xs
xsm
sm
md
lg

“หนัง – เอ็มวี - สติกเกอร์ VS ฟุตบอลไทย” เราจะรวมชาติด้วยอะไรดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ฟุตบอลไทยอีกครั้ง หลังทีมชาติไทยสามารถสร้างผลงานได้ดีทั้งฟอร์มการเล่นรวมถึงผลงานแชมป์ฟุตบอลอาเซียนปีล่าสุด ภาพคนไทยร่วมใจกันเชียร์กีฬากลายเป็นภาพที่เกิดขึ้นแทบจะทุกครั้งที่ชาติไทยทำผลงานได้ดีในกีฬาชนิดต่างๆ กลายเป็นภาพความสามัคคีที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังหลงเหลือ ท่ามกลางนโยบายมากมายของรัฐบาลที่พยายามจะสร้างความปรองดองผ่านแคมเปญ “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” ที่มีตั้งแต่หนังสั้น เอ็มวีเพลง จนถึงสติกเกอร์ไลน์ที่รวมแล้วใช้เงินไปกว่า 35 ล้าน แต่ดูแล้วจะไม่ได้ผลสักเท่าไหร่

หนัง - เอ็มวี - สติกเกอร์ 35 ล้าน
 
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนักเมื่อมีการเปิดเผยเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” โดยในรายละเอียดนั้น เริ่มตั้งแต่โครงการสร้างภาพยนตร์สั้นส่งเสริม “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเอกสารวงเงินงบประมาณนั้นมีระบุว่า ใช้งบประมาณทั้งหมด 25 ล้านบาท

ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการ กองกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี วงเงินงบประมาณ 25 ล้านบาท วันที่กำหนดราคากลาง 20 ตุลาคม 2557 เป็นเงิน 24,979,300 บาท แหล่งที่มาของราคากลาง บริษัท เดอะฟิบ เอดิเต็ด จำกัด มีรายละเอียดระบุถึงราคาค่าจ้างผู้กำกับภาพยนตร์ที่สูงถึง 2.4 ล้านบาท ตากล้อง/ผู้ช่วย/กล้อง 5 D 1.5 ล้านบาท ส่วนนักแสดงนำ ใช้งบ 2.4 ล้านบาท และนักแสดงประกอบถึง 1.6 ล้านบาท

แม้ในเวลาต่อมาม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า วงเงินงบประมาณดังกล่าวนั้นไม่มากจนเกินไป โดยยอดวิวของภาพยนตร์ที่อยู่ในยูทิวบ์นั้นส่วนมากแล้วก็ยังอยู่ที่หลักพันเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นจำนวนยอดผู้เข้าชมที่น้อยมาก

ในส่วนของเอ็มวีเพลง “ค่านิยม 12 ประการ” นั้นเป็นผลงานของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักบริหารกลาง กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายและประสานราชการ มีการจัดจ้างเอกชนทำบทเพลงปลูกฝังค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ โดยใช้วงเงินงบประมาณ 3.5 ล้านบาท อ้างอิงราคากลางจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

โดยในขอบเขตของงาน (TOR) ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อนำเนื้อหาค่านิยม 12 ประการให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างผ่านบทเพลง

มีการกำหนดการผลิตงานว่า ต้องจัดทำเนื้อร้องเพลงค่านิยม 12 ประการ พร้อมเรียบเรียงและบันทึกเสียง ความยาวไม่น้อยกว่า 3 นาที จำนวน 1 เพลง บันทึกเสียงโดยใช้ศิลปิน นักร้องที่มีชื่อเสียง จำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน ผลิตวีดีทัศน์ (Music Video) ประกอบเพลงค่านิยม 12 ประการ จำนวน 1 เรื่อง มีความยาวไม่น้อยกว่า 3 นาที โดยสื่อถึงค่านิยม 12 ประการ โดยใช้ศิลปิน นักร้องที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน

โดยเมื่อผลงานออกมาศิลปินนักร้องทั้งหมดนั้นเป็นนักร้องในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้มีการรับชมในวงกว้างมากนัก ยอดวิวในยูทิวบ์นั้นอยู่ที่เพียง 7500 วิวเท่านั้นซึ่งถือเป็นยอดผู้รับชมที่น้อยมากอีกเช่นกัน

และล่าสุดที่เป็นที่วิพากษ์กับสติกเกอร์ไลน์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มีรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ใช่งานก่อสร้างของโครงการจ้างเหมาจัดทำ Line sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ เป็นวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 7,117,400 บาท ลงวันที่กำหนดราคากลาง 9 ธ.ค.2557 เป็นเงิน 7,117,353.24 บาท ระบุแหล่งที่มาของราคากลาง (ราคาอ้างอิง) ว่ามาจากใบเสนอราคาของ Line Company (Thailand) Limited

