xs
xsm
sm
md
lg

ใครควรจ่าย? 427 ล้านบาทค่าโง่เพื่อดูบอลโลกของกสทช.!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจาก กสทช. พ่ายคดีต่ออาร์เอสอย่างหมดรูป นำมาสู่ค่าโง่สูงถึง 427 ล้านบาท เพื่อนำฟุตบอลโลก 2014 ฉายผ่านฟรีทีวี กลายเป็นข้อครหาการใช้เงินอย่างไม่มีหลักการ นำมาซึ่งข้อสงสัยมากมาย จนถึงตอนนี้ความผิดพลาดดังกล่าวก็ยังไม่มีบอร์ดบริหารคนใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ!!!

กสทช.แพ้ตลอด

เมื่อ 2 ปีก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 กลายเป็นตราบาปของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. ) เมื่อแกรมมี่เล่นแง่ซื้อลิขสิทธิ์แต่กลับฉายให้ชมผ่านฟรีทีวีเฉพาะระบบอนาล็อกจนเกิดเหตุการณ์ “จอดำ” สร้างเงื่อนไขจนประชาชนต้องจับหากล่องของแกรมมี่มาติดเพื่อดูบอล ด้านหนึ่งแกรมมี่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างรุนแรงจากการโฆษณาว่า “ใครๆก็ดูได้”

แต่อีกมุมเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งหนึ่งของกสทช.ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเพียง “เสือกระดาษ”

บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งก่อนเหมือนจะทำให้กสทช.หันมาเอาจริงเอาจังกับการจัดการกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอล 2014 มากขึ้น แต่แล้วเหตุการณ์ก็ซ้ำรอยเมื่อกสทช.เป็นฝ่ายพ่ายไปอีกครั้ง นำมาซึ่งค่าชดเชยที่จ่ายให้กับอาร์เอสสูงถึง 427 ล้านบาท

มองถึงความผิดพลาดตรงนี้ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)/ไทยพีบีเอส มองว่า กรณีล่าสุดที่กสทช.แพ้ให้กับอาร์เอสนั้นมาจากกฎมัสต์ แฮฟ (must have) ของกสทช.ที่กำหนดขึ้นภายหลังนั้นแท้จริงแล้วมีปัญหาในตัวของมันเอง

โดยกฎมัสต์ แฮฟของกสทช.นั้นคือกฎที่ว่าด้วยรายการแข่งขันกีฬาที่ถือว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ กสทช.กำหนดให้รายการเหล่านี้ต้องมีการถ่ายทอดผ่านทางฟรีทีวีเท่านั้นตัวอย่างเช่น โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์, พาราลิมปิก รวมไปถึงฟุตบอลโลกด้วย

“ปัญหาสำคัญคือรายละเอียดของกฎมัสต์ แฮฟมันใช้กับอุตสาหกรรมสื่อในยุคปัจจุบันไม่ได้ เพราะลิขสิทธิ์กิจกรรมกีฬาพวกนี้มันเป็นสิ่งที่ค้าขายได้ การแข่งขันกีฬาพวกนี้ไม่สามารถเขียนออกมาแล้วบอกว่า นี่คือผลประโยชน์สาธารณะขั้นพื้นฐาน เพราะโอลิมปิก ซีเกมส์ เดี๋ยวนี้มันเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมไปแล้ว”

เขามองว่า กฎดังกล่าวจะกลายเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด โดยเฉพาะการระบุให้ฉายเฉพาะทางฟรีทีวียิ่งกลายเป็นการปิดโอกาสในด้านการแข่งขันของช่องทีวีเคเบิลและอื่นๆ กับช่องฟรีทีวี

“ ตรงนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายของกสทช.เลย เพราะกสทช.มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้เกิดกลไกเสรีทางการตลาดที่สมดุลและเป็นธรรม ต้องไม่มีการกีดกันกัน แต่กฎมัสต์ แฮฟนี้เองที่มีส่วนทำให้กลไลการตลาดนั้นไม่เสรีจริง”

จนเมื่อกสทช.ยื่นมือเข้ามา เขามองว่า อาจส่งผลต่ออนาคตที่กสทช.อาจจะต้องเป็นฝ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากการทำผิดที่เหมือนเป็นการติดกระดุมผิดเม็ด

