xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดดรามา “สุนัขน้ำทิพย์”! แฉกลยุทธ์ “คนหากินกับหมา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นอีกกรณีช่วยเหลือสุนัขที่ยังคงเต็มไปด้วยข้อกังขา โดยเฉพาะกรณีล่าสุด “น้ำทิพย์” สุนัขซึ่งมีกระแสบอกว่า ถูกข่มขืน แต่ก็ต้องสงสัยจากหลายฝ่ายอย่างมาก

จนท้ายที่สุดก็เหมือนจะเข้าพล็อตสูตรสำเร็จที่เกิดขึ้นหลายครั้งในสังคมไทย กับการเรี่ยไรเงินบริจาคที่เต็มไปด้วยดรามา การแฉ ตรวจสอบ กระทั่งคนร้ายลับหายหอบเงินเข้ากลีบเมฆ เหลือเพียงคำถามต่อสังคมไทยว่า น้ำใจที่ดีงามกลายเป็นเพียงเครื่องมือหากินของคนบางคน ใช่หรือไม่?

มหากาพย์ “น้ำทิพย์”

หลังจากมีการแชร์ภาพพร้อมเรื่องราวของ “น้ำทิพย์” สุนัขพันธ์ปั๊กเพศเมียซึ่งมีการเปิดเผยทีแรกว่า ถูกคนโรคจิตข่มขืนกระทำชำเราจนป่วยด้วยโรคร้าย กลายเป็นเศร้าสะเทือนใจที่พาให้หลายคนมีความรู้สึกร่วม นำพามาซึ่งการเรียกร้องรณรงค์พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อเยียวยาช่วยเหลือสุนัขที่ประสบชะตากรรมอันแสนโชคร้าย

ทว่าหลังจากเรื่องราวนั้นกลายเป็นกระแส ก็มีการตั้งข้อสงสัยต่อกรณีนี้ถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ การเปิดรับบริจาคทั้งที่ผู้รับอุปการะบอกว่าตนเองฐานะดี มีคนพยายามรับมาช่วยเหลืออีกทอดแต่กลับไม่ยอมให้ช่วยเหลือ ทั้งยังปฏิเสธคำแนะนำให้แอดมิดอยู่โรงพยาบาลจากแพทย์ แต่กลับนำมาถ่ายรูปเรี่ยไรเงินเพิ่มเติม

ต่อมา ชุติกาญจน์ ทรัพย์ศุภธาดา ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “น้องเมรี เมรี ลั้นลา” มีการให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีข่าวช่องหนึ่งว่า ไม่เคยบอกว่าสุนัขน้ำทิพย์ถูกล้วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด แท้จริงแล้วมีคนสร้างเรื่องให้เข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า ตนเองบริสุทธิ์

และโพสต์ข้อความเพียงว่า สุนัขป่วยเป็นโรคเรื้อนเปียกและมีน้ำเหลืองไหลออกมาตามลำตัวและที่อวัยวะเพศบวมเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังเผยว่า ไม่เคยเรี่ยไรเงินแต่อย่างใด แต่มีคนขอเลขบัญชีของเธอไปเปิดรับบริจาค

แต่แล้ว สิ่งที่เธอพูดก็ถูกโต้ทันควัน เมื่อบุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดีพร้อมทั้ง โย - ยศวดี หัสดีวิจิตร 2 ดาราที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสัตว์โดยเฉพาะสุนัขมาหลายกรณีได้งัดเอาหลักฐานมากมายออกมาแฉ ทั้งเลขบัญชีส่วนตัวที่หลุดออกมาจากการเรี่ยไรเงิน และการโพสต์กับบทสนทนาที่ตัวผู้อุปการะได้มีการบอกว่า สุนัขน้ำทิพย์ถูกกระทำชำเราจริง ทั้งยังบทสนทนากับหมอที่ให้การรักษาเผยว่า จากการตรวจไม่พบว่าสุนัขถูกกระทำชำเราแต่อย่างใด

