“เด็กๆ ต้องระวังกันไว้นะคะ เพราะว่าเมืองไทยเรามี "กลุ่มหลงเพศ" ด้วยค่า จากแบบเรียนสุขศึกษา ม.1 ต้องอ่านด่วนค่ะ... การศึกษาไทยช่างน่ากลัวนัก” โพสต์นี้โพสต์เดียวจากหน้าเพจเฟซบุ๊กของ “จีน-กษิดิศ สำเนียง” ศิลปินอินดี้ผู้ออกตัวว่าเป็นคนข้ามเพศ
เล่นเอาประเด็น “เหยียดเพศในแบบเรียน” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างรวดเร็ว สะเทือนวงการการศึกษาไทยให้คนก่นด่าว่า ปล่อยให้มีเนื้อหาแบบนี้ออกมาได้อย่างไร เข้าทางผู้เชี่ยวชาญช่วยชี้ความจริง “นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เจอตั้งแต่ปีที่แล้วและไม่มีใครแก้ไข ถ้าจะแก้ ต้องรอไปอีก 10 ปี!!”
รู้ว่าผิด แต่อีก 10 ปีค่อยแก้
“กลุ่มหลงเพศ คือกลุ่มที่ต้องใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้ามกับที่ตนเองเป็นอยู่ โดยมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองให้เป็นเพศตรงข้าม... เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมหรืออาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนของแม่ หรือการเลี้ยงดูเด็กในด้านเพศที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดการรับรู้ทางเพศของเด็กผิดปกติ ไปจนเกิดการหลงเพศได้”
“การเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นความผิดปกติในคนที่มีความรู้สึกทางเพศ ทัศนคติ ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
การเบี่ยงเบนทางเพศ มันมีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจที่ผิดปกติ หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคจิตหรือวิกลจริต เป็นเพียงความผิดปกติทางจิตเวช พวกบุคลิกภาพผิดปกติเท่านั้น”
“ข้อแนะนำในเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ... ผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศควรปิดเป็นความลับเฉพาะตัว หรือเปิดเผยเฉพาะคนที่เข้าใจและไว้วางใจ พยายามปรับพฤติกรรมในการแสดงออกให้เหมาะสมกับเพศของตนเอง และตามกาลเทศะ”
“ผู้ที่มีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่มีพฤติกรรมเป็นรักร่วมเพศ ควรปฏิบัติดังนี้... ไม่ควรตีโพยตีพายหรือเลิกคบ แต่ควรจำกัดความสัมพันธ์ไว้แค่เพื่อน ถ้าเขาพยายามจะคบหาแบบชู้สาว
หากพบเห็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น ชอบอวดอวัยวะเพศ ถ้ำมอง และเบียดเสียดถูไถ ขอให้ปฏิบัติตนตามปกติ และเลี่ยงไปจากเหตุการณ์โดยไม่ต้องมีปฏิกิริยาใดๆ ก็เพียงพอแล้ว”
ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ หรือคิดเห็นอย่างไรก็ตามต่อข้อความทั้งหมดข้างต้น แต่มันคือเนื้อหาที่ถูกบรรจุเอาไว้ใน “หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551”
(อคติที่อัดแน่นอยู่ในแบบเรียน)
ถึงแม้จะไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าได้อ่านเนื้อหาโดยไร้อคติ จะพบว่าโดยรวมอธิบายกลุ่มคนกลุ่มนี้เอาไว้ในลักษณะแปลกแยก ผิดปกติ รวมถึงเตือนให้เพศหญิงและชายทั่วๆ ไประวังการมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ จึงทำให้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ว่า ปล่อยให้แบบเรียนของเด็กๆ อัดแน่นไปด้วย “อคติทางเพศ” และ “การเหยียดเพศ” เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อสอบถามผู้ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้วจึงได้ทราบว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พบเห็นว่ามีเนื้อหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และคงจะต้องรอไปอีกหลายปี กว่าที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยอมแก้ไขจาก “อคติ” ให้เป็น “ความเข้าใจ” เสียที
“กลุ่มเครือข่ายเพิ่งเห็นเมื่อปีที่แล้วค่ะ จึงทำวิจัยกันขึ้นมา ตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีทัศนะแบบนี้ในแบบเรียน แต่ว่าตัวงานวิจัยยังไม่เสร็จนะคะ ถ้าเสร็จแล้วก็จะเอาไปผลักดันเคลื่อนไหวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้พบแต่ในตำราสุขศึกษา ม.ต้น ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ค่ะ ซึ่งมันจะมีอคติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพียงแต่มีวิธีการเขียนที่แตกต่างกันไป
