“28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน แต่สุดท้ายก็ยอม” โพสต์เดียวจากแฟนเพจ Durex Thailand พร้อมกับคำอธิบายทีเล่นทีจริงว่า “เค้าเรียกว่าขัดขืนพอเป็นพิธี ใช่ป่ะ ไหน...มา comment ตอบซิ!!” ทำเอาแบรนด์พังในชั่วพริบตา ถูกสังคมรุมประณามในข้อหาดูถูกเพศแม่และส่งเสริมให้เกิดการข่มขืนอย่างไร้ศีลธรรม ซ้ำยังตั้งคำถามเรื่องตัวเลขสถิติว่าเอาข้อมูลมาจากไหน
งานนี้ยังไม่ได้คำตอบว่า 28% ของผู้หญิงเป็นอย่างที่บอกไว้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ มากกว่า 28% แบน "ดูเร็กซ์" ไปแล้วเรียบร้อย!!
สำนึกก็ดี แต่มันไม่พอ!
“ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) เสียใจอย่างสุดซึ้งและขออภัยอย่างสูงในการนำเสนอข้อความที่ไม่เหมาะสมในเพจ Durex Thailand ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ดูเร็กซ์มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ให้มีความเข้าใจที่ดีต่อกันและกัน รวมถึงมีสุขภาวะทางเพศที่สมบูรณ์และปลอดภัยมาโดยตลอด สุดท้ายนี้ ทางดูเร็กซ์จะเพิ่มความเข้มงวดกวดขันและตั้งมาตรการในการกลั่นกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่”
(ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการผ่านแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก)
ถึงแม้จะออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการผ่านหน้าแฟนเพจ “Durex Thailand” ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนตัวเลือกนี้จะยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับโพสต์ก่อนหน้าบนแฟนเพจที่ทำให้กลายเป็นประเด็นเดือดในสังคมที่บอกเอาไว้ว่า “28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน แต่สุดท้ายก็ยอม” บวกกับวลีเด็ดหาว่าเป็นการ “ขัดขืนพอเป็นพิธี” ของฝ่ายหญิง ใครที่ได้อ่านข้อความเหล่านี้ต่างตีความไปในทิศทางเดียวกันว่าสะท้อนค่านิยมการเหยียดเพศ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังส่งเสริมให้ฝ่ายชายข่มขืนฝ่ายหญิง
(โพสต์ต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดประเด็นร้อน)
แม้แต่สำนักข่าวเมืองผู้ดีอย่าง “Mirror” ยังรับไม่ได้ ตีข่าวเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็น เขียนถึงปรากฏการณ์ ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) กับการโพสต์ส่งเสริมการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง ซ้ำยังนำประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งนี้ ไปเชื่อมโยงกับข่าว 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ “เดวิด วิลเลียม” และ “ฮันนาห์ วิคตอเรีย” ซึ่งถูกคนร้ายฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดบนเกาะเต่าและเพิ่งพบเป็นศพเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเนื้อข่าวระบุว่า “ตำรวจกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนและมีความเป็นไปได้ว่าเธออาจจะถูกข่มขืน”
(สำนักข่าว Mirror ติติง Durex Thailand)
(ประเด็นเหยียดเพศ ถูกสำนักข่าวต่างประเทศไปโยงกับคดีนักท่องเที่ยวถูกฆาตกรรมในไทย)
