xs
xsm
sm
md
lg

ทะลวงดรามา “เอดส์” เปิดข้อเท็จจริงที่คุณต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื้อรังมานานกว่า 1 เดือน กรณีปัญหาที่พักอาศัยของผู้ป่วยเอดส์จากมูลนิธิกระท่อมพระสิริในหมู่บ้านหนองปรือ จ.ชลบุรี ล่าสุด มีมติจากชาวบ้านให้ผู้ป่วยเอดส์กว่า 40 ชีวิต ออกจากพื้นที่ เหตุหวั่นปัญหาการติดเชื้อ เนื่องจากไม่มีระบบป้องกันที่เป็นสัดส่วน แถมยังกระทบเศรษฐกิจในชุมชน กลายเป็นเรื่องเศร้าที่ตามมาด้วยกระแสดรามาหลายมุมมอง ทั้งความใจร้าย ความเห็นใจ และความเข้าใจถึงเหตุผลของการกระทำดังกล่าว พร้อมเปิดข้อเท็จจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่อง “เอดส์”

เป็น “เอดส์” ต้องอยู่ส่วนเอดส์!

เรื่องความรังเกียจเดียดฉันท์ “ผู้ป่วยเอดส์” เสียงดังขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกลุ่มชาวบ้านหมู่ 3 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เข้าร้องเรียนต่อทางเทศบาลเมืองหนองปรือ เพื่อให้ยกเลิกการพักอาศัยของกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย 48 คน ที่เข้ามาพำนักอยู่ในมูลนิธิกระท่อมพระสิริ กลางชุมชนดังกล่าว เพราะสร้างความไม่สบายให้แก่ชาวบ้าน พร้อมกับหวั่นว่าอาจมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อในหมู่เยาวชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบให้ห้องพัก และอพาร์ตเมนต์ถูกยกเลิกการพักอาศัยจากผู้เช่า ทำให้ได้รับความเดือดร้อน



กระทั่งล่าสุด ภายหลังจากการประชุม โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 150 คน พร้อมผู้สังเกตการณ์ กลุ่มผู้ป่วย เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระท่อมพระสิริ เทศบาลเมืองหนองปรือ ศูนย์วิจัยเอดส์พัทยา รวมทั้งชาวบ้านและผู้ให้กำลังใจอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดให้มีการลงคะแนนประชามติ ผลปรากฏว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเอดส์พำนักอยู่ในชุมชน 131 เสียง ต้องการให้อยู่ต่อไป 30 เสียง ส่งผลให้ทางมูลนิธิฯ ต้องดำเนินการจัดหาพื้นที่ใหม่เพื่อย้ายผู้ป่วยออกจากชุมชน


เรื่องนี้ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหนองปรือ บอกว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แม้จะพยายามอธิบายถึงโรคให้ชุมชนทราบ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อประชามติออกมาก็ต้องดำเนินการไปตามเสียงส่วนใหญ่ โดยทางเทศบาลรับปากว่าจะไปจัดหาที่ดินแปลงใหม่ที่ห่างไกลจากชุมชนให้แก่ทางมูลนิธิฯ เพื่อย้ายไปจัดตั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 - 8 เดือน


ส่วนประธานชุมชนหลังเนินอย่าง วิเชียร เวฬุวัน เปิดใจว่า ไม่ได้รู้สึกรังเกียจผู้ป่วยเอดส์ แต่คงอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก อีกทั้งการเข้ามาของผู้ป่วยก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนโดยรวม โดยเฉพาะผู้ประกอบการห้องเช่าที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านหลายรายนำที่ดินไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาทำห้องเช่า แต่พอผู้ป่วยเข้ามาผู้เช่าก็ยกเลิกการเข้าพัก จึงทำให้ส่งผลต่ออาชีพทำกิน


“ส่วนตัวจะรู้สึกเห็นใจผู้ป่วยเช่นกัน แต่อยากให้ไปหาพื้นที่บำบัดใหม่ที่ไกลจากแหล่งชุมชน และหากมีการเคลื่อนย้ายชุมชนก็พร้อมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุน” ประธานชุมชนหลังเนิน บอก


หลากทัศนะ “ใจร้าย - เห็นใจ - เข้าใจ”


ทันทีที่มติออกมาเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ป่วยเอดส์ 48 ชีวิตออกจากพื้นที่ในหมู่บ้านหนองปรือ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลายมุมมองขึ้นในโลกออนไลน์ ทั้งความเห็นที่มองว่าใจร้าย เห็นใจ และเข้าใจถึงเหตุผลของชาวบ้าน