“ถึงตอนนี้การนำเงินในกองทุนฯมาใช้แบบนี้อาจจะเข้าลักษณะผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ เสี่ยงจะถูกฟ้องจากภาคประชาชนอีกทอด หรือต่อไปบริษัทเอกชนบอกว่า ช่อง 5 ช่อง 7 ไม่ได้เข้าร่วมประมูลแต่อยู่ๆมีนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนเพื่อรักษากฎมัสต์ แฮฟกลับได้ฉายบอลโลก ช่อง 3 กับช่อง 9 ประมูลด้วยก็ต้องร้อง ทำแบบนี้ยังไง มาโอบอุ่ม ให้ออกอากาศผ่านฟรีทีวีแล้วทำไมช่อง 3 กับช่อง 9 ไม่ได้ฉาย ทำไมได้ฉายแต่ช่อง 7 กับช่อง 5 ของกองทัพบก ปัญหามันพันกันไปหมดเลย

“ตอนนี้ถ้ามองง่ายๆ คือโชคดีจังที่คนไทยได้ดูบอลโลก แต่จริงๆแล้วมันเกิดความผิดพลาดของการวางบทบาทหน้าที่ และการรักษาไว้ซึ่งกฎมัสต์ แฮฟที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสับสนที่จะตามมาอีกมากมาย”

ข้อครหาเงินชดเชย427 ล้านบาท

มติ 6 ต่อ 1 ของกสทช.ในการอนุมัติเงิน 427 ล้านบาทจากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ แน่นอนในมุมของแฟนบอลการได้ดูบอลฟรีกลายเป็นการคืนความสุขสู่ประชาชนอย่างเห็นภาพ แต่ทว่าก็ยังคงมีหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วย

โดย 1 ในกสทช.ที่แสดงความไม่เห็นด้วยเป็นมติ 1 เดียวที่เห็นค้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เห็นชอบครั้งนี้ เนื่องจากกังวลว่าไม่สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ รวมทั้งการพิจารณาครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด โดยยังไม่ได้ผ่านการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน

“เงินกองทุนฯ เป็นเงินสาธารณะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวเหมือนเงินในตู้เอทีเอ็มที่เราจะกดใช้เมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะต้องมีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ยิ่งในยุคนี้ที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และอยากให้หน่วยงานรัฐบริหารงบอย่างมีเหตุผล ซึ่งการนำเงินไปให้อาร์เอสไม่ถือว่าใช้เงินกองทุนฯ เพื่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง”

โดยกรรมกสทช.ที่ยกมือเห็นชอบมติดังกล่าวทั้ง 6 คนนั้นมีประกอบไปด้วย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี, พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ, รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์และพลเอก สุกิจ ขมะสุนทร

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการด้านสื่ออกมาวิพากษ์วิจารย์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ได้เขียนบันทึกเรื่อง "ประชานิยมบอลโลก / WORLD CUP POPULISM" โดยแสดงความเห็นว่า เป็นการใช้เงินของชาติที่ไม่สมควร ก่อนชี้ว่าควรปล่อยไปตามกลไกตลาดที่ถูกต้อง

“หาก คสช.จะให้ กสทช.เอาเงินกองทุนฯของ กสทช.มาจ่ายชดเชยให้ RS เพื่อให้ ททบ.5 ได้ถ่ายทอดสดให้ประชาชนที่ชอบดูฟุตบอล รวมทั้งตัวผมด้วย ได้ชมฟรีทุกนัด ก็ต้องไม่ใช้เงินกองทุนฯของ กสทช. เพราะเป็นเงินภาษีอากรของประชาชาชนทั้งประเทศ มีไว้เพื่อสนับสนุนการ พัฒนางานวิทยุ โทรทัศน์ และ โทรคมนาคม ให้เป็นประโยชน์สาธารณะโดยรวม โดยเฉพาะด้านการศึกษา วิจัย วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะ ททบ. 5 เป็นธุรกิจของกองทัพบก หาก ททบ.5 ต้องการถ่ายทอดสด World Cup 2014 ก็ต้องเอาเงินของ ททบ.5 ไปจ่าย RS เอง” นี่คือบางส่วนจากบันทึกดังกล่าวก่อนจะประณามกสทช.ว่า การใช้เงินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์

