xs
xsm
sm
md
lg

ไฟแค้นแสนน่ารัก “แยม – มทิรา” นางเอกดาวรุ่งแห่งวิก 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลาจอกันไปไม่นานกับละครรักหักเหลี่ยมโหด “ไฟรักเพลิงแค้น” เรื่องราวของนักธุรกิจสาวผู้วางแผนทวงหนี้แค้นให้แก่แม่ของตน ฟังดูเป็นบทบาทที่แยบคาย - ร้ายลึก ทว่าผู้รับบทบาทดังกล่าวกลับเป็นเพียงสาวน้อยวัย 17 ปี ไม่แปลกหากใครจะมองว่า “แยม - มทิรา ตันติประสุต” เป็นนางเอกดาวรุ่ง วันนี้ทีมงาน M - Lite ไม่รอช้าที่จะพาทุกคนมารู้จักกับเธอ
 
“จริงๆ เครดิตด้านการแสดงทั้งหมดหนูขอยกให้แก่ผู้กำกับเลยค่ะ” เธอเอ่ยด้วยเสียงหนาแฝงสำเนียงฝรั่งแต่ก็ออกเสียงชัดเจนเป็นเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัว ช่วงเที่ยงของวัน ขับเน้นให้สาวน้อยในชุดสีครีมยิ่งดูเป็นธรรมชาติ “ไม่ต้องชอบตัวแยม แต่ขอให้รักตัวละครที่แยมแสดง...อยากให้ดูที่ผลงาน”


หลังเข้าสู่วงการด้วยละครจักรๆวงศ์ๆ เธอได้รับโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงนำ ก่อนขยับขึ้นแท่นนางเอกด้วยวัยเพียง 17 ปี ถึงตอนนี้ละครบู๊ฟอร์มใหญ่อย่างหัวใจปฐพีก็จ่อคิวรอ...มองดูแล้วอนาคตในวงการของเธอยังคงเป็นเส้นทางที่ทอดยาว ทว่าทุกเส้นทางอันยาวไกลก็ย้อมมีจุดเริ่มต้น

เริ่มจากละครจักๆ วงศ์ๆ

อาจฟังดูเหมือนเส้นทางของดาราวัยรุ่นหลายๆ คนที่ก้าวแรกเข้าสู่วงการนั้นมาจากการออกไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าแล้วถูกทาบทามโดยโมเดลลิ่ง แยม - มทิราที่ตอนนั้นยังอายุเพียง 14 - 15 ปีก็ถูกทาบทามระหว่างเข้าไปยืนดูการประกวดนางแบบที่ห้างแห่งหนึ่ง

“ตอนนั้นแยมเดินอยู่ในห้างกำลังยืนดูเขาประกวดนางแบบกัน พอดีวันนั้นเป็นวันคัดเลือกก็เลยเข้าไปดูเล่นๆ แล้วโมเดลลิ่งเขาก็มาเห็น จากนั้นแยมก็เริ่มๆแคสต์งานโฆษณาแต่ก็ไม่ค่อยได้เลยลองไปลงเรียนการแสดงดู”

จากนั้นเส้นทางการแสดงก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น เธอได้รับโอกาสให้แสดงเป็นนางเอกใน “ไชยเชษฐ์” ละครจักรๆวงศ์ๆ ทางช่อง 7 อาจบอกได้ว่านี่เป็นก้าวแรกในวงการบันเทิงของเธอ

“ทางโรงเรียนเขาก็ติดต่อกับทางค่ายช่อง 7 แล้วเขาต้องการนางเอกแบบนี้เลยส่งแยมไป ก็เลยได้เล่นละครเรื่องหนึ่งที่ช่อง 7 จักรๆวงศ์ๆ ”

อย่างไรก็ตาม เธอเผยว่าก้าวแรกไม่ได้ราบรื่นนักด้วยความเป็นมือใหม่และอุปสรรค์ในการทำงานของละครแนวนี้

“ตอนนั้นก็ยาก ลำบากนิดนึงเพราะเป็นละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ อารมณ์การทำงานก็จะอยู่ในป่า” เธอเอ่ยตอบ “จะร้อนๆ และคำพูดก็จะเป็นแนวเพคะเพขามันก็เลยยาก แล้วตอนนั้นหนูก็เพิ่งย้ายกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ยังพูดไทยไม่ค่อยชัดแถมดัดฟันด้วยเลยยิ่งหนักเข้าไปใหญ่”

โดยผลตอบรับจากละครเรื่องนั้นแม้จะยังไม่ทำให้เธอเป็นที่รู้จัก ยังไม่ค่อยมีกระแสอะไรมาก เธอก็ยังมองว่ามันเป็นงานที่ทำเพื่อให้ได้ประสบการณ์ไปก่อน

“มันเป็นละครเช้าด้วยก็เลยไม่ค่อยมีกระแสอะไรมาก หนูเลยไม่ค่อยได้สนใจฟีดแบ็กเพราะว่าเล่นๆไปก่อนเหมือนเป็นประสบการณ์มากกว่า”