“ถ้าผู้สนับสนุน ผู้ลงมติขับไล่ หรือญาติพี่น้อง คนที่เขารัก เกิดพลาดพลั้งติดเอชไอวีขึ้นมาก็คงถูกไล่เหมือนหมูเหมือนหมาแบบนี้เช่นกัน ปากก็บอกเห็นใจ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก เก็บคำพูดสวยๆ ไว้เถอะถ้าไม่คิดทำความเข้าใจ ไม่เปิดใจรับฟังเหตุผล ถ้าโรคเอดส์มันติดกันง่ายเหมือนหวัด เหมือนอีโบลาก็ว่าไปอย่าง”


“คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แล้วติดมา ก็น่าเห็นใจ เช่น ภรรยาที่ติดจากสามี ลูกที่ติดจากแม่ แต่พวกสำส่อนนี่ไม่น่าเห็นใจเลย”


“เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าในแต่ละเรื่องเราควรให้การศึกษาไปให้ถึงก่อนที่จะใช้ประชาธิปไตยหรือเปล่าครับ” Vazzup


“มันไม่ใช่ว่าชุมชนไม่เข้าใจ แต่มันกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา การที่มูลนิธิย้ายไปอยู่ในที่โล่งกว้างเป็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องดี ถึงมันไม่ใช่โรคติดต่อที่ติดต่อได้ง่าย แต่มันก็สามารถแพร่กระจายได้ ผมเห็นด้วยว่าให้ย้ายที่ไปครับ ใครไม่เห็นด้วย ให้เขาย้ายไปอยู่ข้างบ้านคุณเลยครับ”


“ชาวบ้านไม่ได้รังเกียจคนเป็นเอดส์ แต่เขาได้รับผลกระทบ ค้าขายไม่ได้ อพาร์ตเมนต์ บ้านเช่า ไม่มีแขกเข้าพัก แล้วจะเอาอะไรกิน ทางแก้ไข
ฝ่ายสาธารณสุขต้องเข้าไปจัดการระบบป้องกัน เอดส์ติดต่อยากก็จริง แต่โรคอื่นๆ ที่ต่อเนื่องตามมาล่ะ เช่น วัณโรค (TB) ไอกรน ใครจะรับประกันว่าไม่มี ถ้าไม่ป้องกัน ชุมชนก็อยู่ไม่ได้”

ปัญหาไม่เกิด ถ้ามูลนิธิฯ พูดให้เคลียร์


นอกจากความเห็นในข้างต้น บางความเห็นยังมองต่างออกไปว่า ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าทางมูลนิธิฯ แจ้งให้ทางหมู่บ้านทราบก่อน


สอดรับกับข้อมูลของ วิญญู ดำริห์ ผู้ช่วยที่ปรึกษาประธานชุมชน ที่ก่อนหน้านี้เคยย้อนพูดถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้ให้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ฟังว่า ทางมูลนิธิฯ แจ้งว่าจะมาเปิดเป็นโรงเรียนสอนดนตรี ซึ่งก็รู้สึกดี แต่ปรากฏว่า พอย้ายเข้ามาอยู่กลับเป็นผู้ป่วยเอดส์ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เพราะมูลนิธิดังกล่าวไม่มีรั้วรอบขอบชิด ปล่อยปละละเลยให้ผู้ป่วยเดินออกไปซื้อของกินของใช้ปะปนกับชาวบ้าน


นอกจากนี้ ยังไม่มีระบบป้องกันสาธารณูปโภค ส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เกรงว่าผู้ป่วยอาจจะนำโรคมาติดต่อเด็กในหมู่บ้าน อีกทั้งผู้พักอาศัยตามห้องเช่า ต่างพากันทยอยออก เนื่องจากไม่อยากอยู่ในพื้นที่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งใจจริงแล้วก็ไม่ได้รังเกียจ เพียงแต่รู้สึกไม่สบายใจ และควรหาหนทางโยกย้ายไปพื้นที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่


ตรงกันกับคำให้การของ วิเชียร ประธานชุมชนหลังเนิน วัย 27 ปี และบุญเลิศ เมฆจันทร์ วัย 64 ปี พวกเขาบอกว่า คนในชุมชนสนับสนุนโครงการที่ทางมูลนิธินี้จัดขึ้นเสมอมา โดยก่อนหน้าดำเนินโครงการเกี่ยวกับการฝึกอาชีพ และสอนภาษาอังกฤษ รวมถึงสอนดนตรีให้แก่เด็กๆ ในชุมชน แต่หลังจากมูลนิธินำผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้ปรึกษาคนในชุมชน และไม่มีการจัดระบบสาธารณูปโภคให้ดี แถมมีการปล่อยน้ำเสียออกมาจากสถานที่ดังกล่าว ทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มทนไม่ได้จนเกิดการต่อต้าน