"(ซ้ายบน) ล่าสุด นางน้อยใจ สื่อไม่เข้าข้างนาง ! (คือรายการที่นางไปออก ขอให้โย (ที่โดนนางด่า หาผัวให้ได้ก่อนเหอะ !) เข้าสาย ! แต่นางปฏิเสธ ขอพูดคนเดียว ! โทษทีเหอะ ! คิดว่าสื่อเขาโง่เหรอครับ ? อะไรเป็นประเด็นเพื่อเรียกเรตติ้ง ที่ไหนก็ทำกัน ! แล้วเขารู้ทันว่านางพูดไม่หมด เคลียร์ตัวเองไม่ได้และที่นางได้ออก เพราะเป็นประเด็นกะดารานั่นแหละ นางสำคัญตัวผิดไปเปล่า ? (ขวาบน) นางคงมั่นใจมากว่านางพูดอะไรคนต้องเชื่อหมด สื่อจะถามตามที่นางวางไว้ 555 ! (กลาง) ข้อความในเฟซนางวันแรกที่รับน้องหมาไป นางคงไม่คิดว่าจะกลายเป็นข่าวใหญ่ (ซ้ายล่าง) เราคุยกับหมอที่นางอ้างพาหมาไปตรวจแล้วหมอบอกว่า หมาโดนข่มขืน ! (ซ้ายล่าง) น้อง ๆ ในเฟซขอเล่าความจริงบ้าง .... ที่โพสต์มาทั้งหมดเนี่ยะ แค่อยากจะบอกว่า ความลับไม่มีในโลก, ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว, กรรมมีจริงและตามทันในชาตินี้นั่นแหละ คุณกลายเป็น บุคคลอันตรายต่อสัตว์และสังคมไปแล้ว ! ดังสมใจ ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ ! ยังมีคำโกหกอีกหลายอย่าง แต่ในเน็ตเขาแฉกันว่อนแล้ว ! ไปหากันเอาเอง มันเยอะ !" บุ๋ม - ปนัดดา โพสต์ภาพพร้อมข้อความดังกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้น

"ในเมื่อยังไงก็ไม่ยอมพูดความจริงและยอมรับในสิ่งที่ทำ คนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะเปิดโปงสิ่งที่ตัวทำนะ ! ใจก็อยากขอให้ยุติและขออภัยจากสังคมซะ..ในสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตอนนี้อย่างน้อย ๆ ก็กู้ชื่อให้น้ำทิพย์นะคะ ที่ทำทุกอย่างเพราะสงสาร ถ้าได้ช่วยเขาจะทำให้ดีที่สุด ชีวิตสุดท้ายก่อนน้องตายดูแล้วทรมานและเหนื่อยเกินไป แถมตายแล้วก็ยังมัวหมองอีก โยได้คุยกับคุณหมอที่เมรีอ้างและได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนเป็นข้อความ (ได้โพสต์ในเฟซแล้ว) ว่า ได้ตรวจหมาจริงที่เมรีนำมาให้ตรวจและยืนยันว่าไม่ได้วินิจฉัยว่าโดนชำเราอย่างแน่นอน มีคนเอาหมอไปแอบอ้างนั่นก็คือเมรีนั่นเอง ! เป็นอุทาหรณ์ให้คนที่อยากช่วยน้องหมานะคะ ดูให้ดีอีกนิด สนับสนุนคนที่ใจรักและมีเมตตาอยากช่วยสัตว์จริง ๆ ให้มีพื้นที่อยู่ คนที่ไร้สาระก็อย่าไปยุ่งด้วย เชื่อว่าเมรีก็เป็นคนรักสัตว์คนหนึ่งแต่การมาเป็นจิตอาสา อย่าหลงระเริงไปกับคำชื่นชมจนลืมสิ่งที่ต้องทำจริง ๆ ถ้าวันนี้เขารับผิดก็ยินดีที่จะให้ที่อยู่ในสังคมคนรักสัตว์ต่อนะคะ แต่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าสำนึกผิดจริงและเข้าใจจุดประสงค์ของพวกเราอย่างจริงใจ ไม่แอบแฝงและต้องเลิกบิดเบือนความจริง เพราะตอนนี้หลังจากทุกอย่างกระจ่างแล้ว คนหลายคนได้ขอเงินบริจาคคืนแต่เมรีก็ยังสาดความผิดให้ทุกคนไม่จบ...ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องปล่อยแล้ว เราทำได้ก็แค่นี้จริง ๆ ขอบคุณทุกคนในเฟซที่ช่วยเหลือและหาหลักฐานกันมายืนยัน ถ้าไม่มีพวกคุณงานนี้คงจบยากจริง ๆ ขอบคุณองค์กรทำดีที่เหน็ดเหนื่อยตามเรื่องนี้กันมาหลายวันแล้ว สุดยอดทีมค่ะ #องค์กรทำดี #สนับสนุนพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ภาคประชาชน20ข้อ @boompanadda @kaechollada @chanyatamada" คือข้อความของโย - ยศวดี ที่โพสต์ในเวลาถัดมา