หลังจากนั้นพักหนึ่งเธอก็ได้ย้ายมาอยู่ช่อง 3 และได้ร่วมแสดงในละครพีเรียดฟอร์มใหญ่อย่าง แค้นเสน่หาเมื่อปีก่อน ถึงตอนนั้นแม้จะผ่านงานละครมาแล้วเรื่องหนึ่ง แต่เธอก็เผยว่า ตัวเองยังมีปัญหาด้านแสดงและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน

“ตอนแรกแยมก็ยังเล่นไม่ค่อยได้เพราะเหมือนวิธีการทำงานของช่อง 7 กับช่อง 3 มันคนละแบบกัน พอเข้ามาช่อง 3 เหมือนแยมต้องเริ่มใหม่ พี่ไก่ (วรายุฑ มิลินทจินดา) ก็หนักใจนิดนึงแต่ก็คอยสอน มีส่งครูบุ๋ม (รัญญา ศิยานนท์)มาสอนการแสดงแยมอีกรอบ”

ผลตอบรับจากละครเรื่องดังกล่าวนั้นเธอมองว่าดีขึ้นมาก แต่ทว่านี้เธอยังคงรับบทที่ไม่ได้โดดเด่นนัก ดังนั้นนี่จึงถือเป็นเพียงบททดสอบแรกในวงการบันเทิงของเธอเท่านั้น

เด็กซ่าจากเมืองอันแสนเป็นมิตร

ย้อนกลับไปวัยเด็กเธอเกิดและเติบโตที่เมืองโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย เธอย้อนนึกถึงตัวเองในวัยเด็กก็พบว่า เป็นเด็กซ่าๆ คนหนึ่งที่ชอบเล่นกับเพื่อน ท่ามกลางเมืองที่เธอเผยว่าเป็นเมืองเล็กๆ มีความเป็นมิตรของผู้คนเติมเต็มชีวิตช่วงวัยเด็ก

“หนูก็เป็นเด็กธรรมดาเลยค่ะ อยู่โรงเรียนก็อยู่กับเพื่อน เป็นเด็กซ่าๆคนหนึ่งที่ชอบเล่นกับเพื่อน ค่อนข้างติดเพื่อนเลยก็ว่าได้”

กระทั่งอายุ 8 - 9 ขวบเธอก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย แต่เพียง 3 ปีเธอก็ต้องกลับไปที่ออสเตรเลียอีกครั้งด้วยเหตุว่า ยายของเธอป่วยเป็นมะเร็งจึงต้องการคนดูแล

“แยมกลับไปอยู่ที่นั่นช่วยดูแลคุณยายก็ประมาณ 2 ปีถึงจะกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง” เธอเอ่ยถึงช่วงวัยเด็กที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างอยู่บ่อยครั้ง หากนับเทียบดูเธอกลับมาอยู่เมืองไทยตอนอายุ 14 - 15 ปี พอดีกับช่วงที่เธอเริ่มเข้าวงการ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องยากสำหรับเธอในวัยเด็ก การต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งส่วนตัว รวมไปถึงการเรียนที่ตำราบทเรียนในชั้นเรียนของประเทศไทยกับออสเตรเลียก็แตกต่างกันอีกด้วย

“ทุกอย่างมันยากขึ้น การใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อย่างการเรียนก็ไม่เหมือนกัน เกรด 7 ของที่ประเทศไทยกับออสเตรเลียก็ไม่เหมือนกัน ที่ออสเตรเรียอาจจะช้ากว่าที่นี่ พอเรากลับมาเราก็ไม่รู้เรื่อง กลายเป็นเด็กโง่ๆ น่ะ”

สิ่งสำคัญอีกอย่างในช่วงวัยเด็กที่ต้องย้ายประเทศไป - กลับ 2 ครั้งในรอบ 2 ปีคือความรู้สึกที่ว่า เธอไม่มีเพื่อนที่แท้จริง

“สังคมเราก็ไม่มีเพื่อนที่แท้จริง คือเพื่อนที่อยู่ด้วยกันตลอด ตอนนั้นเราจะไม่มีเพื่อนเลย จะมีเพื่อนแต่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันนานขนาดนั้น ระยะเวลามันไม่มากพอ”

ในส่วนของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น เธอเผยว่า ที่ออสเตรเลียหลายสิ่งหลายอย่างค่อนข้างปล่อยฟรีชนิดที่ว่า อยากทำอะไรก็ทำ สิ่งที่เธอชอบอย่างหนึ่งคือความเป็นกันเองของคนที่นั่น

“ความเป็นกันเองแบบมาซื้อกาแฟก็ทักทาย พูดคุย เป็นยังไงบ้าง?” เธอเอ่ยพร้อมมองไปที่เคาน์เตอร์สั่งเครื่องดื่มในร้านกาแฟที่ทีมงานนั่งสัมภาษณ์อยู่ “ที่นี่เมืองไทยก็จะเป็นเมืองที่คนวางฟอร์มกันนิดนึง สั่งกาแฟเสร็จก็จบ แต่ที่โน่นก็จะมีคุยกัน หนูคิดแบบนั้นนะ”

