เด็ดสะแด่วจนกูรูเพลงระดับโลกต้องตะลึง! ด้วยสำเนียงอีสานผ่านตัวโน้ตผสานเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ เกิดกลายเป็นวงแนวหมอลำที่มีรสแซ่บนัวที่ยังหาใครเปรียบไม่ได้ ส่งให้ท่วงทำนองโบราณที่คุ้นชินไม่ใช่แค่เพลงพื้นบ้านอีกต่อไป แต่ดังไกลข้ามทวีปไปสร้างชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!
เพราะผลงานของพวกเขาถูกเสนอให้เป็น Album of the Year, ถูกเชิญไปเล่นเปิดให้ศิลปินระดับโลก แถมยังได้รับการขนานนามให้มือพิณไฟลุกประจำวงว่า เป็น “จิมิ เฮนดริกซ์” ภาคพื้นเมืองอีกต่างหาก!!
ข้ามทวีปไป “แซ่บนัว” จนโลกตะลึง!
(ดังไกลข้ามทวีปไปสร้างชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!)
“The Paradise Bangkok Molam International Band” คือชื่อเต็มๆ ของวงหมอลำโกอินเตอร์อันเลื่องชื่อที่ได้บรรยายสรรพคุณเอาไว้ ส่วนที่ทำให้พวกเขาแปลกแตกต่างไม่เหมือนใคร อาจเพราะเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีพื้นฐานชีวิตคนละขั้วจากทุกๆ ด้านนั่นเอง
เริ่มตั้งแต่มือพิณลูกอีสานชั้นครูอย่าง “คำเม้า เปิดถนน”, หมอแคนวัย 72 ผู้หายใจเข้าออกเป็นเสียงดนตรีมากว่า 40 ปีอย่าง “ไสว แก้วสมบัติ”, มือเบสวงอินดี้ชื่อดังอย่าง “ปั๊ม-ปิย์นาท โชติกเสถียร”, มือกลองรุ่นใหม่ผู้หลงใหลในแนวเร็กเก้อย่าง “อาร์ม-ภูษณะ ตรีบุรุษ” และ “คริส เมนิสต์ (Chris Menist)” มือเพอร์คัสชั่นชั้นเลิศจากเกาะอังกฤษ
ถ้าให้จำกัดความความเป็นพวกเขาผ่านรสชาติอาหารอีสาน คำว่า “แซ่บนัว” รสจัดแต่ลงตัว น่าจะเป็นคำที่เหมาะที่สุดแล้วเท่าที่เคยได้ลองลิ้มชิมรส โดยเฉพาะรสรัวจากปลายสายพิณของคำเม้าที่ถูกขนานนามให้เป็น “Jimi Hendrix of the Phin” (จิมิ เฮนดริกซ์ในภาคพิณ) มาแล้ว!!
(มือพิณ ผู้ถูกขนานนามให้เป็น “Jimi Hendrix of the Phin”)
“โปรโมเตอร์ชาวเยอรมันเขาเขียนไว้อย่างนั้นเลยครับ ถือว่าเขาให้ความเคารพและยกย่องเรามากเหมือนกันนะ” อาร์ม-ภูษณะ มือกลองประจำวงส่งเสียงเสริมรายละเอียดแบบสั้นๆ ก่อนโยนให้คนที่พูดเก่งที่สุดในวงอย่าง ปั๊ม-ปิย์นาท มือเบสวงนี้และวงอินดี้ชื่อดัง “อพาร์ทเมนต์คุณป้า” เป็นคนเดินเรื่องต่อ
“Jimi Hendrix เป็นตัวแทนของ Free Spirit จิตวิญญาณที่เป็นอิสระและความสร้างสรรค์ เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาต่อต้านสงครามเวียดนามในยุคนั้น เพราะฉะนั้น การที่ฝรั่งพูดถึงพี่คำเม้าว่าเป็น Jimi Hendrix of the Phin เพราะเขามองว่าพี่เขาเป็นคนสร้างสรรค์ และมีความซื่อสัตย์ต่อจิตใจของตัวเอง
(ปั๊ม มือเบสสุดเฟี้ยวประจำวงนี้และวงอินดี้ชื่อดัง “อพาร์ทเมนต์คุณป้า”)
ผมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการเล่นพิณแบบรัวเร็วอย่างเดียวนะ เพราะยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ทำได้ แต่คนที่เล่นแล้วสามารถพาจิตวิญญาณเราออกไปนอกโลกได้ มีแค่ Jimi เพราะเขาเป็นมือกีตาร์ที่เปลี่ยนโลกเลย ก็คงเหมือนกับเสียงพิณของพี่คำเม้าที่ทำให้คนรู้สึกแบบนั้นได้เหมือนกัน” คนถูกพูดถึงได้แต่ตอบรับคำชมด้วยยิ้มกว้างไร้เสียง อาจเป็นเพราะเขาได้อธิบายตัวตนทั้งหมดออกไปแล้ว ผ่านโชว์ความยาวกว่าชั่วโมง ก่อนบทสนทนานี้จะเริ่มต้นขึ้น
(โด่งดังจนได้ลงนิตยสารหัวนอก)
“2 ปี” คือระยะเวลาทัวร์ทั่วยุโรปที่วงแนวหมอลำวงนี้ไปสร้างชื่อประกาศก้องข้ามทวีปเอาไว้ พวกเขาถูกเชิญให้ไปเล่นตามเทศกาลดนตรีระดับโลกซึ่งมีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ระดับพันทะลุไปจนถึงหลักแสน ถือเป็นวงแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้เล่นในงานใหญ่ขนาดนี้ โดยเฉพาะการถูกเชิญให้ไปเล่นเป็นวงเปิดให้ “Damon Albarn” นักร้องนำวง Blur ในทัวร์คอนเสิร์ตที่เยอรมัน
จนถึงทุกวันนี้ วันที่ “21st Century Molam” อัลบั้มเต็มๆ อัลบั้มแรกของพวกเขาออกมาประกาศความแซ่บแล้ว ศิลปินหัวใจไทยเหล่านี้ก็ยังคงเดินสายทัวร์ต่อไป และนี่คือเศษเสี้ยวหนึ่งจากประสบการณ์ความมันที่ยังไม่มีวงดนตรีไทยวงไหนเคยได้ลิ้มรส!
(หอบชื่อเสียงประเทศไทยไปโกอินเตอร์)
“9 เมือง 9 วันติดกัน วันละเมือง... 9 วันนี่ ไปมา 3-4 ประเทศนะ ลองนึกภาพว่าต้องนั่งเครื่องบินหรือรถไฟไป พอถึงเมืองนี้ เช็คอินโรงแรมเสร็จ กลับมาซาวนด์เช็คจากนั้นกินข้าว กินเสร็จเล่น เล่นเสร็จนอน นอนเสร็จตื่นเช้าเพื่อจะไปขึ้นรถไฟไปอีกที่นึง พอไปถึงก็เช็คอินโรงแรมอีก ชีวิตวนไปแบบนี้ 9 วัน อันนี้แบบเด็กๆ นะ
เคยไปนานสุดคือทัวร์ 35 วัน คิดดูว่ามันขนาดไหน พวกผมต้องมานั่งต่อเครื่อง ยกลำโพงกันเองตลอด เพราะเราไม่มี Sound Engineer ไปด้วย ต้องดูแลตัวเอง” มือกลองหนุ่มตัวโตที่สุดในวง พูดด้วยน้ำเสียงสะใจเล็กๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
“ที่มันสุดๆ ต้องที่โปแลนด์เลยครับ” มือเบสสุดเฟี้ยวพูดถึง “Off Festival 2013” เทศกาลดนตรีซึ่งได้รับรางวัล Best Medium-Size Festival 2012 และมีผู้เข้าชมมากถึง 200,000 คน “คนที่นั่นบ้าคลั่งกันมากๆ (ลากเสียง) มีคนปีนป่ายร่างกายกันขึ้นมา กลิ้งตัว สนุกกันสุดๆ จริงๆ” และการแสดงบนเวทีนี้เองที่มอบโอกาสงามๆ ให้เพลงสำเนียงอีสานไปผงาดอยู่บนเวทีที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาที่ผู้คนมารวมตัวกันมากที่สุด จากการได้ขึ้นเล่นแทนน้องสาวบิยองเซ่ (Solange Knowles) ที่ขอประกาศยกเลิกทัวร์ไปแบบกะทันหัน
