๆ คือที่สีลม ทำให้คนเดินสัญจรไม่แน่นมาก ผมว่าควรจะเลือกจัดเป็นจุดๆ หรืออย่างตรงประตูน้ำก็ดีขึ้น แต่ส่วนอื่นๆ จะจัดหรือไม่จัดก็เหมือนกันเพราะร้านค้าไม่ได้เยอะอยู่แล้วโดยเฉพาะเขตชานเมือง ผมอยากรู้ว่าเขาเห็นชีวิตคนมีความหมายบ้างมั้ย ถ้ามีความหมาย คุณเคยคิดถึงชีวิตครอบครัว ลูกเขา แม่เขา เมียเขาบ้างมั้ยที่ต้องรับผิดชอบ วิถีชีวิตของคนคนนึงที่ต้องเปลี่ยนไป หรืออย่างบางคนมีรถด้วย ต้องผ่อนรถเดือนละเท่าไหร่ ค่าเช่าห้องที่มาอยู่กรุงเทพฯ อีก อยู่ดีๆ สายฟ้าฟาดออกคำสั่งให้เลิกขายไปเลยตั้งแต่วันนี้ จะจัดระเบียบทางเท้าก็ควรหาพื้นที่ให้ขายครับ เดือนหนึ่งค่าเช่าขอไม่สูงกว่า 100 มากก็จะยังพอจ่ายได้ และอย่างน้อยควรให้เวลาเตรียมตัวซัก 90-120 วัน แต่นี่ไม่มีการชี้แนะเลย ปิดตาเราหมดเลย”




ฝาท่อไม่ได้มาตรฐาน เส้นทางจักรยานไม่ได้ถามคนขี่

เส้นทางจักรยานคืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ออกมาให้เห็นเรื่อยๆ ด้วยความต้องการที่จะทำให้ตรงตามคอนเซ็ปต์ “กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน” แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับได้ผลในทางตรงกันข้าม ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว ผู้ใช้จักรยานเป็นพาหนะอยู่ทุกวี่วันบอกเลยว่าเส้นทางที่ออกแบบมาไม่เคยตอบโจทย์ประชาชนชาวสองล้ออย่างแท้จริง

“เป็นเรื่องที่ทาง กทม.ทำผิดพลาดเองครับ เป็นบทเรียนเดิมๆ ที่ทาง กทม.ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน เวลาเขาทำทางจักรยาน เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ 8 กม. ถ้าลองไปดูจะไม่เห็นเลยว่ามีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอความคิดเห็น เพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการรณรงค์เรื่องจักรยานกับทาง กทม. เป็นคณะกรรมการที่เขาแต่งตั้งด้วยซ้ำ (คณะกรรมการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน) แต่ทาง กทม.ไม่ได้เรียกเราประชุมเรื่องนี้เลย พอเราเริ่มรู้ว่าเขาจะทำโครงการ เราก็พยายามจะแทรกตัวเข้าไปให้ได้มีช่องทางความคิดเห็นจากภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม แต่จะเห็นว่าไม่มีครั้งไหนที่ทาง กทม.เข้ามาเป็นเจ้าภาพ มีแต่ทางเราจัดกันเองและส่งข้อมูลไปให้เขา ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลให้ทางเดียว แต่สุดท้าย เสียงของเราก็ไม่ได้ทำให้เกิดเป็นนโยบาย

(เส้นทางสีเขียวสำหรับจักรยานที่ กทม.ทำโดยไม่ได้ถามคนใช้)

อันนี้ไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนคณะกรรมการอะไรนะครับ แต่ขอพูดในฐานะคนใช้จักรยานคนหนึ่ง ผมคิดว่าเกาะรัตนโกสินทร์ไม่จำเป็นต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามจอดรถทั้งหมด ตอนนั้นทางตำรวจประกาศเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ บอกว่าพื้นที่ไหนมีทางจักรยาน ให้ห้ามหยุด-ห้ามจอดตลอดเวลา ซึ่งพอประกาศไปแบบนี้มันมีผลกระทบต่อชาวบ้านละแวกนั้น อย่างพื้นที่บางลำพูเขาค้าขาย มีตลาด ไม่มีที่จอดรถ ทำให้คนจักรยานถูกต่อต้าน ซึ่งเป็นจุดที่ทำพลาดจุดใหญ่จุดหนึ่งที่มองว่าทำไมไม่คุยกันก่อน เพราะการจะมีทางจักรยาน มันไม่จำเป็นว่าจะต้องไม่มีที่จอดรถครับ เรายังสามารถจัดสรรแบ่งปันกันได้อยู่