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้สุนัขน้ำทิพย์ก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว แน่นอนว่า ข้อครหาดังกล่าวก็ไม่แน่ว่าจะสามารถทวงถามหาความยุติธรรมของการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ทว่าบทเรียนจากกรณีนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีค่าให้สังคมได้เรียนรู้

รู้ทันกลยุทธ์หากินกับสัตว์

การบริจาคเงินให้ความช่วยเหลือถือเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในประเพณี วัฒนธรรมในแบบที่คนไทยชอบทำกัน คนไทยเป็นคนขี้สงสาร ในหลายครั้งความสงสารเหล่านั้นก็นำมาซึ่งสังคมอยู่เต็มไปด้วยการหลอกลวงกันมากขึ้น

ดูเหมือนความเมตตาสงสารกลายเป็นเพียงช่องทางในการทำมาหากินของคนใจบาปบางคน กับกรณีของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขนั้น ก็กลายเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นทุกที ชัญญ่า ทามาดะ ดารานักแสดงที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือสุนัขมาหลายปี เผยว่า มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมากในสังคมไทย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากจะบอกว่า แต่ละกรณีที่เกิดขึ้นนั้นผู้ก่อเหตุได้เงินไปไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ทั้งยังมีการจับได้น้อยกว่าคนที่ก่อเหตุมาก

“มีบ่อยเหมือนกันคะ ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะคนไทยเดี๋ยวนี้ก็ใกล้ชิดกับสุนัขมากขึ้น รักสุนัขกันมากขึ้น พอมีภาพสุนัขประสบเหตุขอเรี่ยไร แล้วมีข้อความหลายคนก็สงสาร แน่นอนว่า บางคนเขาก็ไม่ได้คิดอะไรมาก โอนให้ไป 100 - 400 บาท บางคนก็โอนให้เป็น 1,000 แต่ไม่ได้ติดตาม สิ่งนี้มันเหมือนอาศัยความมีน้ำใจของคนมาเป็นช่องโหว่ในการทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”

โดยกลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เธอเผยว่า กรณีที่จับได้โดยมากมาจากการนำรูปเก่ามาเล่าใหม่ นำรูปเดิมที่เคยมีการปิดเคสไปแล้วมาเรี่ยไรขอเงินบริจาค

“ชัญญ่าเคยเจอเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเคสที่ชัญญ่าดูเอง แล้วรูปที่ชัญญ่าลงก็ไม่ได้มีลายอะไรอยู่ เป็นรูปธรรมดา มันก็มีคนนำไปโพสต์ใหม่ และเขียนเล่าเรื่องใหม่ มโนใหม่หมดเลยว่าเป็นยังไง น่าสงสารมาก คนก็มาบริจาค”

อีกวิธีที่นิยมใช้คือ การหาสุนัขบาดเจ็บมาจริงๆ ถ่ายรูปลง เรี่ยไรเงิน แต่พอรักษาเสร็จกลับยังคงเรี่ยไรเงินต่อ พร้อมทั้งบอกว่า สุนัขยังไม่หายดี ทั้งที่จริงๆ ปิดเคสเรียบร้อยไปแล้ว

และอีกแบบที่เธอมองว่า ไม่ใช่การกระทำที่ดีนักคือ การเปิดบ้าน เปิดมูลนิธิเล็กๆ ในการเลี้ยงดูสุนัขซึ่งจะมีการรับสุนัขมาเลี้ยง 100 กว่าตัว และเรี่ยไรเงินเรื่อยๆ เธอมองว่า ด้านหนึ่งคนอาจจะเห็นว่า เงินที่โอนบริจาคเป็นค่าเลี้ยงดูสุนัข ทว่าเงินที่ได้รับนั้นเธอมองว่า มีเยอะมากเกินจำเป็น แน่นอนว่า เงินส่วนที่เหลือย่อมไม่ตกถึงตัวสุนัข หากแต่เป็นคนเลี้ยงดูที่ไม่ต้องทำงานใดๆ ก็มีชีวิตที่สะดวกสบายได้

