xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ญี่ปุ่น ล้มเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นยืนแปดครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
วสุ ศรีธิมาสถาพร
กลุ่มจัดการกองทุน

2 ปีหลังการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นายชินโสะ อาเบะ ได้นำเสนอนโยบายต่างประเทศเชิงรุกโดยเริ่มปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยให้กลับมามีชีวิตชีวาสดใสอีกครั้ง หลังรับรู้ถึงปัญหาที่หยั่งลึกของญี่ปุ่นที่กินเวลานานเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านต่างๆ นับเป็นความพยายามสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นดั่งสุภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า “ล้มเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นยืนแปดครั้ง” ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมความไม่ย่อท้อของชนชาติ

รัฐบาลนายอาเบะได้ผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนลงด้วยการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าสู่ประเทศมากขึ้น ปรับลดภาษีธุรกิจจาก 35% เป็นระดับ 25% เพื่อช่วยให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ในส่วนของโครงสร้างประชากรและวัฒนธรรมได้ส่งเสริมภาคแรงงานด้วยการเปิดโอกาสแรงงานเพศหญิงด้วยการตั้งเป้าให้ผู้หญิงวัย 25-44 ปีมีงานทำเพิ่มขึ้น อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพในญี่ปุ่นได้ และสามารถปรับชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่นได้

นอกจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่น (BOJ) มีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ทำให้มีปริมาณเงินในระบบเพิ่มกว่า 2 เท่าในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณพิเศษ ทำให้ญี่ปุ่นสามารถหลุดจากภาวะเงินฝืดได้สำเร็จในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีทำให้ญี่ปุ่นถูกจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติว่าเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาช่วงก่อนและหลังการประกาศใช้นโยบาย พบว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับตัวขึ้นมาสอดรับข่าวการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยตัวกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นญี่ปุ่น และการปรับตัวขึ้นมาของราคาหุ้นในระยะยาว อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนกลับมาให้เป็นในผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE)

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นและค่าเงินเยนที่เป็นแรงส่งในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น หลังการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาเบะโนมิกส์ตั้งแต่ปี 2012 ต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม 2014 อัตราส่วนทางการเงินโดยเฉพาะอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสามัญ (Return on Common Equity) และอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ (Return on Capital) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาด TOPIX ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับแรงส่งของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจาก 76 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 เป็น 105 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 ทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งจากการส่งออก

กล่าวโดยสรุป ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่ดำเนินมาอย่างถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลง และการปรับโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เมื่อประกอบกับเงินเยนที่อ่อนค่าแล้วน่าจะส่งผลบวกทำให้บริษัทญี่ปุ่นสามารถเติบโตต่อไปได้อีกในระยะยาว

ทีมงานกองทุนบัวหลวงเล็งเห็นโอกาสของการเติบโตในระยะยาว จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการเสนอขาย “กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นญี่ปุ่น (B-NIPPON)” ซึ่งมีนโยบายลงทุนโดยตรงในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ชื่อว่า Nomura Japan Strategic Value Fund Class A (JSV Fund) ซึ่งบริหารจัดการโดย Nomura Asset Management โดยเฉลี่ยในรอบปีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่ง JSV Fund เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยอาจลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด

ที่ผ่านมา JSV Fund ถือได้ว่ามีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ มีแนวทางการคัดเลือกหลักทรัพย์แบบ Bottom Up ที่เน้นคัดสรรบริษัทที่มีมูลค่ากิจการแข็งแกร่ง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 JSV Fund ได้รับการจัดอันดับจากมอร์นิ่งสตาร์เป็นระดับกองทุนห้าดาว และ B-NIPPON มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 สำหรับส่วนที่เหลืออาจมีไว้เพื่อสร้างผลตอบแทนในจังหวะเวลาที่ทีมจัดการกองทุนเห็นสมควร

กองทุนเปิด B-NIPPON เปิดให้ผู้ที่สนใจจองซื้อหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 18-25 พฤศจิกายน 2557 ที่ราคา 10 บาท ด้วยมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนขายหน่วยลงทุนกรุงเทพประกันชีวิต หลักทรัพย์บัวหลวง หลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น