งบประมาณที่สูงถึง 7 ล้านกว่าบาทกลายเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงและมองไปในทางเดียวกันว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่แพงเกินจำเป็น กระทั่งครหาถึงขั้นว่าอาจมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในโครงการนี้

แม้ว่าต่อมาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอทีจะเห็นตรงกันว่า ราคาดังกล่าวนั้นถือเป็นราคาปกติในการผลิตสติกเกอร์ไลน์ ทว่าประสิทธิพลของการสื่อสารผ่านสติกเกอร์ไลน์กับค่านิยม 12 ประการนั้นก็ยังคงเป็นที่ครหาอยู่มาก

ทั้งนี้ 3 โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์นอกจากปลูกฝังค่านิยม 12 ประการให้กับคนไทยแล้ว ยังมีเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากทั้ง 3 โครงการที่ใช้งบประมาณรวมไปกว่า 35 ล้านบาทกลับไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คาดหวังไว้เท่าที่ควร

เมื่อเทียบกับฟุตบอลที่สร้างกระแสในสังคมอยู่ตอนนี้ เงินอัดฉีดของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยตั้งแต่รอบแรกรวม 11.6 ล้านบาท กับที่ครม.มีการอนุมัติเงินอัดฉีดพิเศษเพิ่มให้นักเตะได้รางวัลคนละอีก 200,000 บาท และทีมงานสตาฟฟ์โค้ชได้ 7 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลทั้งหมด รวมแล้วเป็นเงินเฉียด 7 ล้านบาท ดังนั้นยอดรวมที่รัฐบาลอัดฉีดให้กับความสำเร็จครั้งนี้เท่ากับ 18.6 ล้านบาท(เฉพาะของรัฐบาล)

หรือควรกีฬารวมชาติ?

หลังจากหลายโครงการสร้างความสามัคคีดูจะถูกวิจารณ์อย่างหนัง และผลการแข่งฟุตบอลที่กลายเป็นกระแสดึงความสนใจของคนทั้วประเทศให้พากันออกมารวมตัวต้อนรับนักกีฬา การใช้กีฬารวมชาติสลายความขัดแย้งถือเป็นไอเดียหนึ่งที่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศแอฟริกาใต้ ด้วยฝีมือของเนลสัน แมนเดลา ที่รวมชาติท่ามกลางความขัดแย้งสีผิวด้วยกีฬารักบี้

ทว่าหากมองถึง 3 โครงการของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองในมุมรัฐศาสตร์ว่าการรณรงค์ทางการเมืองใช้ได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างในสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามก็มีการปลูกใจให้รักชาติด้วยการใช้เพลงและละคร โดยมีการตั้งกรมโฆษณาการขึ้นมา และต่อมากลายเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน

“แต่สื่อในปัจจุบันนี้มันก็มีหลากหลาย เพลงที่คสช.ทำมาก็ติดตลาดนะ มีหลายเพลงก็ถือว่าใช้ได้ แล้วก็มีการทำหนังสั้นซึ่งก็โดยติงเรื่องฮิตเลอร์คนก็ดูจะสนใจกัน แล้วก็มาถึงสติกเกอร์ไลน์ซึ่งดูจะเป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่มไปหน่อย”

เขามองว่า หนังสั้นนั้นมีวงผู้ชมที่จำกัด สติกเกอร์ไลน์นั้นอาจเป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องกับวัตถุประสงค์มากนัก รวมถึงเพลงซึ่งท้ายที่สุดแล้วการเปิดทุกวันก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้คนศรัทธา หากแต่ยิ่งจะสิ้นศรัทธาเพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างที่เขียนไว้ในเพลง

“ผมมองว่าการรณรงค์ครั้งนี้อาจจะล้มเหลว เรื่องเพลงคนก็เริ่มเบื่อๆ เพราะมันทำไม่ได้ตามสัญญา กลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อไปแล้ว คือความหวังที่เราตั้งไว้กับคสช.ในหลายๆ เรื่องมันไม่ได้ตามที่บอก ส่วนอะไรหลายๆอย่างที่ออกมามันก็อยู่ในวงแคบ มันไม่เป็นกระแส การที่เราจะดูหนังดูละครอะไรก็แล้วแต่ เราต้องสร้างกระแสขึ้นมาก่อน แต่กระแสความรักในคสช.ก็ลดลงแล้ว คนเริ่มไม่ได้รักคสช.เหนียวแน่นเหมือนแต่ก่อน


ในส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณนั้น เขาจึงมองว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าแต่ประการใด และจะไม่นำมาซึ่งประสิทธิผลของนโยบายอีกด้วย

