“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้พยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง
“ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก โดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดีและปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควรและสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...”
นี่คือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย หลังจากที่พระองค์มีพระราชประสงค์ก่อตั้ง “มูลนิธิโครงการหลวง” ขึ้นมา เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลิกการปลูกฝิ่น หยุดการตัดไม้และการทำไร่เลื่อยลอย ทั้งหมดนี้คือพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ไม่เว้นแม้แต่ชาวเขาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ...
ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงขอตามรอยพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ด้วยการเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ. เชียงใหม่ สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2512
ผืนแผ่นดินนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินในบริเวณดอยอ่างขาง เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัย ทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,989 ไร่ โดยมีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านขอบด้ง บ้านผาแดง บ้านสินชัย และบ้านถ้ำง๊อบ
ผ่านไปกว่า 45 ปีแล้ว แต่สถานีวิจัยแห่งนี้ยังเป็นสถานที่หล่อเลี้ยงลมหายใจของชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนยูนนาน
“จุดเด่นของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ เราเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง และเป็นสถานวิจัยหลักที่ทำงานวิจัยพืชเมืองหนาว เพราะสภาพพื้นที่แห่งนี้มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี เราจึงต้องวิจัยว่ามีพืชเมืองหนาวอะไรบ้างที่จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกได้ นี่คือเป็นจุดเด่นของสถานีแห่งเรา“ คุณจ๋า-จารุวรรณ ยิ้มหิ้น เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง กล่าวถึงจุดเด่นของที่นี่ ก่อนจะเล่าถึงความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อโครงการหลวงว่า
“จ๋าคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานในโครงการหลวง เพราะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขา และคนพื้นราบ เพราะถ้าคนบนเขาทำเกษตรกรรมในแนวทางของเรา ก็จะทำให้พืชผักต่างๆ อุดมสมบูรณ์ และส่งผลดีต่อคนที่อยู่ข้างล่างด้วยค่ะ ดังนั้นจ๋าเลยภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ คิดว่าจะตั้งใจทำงาน เพราะถือเป็นงานที่ทรงคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงริเริ่มขึ้นมา“