เมื่อถามไปยัง จารุวรรณ บุญสร้าง ในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยเอดส์ของมูลนิธิกระท่อมพระสิริ เธอเผยว่า เดิมทีมูลนิธิตั้งอยู่ที่หมู่บ้านทุ่งกลมตันหมัน อ.บางละมุง แต่ตอนหลังงบประมาณหมด จึงได้ติดต่อเช่าที่ดินเปล่าตรงผืนนี้ โดยใช้งบประมาณที่เมืองพัทยา อุดหนุนให้ปีละ 380,000 บาท และเงินบริจาคจากองค์กรต่างประเทศ และผู้ใจบุญสมทบ จัดสร้างที่พักสำหรับผู้ป่วยมาได้ 5 - 6 เดือนแล้ว แต่หลังจากอยู่ได้ไม่นานก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านใกล้เคียง ขอให้มูลนิธิย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนตัวรู้สึกเสียใจ พร้อมเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน และผลกระทบที่ตามมา


เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้ แต่อยู่ยาก!


ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่เริ่มมีการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ด้วยยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพ ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดเชื้อฯ อยู่ประมาณปีละ 20,000 คน เรื่องนี้ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงาน “เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้” ว่า ถ้าคนที่ติดเชื้อฯ ได้รับการรักษาเร็ว ตามมาตรฐานและดูแลสุขภาพตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่มีใครเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาส


“แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลัก หรือหน่วยงานรัฐยังไม่ได้รณรงค์ หรือเชิญชวนให้คนตื่นตัว ให้คนเข้าถึงการรักษา เลยเป็นภารกิจของภาคประชาสังคม เพื่อลดอัตราการตายจากเอดส์ให้ได้” นายนิมิตร์ บอก


ส่วนอีกหนึ่งช่องว่างที่สำคัญก็คือ เมื่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาแล้ว เขามีร่างกายแข็งแรง มีชีวิตได้เหมือนเดิม แต่พอไปเจอกับโจทย์ใหญ่ คือ ถูกรังเกียจจากการอยู่ร่วมกันในชุมชน หรือการสมัครงาน เช่น สถานประกอบการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ตรวจเลือดประจำปี หรือสถานศึกษาไม่ให้เด็กที่ติดเชื้อ เรียนหนังสือ ดังนั้น มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าทุ่มเทให้กับการรักษา แต่คนกว่า 200,000 คน เมื่อเข้าสู่การรักษาแล้ว กลับไม่ได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป


"ทั้งๆ ที่เขาก็แข็งแรงแล้ว ถ้าเขามีงานทำ หรือได้เรียนหนังสือ เขาก็พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเอง เราจึงต้องส่งเสียงดังๆ ให้เห็นว่าเราอยู่ร่วมกันได้ ผู้ติดเชื้อก็ต้องการโอกาสที่เหมือนกับคนอื่น ไม่ใช่กีดกันด้วยผลของการติดเชื้อ” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ขยายความ พร้อมกับขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ป่วยเอดส์


เช่นเดียวกับ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เขาต้องการเห็นมาตรฐานการรักษาที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่ากับใคร ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือคนไร้สถานะทางกฎหมาย ซึ่งการดูแลรักษาเอชไอวี/เอดส์ ต้องเป็นระบบที่มีมาตรฐานเดียว ดูแลทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพราะตอนนี้ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีระดับภูมิต้านทาน (CD4) เท่าไรก็สามารถเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้เลย ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน


“เอดส์” ติดยาก แม้แต่โรคแทรกซ้อนก็ยังยาก!



ดังนั้น อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ก็คือ ภูมิความรู้ความเข้าใจโรคเอดส์ของคนไทย รวมไปถึงทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะทัศนคติที่ว่า โรคเอดส์เป็นแล้วต้องตาย หรือผู้ที่ติดเชื้อเป็นคนไม่ดี ทว่าในความจริงแล้วพฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ แม้คนดีหรือคนที่ไม่รู้เรื่องก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น แม่บ้านติดเชื้อจากสามีสุดที่รัก หรือแม้กระทั่งติดไปถึงตัวลูกในครรภ์


นี่คือองค์ความรู้ที่ทีมข่าวขอย้ำให้เข้าใจตรงกันอีกครั้ง เริ่มจากความเข้าใจในความหมายของคำว่า “ผู้ติดเชื้อเอดส์” กับ “ผู้ป่วยเอดส์” กันก่อน