“ถ้าสุนัขไม่ได้ป่วย สุขภาพ มันก็ไม่ได้เลี้ยงยากอะไรมาก กินอะไรก็กินได้ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้สูง เขาได้รับบริจาคทีหนึ่ง 80,000 บาท มันเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นเงินเหล่านั้นมันก็ไม่ได้ไปถึงตัวสุนัขอย่างที่คนบริจาคอยากให้ไปถึงทั้งหมด”

ทั้งนี้ เธอเผยถึงวิธีการตรวจสอบ ให้ดูตั้งแต่ที่มาที่ไปของสุนัข จริงแค่ไหน มีรูปอัปเดตอาการตลอดหรือไม่ หากมีแล้วเบอร์บัญชีมีการถ่ายรูปกับกรณีที่เกิดอย่างไร มีหลักฐานการใช้เงินในบัญชีกับบิลจ่ายค่ารักษาอย่างไร ไปโรงพยาบาลไหนมีการรายงานอัปเดตหรือเปล่า ผู้บริจาคสามารถตรวจสอบด้วยการโทร.ไปเช็กกับโรงพยาบาลได้อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานค่ะ ซึ่งของแบบนี้บางทีมันก็ยากในการจะตรวจสอบ แต่เราอาจจะดูเหตุดูผล เพราะกรณีหลอกลวงมันก็มักจะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่เสมอ”

สำหรับข้อแนะนำถึงผู้ใจบุญที่อยากจะช่วยเหลือสุนัข เธอเผยว่า หากมีเงินมากพอก็อาจจะรับเคสมาดูแลเองจากมูลนิธิต่างๆ ที่ทำงานด้านนี้อยู่ ตัวอย่างเช่น มูลนิธิเดอะว๊อยซ์ ซึ่งจะมีเคสช่วยเหลือสุนัขต่างๆ เข้ามาโดยมากแล้วค่าใช้จ่ายต่อเคสไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท หากรับเคสมาเองก็จะสามารถรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเลือกโรงพยาบาลได้

“แต่ถ้าจะบริจาคจริงๆ ตามแต่ละกรณีเป็นพิเศษจริงๆ ก็ควรเช็กกับทางมูลนิธิว่าช่วยตรวจสอบเคสนี้หน่อย เพราะคนที่ช่วยหมามานานๆ เขาจะรู้ เฮ้ย ตัวนี้ช่วยไปแล้วนะ ตัวนี้เออ อาจจะจริงก็ได้ ตัวนี้เห็นแล้ว ตัวนี้ตายไปแล้ว ถ้ามูลนิธิใหญ่ๆ ก็จะรู้คะ”

ในส่วนของการเอาผิดด้านกฎหมายนั้น พ.ต.อ. สมพร แดงดี รอง ผบก.กองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เผยว่า การกระทำในลักษณะหลอกลวงเรี่ยไรเงินบริจาคผ่านทางเฟซบุ๊กแล้วนำเงินบริจาคไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจะมีความผิดตามกฏหมายถึง 2 อัตราด้วยกัน

มาตรา 341 ในข้อหาผู้ใดกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 342 ในข้อหาฉ้อโกง

นอกจากนี้การกระทำดังกล่างยังอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนผู้ใดกระทำความผิด ที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย



เมื่อเหล่าคนรักสุนัขรู้ทั้งกฎหมายและวิธีตรวจสอบแล้ว หากยังคงต้องการจะให้ความช่วยเหลือสุนัข ต้องการให้เงินบริจาคเกิดผลมากที่สุด ก็คงมีเพียงลงมือจัดการกับผู้คนที่มองว่า ความสงสารเป็นเพียงช่องทางในการหาเงินง่ายๆ เพื่อกำจัดคนเหล่านี้ออกไปจากสังคมให้ได้เท่านั้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE






ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น