“ที่เบอร์ลินก็สูสีนะ ที่มีคนพิการมานั่งดูด้วยไง” มือพิณช่วยระลึกความทรงจำ ว่าแล้วปั๊มก็พยักหน้าอือออช่วยขยายความ “ตอนนั้นมีคุณแม่ซึ่งเป็นคนพิการมานั่งดู มีลูกเขามาด้วย ตอนแรกลูกเหมือนบ่นๆ ว่ามาชวนนั่งฟังเพลงอะไร แก่ น่าเบื่อ แต่พอตอนหลังลูกโยกใหญ่เลย (หัวเราะ)”
(แม้แต่ในญี่ปุ่นยังต้องมีอัลบั้มของพวกเขาวางขาย)
ที่น่าปลื้มใจที่สุดคงหนีไม่พ้นตำแหน่ง “Album of The Week” ที่ “จาลส์ ปีเตอร์สัน (Giles Peterson)” นักจัดรายการเพลงชื่อดัง หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งดนตรียุโรป มอบให้กับวงผ่านสถานีวิทยุ BBC6 ประเทศอังกฤษซึ่งมีคนติดตามฟังทั่วโลก
“เราได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง World Wide Awards ของ Giles Peterson เมื่อปี 2546 และได้เป็น 1 ใน 20 อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งมีศิลปินที่ได้รางวัล Grammy Awards ในปีนั้นอยู่ด้วย”
ลบคำสบประมาท “ขอทานดีดพิณ”
(ต่อสู้บนสายพิณมาหลายสิบปีเพื่อลบคำสบประมาท)
“Come On...Come On” คือเสียงเรียกจากเหล่าคนดูตาน้ำข้าวที่รออยู่หน้าเวที ฟังเผินๆ แล้วอาจดูเป็นถ้อยคำธรรมดาเพราะแปลตรงตัวแล้วมันมีความหมายว่าให้ออกมาเสียที แต่แท้จริงแล้ว สมาชิกในวงบอกว่ามันเป็นมุกที่แฟนคลับขาประจำซึ่งรู้จักชื่อจริงของ “คำเม้า เปิดถนน” ใช้เรียกแทนชื่อด้วยโทนการออกเสียงที่คล้ายคลึงกันระหว่าง “คัมมอน (Come On)” กับ “คำเม้า” ต่างหาก
อะไรทำให้คอเพลงระดับโลกหลงเสน่ห์เพลงสำเนียงอีสานอินเตอร์ได้ขนาดนี้? สมาชิกในวงทั้ง 4 ที่กำลังล้อมวงแลกเปลี่ยนความคิดจึงเริ่มผลัดกันแลกคำตอบ
“ผมว่าดนตรีหมอลำมันมีความโจ๊ะ ความอร่อยของมันอยู่ เหมือนส้มตำน่ะครับ มันมีความเปรี้ยวซ่อนอยู่ มีกลิ่นปลาร้า มันมีรสชาติน่ะ รสชาติที่มันไม่มีที่นู่น ที่สำคัญ คนอีสานดูแล้วจริงใจ มันมีความซื่อในสำเนียงอยู่ซึ่งมันน่ารัก ดูอย่างพี่คำเม้าสิ ตัวอ้วนๆ ขึ้นไปดีดพิณ ไปเต้นไปทำท่าอะไรๆ (พูดไปยิ้มไปปนเอ็นดู) ฝรั่งดูแล้วยิ้มเลย
อีกอย่างเราคงเป็นวงไทยวงเดียวในทัวร์ของโลกด้วยฮะที่เป็นทีมแคนทีมพิณแบบนี้ นี่แหละคือข้อได้เปรียบของเรา มันยังไม่มีวงที่มีพิณกับแคนและมาจากอีสาน เดินทางทัวร์เล่นดนตรีไปทั่วโลกแบบนี้ ปกติวงอะไรก็ตามที่ได้ไป จะไปเพื่อเล่นให้คนไทยฟัง ในร้านอาหารบ้าง ตามงานวัดบ้าง หรือไม่ก็งานสังสรรค์ของคนไทย”
ปั๊มปล่อยความคิดในแบบของเขาก่อน จึงปล่อยให้รุ่นพี่ที่ถูกพาดพิงอย่างคำเม้าบอกเหตุผลว่า เหตุใดดนตรีแนวนี้จึงเข้าถึงระดับโลกได้ดีกว่าเพลงพื้นบ้านแนวเดียวๆ กันจากภาคอื่นๆ ในบ้านเรา