ถึงแม้จะเป็นการเขียนถึงเพียงสั้นๆ ในสื่อต่างประเทศ แต่กลับยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์เสียๆ หายๆ ของประเทศให้เลวร้ายลงไปใหญ่ งานนี้แค่เพียงคำขอโทษบนเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียวจึงดูเหมือนจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะโพสต์ดังกล่าวไม่ใช่แค่ความผิดพลาด แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมเรื่องการปฏิบัติต่อเพศหญิงอีกด้วย ในฐานะนักสื่อสารการตลาดชื่อดังอย่าง “อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” จึงขอฝากทางออกที่เหมาะสมให้บริษัท ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) ลองเก็บไปคิดดูสักนิด
“การที่เขาออกมาขอโทษสังคมผ่านแฟนเพจของตัวเอง อันนี้ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งครับ แต่ผมว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สมเกียรติเท่าไหร่ ถ้าเป็นผม ผมจะตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอโทษสังคมไปเลยครับ การออกมาแก้ปัญหา-แก้ข่าวจากประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราสามารถเลือกได้หลายวิธี บางกรณีแค่ใช้โซเชียลมีเดียตอบกลับก็ได้ แต่บางกรณีก็ไม่เหมาะ
ยกตัวอย่าง กรณีคุณตู่-ปิยวดี มาลีนนท์ ที่มีปัญหากับ วาววา ณิชารีย์ แล้วอีกฝ่ายออกมาโพสต์ขอโทษผ่านอินสตาแกรมเพราะเลี่ยงไม่อยากเจอหน้า ถามว่ามันพอมั้ย มันไม่พอนะครับ เรื่องความขุ่นข้องหมองใจแบบนี้ มันต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ต้องขอพบขอคุยขอโทษแบบเจอตัวจะดีที่สุด มันก็เหมือนเวลาเราจะแต่งงานนั่นแหละครับ เด็กๆ จะเชิญผู้ใหญ่ไปงาน ไม่ใช่มานั่งร่อนการ์ดผ่านไปรษณีย์ แต่เราต้องเดินทางไปกราบเรียนเชิญด้วยตัวเอง มันถึงจะเหมาะสม
ส่วนกรณีนี้ ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะมีต้นเหตุมาจากบนหน้าแฟนเพจ “Durex Thailand” ก็จริง แต่ในเมื่อเรื่องมันเป็นข่าวคราวใหญ่โต เป็นประเด็นสังคมแล้ว คุณจะมานั่งโพสต์ขอโทษ ขอโทษด้วยนะครับที่โพสต์ไปแบบนั้นแบบนี้ มันไม่ได้แล้ว อย่าคิดว่าแค่โพสต์ขอโทษแล้วปล่อยให้เรื่องเงียบไปเดี๋ยวคนก็ลืม อย่าลืมว่าประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมันสำคัญต่อจิตใจคนนะ ถ้าคุณไม่ทำให้สังคมเห็นว่าคุณให้ความสำคัญ ไม่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอโทษอย่างเป็นทางการและบอกว่าดูเร็กซ์มองประเด็นนี้ยังไงบ้าง เรื่องที่กระทบต่อเรื่องเพศมันเป็นเรื่องใหญ่นะครับ พอมันเป็นเรื่องที่มีน้ำหนัก คุณก็ควรจะเลือกวิธีขอโทษที่ดูมีน้ำหนักหน่อย ไม่อย่างนั้นมันก็ดูเหมือนคุณมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร มันดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญ”
ออกมาขอโทษ เพื่อจะทำซ้ำ!!?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โฆษณาจากทาง ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) สร้างกระแสแปลกๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศออกมาให้เห็น “นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) บอกเลยว่าเป็นแบบนี้มาตลอดทุกปี!!
“อันนี้ต้องไปดูประวัติของบริษัท ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) ดูนะครับ จะเห็นว่าแต่ละปีเขาจะประชาสัมพันธ์ออกมาในแนวนี้ตลอดในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีลักษณะเน้นเรื่องสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมทางเพศที่ผิดไปจากค่านิยมที่ควรจะเป็น ผิดไปจากค่านิยมที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง จะมีการปล่อยโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบนี้ทุกๆ ปี เช่น ดูเร็กซ์ชี้ว่า สาวไทยนอกใจคนรักติดอันดับโลก อีกปีนึงก็บอกว่าดูเร็กซ์ชี้ ชายไทยนอกใจคนรักติดอันดับหนึ่ง อะไรประมาณนี้ ฯลฯ จะออกมาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ทำเป็นตัวเลขออกมาเลยว่าคนไทยนอกใจคนรักกี่คน หรือออกมาบอกว่าเจ้าโลกของคนไทยมีขนาดเท่านั้นเท่านี้ อยู่ในอันดับเท่าไหร่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