คนที่ทำงานใน สพฐ. เขาให้คำตอบกับเราว่า ต้องใช้เวลาการแก้ไขเนื้อหาเป็น 10 ปีค่ะ เพราะ 10 ปี เขาจะแก้เนื้อหาหลักสูตรทีหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เคยคิดว่าจะทำจดหมายไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเหมือนกัน แต่ด้วยความที่มีหลายๆ องค์กรทำจดหมายส่งไปและไม่ได้ตามผลต่อ เรื่องก็เลยเงียบไป แต่ตอนนี้ทางมูลนิธิก็ยังติดตามแบบเรียนของเด็ก ม.ต้นที่มีเนื้อหาสอดแทรกอคติทางเพศอยู่อย่างต่อเนื่องค่ะ
มันมีคำที่ใช้อยู่ในแวดวงคนทำงานในแวดวงความหลากหลายทางเพศที่ถูกต้องอีกเยอะแยะมากมายค่ะ เพียงแค่คนที่เขียนตำราหาข้อมูลเพิ่มเติม อัปเดตข้อมูล เขาก็จะทราบว่าองค์การอนามัยโลกระบุออกมาแล้วว่า “คนรักเพศเดียวกันไม่ได้ผิดปกติ” แต่คนที่เขียนตำรายังไม่ได้อัปเดตข้อมูล ก็เลยใช้ข้อมูลเมื่อ 10-20 ปีก่อนอยู่ซึ่งดูล้าสมัยมาก
ทุกวันนี้ แค่ลองอ่านคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียดู ก็ไม่ค่อยอยากจะคาดหวังว่าคนจะเข้าใจคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเท่าไหร่ค่ะ เพราะคอมเมนต์ก็ออกมาในแง่ลบมากเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องแบบเรียน ก็คาดหวังว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้เป็นไปตามหลักวิชาการมากขึ้น เพราะที่เป็นอยู่มันล้าสมัยแล้ว ควรจะอัปเดตใหม่ได้แล้ว
อยากจะบอกว่าการใช้ถ้อยคำแบบนี้ลงไปในแบบเรียนมันทำให้อคติเกิดขึ้นเยอะมากนะคะ อย่างเช่นที่ผ่านมา มีการใช้คำว่า “รักร่วมเพศ” กับคนกลุ่มนี้ เลยทำให้อคติเกิดขึ้นว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกที่หมกมุ่นในเรื่องเซ็กซ์-เรื่องเพศเกิดขึ้น เราก็เลยพยายามจะเปลี่ยนให้สังคมใช้คำว่า “คนรักเพศเดียวกัน”
และจากพื้นฐานคำว่า “Homesexual” จากที่เคยแปลว่า “กลุ่มรักร่วมเพศ” ก็เปลี่ยนให้มาใช้คำว่า “กลุ่มชายรักชาย/ หญิงรักหญิง” แทนค่ะ มันเป็นศัพท์ที่ต้องเปลี่ยนแล้วค่ะ เพราะศัพท์เก่าๆ ที่เคยใช้มามันส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้เยอะ” ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เล่าเบื้องลึกให้ฟังอย่างละเอียด
เลิกเรียกได้แล้ว “หลงเพศ/ หลงผิด”!!
จริงๆ แล้ว เคยมีการรณรงค์ในประเด็นนี้มาก่อนเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว โดยรณรงค์กันบนเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมีชื่อว่า “หยุดลงภาพประจานเพศแตกต่างในหนังสือเรียน” แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก “โน้ต-เจษฎา แต้สมบัติ” ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ช่วยให้รายละเอียดเอาไว้ในฐานะตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ในครั้งนั้น
“เวลาเรามีแคมเปญรณรงค์อะไรสักอย่างหนึ่งที่อยากจะขอการสนับสนุนจากประชาชนหรือหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ อาจจะเพราะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมด้วย หรืออาจจะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนหรือเปล่า อย่างที่รณรงค์ไปก่อนหน้านี้ ผลออกมาคือมีคนเข้ามาร่วมสนับสนุนน้อยมาก ประมาณ 800 กว่าคน ถ้าเปรียบเทียบกับแคมเปญอื่น เช่น การต่อต้านการล่าปลาวาฬ, ห้ามทิ้งน้องแมว-น้องหมา ฯลฯ ที่คนให้ความสำคัญมากกว่า
อันนี้ก็คงจะต้องกลับมามองที่สังคมไทยว่า เราให้ความสำคัญกับประเด็นที่ท้าทายเรื่องทัศนคติทางสังคมแค่ไหน อยากบอกว่าที่ออกมาเรียกร้องแบบนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง แค่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นนะคะ คนที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขหลักสูตรครั้งนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มเกย์/ กะเทย/ ทอม/ ดี้ นะคะ แต่เป็นทุกคนในสังคม คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเกย์/ กะเทย/ ทอม/ ดี้ ก็จะได้รับประโยชน์ จะได้ไม่ต้องถูกรังแกในสังคม ไม่ต้องรู้สึกหวาดกลัวเวลาเดินออกจากบ้านแล้วไปโรงเรียน”