นับว่าหลังจากที่มีโครงการหลวงและมีสถานีวิจัยแห่งนี้ขึ้นมา ชาวเขาที่อยู่ในบริเวณดอยอ่างขางนี้ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการหลวงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างเช่นภายในสถานีเองก็เน้นใช้แรงงานจากชาวไทยใหญ่ที่มาทำงานเป็นคนงานของสถานีกว่า 400 ราย โดยทั้งหมดพักและอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สถานี ในขณะที่ชาวเขาเผ่าอื่นๆ เช่น ชาวปะหล่อง ชาวมูเซอดำ ชาวจีนยูนนาน จะนิยมเพาะปลูกเกษตรกรรมมากกว่า โดยที่สถานีมีการจัดสรรพื้นที่ให้แก่ชาวเขาเหล่านี้เพื่อใช้ทำการเพาะปลูก เช่น ไร่ชา ไร่กาแฟ แปลงบ๊วย แปลงกุหลาบ แปลงผักอินทรีย์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้ชาวเขาใช้พื้นที่ของหมู่บ้านตัวเองในการเพาะปลูกพืชผลและพืชผักเมืองหนาวต่างๆ เพื่อส่งผลผลิตให้แก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ก่อนที่จะนำไปจัดจำหน่ายในร้านค้าของโครงการหลวงต่อไป
“เราจะดูแลเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน หรือข้าวของเครื่องใช้ หลังจากที่เขาเข้าร่วมกับโครงการหลวง เราพบว่าเขามีเงินมากพอที่จะส่งลูกเรียนหนังสือ มีเงินพอที่จะซื้อบ้าน ซื้อรถ และซื้อเสื้อผ้าตามกำลังของตนเอง ก็ถือว่าพวกเขามีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” คุณจ๋าเล่า
ผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรเหล่านี้เองจะถูกส่งไปที่อาคารผลิตผล สถานีบรรจุอาหาร โดยสถานีฯแบ่งเป็นโรงคัดผัก และโรงคัดผลไม้ซึ่งจะแยกสัดส่วนกันอย่างชัดเจน จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีฯ จะทำหน้าที่ตัดแต่งผลผลิต แพ็กลงถุง ชั่งน้ำหนัก ก่อนจะส่งเข้าห้องเย็น เพื่อรักษาความเย็นของผลผลิตต่อไป
“ผักของเราจะไม่ล้าง เพราะผักของเราเป็นผักปลอดภัย ผลิตในระบบอินทรีย์ นอกนั้นผักของเราเป็นผักใบ ถ้าล้าง ก็อาจะกลายเป็นน้ำขัง ทำให้ผักเน่าง่ายได้ ดังนั้นถ้าหากผักเปื้อนจริงๆ เราก็จะใช้ผ้าเช็ดออก จากนั้นส่งไปที่โรงคัดบรรจุ เพื่อจะทำการขนส่งต่อไป โดยก่อนขนส่งเราก็จะคัดตามเกรดก่อน ส่วนการขนส่ง เราจะใช้ขนส่งโดยใช้รถเย็น เพื่อส่งผลผลิตไปยังร้านของโครงการหลวงต่อไป” คุณจ๋ากล่าว
จุดเด่นของไม้ผลของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางคือ “สตรอเบอร์รี่พันธุ์ 80” ซึ่งถือเป็นไม้ผลยอดนิยมที่ใครๆ ก็ต้องซื้อเมื่อมาเยือนสถานีฯ แห่งนี้ สตรอเบอร์รี่พันธ์ 80 นี้ ถือเป็นพันธ์ที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมา ซึ่งให้ผลโต สีสวย กลิ่นหอม และรสชาติหวาน นอกจากนั้นพันธุ์นี้ยังมีจุดเด่นที่เก็บได้นาน ไม่คลายน้ำเร็ว จึงช่วยยืดอายุขนส่ง
ใครที่มาเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หากอยากลองชิมผลิตผลของที่นี่ แนะนำให้ไปที่ “สโมสรอ่างขาง” ซึ่งเป็นร้านอาหาร ที่เน้นใช้วัตถุดิบของโครงการหลวง โดยจะหมุนเวียนตามฤดูกาล คนที่ชอบทานผักคงจะถูกใจเมนูอาหารที่ปรุงแต่งจากผักอินทรีย์นานาชนิด เมนูยอดนิยม คือ “สลัดผักอ่างขาง” ซึ่งประกอบผักนานาชนิด ทานแล้วสดกรอบ ส่วนเมนูขนมหวานของที่นี่ ก็เน้นใช้ผลผลิตตามฤดูกาลเช่นกัน เช่น สตรอเบอร์รี่วิปครีม ,น้ำสตรอเบอร์รี่ปั่น ส่วนเมนูอาหารคาวที่ไม่ควรพลาด คือ “ปลาเทร้านึ่งมะนาว” โดยเป็นเมนูที่นำเอาปลาเทร้ามาจากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เอื้อต่อการเลี้ยงปลาเทร้ามากกว่า หากแต่รสชาติยังสดใหม่ เนื้อปลาหวานนุ่มลิ้น หรือจะแวะดื่มกาแฟที่ใช้เมล็ดกาแฟจากโครงการหลวง ก็รับรองว่าจะติดใจไม่แพ้กันจริงๆ
