xs
xsm
sm
md
lg

แล่นโยบาย "คืนความสุข" ยุค คสช. ผลงานหน้าบานก็มี หน้าแตกก็เยอะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดินหน้าปัดกวาด เช็ดถู จัดระเบียบบ้านเมืองให้เข้ารูปเข้ารอยมานานกว่า 8 เดือนแล้ว สำหรับรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่นำโดย "นายกฯ ตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงวันนี้คงต้องยอมรับว่า สภาพแย่ๆ ในรัฐบาลยุคก่อนๆ ได้กลายเป็นภาพน่ายินดี ถือเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนได้ชื่นใจขึ้นมาบ้าง 

ทว่าการจัดระเบียบงานด้านจราจร ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รวมไปถึงปัญหาการขายสลากหรือล็อตเตอรี่เกินราคา ยังคงดูล้มเหลวในสายตาใครหลายคนอยู่ไม่น้อย ชวนให้ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลยุคคสช.จริงจังไม่พอ หรือคนไทยบางกลุ่มยังขาดสามัญสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ

จริงจังแค่ไหน? คืนความสุขยุค คสช.

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ พร้อมประกาศจัดระเบียบบ้านเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น คือสิ่งที่เห็นได้ชัด และจับต้องได้กว่ารัฐบาลยุคก่อนๆ ตั้งแต่การแก้ปัญหาจำนำข้าว จ่ายค่าข้าวคืนเงินชาวนา ยกเลิกสิทธิฯ บินฟรีของบอร์ดการบินไทย จัดการพวกหมิ่นเบื้องสูง รวมไปถึงผู้มีอิทธิพล และบุกจับบ่อนการพนัน ตู้ม้า ฯลฯ ทั่วประเทศ

ทำให้เสียงชื่นชม และเสียงปรบมือให้กับการทำหน้าที่ของ คสช. ก็ยังมีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง การคืนทางเท้าให้ประชาชน โดยลงดาบไปแล้วทั้งบริเวณคลองหลอด คลองถม แม้จะยังมีบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นแค่ผักชีโรยหน้าหรือเปล่า แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม แม้ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการ ก็ยังให้ความร่วมมืออย่างดีกับทางภาครัฐ


ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ "กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย"

เช่นเดียวกับกลุ่มสังคมออนไลน์มีการจัดตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่ม "คนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย" ซึ่งมีแนวร่วมไลค์สนับสนุนกว่า 8,480 ราย โดยหลังจากทาง กทม. ขับเคลื่อนจัดระเบียบอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนมากร่วมแสดงความเห็นต่อปฏิบัติการดังกล่าว อาทิ

"เห็นด้วยครับ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย บ้านเมือง คนใช้ถนนเค้าอดทนมานานแล้ว ถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และต้องทำต่อไปเรื่อย ผมขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และ เพจหน้านี้ตลอดไป ทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น ผมก็คนค้าขายแต่ต้องเคารพกฎหมายไม่เอาเปรียบคนในสังคม" Vichai Vasuvanichchanchai

"ในโลกอารยประเทศสากล เขาก็มีแผงลอยครับ แต่ถูกจัดระเบียบให้มีความสะอาดเรียบร้อย มีที่อยู่ และมีกติกาชัดเจน ถ้าคิดจะปฏิรูปประเทศให้เจริญแบบสากล ทุกคนก็ต้องปรับทัศนะคติใหม่ เขาให้ย้ายที่ไปที่ใหม่ ไม่ใช่จะห้ามขาย เราเองต้องปรับตัว เคารพกฎหมายร่วมกัน ถึงจะอยู่กันได้ ถ้าทุกคนเห็นแก่ตัว สังคมก็ไม่น่าอยู่ ประเทศก็ไม่มีการพัฒนา" Eakkachai Kaewkrachang

"เราต้องสนับสนุนคนที่เช่าร้านขายอย่างถูกกฎหมาย ยอมจ่ายแพงหน่อย เพราะคนที่ขายแผงลอยเขาเอาเปรียบคนพวกนี้มาตลอด ทั้งค่าเช่า ทั้งภาษี ทั้งลูกค้าที่โดนแย่งไป เจ๊งกันมากมาย ต้องเลิกเช่าปิดร้าน ก็อยากถามนะว่าคนที่ขายอย่างถูกกฎหมายที่เราควรที่จะสงสาร ผู้ค้าที่ขายอย่างผิดกฎหมาย เคยสงสารเขาบ้างไหม ผู้ค้าเดินขบวนร้อง กทม. ทวงคืนพื้นที่ขายตลาดคลองถม" Thana Khambanonda

ส่วนบางความเห็นก็บอกว่า "คลองถม" ก่อน และหลังจัดระบียบดูดีขึ้นเป็นกอง แม้จะยังไม่ทั้งหมด แต่ทำได้ขนาดนี้ถือว่าเกินคาด พร้อมวอนขอให้รักษาแบบนี้ไปนานๆ

นอกจากนั้น ยังเดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าอย่างต่อเนื่อง เพราะทางเท้าถือเป็นพื้นที่สาธารณะ บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิมายึดครองเป็นพื้นที่ของตัวเอง ปัจจุบัน กทม.ได้จัดระเบียบทางเท้าไปแล้ว 24 จุด มีผู้ค้าจำนวนกว่า 8,252รายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี



ส่วนอีกเรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยให้ผู้ค้าชายหาดหัวหิน ที่อยู่นอกเขตผ่อนผันรื้อร้านค้าชายหาดทั้งหมดไปอยู่บริเวณชายหาดหัวดอน ซึ่งประกาศเป็นจุดผ่อนผันแห่งใหม่ เพื่อจัดระเบียบร้านค้าชายหาดหัวหินตลอดแนว

ทั้งนี้ บริเวณหาดหัวดอน ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรแห่งใหม่ให้ร้านค้าชายหาดมาอยู่เทศบาลเมืองหัวหิน ได้จัดรถมาปรับพื้นที่สำหรับเป็นพื้นที่ร้านค้า และที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านค้าชายหาดต่างก็ทยอยนำข้าวของมาเตรียมตั้งร้านค้าแล้ว โดยบางส่วนได้เปิดทำการค้าขายตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.แล้ว

"แท็กซี่-รถตู้" ปัญหาที่แก้ไม่ตก!

แต่พอมาดูการจัดระเบียบงานด้านจราจร ไม่ว่าจะเป็นรถตู้สาธารณะ แท็กซี่มิเตอร์ รวมไปถึงวินมอเตอร์ไซค์ กลับยังคืนความสุขได้ไม่สำเร็จเท่าที่ควร แม้ดูเหมือนตอนแรกจะทำได้ดี สุดท้ายปัญหาเดิมๆ ก็กลับมาอีก แถมยังหนักว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งปัญหารถตู้สาธารณะที่เปลี่ยนจากจอดแช่เพราะถูกมองว่าไร้ระเบียบ มาเป็นการขับวนรอบอนุสาวรีย์ ทำให้การจราจรเข้าขั้นแย่กว่าเดิม ส่วนลานจอดรถบริเวณแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันที่คสช.เตรียมไว้รองรับก็แทบจะไม่มีรถตู้มาจอดเลย เหตุผลก็คือ ระยะจุดจอดกับจุดรับผู้โดยสารมีระยะไกลเกินไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมเวลาได้



ส่วนการจัดระเบียบรถตู้เพื่อแก้ปัญหาจราจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ถนนพหลโยธินนั้น แม้จะมีคำสั่งห้ามจอดเกิน 5 คัน ทว่าในปัจจุบัน หลังจากการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าว พบว่า มีรถตู้จอดเรียงกันเป็นแถวยาว แถมยังสร้างปัญหาด้านการจราจรในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย

เช่นเดียวกับการจัดระเบียบรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน หรือ "แท็กซี่มิเตอร์" แม้ได้มีการปรับขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์ครั้งใหญ่พร้อมด้วยออกกฎกำราบแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ตลอดจนเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมคนขับ แต่ก็ยังดูขัดแย้งกับเรื่องการบริการที่ติดลบของแท็กซี่เมืองไทย รวมถึงข้ออ้างในการปฏิเสธผู้โดยสารต่างๆ นานา ชวนให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า การปรับราคาค่าโดยสาร แก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้หรือไม่ หรือเป็นแนวทางเพิ่มค่าครองชีพประชาชนเพียงอย่างเดียว

เรื่องนี้ รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง ได้เคยให้แนวทางการจัดระเบียบ "แท็กซี่" เมืองไทยผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาให้ทัศนะว่า ต้องปฏิรูประบบโดยสารสาธารณะทั้งระบบ ซึ่งการที่หน่วยงานรัฐฯ ออกกฎระเบียบมาบังคับใช้ให้แท็กซี่อยู่ในกรอบเป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อาจจะได้ผลในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณากันใหม่ ไม่ใช่เพียงทำตามหน้าที่ให้จบๆ ไป แต่ต้องคิดการใหญ่ ปฏิรูประบบโดยสารสาธารณะเดินหน้าประเทศไทยตามแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

"ภาพรวมเราต้องมองว่าแท็กซี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งสาธารณะ รัฐบาลควรพยายามพัฒนารถโดยสารประจำทางเพื่อเป็นทางเลือกหลักของประชาชน เหมือนเป็นการการันตีว่าประชาชนสามารถเดินทางไปตรงไหนก็ได้ด้วยรถโดยสารประจำทาง" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และพัฒนาการจราจรและขนส่งเผย



นั่นเท่ากับว่า การเอื้ออำนวยความสะดวกในระบบโดยสารสาธารณะ ถือเป็นแนวทางปฏิรูปที่ภาครัฐต้องทบทวบและเร่งปฏิบัติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งฯ ที่ต้องกลับไปพิจารณาตัวเองในเรื่องการจัดการระบบโดยสารสาธารณะ วางแผนเพื่อยกระดับการเดินทางเพื่อตอบสนองต่อประชาชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ทางกรมการขนส่งทางบกจับมือทหาร และตำรวจ ลุยจัดระเบียบแท็กซี่ 4 ห้างดังกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง พารากอนเซ็นทรัลเวิลด์ และแพลตินัม แฟชั่นมอลล์ โดยจะมีการจัดจุดจอดรถแท็กซี่พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ป้องกันการปฏิเสธผู้โดยสาร