เรื่องนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความรู้ว่า ถ้าเป็น “ผู้ติดเชื้อ” คือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย โดยสภาพทั่วไปของร่างกายจะเหมือนกับผู้ปกติที่เดินๆ กันอยู่ เพียงแต่เขามีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายเท่านั้นเอง และคนที่เป็นผู้ติดเชื้อแบบนี้ก็อาจจะมีที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือแบบที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็ได้ ซึ่งในสังคมเราตอนนี้ คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 300,000 คน

ส่วน “ผู้ป่วยเอดส์” หมายความว่าเขามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือว่าไม่รู้ตัวเองติดเชื้อจนกระทั่งป่วย ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสต่างๆ นานา ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, วัณโรค คนเหล่านี้ที่เป็นผู้ป่วยเอดส์เขาควรจะได้รับการรักษา และถ้าได้รับการรักษาแล้ว จะสามารถกลับกลายมาเป็นผู้ติดเชื้อเหมือนคนทั่วไปได้

ด้านการติดโรคที่หลายคนกลัวๆ กันนั้น ผู้คลุกคลีอยู่กับการทำงานด้านเอดส์ท่านนี้ บอกว่า ไม่มีทางติดแน่นอน หรือถ้ามีก็มีความเสี่ยงน้อยมาก อาจจะต้องลงทุนเอาเลือดเอาหนองของผู้ป่วยมาสัมผัสกับแผลของตัวเองโดยตรงอย่างตั้งใจทำจริงๆ ถึงจะติดต่อไปสู่อีกคนได้ หรือถ้าจะติดต้องไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่นอนป่วยอยู่โดยที่ไม่ใช่ถุงยางอนามัยเท่านั้น


สรุปง่ายๆ ก็คือ เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อโดยช่องทางสำคัญ 3 ช่องทาง ดังนี้ 1. ทางเลือด 2. ทางน้ำหลั่ง (น้ำจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิ) 3. ทางน้ำนม โดยการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูกหลังคลอดผ่านทางน้ำนม แต่ไม่ติดต่อสู่คนจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน โดยสารยานพาหนะด้วยกัน พูดคุย สัมผัส หรือโอบกอดกัน การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน ว่ายน้ำในสระหรือคลองเดียวกัน ทำงานร่วมกัน อยู่บ้านเดียวกัน รวมไปถึงการถูกกัดโดยยุงหรือแมลงตัวเดียวกัน


“ภาวะแทรกซ้อนอย่างวัณโรค (TB) ถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่การรักษาแล้ว เชื้อนั้นจะไม่สามารถแพร่กระจายไปให้คนอื่นได้ ดังนั้น ต้องทำให้ทุกคนที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่การรักษา พอเริ่มรักษาไป 2 อาทิตย์แล้ว TB จะไม่แพร่กระจาย แล้วอีกอย่าง ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ซึ่งการไอ จาม มันต้องให้เสมหะที่อยู่ในคอกระเด็นออกมาแล้วสูดเข้าไปทันที แบบนั้นถึงจะติดต่อกันได้ แล้วถามว่าทำไมถึงระบาดเยอะ เพราะบ้านเราอยู่ในเขตชุกชุม คนที่มีความเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ตามมาด้วยผู้สูงอายุ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนคนทั่วไป โอกาสเป็นน้อยมาก เพราะเชื้อ TB ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา มันถูกภูมิคุ้มกันของร่างกายกดทับไว้ หรือได้รับวัคซีนตั้งแต่เล็กๆ


ส่วนโรคผิวหนังจากผู้ป่วย ถ้าคุณไม่ไปใช้สิ่งของร่วมกัน มันก็ไม่ติดครับ โดยเฉพาะโรคหิด ดังนั้น เราถึงอยู่ร่วมกันกับพวกเขาได้ตามปกติ เพราะโดยวิสัยให้ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนอื่น คุณจะใช้ไหม ก็ไม่ใช้ เมื่อไม่ใช้ คุณก็ไม่ติด ถ้าดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดีทั้งผู้ป่วย และตัวเรา รับรองว่าไม่มีปัญหาเรื่องติดเชื้ออย่างแน่นอน" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เสริม


ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคเอดส์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเฉพาะตัว ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเตือนใจคนในสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะในสังคมที่เปิดกว้างแบบนี้ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อบ้าง หากไม่แน่ใจ ต้องป้องกันทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าเกิดพลั้งพลาดติดเชื้อจนกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ ควรรีบพาตัวเองเข้าสู่การรักษาโดยด่วน เพราะนอกจากจะรักษาด้านร่างกายแล้ว ยังต้องฟิตหัวใจเพื่อเตรียมรับกับโลกแห่งความเป็นจริงที่มีทั้งด้านบวก และด้านลบไปพร้อมๆ กันด้วย


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น