กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อเอมมี่ อมลวรรณ ประกาศเพิ่มขนาดเต้าใหญ่ที่สุด แต่ที่ร้อนยิ่งกว่าคือ การโฆษณาแฝงของสถานเสริมความงามที่ผิดจริยธรรม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนเสื้อกาวน์ ชวนให้สงสัยไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังแวดวงเสริมสวยศัลยกรรมความงาม ความเฟื่องฟูของเม็ดเงินในวงการ? ความปลอดภัยของคนไข้? จนถึงการโฆษณาที่ไร้จริยธรรม? คนอยากสวยด้วยมีดหมอต้องเอาตัวรอดอย่างไรบ้าง?
เส้นศีลธรรมที่ถูกเดินข้าม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการศัลยกรรมความงาม ทั้งเสริมสวยเปลี่ยนโฉม เพิ่มขนาดสัดส่วนรูปร่างกลายเป็นสิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น อุตสาหกรรมความงามเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กิเลสในการได้เป็นที่ยอมรับจากรูปลักษณ์ภายนอกนั้นได้รับการสนองตอบแล้วขับเคลื่อนอย่างเร็วรี่มากขึ้น ทว่าการโฆษณาชวนเชื่อในวงการแพทย์นั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม! โดยมีกฎระบุไว้หลายข้อด้วยกัน
“พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541” มีระบุไว้ใน มาตรา38 ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการโฆษณาหรือ ประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใด ๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้ง หรือกิจการของสถานพยาบาล หรือคุณวุฒิ หรือความสามารถของผู้ประกอบ วิชาชีพในสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาล ของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้ เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล
ขณะที่ใน “ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2547” มีระบุไว้ใน หมวดที่ 3 การโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และ หมวด 7 การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล
ใจความของข้อห้ามนั้น นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เผยว่าคือห้ามโกหกหรือพูดในข้อที่เป็นเท็จ เช่น บอกว่ารักษาได้หายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความจริง ห้ามทำโดยเป็นการโอ้อวดว่าดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น สุดท้ายคือต้องบอกผลข้างเคียง ข้อดี - ข้อเสียของสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กรณีที่เกิดเป็นข่าวนั้น เขาเห็นว่า ต้องมีการพิจารณาสอบสวนกันต่อไป
“ก็ต้องมีการสอบสวนกันว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโฆษณาแฝงที่ว่า คุณหมอคนนี้ คลินิกนี้สามารถทำได้ใหญ่ที่สุด ทำให้ใหญ่เท่าไหร่ก็ได้ในความรับรู้ของประชาชนซึ่งมันเหมาะสมมั้ย? หรือเป็นการกระตุ้นความต้องการ กระตุ้นดีมานด์ของประชาชนว่า โอ...มันจะต้องใหญ่ขนาดนี้มันถึงจะดูดีหรือเปล่า อันนั้นเป็นเรื่องทางจริยธรรมอยู่บ้าง”
ในส่วนของการลงโทษนั้น เขาเผยว่า มี 4 มาตรการได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาต และสุดท้ายคือยึดในอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเขาเผยว่า มีการโฆษณาเกี่ยวกับการศัลยกรรมที่เกินจริงแฝงอยู่บ้างตามสื่ออย่างในนิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศัลยกรรมโดยเฉพาะเล่มหนึ่ง แม้กระทั่งในโซเชียลมีเดียที่มีออกมามากมาย
“จริงๆแล้วการโฆษณาที่ทำกันทุกวันนี้มันทำกันมั่วมากเลย โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ในนั้นมันมากเกินไป ควบคุมลำบากมาก มักจะเป็นการโฆษณาพูดแต่เรื่องดีด้านเดียวทำให้ประชาชนหลงเชื่อ หรือรู้สึกเปลี่ยนทัศนคติในการดำเนินชีวิตเลยด้วยซ้ำ
“เช่น ผิวต้องขาวถึงจะสวย ขาวเท่านั้นถึงจะมีรายได้ดี ตอนนี้โฆษณามีในรูปแบบนี้ทั้งหมด แม้ว่าจริงๆ จะไม่ใช่ก็ตาม แต่ประชาชนรับทราบแบบนั้นไปหมดจากโฆษณาที่ถี่บ่อยทั้งทางลึกและทางกว้าง”
ในส่วนของนิตยสารเกี่ยวกับการศัลยกรรมโดยเฉพาะนั้น เขาแฉว่า มักมีกลยุทธ์ในการใช้คนมีชื่อเสียงหรือดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งใช้คำพูดที่ปลุกเร้ากระตุ้นความต้องการ เช่น เป๊ะเวอร์ จมูกแบบเกาหลี คางเหมือนดารา โดยมีหมอเข้าไปจับจองพื้นที่โฆษณา
ทั้งนี้ ประเด็นการโฆษณานั้น พล.ต.ต.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย พูดในฐานะ กรรมการแพทยสภาชี้ประเด็นจากกรณีข่าวว่า มีการระบุว่าหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะสาขาความเชี่ยวชาญดังกล่าวนั้นไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา!!