เรื่องเส้นทางจักรยานที่เกิดขึ้นก็ไม่โอเค บางพื้นที่ถ้าเปลี่ยนจาก “วนขวา” เป็น “วนซ้าย” จะทำให้ขับแล้วไม่ต้องตัดเส้นหลักมากขึ้น อะไรๆ ก็จะง่ายขึ้นเยอะครับ และจริงๆ แล้วถ้าเป็นเส้นทางที่ออกแบบเพื่อการสัญจรก็ควรจะทำเป็น two-ways แต่สิ่งที่เขาทำตอนนี้เน้นเพื่อการท่องเที่ยว เป็น One-Way และทำในฝั่งที่ขี่จักรยานยาก ขี่แล้วต้องตัดเส้นทางรถยนต์ และพอทำขึ้นมาแล้วไม่ได้วางแผนว่าจะจอดยังไง ถ้าปั่นไป 8 กม. จะเห็นว่ามีที่จอดน้อยมาก จุดพักตามแหล่งท่องเที่ยวที่ควรจะมีก็ไม่มี”


(แม้แต่ล้อใหญ่ๆ ยังเข้าไปติดท่อได้ อันตรายต่อการขับขี่)
ไหนจะเรื่องตะแกรงและฝาท่อที่สุ่มเสี่ยงชวนให้ล้อติดแหง็กในท่อ ทำให้นักปั่นหลายคนประสบอุบัติเหตุเพราะการวางตะแกรงในแนวตั้ง ไม่วางตามแนวขวางไปกับถนน ส่งให้ช่องว่างระหว่างตะแกรงกลายเป็นร่องดูดล้อที่อันตรายอย่างมาก เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นจึงดึงให้ กทม.เข้ามารับรู้และร่วมเปลี่ยนฝาท่อไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ทว่าถึงตอนนี้ กลับไม่มีความคืบหน้าในเชิงรุกในส่วนที่ควรรับผิดชอบให้เห็นอย่างที่ควรจะเป็น

“ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการเรื่องตะแกรง-ฝาท่อตามถนนในกรุงเทพฯ คือเมื่อปี 2 ปีที่แล้วครับ ตอนนี้คือถ้ามีใครเจอปัญหาเรื่องตะแกรง เขาจะให้แจ้งเรื่องไปได้โดยผู้แจ้งต้องระบุรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ถ้าเราเจอฝาตะแกรงแบบผิดๆ 10 ฝา เขาก็จะถามว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ช่วยมาร์กให้หน่อย เราไม่สามารถบอกเขาว่าคุณลองขับไปดูทั้งเส้นนี้ดูนะ แต่ต้องถ่ายรูปทุกฝาและส่งพิกัดไปให้เขา โดยตอนนี้ใช้ App “Bangkok Eyes” ซึ่งใช้ได้ทั้ง Android และ iOS เขาก็จะรับเรื่องร้องเรียนจากเราได้ครับ คล้ายๆ เวลาแจ้งไปที่สายด่วน “1555” แต่อันนั้นจะส่งรูปให้ดูไม่ได้และต้องบอกรายละเอียดกันทางคำพูด

(ตะแกรงแนวขวางแบบนี้ต่างหาก ที่นักปั่นต้องการเพื่อความปลอดภัย)

ปัญหาคือทาง กทม.เขาไม่ได้เปิดช่องทางให้เราเข้าไปคุย และช่วงนี้ทาง กทม.กำลังมีแผนจะปรับปรุงเส้นทางจักรยานเกาะรัตนโกสินทร์ด้วย เห็นเขาก็กำลังปรึกษาหารือกันอยู่ แต่เป็นการปรึกษากันในวงข้าราชการ ไม่ได้ดึงตัวแทนจากผู้ใช้หรือคนในท้องที่จริงๆ เข้าไปคุย ถ้าจะถามว่าทำไมทางจักรยานที่สร้างขึ้นมาไม่ประสบความสำเร็จ ผมบอกได้เลยครับว่าเพราะเป็นการสร้างของ กทม.ที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นของประชาชน


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- หม่อมหมูอยู่ไหน? ฝนตกหนักไม่กี่นาที น้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ "อโศก" อ่วมแล้วโว้ย
- “สุขุมพันธุ์” แถลงรับผิดพลาดป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
- ฉุนน้ำท่วมกรุง "บิ๊กตู่"ส่ง"ประวิตร"คุมกทม. "ชายหมู"คอตกโวยังรับมือไหว
- เคารพกฎงดดราม่า ยังไงเขาก็ไม่เอา! หาบเร่แผงลอย
- รณรงค์ให้ปั่น = ชวนกันมาเสี่ยงตาย ณ ถนน กทม.!?!
กำลังโหลดความคิดเห็น