“ผมว่ามันเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพเพราะมันไม่มีกระแสขับเคลื่อนโดยเฉพาะกระแสของผู้ปกครองหรือคสช.ที่ปกครองประเทศ เขาไม่เชื่อถือแล้ว ดูตัวอย่างในประวัติศาสตร์ รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามเอง เมื่อพยายามทำก็จะถูกคนต่อต้านเป็นระยะ สมัยจอมพลสฤษดิ์ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จนถึงจอมพลถนอมท่านรณรงค์เรื่องนี้มากจนทำเป็นการ์ตูน เป็นหนุมานบินไปปราบคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นยักษ์ก็ล้อเลียนเรื่องรามเกียรติ์สนุกแต่มันก็อยู่ในวงแคบ เป็นอเมริกาเขาสร้างให้โดยมีคุณปยุต เงากระจ่างเป็นคนวาด ใช้ทุนเยอะกว่าหนังคนแสดงอีกเพราะต้องใช้เทคโนโลยีแต่ก็ไม่ได้ผล นี่แสดงให้เห็นว่าขนาดสมัยก่อนเป็นเผด็จการร้ายแรงกว่าสมัยนี้ก็ยังไม่สำเร็จ ผมเชื่อว่ามันก็จะเข้าสู่วงจรประวัติศาสตร์เดิม เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

กระแสฟุตบอลฟีเวอร์กับการสร้างความสามัคคีในชาตินั้น เขามองว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากกีฬานั้นเป็นสิ่งที่คนนิยมกันอยู่แล้วโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลที่มีคนนิยมเล่นกันมาก เมื่อมีกระแสเกิดขึ้นมันจึงกระจายออกไปไวมาก และได้ผลอย่างมหาศาลที่ทำให้คนรู้สึกรักชาติ รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทั้งหมดเป็นไปโดยไม่ต้องขอร้อง

“มันต่างจากการสร้างหนังสั้น หรือทำสติกเกอร์ไลน์ซึ่งคงต้องไปขอร้องให้คนใช้คนดู บังคับให้นักเรียนดูหนัง ให้คนใช้ไลน์โหลดมาเล่นหน่อย แต่ฟุตบอลมันไม่ต้องบังคับ ทุกคนเกิดความรู้สึกเป็นกระแสธรรมชาติ บริสุทธิ์ที่กระตุ้นมาจากข้างในไม่ใช่ถูกบังคับจากข้างนอกไป มีแข่งคนก็ตีตั๋วไปดูเอง”

เขามองว่า เพียงแค่คนไทยเข้าไปร่วมใจกันเชียร์ฟุตบอลในสนามราชมังคลากีฬาสถานที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองบางส่วนมองว่า เป็นสถานกีฬาคนเสื้อแดงเพราะเคยเป็นสถานที่ชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงหลายครั้ง สิ่งนี้เป็นการสะท้อนว่า กีฬาสามารถทำให้ผู้คนลืมความขัดแย้งได้

“แล้วเมื่อวานทีมชาติไทยก็ใส่เสื้อแดง พอเกิดผลแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่า เสื้อแดงก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับสังคมไทยเท่าไหร่ ใส่เสื้อแดงก็ทำให้เป็นแชมป์ได้ อันนี้ผมก็คิดอย่างตื้นๆ ง่ายๆ มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนลืมความขัดแย้งได้ เปลี่ยนความคิดมาช่วยกันเชียร์กีฬาไทย ทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่ต่อไป ถือเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเขามองว่า รัฐบาลปัจจุบันยังคงต้องสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะหากสามารถสร้างผลงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ สิ่งนี้จะเรียกศรัทธาของผู้คนได้ดีกว่าทุกสิ่งแน่นอน

“รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนเป็นอีกแนว จากเน้นปรองดองเป็นเน้นประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่คนคาใจอย่างน้อย 3 เรื่องให้ได้ 1 เรื่องระบอบทักษิณจะทำยังไง 2 เรื่องพลังงานจะมีความชัดเจนยังไง จะมีระบบสัมปทานแบบนี้ไปหรือเป็นระบบที่เรามาบริหารจัดการลงทุนกันเอง 3 ผมมองเรื่องการทุจริตจำนำข้าวจะต้องเอาคุณยิ่งลักษณ์มาจัดการลงโทษให้ได้ เอาแค่ 3 เรื่องนี้ก่อน ถ้าทำได้ประชาชนก็จะศรัทธา จะให้ประชาชนทำอะไรเขาก็จะศรัทธาเชื่อถือคุณ”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754









กำลังโหลดความคิดเห็น