“ประเด็นคือการเสนอให้คนไข้เสริมอกฟรีเพื่อให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ที่สำคัญคือมีภาพหมอใส่ชุดผ่าตัดแล้วคนไข้ถือถุงนมด้วย อันนี้เข้าข่ายไม่เหมาะสมและผิดจริยธรรม นอกจากนี้คนไข้คนนี้มีเต้านมใหญ่อยู่แล้ว การเสริมเพิ่มขนาดไปอีกแม้จะเป็นความต้องการของคนไข้ที่ต้องการให้ดูใหญ่ แต่ในดุลยพินิจของหมอต้องทำตามคำคนไข้ หมอต้องรับผิดชอบเยอะเลย เพราะมันจะเกิดปัญหาระยะยาว ยังอาจมีประเด็นที่ทำให้เต้านมมีลักษณะไม่เรียบร้อยเหมือนเดิม
“ประเด็นต่อไปการระบุว่า หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขากระชับสัดส่วน ปรับรูปหน้า และศัลยกรรม มันไม่มี แพทยสภาไม่ได้กำหนดสาขานี้ขึ้นมา การลงแบบนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ฉะนั้นการที่สื่อลงอาจมาจากข้อมูลของแพทย์ หรือจากคลินิกก็ตามมันทำให้ประชาชนสับสน มันจะไปกันใหญ่ถ้าคนเชื่อขึ้นมา ที่สำคัญคือออกข่าวลักษณะตื่นเต้นเร้าใจ ถ้าเป็นดาราทำเอง ไม่บอกว่าเสริมที่ไหนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีแพทย์มาเกี่ยวข้องมันเหมือนแพทย์มาส่งเสริมให้ผู้หญิงทำนมโต แล้วโตเกิดขนาดด้วย มันทำให้สังคมเกิดค่านิยม ทำทั้งทีต้องนมใหญ่ไปเลย อย่างนี้มันก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์จริยธรรมแพทย์ที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของคนไข้แต่ละราย”
ความจริงเบื้องหลังความงาม
ข้อมูลเกี่ยวกับการศัลยกรรมนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาและตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพราะไม่ใช่เพียงความงามอย่างเดียวที่อยู่เบื้องหลังการศัลยกรรม หากแต่มีความจริงที่ว่า ทุกการผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยงอีกด้วย พล.ต.ต.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย กรรมการแพทยสภา
“ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่าง การเสริมเต้านมก็มีโอกาสที่เต้านม 2 ข้างสวยไม่เหมือนกัน รูปร่างเต้านมอาจจะไม่เหมือนกัน สูงต่ำไม่เหมือนกัน หัวนม 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือเต้านมแข็ง มีหลายคนที่ทำแล้วแข็งก็มีโอกาสที่จะต้องกลับมาแก้ไข”
ทั้งนี้ ในส่วนของผลข้างเคียงที่อันตรายนั้น เขาเผยว่า เคยมีกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย
“บางกรณีก็มีเลือดคลั่ง หรือบางทีรุนแรงถึงขั้นมีเลือดไหลเข้าไปในทรวงอกได้ ในประเทศไทยความผิดพลาดแบบนี้มีโอกาสอยู่ แล้วหมอไม่ทราบก็ทำให้คนไข้เสียชีวิต เคยมีมาแล้ว แต่ไม่เป็นข่าว จากประสบการณ์ผมเห็นมากับตัวเองจากการชันสูตรหลังคนไข้เสียชีวิต”
ข้อดี - ข้อเสียตรงนี้เองที่เขาย้ำว่า จำเป็นที่ผู้เข้ามาขอคำแนะนำจะต้องรับรู้เพื่อตัดสินใจเองทั้งหมด