ใครที่ได้เข้าไปเยี่ยมชม “สวนบอนไซ “ ในบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้ จะเจอ “นายมนัส เพ็ชรสุริยา” เจ้าหน้าที่บอนไซกำลังนั่งตัดเล็มต้นบอนไซอย่างทะนุถนอม โดยสถานีบอนไซแห่งนี้ถือเป็นแหล่งรวบรวมไม้เมืองหนาวมาเพาะเลี้ยงเป็นต้นบอนไซ เช่น ต้นเมเปิ้ลจากไต้หวัน ,แมกโนเลีย,ต้นสน,ต้นบ๊วย ฯลฯ
“เคล็ดลับคือการตัดแต่งต้นบอนไซ คือ เน้นตัดแต่งให้มีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยม เราเลี้ยงโดยไม่เน้นให้โต แต่เราเน้นให้มันมีอายุที่แก่ ฉะนั้นเหมือนเราเลี้ยงคนแก่ จึงต้องให้อาหารดีกว่าไม้กระถางทั่วไป การดูแลจะต้องเยอะกว่าอย่างอื่น เพราะเราต้องดูแลกิ่งทุกกิ่ง ต้องตกแต่งตั้งแต่ราก เพราะโชว์ลำต้น จากลำต้นก็มาถึงยอด ซึ่งแต่ละกิ่งก็จะมีกิ่งแผ่ออกไป ดังนั้นเราก็จะดูแลเป็นกิ่งๆ แล้วแต่ละกิ่งก็จะมีกิ่งย่อยๆ แตกออกไป เราก็จะต้องดูว่ากิ่งเล็กๆ พวกนี้ต้องเรียงตัวอย่างไรถึงจะสวย และเวลาที่กิ่งแตกออกมา ก็ต้องเป็นอย่างที่เราจินตนาการ คือ ถ้าออกมาไม่สวย เราก็ต้องค่อยๆ ตัดออก เทคนิคคือ เราต้องดูว่าแต่ละกิ่งเราจะไว้อย่างไร เพื่อให้มันสวย” นายมนัสเผยเคล็ดลับการตกแต่งต้นบอนไซ
หากจะนับอายุการทำงาน คงต้องถือว่านายมนัสเป็นเจ้าหน้าที่ยุคช่วงแรกๆของสถานีวิจัยแห่งนี้ เพราะเขาทำงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมานานกว่า 35 ปีแล้ว โดยเขาเผยความรู้สึกที่ได้ทำงานรับใช้โครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
“ผมรู้สึกดีใจที่ได้ทำงานรับใช้โครงการหลวง เพราะคนไทยมีจำนวนเป็นล้าน แต่คนที่ทำงานโครงการหลวงมีทั้งหมดไม่กี่คนดังนั้นถ้าชีวิตนี้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ก็ถือว่าเป็นบุญของเราแล้ว” นายมนัสกล่าว
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี้ยังมีแปลงพืชผักและพืชผลเมืองหนาวให้ชมอย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นสวน 80 พรรษา, สวนไอเลิฟยู,แปลงรวบรวมพันธ์ผักเมืองหนาว ,สวนไม้ดอก, สวนไม้ดอกกลางแจ้ง, แปลงชา, แปลงสตรอเบอร์รี ฯลฯ แต่ละมุมเหมาะแก่การแชะภาพเป็นที่ระลึก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีก เช่น ขี่จักรยาน,ขี่ฟ้อชมธรรมชาติ,ดูนก, เยี่ยมชมหมู่บ้านชาวเขาที่อยู่ใกล้ๆ เช่น หมู่บ้านขอบด้ง ของชาวมูเซอดำ,หมู่บ้านนอแล ของชาวปะหล่อง เรียกว่านอกจากจะได้มาชมภาพบรรยากาศสวยๆ อย่างนี้แล้ว เราจะยังได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด เผ่าพันธ์ใด หากเมื่อมาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่านแล้ว ย่อมจะอยู่อย่างเย็นเป็นสุข
เช่นเดียวกับ “นายนาโม หมั่นเฮิง” ชาวปะหล่องจากหมู่บ้านนอแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกษตรกรที่ทำงานให้แก่โครงการหลวง เขาถือเป็นบุคคลแรกที่เข้ามายื่นฎีกาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอเข้ามาอยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2527 จนกระทั่งกลายเป็นจุดกำเนิดหมู่บ้านนอแลมาจนถึงทุกวันนี้
