xs
xsm
sm
md
lg

หยุดตระหนก! อย.ยันไม่มี “สาหร่ายพลาสติก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สาหร่ายปลอมลักษณะคล้ายพลาสติก ระบาดที่ จ.แม่ฮ่องสอน หลังร้องเรียนให้รีบเอาออกจากท้องตลาดโดยด่วน ล่าสุด อย. พิสูจน์พบ ที่แท้คือสาหร่ายจริง! วอนผู้บริโภคหยุดตื่นตระหนก

พิสูจน์แล้ว สาหร่ายจริงจากจีน
ศุภรัศมิ์ ปวงประเสริฐ ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปยังสำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอให้ตรวจสอบสาหร่าย เนื่องจากมีความผิดปกติคล้ายพลาสติก กลัวเกิดอันตราย โดยกล่าวว่า ได้ซื้อสาหร่ายมาจากท้องตลาดใน อ. แม่สะเรียง ราคาห่อละ 20 บาท เพื่อนำมาประกอบอาหาร เมื่อนำมาแช่น้ำพบว่าสาหร่ายแผ่ขยายเป็นแผ่นและมีความเหนียวผิดปกติ ลักษณะคล้ายพลาสติก กลัวเกิดเป็นอันตราย จึงได้เดินทางมาร้องทุกข์ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสาหร่ายจริงหรือไม่



หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าพบสาหร่ายปลอมที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ทาง อย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจากการสุ่มตัวอย่างไม่พบพลาสติกปลอมปน แต่พบเป็นสินค้าประเภทอาหารทั่วไป ไม่มีอย. ไม่แสดงชื่ออาหาร วันเดือนปีที่ผลิตและที่อยู่นำเข้าหรือผู้ผลิต และเชื่อว่าไม่น่าจะมีการนำพลาสติกมาปลอมเป็นสาหร่าย เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าสาหร่ายทะเล และปัจจุบันสาหร่ายที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร ที่ขออนุญาตถูกต้องกับ อย.มีแค่ 20 ยี่ห้อเท่านั้น ทั้งนี้เตรียมส่งตัวอย่างสาหร่ายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจหาสารโลหะหนัก หรือปรอทต่อไป

บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า “จากการร้องเรียนครั้งนี้ เขาไม่แน่ใจว่ามันใช่หรือไม่ใช่สาหร่ายจริงหรือไม่ เลยมายื่นหนังสือร้องทุกข์ที่กรมสาธารณสุขแม่สะเรียงและเอาตัวสาหร่ายมาด้วย จากที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู เก็บตัวอย่างจากผู้นำเข้า20ราย พบว่าไม่ใช่สาหร่ายปลอม

 สาหร่ายที่ตรวจสอบนั้น มันไม่มีลักษณะที่เป็นพลาสติกเลย เราเลยนำพลาสติกมาตัดให้เป็นเหมือนสาหร่ายก็ชัดเจนว่ามันไม่เหมือนกัน ถ้าดูด้วยตาจะเห็นถึงความต่างกันเยอะ เอามาส่องกล้องดูก็ต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับพี่น้องประชาชนไม่ต้องกังวล ยังไม่เคยเจอจริงๆ ว่าเอาพลาสติกมาทำสาหร่าย มันไม่คุ้มเพราะสาหร่ายมันไม่ได้มีราคาแพงถ้าทำของปลอม

สำหรับการสังเกตว่าสาหร่ายที่อยู่ในท้องตลาดเป็นสาหร่ายจริงหรือไม่ หากดูจากภายนอก ต้องมีลักษณะเป็นหยักๆ ไม่เรียบและมีกลิ่นคาวปลา เมื่อแช่น้ำสาหร่ายจะมีเมือกๆ นิ่มๆ เวลาทานจะขาดง่าย แต่ถ้าเอาพลาสติกไปแช่น้ำมันจะเรียบและขาดยาก”




 ทั้งนี้ เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ และไขข้อข้องใจ ผู้ร้องเรียนจึงฝากเอาไว้ทิ้งท้ายผ่านเฟซบุ๊ก "บ้านผึ้งเฮือนกานต์ รีสอร์ท" โดยมีใจความว่า "ศุภรัสมิ์ และครอบครัว พร้อมชาวแม่ฮ่องสอน ขอขอบพระคุณ ชาวแฟนเพจทุกเพจ โพสต์ทุกโพสต์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน สื่อมวลชน ทุกแขนง พ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบในครั้งนี้ และทางครอบครัวก็ไม่ได้มีเจตนาทำลายธุรกิจของใคร แต่เรื่องนี้มันเกิดกับคนในครอบครัว และชาวแม่ฮ่องสอน จึงขอตรวจสอบให้รู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ และข้อมูลความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค จึงขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนที่ให้กำลังใจตลอดมาค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะ"

ดูอย่างไร อย.จริง-ปลอม?
การตรวจสอบครั้งล่าสุดของ อย. ขัดแย้งกับการตรวจของกลุ่มงานสาธารณสุขก่อนหน้า โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลาก อย. ทั้งที่ในภาพและคลิปมีฉลากติดอยู่ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวทิ้งท้ายว่า

 “สาหร่ายเจ้านี้เป็นสาหร่ายที่นำเข้าจากจีน ผิดตรงที่ไม่มีฉลากที่ชัดเจน ปกติฉลากสาธารณสุข จะระบุว่าใครเป็นคนนำเข้า และใครเป็นผู้ผลิต แต่เจ้านี้ระบุแต่ข้อความที่เป็นเท็จ เช่น บอกว่าได้รับการรับรองจากอย. ความจริงแล้วสาหร่ายที่เอามาทำอาหารพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมาย อย. ไม่จำเป็นต้องมาขอเลข อย. แต่คนนำเข้าต้องทำฉลากให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ตัวผู้นำเข้ามีความผิดฐานไม่ขออนุญาตนำเข้า ทำฉลากไม่ถูกต้อง และแอบอ้างว่าผ่าน อย.แล้ว”

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 วันก่อน ดำรงค์ นัยบุตร สาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง งานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ได้ประสานเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบและเปิดเผยผ่านคลิปบนเฟซบุ๊กว่า

“เนื่องจากฉลากไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 29 ฝากบอกผ่านคลิปให้ร้านค้าต่างๆ ยุติการขายสาหร่ายชนิดดังกล่าว
ส่วนเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เราจะส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งนะครับ"

อย่างไรก็ตาม จากตอนแรกที่เป็นข่าวครึกโครมสาหร่ายปลอมระบาด ล่าสุดทาง อย. พิสูจน์แล้วว่าคือ "สาหร่ายจริง" และที่โทษกันไปมา ว่าสาหร่ายนั้นผ่าน อย. มาได้อย่างไร สรุปแล้วสัญลักษณ์ที่เห็นคือ "อย. ปลอม" จากเหตุการณ์นี้ เป็นการเตือนผู้บริโภคให้หมั่นตรวจสอบสินค้าให้ดีเสียก่อน ทั้งยังสะท้อนให้เห้นพลังของผู้บริโภคให้สื่อและหน่วยงานทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาตรวจสอบอย่างจริงจัง และหากเกิดข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ ที่สายด่วน อย. 1556

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live







ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น