“ข่าวที่ออกมาตลอด เมื่อไม่นานมานี้ก็มีฉีดจมูกฟิลเลอร์ชัดเจนทำให้ตาบอด ในเรื่องศัลยกรรมเราต้องระมัดระวัง คนไข้ต้องมีข้อมูลครบถ้วน ต้องรับรู้ว่า ในการทำบางอย่างอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้ ในการตัดผ่าสมควรแจ้งให้คนไข้รับทราบถึงผลดี - ผลเสีย และให้คนไข้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยครับ จะได้ไม่เป็นปัญหาจนกลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนไข้กับแพทย์ที่ทำ”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงแต่การศัลยกรรมก็ยังเป็นที่นิยมมากขึ้น เขามองว่า เกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและผู้คนเริ่มมองว่าการศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องอันตราย รวมไปถึงผลพวงจากกระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่การศัลยกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้นอีกด้วย
“อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่การทำตลาดนั้นในประเทศไทยจริงๆก็สามารถทำตลาดได้ แต่ต้องอยู่กรอบหากเป็นแพทย์ต้องก็ต้องอยู่ในจริยธรรมแพทย์ซึ่งถูกกำหนดจากแพทยสภา คลินิกก็ต้องถูกกำหนดไว้ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล ว่าโฆษณาได้แค่ไหน ไม่ได้ห้าม”
ในปัจจุบันแพทย์ศัลยกรรมความงามที่ได้รับความนิยมมักต้องโฆษณาว่า ตนจบจากเกาหลี เขาเผยว่า การไปผ่านการอบรมจากต่างประเทศ ไม่ว่าหลักสูตรใดๆ จนถึงตอนนี้ไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา
“แพทย์ที่จบจากต่างประเทศก็ถือว่าจบจากต่างประเทศ จนกว่าจะมาขอแพทยสภาให้การรับรองอีกครั้งหนึ่ง ไปเรียนที่เกาหลี ไปต่อหลักสูตร ไปดูงานไม่ถือว่าเชี่ยวชาญ และหลักสูตรเหล่านั้นไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ฉะนั้นการโฆษณาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศโน่นนี่ก็ไม่ถูกต้อง”
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมความงาม เขาเผยว่า อย่าเชื่อโฆษณา หากต้องพิจารณาจากความปลอดภัยและความสวยงาม ซึ่งต้องดูจากผลงานเท่านั้น
“การเชื่อจากการโฆษณาต่างๆ อาจจะไม่ตรงกับความจริงของแพทย์ท่านนั้นว่ามีผลงานดีแค่ไหน แพทย์จะต้องมีรูปคนไข้ไม่ว่าจะจมูก คาง เต้านมมาให้คนที่มาปรึกษาได้เห็นว่า ผลงานเขามีหน้าตาดีจริง แต่ถ้าได้รู้จักกับคนไข้ตัวจริง แล้วบอกต่อ ทำแล้วถูกต้องถูกใจ อันนี้แน่นอนที่สุด สุดท้ายคือถามถึงผลข้างเคียงและมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ตรงนี้การทำศัลยกรรมแต่ละอย่างไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ การช่วยเหลือหลังจากเกิดผลข้างเคียงขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ
“ผมเชื่อว่า หมอทุกคนที่ทำจมูกต้องเคยประสบเหตุที่จมูกคนไข้เบี้ยว เนื่องจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรากำหนดไม่ได้ในตัวคนไข้ ทั้งการเกิดพังผืด หรือคนไข้ไปโดนจมูกเบี้ยวโดยไม่รู้ตัว เป็นสิ่งที่หมอกำหนดไม่ได้ ต้องหมั่นสอบถามหมอ อย่าไปเชื่อจากการโฆษณาตามสิ่งต่างๆอย่างเดียว”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754