แม้ก่อนหน้านี้ ได้มีการออกกฎกำราบอย่างจริงจัง พร้อมระบุโทษไว้ชัด หากปฏิเสธผู้โดยสารจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท และต้องเข้าอบรมอย่างน้อย 3 ชม. หากทำผิดครั้งที่สองจะถูกปรับ และพักใช้ใบอนุญาต 15 วัน หากทำผิดครั้งที่ 3 ถูกปรับและเพิกถอนใบ แต่จากให้ข้อมูลของนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กลับสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากข้อมูลการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 และแอปพลิเคชัน DLT Check In พบว่า ยังมีการร้องเรียนปัญหาการตั้งกลุ่มแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารและกระทำซ้ำๆ หมุนเวียนกันไป

หวยยุค คสช. คืนความสุขไม่สำเร็จ!

ปิดท้ายกันที่นโยบายคืนความสุขในการแก้ไขปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาทของรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ยังไปไม่เป็นกับปัญหาการขายสลากหรือล็อตเตอรี่เกินราคา แม้จะประกาศคุมราคา 80 บาทบริเวณหน้ากองสลากฯ สนามบินน้ำ ส่วนนอกพื้นที่กองสลาก ไม่ควรเกิน 90 บาท สุดท้ายทำได้เพียงแค่งวด 2 งวด หลังจากนั้นสลากกินแบ่งรัฐบาลก็กลับมาขายที่คู่ละ 110-120 บาทตามเดิม

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะวิธีการแก้ปัญหาของ คสช.ไม่ได้แตะต้องยี่ปั๊วที่ทำตัวเป็นเสือนอนกินมาอย่างยาวนาน โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยถึงสาเหตุของของต้นทุนการซื้อสลากกินแบ่งฯ ที่เพิ่มขึ้นในรายการเดินหน้าประเทศไทยเมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า พ่อค้าที่รับสลากจากสำนักงานสากกินแบ่ง หรือยี่ปั๊ว (พ่อค้าขายส่ง) ได้จ่ายเงินให้กับนักการเมือง เพื่อแลกโควตาสิทธิ์ในการรับซื้อ ดังนั้น จึงไม่สามารถจำหน่ายสลากฯ ในราคา 80 บาทได้ ดังนั้น จึงเสนอ คสช. ให้เรียกยี่ปั๊วรายใหญ่เข้ามาพูดคุย ขอความร่วมมือ และหากจะแก้ไขระยะยาว ควรให้มีตู้จำหน่ายสลากออนไลน์ เพื่อเป็นกลไกแข่งขันกับราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล



ด้วยความพยายามที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขายสลากฯ เกินราคา สุดท้ายมาลงเอยที่การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ตามที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาตามที่ คสช.และรัฐบาลเคยสัญญาว่าจะทำให้ราคาของสลากกินแบ่งรัฐบาลลงมาตามราคาจริงคือ 80 บาท

นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฉบับใหม่ จะเปิดให้มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งด้วยเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ เพื่อทำให้เกิดความสมดุล ไม่ให้รายย่อยจำหน่ายสลากเกินราคา ทว่าทางฟากเครือข่ายครอบครัวกลับออกมาจวกร่าง พ.ร.บ.สลากฯ โดย ฐานิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวบอกว่า ไม่ได้แก้ปัญหาหวยแพง แต่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน กรุยทางนักการเมืองโกยเงินออกสลากใหม่แบบไร้ลิมิต แถมยังเพิ่มอำนาจให้บอร์ดสลากฯ ด้วย

"การแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้ น่าผิดหวัง เพราะมีเจตนารมณ์ชัดว่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหา ไม่พูดถึงความโปร่งใส ไม่คิดแตะต้องกลุ่มผลประโยชน์ ไม่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่พูดถึงการดูแลผู้ค้ารายย่อย ไม่พูดถึงการรับผิดชอบต่อสังคมจากการเล่นพนันสลาก และไม่มีมิติใดๆ เลยที่จะนับเป็นการแก้กฎหมายเพื่อสนองต่อวาระการปฏิรูปประเทศ

อีกทั้งไม่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่กล่าวอ้าง จะพอมีดีอยู่บ้างที่ป้องกันเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึง แต่โดยรวมแล้วรับไม่ได้ การแก้ พ.ร.บ. มีเจตนากรุยทางให้ฝ่ายการเมืองคือ การเพิ่มชนิดของสลากให้หาเงินได้มากขึ้น และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองนำเงินไปใช้ได้โดยง่าย" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ

ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาล คสช. ยังแก้ไม่ถูกจุด ไม่ขุดรากถอนโคนมาเฟียกองสลากฯ ให้ราบคาบในช่วงจังหวะที่กำลังเรืองอำนาจ ความสุขที่บอกว่าจะคืนให้ประชาชนก็คงไม่สำเร็จ ประชาชนที่ฝากความหวังไว้กับการเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนก็ยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่แบบนี้


เรื่อง : ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น