ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์จะ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” และทรงต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารให้อยู่ดีกินดี จึงเกิดเป็น “โครงการหลวง” ที่ส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกทำการเกษตร จำพวกผักและผลไม้เมืองหนาว แทนการปลูกฝิ่นทีีมีมาแต่ดั้งเดิม
นอกจากนั้น ยังมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ขึ้นที่หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2515 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรนำมาแปรรูปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนและดอยอ่างขาง ซึ่งต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ารับช่วงการดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป จัดตั้งเป็นบริษัทโดยใช้ทะเบียนการค้า “ดอยคำ” ที่เน้นผลิตสินค้าจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย และพัฒนาสินค้าที่มีคุณค่าทางอาหาร เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ จาก "ดอยฝิ่น" สู่ "ดอยคำ" นั่นเอง
หลังจากก่อตั้งโรงงานมา 30 กว่าปี ในเดือนตุลาคม ปี 2549 ได้เกิดพิบัติภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนในตำบลแม่งอน ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงโรงงานหลวงฯ ด้วยเช่นกัน
จากความเสียหายในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเสียหาย บริเวณบ้านยางและโรงงานหลวงฯ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาโรงงานหลวงฯ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนา และเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงานหลวงฯ
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเยือน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะได้ทราบถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living Site Museum) ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารนิทรรศการ โรงงานหลวงฯ และชุมชนบ้านยางแล้ว ก็ยังจะได้เลือกซื้อเลือกชมผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” เป็นของกินของฝากได้อีกด้วย
ก่อนอื่นขอเชิญเข้ามาชมด้านในพิพิธภัณฑ์กันก่อน ภายในจัดแสดงใน 3 หัวข้อหลัก คือ โครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำชมภายในพิพิธภัณฑ์
ในห้อง “กำเนิดโครงการหลวง” มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่จัดแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นหม้อ ไห กระทะ โดยเป็นข้าวของที่ได้รับบริจาคและให้ยืมจากเจ้าของที่อาศัยในชุมชนบ้านยาง จัดแสดงไว้เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชนและความหวงแหนในสมบัติของบรรพบุรุษ
นอกจากนั้นยังมีความเป็นมาของกำเนิดโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเขตจังหวัดภาคเหนือ และทอดพระเนตรเห็นป่าไม้บนเขาที่ถูกทำลายจากการปลูกฝิ่น อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น พระองค์จึงทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ จนกลายมาเป็น “โครงการหลวง” ในบริเวณนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าแก่สมัยที่ในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือให้ชมกันด้วย
ส่วนในห้อง “กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ห้องนี้มีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโรงงานหลวงฯ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ภายในห้องมี “รถโฟล์ค” ซึ่งเป็นรถยนต์พระราชทานเมื่อแรกก่อตั้งโรงงานหลวงฯ มีรูปภาพเก่าเมื่อครั้งในหลวงและสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ไปทรงเยี่ยมบ้านยาง และโรงงานหลวงฯ เมื่อปี 2516 อีกด้วย
ในห้องนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายบรรยากาศและผู้คนในชุมชนบ้านยางที่มีทั้งชาวไทยและชาวจีนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนยูนนาน ชาวไทยใหญ่ (ฉาน) และชาวไทยภูเขา และมีการดำเนินวิถีชีวิตมากว่า 50 ปี ผสมผสานการนับถือศาสนาของชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม และการนับถือผีกันอย่างร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร อีกทั้งในห้องนี้ยังมีเครื่องจักรในโรงงานหลวงฯ ที่ถูกน้ำน้ำป่าพัดถล่มมาจัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย
ก่อนจะออกจากพิพิธภัณฑ์อย่าลืมแวะซื้อแวะชมผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” และทราบถึงประวัติและบทบาททางสังคมของบริษัทฯ และมีพื้นที่สำหรับผู้สนใจศึกษาข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ โรงงานหลวงฯ และชุมชนโดยรอบที่บริเวณชั้นลอยของห้องอีกด้วย
และสำหรับคนที่อยากเดินชมบรรยากาศของชุมชนบ้านยาง ก็ต้องไม่พลาดไปสักการะศาลเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านยางที่นับถือพระพุทธศาสนา และมีเทศกาลกินเจร่วมกันทุกศาสนาในวันตรุษจีน แวะชมสถานีอนามัยเก่าที่ในหลวงโปรดให้สร้างพระราชทานแก่ชาวชุมชนบ้านยาง รวมถึงชมบ้านดิน ที่ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่กี่หลังในหมู่บ้าน โดยบ้านดินเป็นบ้านที่ชาวจีนยูนนานสร้างไว้เมื่อเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านยาง อีกทั้งไม่ไกลกันมากนักยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกบ้านยางน้ำตกขนาดเล็กที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้านอีกด้วย
“พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความหลากหลายของชุมชนอย่างแท้จริง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ที่ 72 หมู่ 2 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมฟรี เวลา 08.30-16.30 น. โดยจะปิดบริการเฉพาะวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และวันหยุดประจำปี 15-30 กันยายนของทุกปี ส่วนเวลาทำการของร้านขายของที่ระลึกคือ 08.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
การเดินทาง จากเชียงใหม่มุ่งหน้าอำเภอฝาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กม. ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 9 กม.