กลายเป็นกระแสสังคมอีกครั้ง เมื่อเพจดังท้าทายตำนานเมืองสุดอาถรรพ์ “โค้งร้อยศพ” ย่านรัชดาด้วยการขโมยชุดไทยที่มีคนนำมาถวาย กลายเป็นประเด็นวิจารณ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ อาถรรพ์ที่มีทำให้โค้งแห่งนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย
เหตุผลทางวิศวกรรม หรืออาถรรพ์จะมีจริง? ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ขอพาไปพิสูนจ์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
อาถรรพ์หรือแค่โค้งอันตราย?
โค้งร้อยศพย่านศาลรัชดาฯ ถือเป็นจุดอันตรายที่คนกรุงเทพฯต่างรู้จักกันดี ยิ่งคนในพื้นที่ยิ่งรับรู้ถึงความน่ากลัวจากข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งถูกจัดให้ติด 1 ใน 10 ทางโค้งอันตรายที่เฮี้ยนสุดของเมืองไทย จนตำนานความเฮี่ยนดังกล่าวเป็นกล่าวขวัญถึงโดยมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่บนเกาะกลางถนนเป็นยิ่งนำกลายเป็นที่กล่าวขวัญมากขึ้น
โดยถนนสายนี้มีคำร่ำลือถึงขั้นว่า รถแต่ละคันที่ประสบอุบัติเหตุที่จุดนี้มีน้อยรายที่จะรอดชีวิตซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ไม่คาที่ก็ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล หรือกลางทางขณะส่งตัวเข้า ร.พ. อีกทั้งบรรดาเหล่ารถซิ่งทั้งหลายก็พบจุดจบที่นี่หลายชีวิตเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แข่งกันแล้ววิ่งแหกโค้ง กระเด็นข้ามเกาะ มาอีกฝั่งเป็นประจำ
เนื่องจากถนนช่วงนี้เป็นถนนลาดยาง 3 เลน ช่วงดึกจะมีรถน้อยบวกกับทางโค้งช่วงนี้เป็นทางโค้งที่ค่อนข้างยาวแต่ไม่มีส่วนเอียงหรือ สโล๊ป ทำให้เกิดการเสียหลักและการทรงตัวของรถจึงเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวได้ และถนนสายนี้ก็ยังเป็นถนนสายที่ออกมาจากแหล่งบันเทิงมากมาย ซึ่งบางครั้งผู้ขับขี่อาจจะเมาหรือประมาท
ทว่าเรื่องราวความหลอนก็มาจากผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุบางคนที่เผยว่า ขณะขับรถอยู่นั้นเมื่อผ่านมาที่ช่วงโค้งดังกล่าว เขาเห็นคนกำลังเดินตัดหน้ารถไป ทำให้เบรคกระทันหันและทำให้รถเสียหลัก
ทั้งนี้ โค้งดังกล่าวก็มีการตั้งกระทู้ถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง และมักถูกสงสัยในแง่ที่ว่า ถนนช่วงโค้งดังกล่าวมีการสร้างที่ผิดหลักวิศวกรรมจราจร อย่างไรก็ตาม โค้งร้อยศพนั้นไม่ใช่ชื่อที่ได้มาด้วยคำร่ำลือหากแต่เป็นเพราะอุบัติเหตุหลายครั้งที่เกิดขึ้นที่โค้งดังกล่าว จนกลายเป็นที่มาของอาถรรพ์ความหลอนที่หลายคนถึงขึ้นต้องนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากราบไหว้บูชา
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อาถรรพเหล่านั้นอาจมาจากความผิดพลาดทางสถาปัตยกรรมจราจรได้ มีข้อมูลเผยว่าเมื่อสมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เคยสำรวจเส้นทางและโค้งอันตราย พบว่าทั่วทั้ง กทม. มีมากกว่า 70 จุด ส่วนใหญ่เป็นโค้งชื่อดังที่ประชาชนรู้จักกันดี เช่น โค้ง 100 ศพถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยนำแถบยางบนพื้นผิวถนนมาติดตั้ง รวมทั้งนำแบริเออร์ ทั้งชนิดอ่อนและแข็งมาเสริมเป็นแนวป้องกัน
เกษม ชูจารุกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ถึงการออกแบบด้านวิศวกรรมจราจรโดยปกติแล้ว อะไรก็ตามที่เป็น "สโลป" เป็นโค้งบนถนนหรือทางแยก จะต้องออกแบบตามความเร็วที่ปลอดภัยอยู่แล้ว เพราะแน่นอนว่าจุดเหล่านี้อันตรายกว่าถนนเส้นตรงธรรมดา ฉะนั้นจึงมีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณไฟกะพริบเตือนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของ ทล. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศแล้ว 7,461 ครั้ง แบ่งออกเป็น บริเวณทางตรง 4,996 ครั้ง ทางโค้ง 937 ครั้ง ทางแยก 757 ครั้ง จุดเปิดกลางถนน 597 ครั้ง ทางเชื่อม 113 ครั้ง และทางโค้งหักศอก 61 ครั้ง โดยรถยนต์นั่งประสบอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็น 27.85% รองลงมา รถปิกอัพ 25.74% สาเหตุส่วนใหญ่ 65.55% ขับรถเร็วเกินกำหนด และวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือวันจันทร์ 15.68%
