xs
xsm
sm
md
lg

รถดิ่งพสุธา 7 ชั้น อุทาหรณ์โหดที่ผู้ขับขี่ต้องอ่าน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เก๋งคันงามพุ่งทะยานจากอาคารจอดรถชั้นที่ 7 ดิ่งสู่พื้นดินเสียงสนั่น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต กรณีสะเทือนขวัญนี้ทำให้ผู้ใช้รถอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน ซ้ำยังตั้งคำถามถึงสาเหตุที่รถเบรกไม่อยู่ รวมถึงประเด็นเรื่องความแข็งแรงของตัวอาคาร และนี่คืออุทาหรณ์ครั้งใหญ่ที่ผู้ขับขี่และโดยสารยวดยานพาหนะต้องอ่าน!!



 
 
นักขับมือใหม่ อ่อนด้อยประสบการณ์?
 
ล่าสุดเกิดเหตุไม่คาดฝัน ขึ้นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) และตัวแทนประกันชีวิต บ.กรุงเทพประกันชีวิต ระบุเป็นรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้าซีวิค พลัดตกจากอาคารจอดรถด้านหลังห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ โดยตกลงมาจากลานจอดรถชั้น 7 มายังพื้นถนนด้านล่างกระแทกพื้นอย่างรุนแรง รถอยู่ในสภาพพลิกคว่ำ ล้อชี้ฟ้า เป็นเหตุให้คนขับเสียชีวิตทันที
 
โดยญาติผู้ตายให้การว่า ก่อนหน้านี้สามีผู้ตายเพิ่งจะนำรถไปซ่อม จึงมีความเป็นไปได้ว่าระหว่างที่ผู้ตายขับอยู่ ระบบรถอาจเกิดข้อผิดพลาด คันเร่งค้างหรือเบรกมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถหยุดรถคันดังกล่าวได้
 
มีข้อสันนิษฐานว่าผู้ตายอาจจะเป็นมือใหม่หัดขับและที่น่าสนใจคือโศกนาฏกรรมในแบบเดียวกันนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ยังมีอุบัติเหตุคล้ายกันนี้เกิดมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว “ฉัตรมงคล ดวงฤทธิ์” บรรณาธิการฝ่ายเทคนิค นิตยสารรถยนต์ “4x4 สเปเชียล” บอกเอาไว้
 
“เนื้อข่าวยังไม่สรุปโดยเด่นชัดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร แต่ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งตอนรถเชฟโรเลต ครูช ตกมาจากตึก สำหรับเหตุการณ์นี้ต้องแบ่งประเด็นในส่วนของผู้ขับขี่คือ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ แสดงว่าตัวผู้ขับขี่ไม่มีประสบการณ์มากพอ
 
เหตุการณ์นี้เกิดจากการขับรถเฉี่ยวชนกับรถข้างบนก่อนที่จะเสียหลักตกลงมา แต่อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ล้วนๆ ตัวคนขับอาจจะไม่มีประสบการณ์มากพอหรืออาจจะตกใจ แทนที่จะเหยียบเบรกก็กลับกลายไปเหยียบคันเร่งแทน พอเหยียบคันเร่งแทนที่รถจะเบรกกลับพุ่งชนกำแพงอย่างแรงแล้วจึงตกลงมา”



 
สภาพรถแย่ หรือเทคนิคขัดข้อง
 
ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด อาจเป็นที่ตัวคนขับมีประสบการณ์ไม่มากพอหรือตามที่ญาติผู้เสียชีวิตกล่าวคือรถคันดังกล่าวเพิ่งเข้าศูนย์ซ่อมอาจเกิดข้อผิดพลาดของระบบรถยนต์ก็เป็นได้
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ อธิบายว่า “ในกรณีของตัวรถที่เพิ่งนำรถไปเข้าศูนย์ซ่อมก็อาจจะเกี่ยวข้องกับระบบคันเร่ง เพราะรถในสมัยก่อนจะเป็นระบบคันเร่งสายซึ่งเป็นระบบ Manual Analog ล้วนๆ ซึ่งจะเป็นตัวแป้นเหยียบคันเร่งแล้วมีสายคันเร่งดึงไปฝั่งที่ตัวเปิดปิดอีกที ทำให้โอกาสที่จะเกิดความเสียหายจะมีค่อนข้างน้อย
 
ส่วนในรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันจะเป็นระบบคันเร่งไฟฟ้า โดยจะทำงานผ่านเซ็นเซอร์ซึ่งเป็นตัวควบคุม ถ้าไม่เหยียบคันเร่ง เซ็นเซอร์จะไม่รับรู้ เครื่องยนต์ก็จะไม่เร่ง มีความเป็นไปได้ที่ตัวคันเร่งไฟฟ้าหรือตัวเซ็นเซอร์อาจจะมีการเสื่อมคุณภาพเลยทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ในครั้งนี้ เพราะพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดมันมีอายุการใช้งานของมัน อาจจะเสื่อมไปตามการใช้งาน”
 
หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำรอยแนะนำให้เข้าเช็กระยะที่ศูนย์บริการ ที่กำหนดไว้คือ 10,000 กิโลเมตร เช็ก 1 ครั้งตามระยะ
 
“ถ้าจะพูดถึงเรื่องการป้องกันก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ก็ควรจะนำรถเข้าเช็คที่ศูนย์บริการของรถยี่ห้อนั้นๆ ตามระยะที่กำหนดในคู่มือ โดยปกติแล้วทางศูนย์บริการไม่ว่าจะเป็นรถยี่ห้อไหนก็ตามเขาก็จะตรวจสอบเรื่องพวกนี้ให้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของการตรวจสอบเบื้องต้นที่ต้องตรวจสอบในทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เขาจะตรวจสอบให้อยู่แล้วว่ามีอะไรผิดปกติบ้าง
 
ตรวจสอบโดยช่างผู้ชำนาญและตรวจสอบโดยเครื่องมือเฉพาะ เพราะว่าในระบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะมีตัวล็อกเกตเสียบกับตัวรถยนต์และอีกปลายด้านหนึ่งจะเสียบกับตัวโน้ตบุ๊ก ซึ่งพอเสียบเข้าไปแล้วถ้ามีเซ็นเซอร์ตรงไหนที่ผิดปกติ มันจะไปแจ้งโน้ตบุ๊กว่ามีโค้ดอะไรที่ผิดปกติบ้าง แล้วช่างก็จะทำการซ่อมตรงจุด
 
ในส่วนของการป้องกันที่ตัวคนขับอันนี้พูดยาก สาเหตุที่พูดยากเพราะตัวคนเรามันไม่เหมือนกัน เช่นในเรื่องของประสบการณ์การขับขี่ เรื่องของความพร้อมของร่างกายในการขับขี่แต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีประสบการณ์การขับขี่จริงแต่ถ้าในจังหวะนั้น ณ ตอนนั้นเกิดอาการนอนน้อย พักผ่อนน้อย มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ หรืออาจจะเกิดขึ้นได้จากโรคประจำตัวด้วยเช่น โรคลมชัก โรคความดัน โรคเบาหวาน หรือโรคที่ทำให้เกิดอาการวูบขณะขับรถ ตัวผู้ขับขี่ต้องรู้ตัวเองดีอยู่แล้วต้องระวังป้องกันตัวเองในส่วนนี้ด้วย”





 
ขาดความรัดกุมเรื่องความปลอดภัย
 
จะว่าไปแล้ว โดยส่วนใหญ่การเกิดอุบัติเหตุส่วนมากมักมาจากประสบการณ์ของการขับขี่ที่น้อย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจแบบนี้ตามมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายๆ ตึกออกแบบลานจอดรถได้ดีประมาณหนึ่ง ทำให้ผู้ใช้รู้สึกได้ถึงความปลอดภัย ทว่าหากมองย้อนกลับไปถ้าผู้เสียชีวิตไม่ได้ประมาท แล้วสาเหตุใดที่รถตกลงมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพราะลานจอดรถไม่ได้มาตรฐานพอ
 
บรรณาธิการ นิตยสารรถยนต์ มีความเห็นว่า “เรื่องของการขับรถขึ้น-ลงตึก คือการจำกัดความเร็วเรื่องการขึ้นลงอยู่แล้ว โค้กหักศอกที่ขึ้นลงแต่ละชั้นค่อนข้างแคบก็เท่ากับเป็นการจำกัดความเร็วการขึ้นลงของผู้ขับขี่อยู่แล้ว แต่สำหรับบางตึกที่ใหญ่โตหรืออาจจะเข้าข่ายการเกิดอันตราย บางที่มุมมองของการขึ้น-ลงอาจจะเป็นมุมอับหรือมุมบอดที่มองไม่เห็นอย่างนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
ลักษณะที่ผนังกั้นหลุดออกมาทั้งแผง คือการชนต้องแรงมาก ถ้ารถไหลมาแล้วมาชนมันเป็นไปไม่ได้ที่ผนังจะหลุดออกทั้งแถบแบบนั้นมา จากที่ผมดูข่าวและสังเกตจากรูปผมว่าก่อนที่จะพุ่งชนจะต้องมาด้วยความเร็วที่ค่อนข้างพอประมาณเลยทีเดียว ถ้ามันไม่เร็วจะไม่มีทางที่ผนังจะหลุดออกมาแบบนั้นได้
 