“พี่ว่าเพราะอย่างนี้ เพลงพื้นเมืองจะภาคไหนก็แล้วแต่ ถ้าดนตรีอีสานขึ้นมันจะเร้าใจกว่าทุกภาค หรืออย่างเวลารำ ถ้ารำไทยก็จะรำแบบนิ่มๆ เฉยๆ แต่ถ้ารำอีสานก็จะรำเซิ้งเลย ฝรั่งเขาชอบแบบเต้นมันๆ อยู่แล้ว มันก็เลยถูกกับเขา”
(ม่วนซื่นดนตรีสำเนียงอีสานจากจินตนาการ ส่งผ่านไปยังผู้ชม)
“แต่มันก็จะมีอีกมุมนึงนะ มันมีเรื่องกระแสนิยมของ World Music ในยุคนี้ด้วย ตรงที่ดนตรีหมอลำของเรามันดันไปคล้ายคลึงกับดนตรีแอฟริกัน” มือกลองผู้คลั่งไคล้แนวเร็กเก้ช่วยเอาความรู้ที่มีมาเชื่อมโยง “ย้อนไปยุคปี 2,000 เพลงเร็กเก้มันมาจากการ Sampling Music จับเพลงนู้นเพลงนี้มา Samp กันแล้วทำให้เกิดเพลงใหม่ๆ คนที่ตามฟังก็จะไปตามหาว่าเพลงที่เอามา Samp มาจากไหน เอ๊ะ! ไลน์กลองนี้คุ้นๆ กลองแอฟริกันหรือเปล่า”
(อาร์ม มือกลองวัย 26 หนุ่มน้อยตัวโตที่สุดในวง)
ประเทศไทยเราเองก็ถือว่าเป็นประเทศโลกที่ 3 ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักเช่นเดียวกัน เมื่อเจอเสียงเครื่องดนตรีที่แปลกใหม่ไม่คุ้นหู คอเพลงตัวจริงจึงเริ่มค้นหาต้นกำเนิดของประเทศแห่งเสียงพิณและแคน จนได้คำตอบว่าคือประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่วง “The Paradise Bangkok Molam International Band” ก่อตั้งขึ้น ด้วยทัศนวิสัยกว้างไกลของ “ดีเจมาฟท์ ไซ” หรือ “ณัฐพล เสียงสุคนธ์” เจ้าของค่ายสุดแรงม้าแผ่นเสียง (Zudrangma Records) ที่มองเห็นว่าแนวเพลงนี้กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด!!
(ชายทางขวาคือ “ดีเจมาฟท์ ไซ” เจ้าของค่ายและผู้ก่อตั้งวง)
“เขาเป็นดีเจที่ศึกษาเพลงหมอลำ-ลูกทุ่ง เป็นคนที่ซื้อลิขสิทธิ์เพลงและเอาไปรวมแผ่น Compilation ขายในยุโรป ทำให้เพลงของไทยเรา โดยเฉพาะเพลงหมอลำ-ลูกทุ่งในยุค 70 โด่งดังขึ้นมาในยุโรปและญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ที่ในโลก” เพื่อนในวงช่วยบอกคุณสมบัติ
“เขาบอกผมว่า มาทำวงไปเมืองนอกกันมั้ย?” แล้วเสียงซื่อๆ ของมือพิณก็แทรกขึ้นมาเพื่อช่วยรำลึกความหลังครั้งก่อตั้งวง “ผมก็ถามว่าจะเอาพิณไปดีดเมืองนอกน่ะเหรอ จะไปดีดให้ใครฟัง? ที่เคยไปดีดก็ไปเจอแต่คนไทยคนอีสานในสิงคโปร์ แต่ไม่เคยได้เจอฝรั่ง”
ต่างจากความเป็นจริงในวันนี้ลิบลับที่วงแนวหมอลำบ้านเฮาได้กลายเป็นหน้าเป็นตา ประกาศศักดาให้เลื่องชื่อไปทั่วยุโรปแล้ว และความภาคภูมิใจนี้เองที่ช่วยสมานรอยร้าวในใจของมือพิณปรมาจารย์จากแดนอีสาน จากคำสบประมาทในอดีตที่หาว่าเขาเป็นแค่ “ขอทานดีดพิณ”
("พิณพระอินทร์" ที่คำเม้าห้อยติดตัวไว้เสมอเพื่อรำลึกคุณค่าของพิณ)