(โพสต์ล้อเลียน แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ ดูเร็กซ์ ประเทศไทย)
ผมรู้สึกว่าองค์กรของ ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) เป็นแบรนด์ที่สะท้อนค่านิยมทางเพศที่มันต่ำ และเห็นการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องธรรมดา เป็นค่านิยมที่ให้ความชอบธรรมกับการสำส่อนทางเพศ ตรงนี้เราควรจะตั้งคำถามไปยังบริษัทเขาให้ชัดเจนว่า บริษัทเขามีนโยบายแบบนี้ใช่มั้ย ซึ่งผมก็ได้ถามเขาไปแล้วในจดหมายที่ผมส่งถึงบริษัท ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) แต่เขาก็ยังไม่ได้ตอบอะไรผมมานะครับ
ส่วนดูเร็กซ์ในต่างประเทศ ผมไม่ได้ส่งจดหมายอะไรไปครับเพราะส่งไม่ได้ ตอนแรกตั้งใจจะส่งไปที่บริษัทแม่ของทางดูเร็กซ์นั่นแหละครับ แต่เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ มันมีแบบฟอร์มให้เราติดต่อไปที่บริษัท แต่ข้อมูลที่กรอกต้องระบุว่าเราอยู่รัฐไหนในสหรัฐอเมริกา ผมก็เลยกรอกไม่ได้ ผมก็อยากจะถามว่าเขามีความคิดเห็นยังไงต่อประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง แต่ตัวเว็บไซต์ก็ไม่เปิดโอกาสให้เราส่งไปถามได้
(ข้อความที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว)
ล่าสุด หนังสือพิมพ์ Mirror ของอังกฤษก็ได้ลงข่าวเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ในข่าวเขาพูดถึงเลยว่าบริษัท ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) ได้ออกมาขอโทษต่อการโฆษณาที่สนับสนุนการข่มขืน (Courtesy Rape) ที่ไร้รสนิยมหรือมีรสนิยมที่ต่ำทราม (Tasteless) เขาใช้คำนี้เลยครับ ผมก็คิดว่าบริษัทแม่ของดูเร็กซ์ก็เป็นบริษัทต่างชาติ ถ้าเกิดจะปฏิบัติต่อประเทศโลกที่สามด้วยมาตรฐานเดียวกันกับเขา มันก็น่าจะดี
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ในเว็บไซต์ของทาง Mirror มีการสอบถามความคิดเห็นของคนที่อ่านข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่ารู้สึกยังไงกับประเด็นการเหยียดเพศครั้งนี้ ปรากฏว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อ่านข่าวนี้ให้ความเห็นว่ามันเป็นการละเมิด เป็นการทำเกินไป ซึ่งก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าใครๆ ก็รับไม่ได้
(ผู้อ่านกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการเหยียดเพศกรณี Durex Thailand)
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าทาง ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) ควรจะออกมาขอโทษต่อสาธารณชนและขอโทษต่อผู้หญิงทุกคน ไม่ใช่แค่ออกมาเขียนว่าคนอ่านเข้าใจผิด เพราะผมคิดว่าคนเขาก็เข้าใจถูกกันว่าคุณเขียนในลักษณะละเมิดศักดิ์ศรีของผู้หญิง และผมก็อยากจะรู้ว่าหลังจากเขาออกมาขอโทษแล้ว จะมีหลักประกันอะไรว่าเขาจะไม่ทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ อีก เพราะเขาก็เคยทำมาอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้อาจจะเป็นการฉวยโอกาสสร้างกระแสขึ้นมา แล้วก็ออกมาขอโทษพอเป็นธรรมเนียม จากนั้นก็ออกมาทำอีกเพื่อให้คนกล่าวถึงสินค้าของตัวเอง ให้ชื่อแบรนด์ออกมาปรากฏตามที่ต่างๆ มันเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของเขาหรือเปล่า”
โพสต์ไม่ระวัง ก่ออาชญากรรมทางอ้อม!