ส่วนเรื่องของผนังบางหรือผนังหนา ขึ้นกับการออกแบบของโครงสร้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับตัววิศวะกรผู้ออกแบบและเหล็ก ปูนที่ใช้ในการก่อสร้าง อันนี้ต้องลงลึกในรายละเอียดไปว่าโครงสร้างตัวนั้น วิศวกรออกแบบมาเพื่อรองรับอะไรมาได้มากขนาดไหน แล้วตัวปูนตัวเหล็กเส้น ตัวคานพวกนี้ตรงตามสเปกมั้ย ถ้าตรงตามสเปกสามารถรองรับได้ก็ไม่มีปัญหา”
 
 
เมื่อลงลึกไปถึงการก่อสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน ทางทีมข่าวจึงได้สอบถามไปยัง ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ ปธ.มาตรฐาน สภาวิศวกรแห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวะกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเป็นเพราะอาคารจอดรถไม่ได้ตรงตามมาตรฐาน
 
“เห็นชัดๆ มันไม่ได้มาตรฐานอยู่แล้วในแง่ของเรื่องที่จอดรถผนังกั้นไม่ใช่แค่บางเท่าที่ผมดูจากในรูปเกือบจะเรียกว่าเอาแปะไว้เฉยๆ เพื่อให้เห็นว่าเป็นผนังกั้น คือไม่มีความมั่นคงแข็งแรงในเรื่องของการรับแรงกระแทกเลย ดีไม่ดีคนไปพิงเฉยๆอาจจะล้มได้
 
สำหรับตัวที่ลดแรงกระแทกเวลาถอยหลังไม่ได้รับมาตรฐานในเรื่องความแข็งแรง เพราะถ้าตัวนั้นกันไว้ก่อนมันจะไม่ถึงขั้นที่จะต้องตกลงไป มันเป็น2สเตป คือ1.ตัวปั๊มเปอร์ไม่ทำงานกับ2.ตัวกันตกก็ไม่ทำงานด้วยเหมือนกัน
 
ที่สำคัญที่สุด ขาดการกำกับดูแลตามแบบและรายการให้เป็นไปตามคุณภาพเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น ทางขึ้นทางลงปัจจุบันก็มีหลายอาคารที่ไม่ปลอดภัย เช่น 1.กันชน บางที่ก็ไม่ได้มาตรฐาน 2.กันตก ปัจจุบันบางที่ก็ใช้การก่อสร้างเป็นแผ่นสำเร็จรูปซึ่งไม่สามารถสร้างความปลอดภัยได้
 
ส่วนการสร้างให้ได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐานนั้นจะขึ้นอยู่ที่ผู้ออกแบบหรือเจ้าของงานเป็นหลัก ใครที่คุมตรงนี้ต้องลงลึกไปถึงขั้นตอนการออกแบบการควบคุมงาน ซึ่งทางสภาวิชาชีพก็น่าจะมีส่วนจะต้องไปกำกับดูแลได้ในระดับหนึ่ง
 
ส่วนการก่อสร้างในยุคปัจจุบันนั้นจะถือหลักรับเหมาเบ็ดเสร็จ คือทางเจ้าของงานหรือผู้ประกอบการมักจะจ้างให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำ และรับผิดชอบในแต่ละรายการรวมไปถึงการก่อสร้างที่แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นจะขึ้นอยู่กับบริษัทที่มารับเหมาเหล่านี้เขาทำตามขั้นตอนกฎหมายแล้วหรือยังหากเกิดข้อผิดพลาด จะถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามที่ถูกที่ควร” ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย





 
ไร้สติ=ตาย
 
ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น อย่าประมาทและต้องมีสติตลอดเวลาเพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อันน่าหดหู่เช่นนี้อีก ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ จึงเสนอคำแนะนำให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนว่า
 
“ผู้ขับขี่ต้องมีสมาธิมีสติในทุกกรณีหรือสถานการณ์ ต้องจดจ่ออยู่ว่าเรากำลังขับไปไหนเช่น ขับทางตรงหรือทางอ้อมมันต้องอยู่ที่สติหรือสมาธิ ยกตัวอย่าง บางคนขับรถอยู่แต่มือก็เล่นโทรศัพท์ไปด้วย แทนที่สติกับสมาธิจะโฟกัสอยู่กับการขับรถ ก็กลับกลายเป็นว่าถูกแชร์ไปโฟกัสกับการเล่นโทรศัพท์แทน”
 
เหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่อาจคาดฝันมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะฉะนั้น จึงอยากจะให้ตัวคนขับ ขับรถให้อยู่ในความไม่ประมาทจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ตอนนั้น หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้
 
“ผู้ขับขี่จะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย เพราะในอาการที่ตกใจและขาดสติ ถ้ามีคนนั่งไปด้วยให้ดึงเบรกมือทันที เพื่อให้รถหยุดก่อน แต่ในกรณีนี้หากดึงเบรกมือหรือชะลอรถทันเหตุการณ์ก็อาจจจะไม่รุนแรงบานปลายไปขนาดนี้ แล้วก็อาจจะไม่ทะลุลงมา”



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น