“มึงจะออกไปขอทานเหรอ เพื่อนมันว่าให้เราอย่างนั้น เพราะเพื่อนเล่นกีตาร์ เล่นเพลงฝรั่ง หมดหมู่บ้านไม่มีใครเล่นพิณกับพี่สักคน มันเป็นยุคกีตาร์โปร่ง แต่พี่ดีดพิณอย่างเดียว ไม่เคยจับกีตาร์เลยเพราะโกรธคนที่มาว่าให้เรา คิดว่าทำไมเราต้องไปเห่อของนอกกันหมด พิณเป็นของของบ้านเราแท้ๆ คิดดูว่าพี่อยากไปโชว์พิณให้คนอื่นดู ก็ต้องรอช่วงหนังมาฉาย เอาพิณไปจ่อไมค์ให้คนเขาได้ยินว่าเราดีดพิณ แต่คนเขาก็ไม่ได้สนใจนะ เหมือนกับพี่เป็นคนบ้าอยู่คนเดียว เป็นไอ้บ้าพิณ
พอมาถึงตอนนี้ก็ถือว่าที่เราลำบากเรื่องพิณมา อดบ้างกินบ้างสมัยก่อน ทุกวันนี้ก็ทำเป็นอาชีพได้แล้ว ไปเล่นที่ไหนก็ได้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมาบ้าง แล้วก็มีลูกศิษย์ประมาณ 600 คนมาขอเรียนด้วย เพราะตอนนี้พี่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหิดลด้วย ทำให้ไม่รู้สึกเหมือนเมื่อก่อนตอนเล่นอยู่คนเดียวอีกแล้ว”
รุ่นเดอะ-รุ่นใหม่ เปิดใจด้นสด!
กว่าจะจูนกันได้แทบตาย... ไม่แปลกที่พวกเขาจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันแบบนั้น คิดดูว่าขนาดเพลงที่มีเนื้อร้องทำนองตามแบบฉบับเพลงป็อปทั่วๆ ไป จะให้นักดนตรีผสานตัวโน้ตไปในทิศทางเดียวกันยังยากเลย นับประสาอะไรกับเพลงบรรเลงเน้นด้นสดจากดนตรีคนละขั้วอย่างวงนี้
(อีกหนึ่งสมาชิก "คริส เมนิสต์" มือเพอร์คัสชั่นและดีเจชื่อดังจากเกาะอังกฤษ)
“แต่ละคนมีที่มาจากคนละที่ อย่างผมก็คนเมืองมากๆ หรืออย่างอาร์ม คุณพ่อก็เคยอยู่ในวงภาคใต้ คุณแม่เป็นคนเชียงใหม่ อย่างพี่คำเม้าเป็นคนอีสาน Background การฟังเพลงก็ต่างกัน วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์ไสวก็เป็นคนภาคกลางและทำงานประจำสถานทูตมา แรกๆ เลยไม่ง่ายที่จะจูนกัน แต่พอได้คุยกัน ทำความเข้าใจกัน ก็ทำให้ได้เจอการทำงานอีกรูปแบบนึง” ปั๊มแอบยิ้มมุมปากขณะบอกเล่าผ่านน้ำเสียงติดตลกเล็กๆ แล้วสรุปสั้นๆ อีกทีว่า
“ผมว่าวงของผมเนี่ย มันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างได้ไม่มากก็น้อยว่า ถ้าคนไทยฟังกันซะอย่าง อะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ถ้าเราอดทนและฟังซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกันมากพอ”
“ตอนอยู่บนเวที เราก็คุยกันแบบที่นั่งคุยอยู่ตอนนี้แหละครับ แต่เป็นการคุยกันผ่านเครื่อง” และแล้วอาร์มก็เผยเคล็ดวิชาการจูนกันแบบเฉพาะตัวออกมาให้ได้ยิน “ทุกครั้งที่เราจะทำเพลงกัน มันจะเกิดจากการที่เราให้พี่ไสวกับพี่คำเม้า ขึ้นไลน์โบราณที่เขาเล่นได้ก่อน แล้วผมกับพี่ปั๊มจะเล่นแจมเข้าไป และเราก็จะมานั่งคิดกันว่าเรื่องที่กำลังจะเล่าในดนตรีนี้มันคืออะไร ทุกคนจะมีเรื่องราวในหัวของตัวเองอยู่”