หลายคนอาจจะมองว่าประเด็นนี้คือดรามาเพื่อเรียกร้องความสนใจในสังคมไม่ต่างไปจากประเด็นขัดแย้งที่เกิดเป็นกระแสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สำหรับอาจารย์ธันยวัชร์แล้ว มองว่าครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งใหญ่มากๆ สำหรับคนโฆษณาเรื่องในความรับผิดชอบต่อสังคม
“ผมคิดว่าคนเขียนไม่คิดว่ามันจะมีปฏิกิริยาเชิงลบที่รุนแรงขนาดนี้ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาที่ออกมาดูถูกผู้หญิงแบบนี้นะ มันเหมือนบอกว่าผู้หญิงมารยาร้อยเล่มเกวียนอะไรทำนองนั้น คือเวลาทำโฆษณาออกมาเป็นข้อความหรืออะไรก็ตาม มันต้องหลีกเลี่ยงการที่จะไปทำให้เพศ, เชื้อชาติ, สถาบันการศึกษา หรืออะไรก็ตามที่เป็นประเด็นอ่อนไหวมันเกิดปัญหา
(โพสต์นี้จะกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนดูแลเพจต่อๆ ไป)
ต้องอย่าลืมว่าทุกวันนี้ผู้หญิงมีอิทธิพลมากนะต่อการซื้อสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ถุงยางอนามัย ใครบอกว่าผู้ชายเป็นฝ่ายเดียวที่ซื้อ เดี๋ยวนี้ผู้หญิงก็ซื้อเพื่อเอาไว้ป้องกันได้ครับในกรณีที่ผู้ชายไม่รับผิดชอบพกพา หรือถึงแม้ผู้หญิงจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของคุณก็ตาม แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะเอามาพูดอยู่ดี ถามว่ามันมีจริงมั้ยที่ผู้หญิงบางส่วนแกล้งทำเป็นขัดขืนแล้วสุดท้ายก็ยอมมีอะไร มันก็อาจจะมีจริงแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควรที่จะหยิบมาพูด โดยเฉพาะการหยิบมาทำเป็นโฆษณาแบบนี้ อย่างน้อยเขาต้องคิดแล้วว่ามันกระทบต่อผู้หญิงนะ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Feminism เรียกร้องสิทธิสตรีต้องไม่พึงพอใจอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นขัดแย้งตรงนี้มันทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสีย
เป็นไปได้ว่าทางแบรนด์อาจจะตั้งใจให้โฆษณาตัวนี้เป็นที่พูดถึง แชร์กันต่อๆ ไป หรือที่เรียกว่าเป็น “Viral” นั่นแหละครับ แต่การทำ Viral ที่ดีมันต้องไม่ทำให้เกิดภาพลบต่อแบรนด์นั้นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาดาราแก้ผ้าหรือทำอนาจาร ถามว่ามีคนพูดถึงเยอะมั้ย พูดถึงเยอะนะ เป็นประเด็นดังในสังคมอยู่ช่วงนึงนะ แต่ยังไงมันก็เป็นภาพลบ แล้วยิ่งกับแบรนด์ของสินค้ายิ่งต้องระวังเข้าไปใหญ่ต่อเรื่องภาพลบที่อาจจะเกิดขึ้น”
นอกจากเรื่อง “ภาพลักษณ์” ที่เสียไปจนแทบกู่ไม่กลับของทาง ดูเร็กซ์ (ประเทศไทย) ในครั้งนี้แล้ว “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์ยังเสื่อมลงไปด้วย หลายคนตั้งคำถามต่อทัศนคติการทำงานขององค์กร รวมถึงสถิติที่เอามากล่าวอ้างว่ามีความจริงอยู่มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ที่ติดตามข้อมูลเรื่องนี้มาโดยตลอด
“ผมอยากถามทางดูเร็กซ์อยู่ 2 ประเด็น คือประการแรก การประชาสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาเป็นไปในทิศทางนี้มันใช่นโยบายของทางบริษัทมั้ย เพราะก็มีให้เห็นอยู่ตลอด เน้นเรื่องความสำส่อนทางเพศ เน้นเรื่องรสนิยมทางเพศที่มันต่ำแบบนี้ มันเป็นการทำแบรนด์ให้เป็นตัวแทนของอะไร
ประการที่สองคือ ตัวเลขที่อ้างมาในโพสต์ว่า 28 เปอร์เซ็นต์ที่เขาพูดถึงผู้หญิงเนี่ย เขาได้ตัวเลขมาจากไหน ซึ่งมันก็มีตัวเลขสถิติแบบนี้อีกนะครับ อยากทราบว่ามันมีการวิจัยศึกษาจริงๆ หรือเป็นตัวเลขที่คิดขึ้นมา หรือถ้ามีสถิติจริงๆ ก็อยากจะรู้ว่ามันน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะข้อมูลตรงนี้มันก็เข้ามาส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของผู้คน เหมือนอย่างกรณีนี้สถิติพูดว่า เราล่วงละเมิดเขาไปเถอะ ผู้หญิง 28 เปอร์เซ็นต์นี้ เดี๋ยวเขาก็โอเค อย่างนั้นเหรอครับ
สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ฟังเรื่องราวความเจ็บช้ำหรือความปวดร้าวของผู้หญิงที่ถูกกระทำ ถ้าเกิดคนที่โพสต์ข้อมูลในเพจครั้งนี้เขาได้ฟังบ้าง เขาน่าจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นความเจ็บช้ำที่มันฝังอยู่ในความทรงจำของผู้ถูกกระทำ ก็อยากจะให้คำนึงถึงคนที่ถูกละเมิดบ้าง มันสร้างบาดแผลที่ยากต่อการเยียวยา และถ้าเขามาเห็นโพสต์หรือโฆษณาแบบนี้ แน่นอนว่าเขาจะต้องรู้สึกเจ็บปวดมากๆ ที่ถูกตอกย้ำกระทำซ้ำอีก
คนที่ทำงานในเรื่องให้คำปรึกษาจะรู้ดีว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำเหล่านี้ เวลาเขาเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เขาจะร้องไห้ น้ำตาไหล เขายังเจ็บอยู่ทุกวันที่นึกถึง แม้แต่เวลาเราสอบถามเพื่อให้คำปรึกษาเอง ยังต้องระมัดระวังว่าจะต้องไม่ไปให้เขาเล่าซ้ำเป็นการตอกย้ำเขาอีก เพราะฉะนั้น การโพสต์โฆษณาแบบนี้ เราก็ไม่น่าจะยอมให้มันเกิดขึ้นได้
ที่เรากำลังพยายามทำให้เกิดเป็นบทเรียนจากกรณีนี้คือ การทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมครับ เรื่องของนโยบายสาธารณะมันก็มีหลายระดับ มีทั้งระดับรัฐบาลและเอกชน ในภาคส่วนธุรกิจเองก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยกำหนดค่านิยมทางสังคมซึ่งควรจะสื่อสารออกมาในทางบวก การออกมาแสดงออกในทางที่จะไปละเมิด
ถามว่าจะโฆษณายังไงให้เหมาะสม มันก็มีวิธีอีกเยอะแยะครับ ถ้าคิดว่าการเปิดแฟนเพจเป็นการเปิดเพื่อให้คนแสดงทัศนะที่ละเมิดสิทธิของสตรี หรือปล่อยให้คนไประบายความหื่นของตัวเองบนเฟซบุ๊กเพื่อการตลาด ผมก็คิดว่าสังคมคงรับกับค่านิยมขององค์กรของเขาไม่ได้
ที่บอกว่าให้เขาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เราก็ไม่ได้คาดหวังให้เขาต้องมาสอนคุณธรรม-ศีลธรรมอะไรหรอกนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะสินค้าของคุณเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศซึ่งสัมพันธ์ในเชิงอำนาจในสังคมอยู่แล้ว ยิ่งในสังคมที่มองเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุความใคร่ เห็นเป็นสิ่งที่ถูกกระทำได้เหมือนในละครทีวี ตอกย้ำกันอยู่แบบนี้ ก็ต้องระวังเป็นธรรมดา เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนพูดถึงกันอยู่เสมอ แล้วยิ่งเราเป็นบริษัท ทำมาหากินอยู่ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศแล้วไม่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เลย ก็คิดว่าฝ่ายผู้บริหารก็ควรจะต้องพิจารณาคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ให้ดี
มันเป็นการผลิตซ้ำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง ดูเผินๆ แล้วกรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจจะไม่ได้ไปทำให้เกิดอาชญากรรมโดยตรง ถ้าเปรียบเทียบพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมเหมือนส่วนปลายภูเขายอดน้ำแข็งที่เลยพ้นน้ำขึ้นไป ส่วนที่อยู่ใต้น้ำที่สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวก็คือค่านิยมของสังคมนี่แหละครับ ถึงเราจะตัดส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งนั้นทิ้ง สั่งประหารชีวิตคนที่ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ถ้ายังมีส่วนใต้น้ำที่คอยหนุนให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้อยู่ ยังมีคนที่คอยยุแยงให้เกิดการล่วงละเมิดแบบนี้อยู่ สุดท้ายส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งก็จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอีก ก็จะเกิดอาชญากรรมซ้ำอีก ถ้าดูจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของดูเร็กซ์ในครั้งนี้ พฤติกรรมของเขาก็ไม่ต่างไปจากส่วนสนับสนุนให้เกิดภูเขาน้ำแข็งนั่นแหละครับ”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754