30 ปีผ่านไป นายนาโมยังอยู่มีสุขกับครอบครัวของตนเองที่หมู่บ้านแห่งนี้ วันนี้เขาอายุมากถึง 86 ปีแล้ว แต่ยังจดจำวันวานที่ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดี เหมือนว่าเวลาผ่านไปแค่วันวาน
“ผมได้ยินข่าวว่าในหลวงจะมาเยี่ยมชาวบ้านที่นี่ ผมก็ว่าอยากจะมาอยู่เมืองไทย คนจีนที่อยู่แถวนี้ก็บอกว่าน่าจะได้นะ มาอยู่สิ แต่ผมว่าผมกลัวว่าหอคำจะไม่ให้อยู่ “หอคำ” หมายถึงในหลวง แต่คนจีนคนนั้นก็บอกว่าไม่ต้องกลัวในหลวง พระองค์ท่านใจดี
“พอเจอในหลวง ผมบอกว่าอยากขอมาอยู่เมืองไทย ในหลวงถามว่าเป็นคนที่ไหน ผมตอบว่าเป็นปะหล่อง พระองค์ก็ว่าไม่เคยมีปะหล่องมาก่อน เรียกว่าพม่าเหรอ ผมบอกว่าไม่ใช่ พระองค์เลยถามเจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างๆ แล้วบอกว่าไม่เคยมีปะหล่องในไทยมาก่อน นับถืออะไร ผมเลยตอบว่านับถือพุทธ ในหลวงถามว่ามีพระมีเณรไหม ผมตอบว่ามีมาด้วย พระองค์เลยก็ถามอีกว่ามาอยู่ใหม่ มีที่อยู่ไหม ผมตอบว่าไม่มี พระองค์เลยให้เงินมา 5,000 บาท เพื่อสร้างเป็นศาลาที่อยู่ให้แก่พระเณรที่ไม่มีที่อยู่ตรงพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านนอแลแห่งนี้
“ผมยังบอกว่าขอเข้ามาเป็นลูกเป็นหลานของคนไทย พระองค์ตอบกลับมาว่าได้ จะอยู่ที่ไหน ให้ไปอยู่แถวถนนเก่าๆ คนไทยจะได้เข้ามาช่วยง่าย เพราะในหลวงเห็นว่าหากมีถนน จะได้เข้ามาช่วยได้ง่ายๆ “ นายนาโมเล่าถึงความทรงจำในวันวาน
จากเดิมที่นายนาโมเคยปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ได้เป็นเกษตรกรในความดูแลของโครงการหลวง นายนาโมจึงเปลี่ยนมาปลูกพืชผักเมืองหนาวและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ตอนนี้ผมมีความสุขกว่าเดิม ใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ หมู่บ้านก็เจริญมากขึ้น ผมคิดว่าการที่ผมได้มาอยู่ผืนแผ่นดินไทยนี้ ถือเป็นวาสนา เพราะพอได้เจอในหลวง ก็ทำให้ผมอายุยืนขึ้น ตอนอยู่พม่าเจอแต่โรคห่า โรคภัยต่างๆ ทำให้ลูกตายจากไปหลายคน จากที่เคยมีลูก 16 คน แต่ก็ตายไป 8 คน แต่พอมาอยู่ที่หมู่บ้านนอแล โชคดีที่มีโรงพยาบาล ลูกผมเลยไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และมีสุขภาพดีขึ้น
“ผมรักในหลวงมาก ก่อนนอนก็ภาวนาให้ในหลวง ไปทำบุญที่วัด ก็ขอพรให้ในหลวงพระชนมอายุยืนนาน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ...”
นี่คือเสียงของชาวปะหล่อง แม้เขาไม่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย แต่เขาก็จะขอตายอยู่บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ภายใต้ร่มเงาพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย
ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน...
เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอขอบคุณ : บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง , สายการบินนกแอร์
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754