(“21st Century Molam” อัลบั้มเต็มๆ ครั้งแรกของหมอลำอินเตอร์)
อย่างเพลง “ลำสั้นดิสโก้” ก็เกิดจากจินตนาการเริ่มแรกของปั๊มที่คิดไปว่า สุดยอดหมอแคนและมือพิณทั้งสองคนกำลังเล่นดนตรีอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนา จากนั้นเขาและสมาชิกคนอื่นๆ ในวงจึงขับรถไปรับ พาไปเปิดหูเปิดตาดูแสงสีในเมืองหลวง กินอาหารอร่อยๆ พบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย สุดท้ายก็พาไปส่งที่เดิม ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ อาร์มมองว่าเพลงบรรเลงก็ไม่ต่างอะไรไปจากการละเลงสีให้เป็นภาพ Abstact ภาพหนึ่งด้วยจินตนาการนั่นแหละ
“ดนตรีบรรเลงมันเหมือนเราเห็นทุกอย่างเป็นภาพวาดน่ะครับ แต่ดนตรีป็อปไทยทั่วไป อาจจะเห็นเป็นภาพในหนังสือการ์ตูน ดูง่าย เข้าใจง่าย เข้าถึงง่ายกว่า”
“บางครั้งภาพ มันไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวิว ต้นไม้ แม่น้ำ หรือเป็นภาพอะไรให้มันรู้เรื่องก็ได้ มันอาจจะเป็นสีอะไรที่สื่อถึงอารมณ์ก็ได้ มันอาจจะไม่มีที่มาที่ไปก็ได้ แต่ถามว่าคุณดูลวดลายอย่างนี้แล้วเห็นสีแบบนี้ คุณรู้สึกยังไง อยู่ที่ว่าจะพร้อมเปิดใจสัมผัสมันหรือเปล่า”
ถามตรงๆ ด้วยความสงสัย อะไรทำให้วงที่โด่งดังไกลข้ามทวีปอย่าง “เดอะ พาราไดซ์ แบงค็อกฯ” กลับดูเหมือนไร้ชื่อเสียงในไทย หาโอกาสได้น้อยมากที่จะได้ครองพื้นที่บนสื่อ? มือเบสสุดแนวจึงตอบตรงๆ กลับมาว่า
“อาจจะเป็นเพราะอัลบั้มเราเพิ่งออกมาได้ไม่นาน และต่อให้ออกมานานแล้ว เราก็ไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่ที่จะมีสื่อไป หรือถึงจะให้เอาเพลงเราไปเปิดหลังวงที่มีเพลงป็อปๆ ในสื่อทีวี ถามว่ามันเข้ามั้ย มันก็ไม่เข้า เพลงเราจะไปอยู่ในรายการอีสาน คนอีสานจะฟังมั้ย ก็ไม่ฟัง เพราะมันไม่มีคนร้องหรือเพราะฮัมตามไม่ได้ ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เราส่งศิลปะของเราออกไปเต็มที่แล้ว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ฟังแล้วล่ะว่า จะมีผู้ฟังที่เปิดใจหรือมีจินตนาการพร้อมที่จะสัมผัสบ้างมั้ย”
“เรื่องของจิตใจคนเรามันอิสระมาก แม้ตัวเรายังบังคับใจเราไม่ได้เลย แล้วจะไปบังคับให้คนทั่วๆ ไปมาชอบเพลงเรา มันยากมากๆ ต้องให้เขาเปิดใจจริงๆ ถึงจะได้” ในที่สุดหมอแคนผู้นั่งฟังมาตลอดบทสนทนาก็เริ่มเผยมุมมองของคนวัย 74 ออกมาบ้าง
“ถ้าเป็นคอเพลงอีสาน คำว่า “หมอลำ” มันมีอะไรอยู่ในใจเขาแล้ว เช่น จินตรา พูนลาภ, ศิริพร อำไพพงษ์ ฯลฯ เป็นแฟนหนาแน่น พอเขามาเห็นเราไม่มีนักร้องแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเปิดใจรับเรามั้ย ก็ต้องดูว่าเราจะเข้าไปแทรกในความคิดของเขาได้มากน้อยแค่ไหน”