ดังนั้นหากพิจารนาจากสถิตินี้อาจบอกได้ว่า อุบัติเหตุบนทางโค้ชความเร็วสูงอย่างโค้งร้อยศพย้ายรัชดานั้นถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากปัจจัยที่เป็นปัญหาทางด้านการจราจรอยู่แล้วก็เป็นได้
ล่าสุดกับกรณีเพจชื่อดังทางเฟซบุ๊คอย่าง “FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย” ที่ทำการท่าทายโค้งร้อยศพก็ทำให้ประเด็นอาถรรพ์ลึกลับของโค้งแห่งนี้เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ทว่าก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบกันแน่ชัดของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เลื่องลือได้
ซากศรัทธาที่ต้องเก็บกวาด
เรื่องราวความเป็นตำนานเมืองของโค้งร้อยศพสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความศรัทธาคงจะหนีไม่พ้นบรรดาของเซ่นไหวมากมายที่เรียงรายอยู่เต็มเกาะกลางบนกระทั่งขึ้นไปบนสะพาน โดยมีรูปปั้นม้าลายเป็นสัญลักษณ์แปลกตาอันเป็นสัญลักษณ์ประหนึ่งทางม้าลายที่นักขับมองว่าจะช่วยให้รอดพ้นจากอันตรายได้
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนที่พากันมากราบไหว้ในความศักดิ์สิทธิ์ก็มิได้เชื่อแต่เพียงเรื่องความปลอดภัย หากแต่เริ่มมาบนบานศาลกล่าวในหลายเรื่องราวมากขึ้น จนกระทั่งพื้นที่ดังกล่าวต้องมีการทำความสะอาด นำเอาของที่มาเซ่นไหว้ของจากพื้นที่ที่ถูกทำให้สกปรกด้วยความศรัทธาเหล่านั้น
สุพิศ ไกรมาก หัวหน้ารักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขตจตุจักร เผยว่า การเก็บกวาดที่เกิดขึ้นนั้น มิได้เกิดจากการมีกระแสสังคมกับประเด็นดังกล่าวแต่ประการได้
“เราก็ทำเป็นประจำนะครับ มีคนเอาของเซ่นไหว้ไปวางบนสะพานลอยเยอะมาก พวกม้าลาย น้ำเขียวน้ำแดง ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาก็อาจจะไปโดนเข้า มันอาจจะล้มกลิ้งจนลงมาจากสะพานอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เราก็ต้องจัดระเบียบนิดนึง”
โดยทางสำนักงานเขตจะทำการนำของเซ่นไหว้ไปทิ้ง 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยรูปปั้นม้าที่มีการนำมาเซ่นไหว้นี้ในสัปดาห์หนึ่งจะมีราว 200 - 300 ตัวและมีหนักน้ำเฉลี่ยตัวละ 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว ทำให้การขนทิ้งมีความยากลำบากอยู่พอสมควร การดำเนินการดังกล่าวนั้นมีการกว่า 2 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดความสะอาดเรียบร้อยและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
“ก่อนหน้านี้มีบันไดลิงห้อยจากสะพานลอยมาที่เกาะกลางถนน เราก็เก็บไปซึ่งก็โดนต่อว่า เราก็ทนเพราะไม่รู้ว่าคนจะตกลงมาโดนรถชนบาดเจ็บหรือเปล่า พยายามแก้ไขไม่ได้มีอะไรแอบแฝงทั้งสิ้น ก่อนทำก็ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เราเองเป็นคนไทยก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เราทำตามหน้าที่เพื่อประชาชนดังนั้นเทวดาก็ต้องเห็นใจเราบ้าง”
ก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานของเขาได้มีการนำป้ายมาติดประกาศห้ามไม่ได้คนนำของมาเซ่นไหว้แล้วแต่ก็ถูกเก็บไป เขามองว่าความศรัทธาของคนนั้นอาจเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ แต่ก็อยากขอร้องให้คนที่นำของมาถวายได้นำของเหล่านั้นกลับไปด้วยหลังจากประกอบพิธีเสร็จสิ้นแล้ว เพราะการทิ้งของเหล่านั้นไว้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนคนอื่นในการสัญจรโดยเฉพาะบนสะพานนั้น ถือเป็นสร้างความเดือดร้อนให้เป็นอย่างมาก
“คือถ้าเขาเก็บกลับตามศรัทธาเราก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนนี้เราต้องเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางทีก็ 3 ครั้ง ช่วงหวยออกก็เยอะ บางทีก็อาจจะไม่ได้เชื่อเรื่องความปลอดภัยอย่างเดียวแล้ว”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754