“การที่ กสทช.ใช้เงินของประเทศชาติแบบนี้ เป็นการกระทำที่ต้องประณาม เพราะเป็นการใช้เงินรายได้ของรัฐไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า ไม่มีผลต่อการสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศชาติใดๆเลย ใช้เงินกันเพื่อความสนุกสนานและขยายโอกาสทางอบายมุขให้กว้างขวางขึ้นเท่านั้น”

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองในมุมผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ซื้อกล่องของอาร์เอสไปแล้วว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 เมื่อศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามศาลปกครองกลางให้อาร์เอส ชนะคดีนี้ หมายความว่า คนไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวีตามแผนการตลาดเดิมของอาร์เอส ส่วนผู้ที่ต้องการชมครบทุกแมตช์จะต้องไปชมผ่านทางกล่องรับสัญญาณ หากมีการบังคับให้ถ่ายทอดทั้งหมดก็จะเกิดปัญหากับผู้บริโภคที่ซื้อกล่อง RS ไป แล้วผู้ใดจะรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเพราะถึงไม่มีกล่องก็สามารถดูฟุลบอลโลก 2014 ได้

นักวิชาการสื่อคนเดิม ธาม มองว่า กสทช.ควรจ่ายเพื่อเป็นค่าชดเชยที่อาร์เอสเสียโอกาสทางธุรกิจจากการถูกฟ้องร้อง แต่จำนวนเงินนั้นเขามองว่า ควรมีการเปิดเผยถึงต้นทุนหรือความเสียหายทั้งหมดที่อาร์เอสแบกรับ อาจเป็นต้นทุนต่อแมตช์การแข่งขัน โอกาสทางธุรกิจในการจะหาค่าโฆษณา

“ตามปกติอาร์เอสก็คงไม่ต้องเปิดเผยต้นทุนทั้งหมด ค่าลิขสิทธิ์ฟีฟาเองก็มีกฎไม่ให้เปิดเผยเพราะจะก่อให้เกิดการฮั้วประมูลกันได้ แต่ตอนนี้อาร์เอสไม่ได้ทำธุรกิจอย่างเดียวแล้ว เพราะได้รับเงินส่วนหนึ่งจากภาครัฐนั่นคือประชาชน อีกทั้งกสทช.ก็บอกว่า ฟุตบอลโลกคือประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลเพื่อความโปร่งใส”

การฟ้องร้องของกสทช.ที่ทำให้อาร์เอสเสียโอกาสทางธุรกิจจนกระทั่งท้ายที่สุดจบลงด้วยการที่กสทช.จ่ายทั้งค่าชดเชยและค่าลิขสิทธิ์เพื่อให้กฎมัสต์ แฮฟยังคงอยู่นั้น เขาเห็นว่าเป็นการทำผิดหน้าที่และตัวกฎมัสต์ แฮฟเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ก่อนจะมีการประกาศใช้แล้ว

“กสชท.ไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์รายการได้เพราะกสทช.มีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล ฉะนั้นการนำเงินมาซื้อในครั้งนี้ อาจทำให้ครั้งต่อไปหากมีผู้ผลิตอยากไปซื้อรายการกีฬาที่อยู่ในกฎมัสต์ แฮฟแล้วกสทช.ยังไม่แก้กฎนี้ กรณีแบบอาร์เอสจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ก็อาจไม่มีใครซื้อ ตรงนี้ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมระหว่างช่องเคเบิลและอื่นๆกับช่องฟรีทีวี”

ในส่วนของทางแก้ปัญหานั้น เขามองว่า ควรยกเลิกกฎมัสต์ แฮฟไปทั้งหมด และเขียนกฎที่เป็นไปเพื่อการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมเปิดโอกาสการประมูลให้กว้างขึ้น

“กสทช.พร้อมจ่ายเงินถึง 427 ล้านบาทเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎมัสต์ แฮฟ ตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงปัญหาที่ว่า กฎมัสต์ แฮฟมันใช้ไม่ได้แล้ว เรากำลังใช้เงิน 427 ล้านบาทเพื่อโอบอุ้มกฎมัสต์ แฮฟอยู่แล้วคลุมว่ามันคือการคืนความสุขให้คนไทย แต่ความจริงแล้วอาจเป็นคนไทยเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น