ในมุมมองของผู้จบปริญญาโท หลักสูตรสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างเจษฎา เขาแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่าควรแก้ไขให้เนื้อหาทั้งหมดที่แฝงอคติในแบบเรียนขณะนี้ถูกต้องตามหลักการสิทธิมนุษยชน แก้ไขให้เห็นความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ, เสรีภาพที่เท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม ก็มีสิทธิจะเลือกทางเดินของตัวเอง แบบเรียนต้องอธิบายว่าบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เพศหญิงและเพศชาย แต่ยังมีความหลากหลายทางเพศ ไม่ต่างไปจากเรื่องความหลากหลายทางศาสนา, เชื้อชาติ, สีผิว, วัฒนธรรม ฯลฯ โดยเฉพาะขณะนี้ สังคมกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายอย่างสูงในทุกๆ ด้าน จึงจำเป็นที่เราจะทำสังคมให้น่าอยู่ให้ได้
“ถ้าให้วิเคราะห์ในเรื่องคำที่ใช้เลย คำว่า “หลงเพศ” มันมาจากความคิดที่เชื่อว่า “โลกใบนี้มีแค่ผู้หญิง-ผู้ชาย” และเมื่อคนที่เกิดมาแล้วมีจู๋ แต่มีบทบาททางเพศที่แตกต่างจากความคาดหวังในสังคม ที่คาดหวังว่าคนที่มีจู๋จะต้องเข้มแข็ง มีความเป็นผู้นำ แต่ถ้าคนเหล่านั้นแสดงพฤติกรรมแตกต่างจากที่สังคมคาดหวัง ก็จะถูกสังคมเรียกว่า “หลงเพศ” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการใช้คำที่ผิดค่ะ มันไม่ใช่การหลงเพศ แต่แค่เป็นการใช้วิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง แต่พอพวกเขากลับไม่เป็นไปตามความคาดหวังในสังคม ก็จะถูกสังคมมอบคำว่า “หลงเพศ” ให้ ซึ่งคำนี้มันพ้องกับคำว่า “หลงผิด” นะ มันทำให้คิดกันไปได้
และยิ่งนำเสนอถ้อยคำต่างๆ ที่มีอคติแบบนี้ออกไป ยิ่งจะสร้างความเกลียดชัง ความเกลียดกลัวให้แก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อเนื้อหาในแบบเรียนมันผลิตเนื้อหาที่มีอคติทางเพศออกมาแบบนี้ ก็ไมน่าแปลกใจเลยค่ะที่ทำไมคนที่เป็นเกย์/ กะเทย/ ทอม/ ดี้ ฯลฯ ที่อยู่ในโรงเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในสถาบันการศึกษาถูกกลั่นแกล้งรังแก ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นหลายคนไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้
เด็กหลายคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เวลาเจอเนื้อหาแบบนี้ในแบบเรียน เขาเองก็รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ รู้สึกกดดัน เครียด เป็นผลจากการศึกษา เขาต้องมาเปิดหนังสืออ่านเนื้อหาที่เหมือนเอามีดกรีดหัวใจตัวเองว่า ฉันนี่แหละที่เป็นความผิดปกติ เป็นการลดทอนคุณค่าสิทธิความเป็นมนุษย์ลงไป
เมื่อเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศเจอการเลือกปฏิบัติ การตีตราจากสังคม เขาก็จะไม่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง หลายคนจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับ อาจจะคิดว่าตัวเองผิดปกติหรือเป็นพลเมืองชั้นสอง ทางหน่วยงานของเราก็เลยจะพยายามเสริมพลังให้กลุ่มคนกลุ่มนั้นได้รู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าไม่ต่างจากผู้หญิงและผู้ชาย”
(หน้าปกหนังสือแบบเรียนสุขศึกษาที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ)
อคติที่ยัดเยียดลงไปในแบบเรียน ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวด้วย เนื่องจากงานวิจัยล่าสุดของทาง “For-Sogi” (มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพบว่า คนที่เป็นกะเทย/ สาวประเภทสอง/ คนข้ามเพศ ต้องเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้นถึง 38.4 เปอร์เซ็นต์, คนที่เป็นชายรักชาย/ เกย์ เผชิญความรุนแรงมากถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และสุดท้าย กลุ่มหญิงรักหญิง เผชิญความรุนแรง 11 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งสถาบันที่กระทำความรุนแรงกับเขาเหล่านั้น อันดับหนึ่งคือ “ครอบครัว”, อันดับสองคือ “โรงเรียนและมหาวิทยาลัย” และอันดับสามคือ “สถานที่ทำงาน”
“หลายคนอาจจะคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมสวรรค์สำหรับเกย์/ กะเทย/ ทอม/ ดี้ เพราะได้เห็นเขาเหล่านั้นอยู่ตามท้องถนนและสื่อมวลชนมากมาย แต่เอาเข้าจริง เรื่องการไม่ยอมรับและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันยังมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้ในขณะที่เราคุยกันอยู่”
ข่าว ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก: แฟนเพจ "มูลนิธิเพื่อสิทธิ และความเป็นธรรมทางเพศ"
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754