(ไม่ธรรมดา! ได้ครองอันดับ 4 เพลงยอดนิยมประจำคลื่นเด็กแนว Cat Radio)
อย่างน้อยๆ เพลง “กวางน้อยเจ้าเล่ห์” ก็ได้ติด 30 อันดับเพลงยอดนิยมประจำคลื่นเด็กแนว "Cat Radio" 94.5 FM (Fat Radio 104.5 FM เดิม) ไต่ขึ้นชาร์ตสูงสุดได้ถึงอันดับ 4 ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนรักเสียงเพลงที่ใจกว้างต่อเพลงไร้เสียงร้องมากเพียงพอ จากเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ไม่ค่อยอยากปริปากบอกใครว่าตัวเองเป็น “หมอแคน” อยู่บนเส้นทางนี้มากว่า 40 ปีแล้ว ก็เริ่มเผยสีหน้าแห่งความภาคภูมิใจให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น
(ไสว สุดยอดหมอแคนผู้หายใจเข้าออกเป็นต้วโน้ตมากว่า 40 ปีแล้ว)
“ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะมีรุ่นเด็กๆ มาชอบเพลงของผมด้วย ถ้าจะให้บอกความรู้สึก ตอนนี้ตอบแบบครึ่งหลับครึ่งตื่นนะว่า ใช่หรือเปล่า มันจริงเหรอ เพราะเราก็เล่นไปตามเนื้อหาตามเพลงของมันไป ส่วนเขาจะมารู้สึกชอบหรือเปล่า ก็รู้สึกว่าแปลกดีที่เขามาชอบคนแก่เล่น”
“The Paradise Bangkok Molam International Band” ทุกที่ที่วงดนตรีชื่อนี้เดินทางไปเยี่ยมเยือน บอกได้เลยว่าไม่เคยทำให้ผิดหวัง โดยเฉพาะชื่อเสียงของประเทศที่หอบหิ้วไปด้วย ปั๊มยืนยันว่าเขารักษาไว้ยิ่งชีพไม่ต่างไปจากทูตวัฒนธรรมทางดนตรีเลยทีเดียว
“เราได้นำธงไทยไปปักไว้มากกว่า 30 เมืองแล้วในยุโรป ประมาณ 7-9 ประเทศที่ผ่านมา เรามีข้อมูลพร้อมหมดว่าเราไปประเทศไหนมาบ้าง เราได้ลงหนังสือเล่มไหนมาบ้าง และชื่อวง “Paradise Bangkok” ก็บ่งบอกถึงที่มาของเราอยู่แล้ว ทุกที่ที่เราไป เราเหมือนนำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ และเราก็เชื่อว่าเราได้ทำให้คนหันมาสนใจในวัฒนธรรมของไทยเราเยอะมากๆ ผมเชื่อว่าเรามีส่วนที่จะดึงให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ซื้อสินค้าไทย อยากทำความรู้จักกับอาหารไทย ทำให้คนไทยมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีไม่แพ้ชาติไหนในโลกเลยครับ”
ลองเข้าไปลิ้มรสแซ่บนัวจากบทเพลงของพวกเขาได้ที่นี่!! (คลิก)>>> อัลบั้ม “21st Century Molam”
(พวกเขายังคงเดินทางต่อไป เพื่อปักธงไทย ประกาศก้องให้โลกกล่าวขานถึง)
ชมคลิป ลิ้มรสความแซ่บนัวระดับอินเตอร์ เพลงฟ้อนสะแด่วโลก!!
(คลิก)>>> http://youtu.be/Yc8Ncm2u4FI
สัมภาษณ์โดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “ZudRangMa Records”, แฟนเพจ "Paradise Bangkok"
ขอบคุณสถานที่: TKpark อุทยานการเรียนรู้
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754