ส่วนหนึ่งที่ผู้คนเป็นมิตรต่อกันอาจมาจากความเป็นเมืองเล็กๆ ของเมืองโกลด์โคสต์ที่เธอเกิด ไม่แปลกหากจะขัดกับความเป็นเมืองของมหานครกรุงเทพฯ

“หนูว่าเหตุผลที่คนเฟรนด์ลี่ก็เพราะว่าที่โน่นทุกอย่างเท่ากัน” เธอให้เหตุผลในมุมของเธอ “อย่างคนมีอาชีพเป็นคนขายน้ำก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง คือทุกอย่างมันเท่ากันไง ก็เลยไม่มีใครเหยียดใคร แต่ที่นี่ทุกอย่างมันเหมือนจะมีการแบ่งชั้นกันอยู่”

โตมาแบบไทย - ฝรั่งลงตัว

พ่อแม่ของเธอพบรักกันที่ประเทศออสเตรเลีย เธอเผยอย่างเป็นเรื่องปกติว่า ทั้งสองต่างผ่านการหย่าร้างและมีลูกติดเป็นพี่ชาย - พี่สาวของเธอ แม้มองภายนอกเธอจะดูมีความเป็นลูกครึ่งแต่แท้จริงแล้วพ่อแม่ของเธอเป็นคนไทยแท้ทั้งคู่ ทว่าด้วยวัฒนธรรมการเลี้ยงที่เป็นแบบลูกผสมสะท้อนออกมาเป็นบุคลิก สรรพสำเนียง แม้แต่ท่วงทีในการยิ้มที่เธอดูเหมือนเป็นลูกครึ่ง

“พ่อแม่แยมจะเลี้ยงแบบผสมฝรั่ง - ไทย” เธอเอ่ยถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ “ฝรั่งก็คืออย่างสงกรานต์บ้านแยมจะไม่ได้รดน้ำผู้ใหญ่เพราะเราจะเขินไม่เคยทำกันมาก่อน แล้วเขาจะไม่สั่งไม่วางแผนชีวิตให้แยม จะไม่มีแยมต้องเรียนเป็นหมอนะ แยมต้องทำแบบนี้นะ เขาจะให้แยมคิดเองว่าแยมชอบอะไร

“พอแยมเลือกได้ว่าชอบอะไรเขาก็จะสนับสนุน นอกจากว่าเรื่องที่แยมอยากทำมันจะไม่ดีจริงๆ ส่วนแบบไทยนั้นก็คือเขาก็จะมีกฎเกณฑ์บ้าง เขาก็จะคอยสอนมารยาทบ้าง ทุกอย่างมันยังอยู่กฎเกณฑ์อยู่”

เธอมองว่า ทั้งพ่อและแม่ของเธอมีวิธีเลี้ยงดูเธอไปในแนวทางเดียวกัน โดยมักจะวางตัวเองเหมือนเป็นเพื่อนกับเธอที่มีอะไรก็สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง

“คุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงแบบเป็นเพื่อนกัน มีอะไรก็คุยได้ แยมจะไม่อึดอัด” เธอเผยพร้อมรอยยิ้มก่อนจะเผยถึงข้อแตกต่าง “แต่ก็มีดุบ้างนะคะ ก็เป็นคุณแม่คือจะขี้บ่นแล้วก็ดุบ้าง คือคุณแม่จะบ่นได้ทุกอย่างเลย (หัวเราะ) แต่แม่ทุกคนก็คงเป็นแบบนั้นต้องเข้าใจว่า เขาหวังดีกับเรา”

โดยในครอบครัวที่คุณพ่อกับคุณแม่ต่างมีลูกติดมาด้วย เธอเผยว่า ด้วยอายุที่ห่างกันทำให้ไม่ได้สนิทมากนัก จะมีเพียงลูกทางฝั่งคุณแม่เท่านั้นที่โตมาด้วยกันในช่วงเวลาสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเธอก็ถือว่าเป็นครอบครัวที่เพียบพร้อม สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่สอนเธออยู่เสมอก็คือ หากจะทำอะไรก็อย่าให้ใครมาว่าร้ายได้ นี่ไม่ใช่เพียงชีวิตการเป็นนักแสดงหากแต่เป็นคำสอนที่อยู่ในชีวิตจริงทั้งหมดของเธอด้วย

“คุณพ่อคุณแม่จะคอยสอนว่า เราทำอะไรอย่าให้ใครว่าเราได้ อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการแสดงนะคะ เกี่ยวกับเรื่องการชีวิตจริง ชีวิตประจำวันของเรา เราทำอะไรอย่าให้ใครมาว่าเราได้”

จากการที่เธอเติบโตมาในต่างประเทศ เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทยก็เป็นสิ่งสำคัญ หากทว่าชีวิตในเมืองไทยของเธอก็ยังคงพบกับพื้นที่ทับซ้อนทางวัฒนธรรมอยู่ เมื่อเธอมีเพื่อนที่โรงเรียนที่เป็นคนไทย กับเพื่อนกลุ่มที่เป็นลูกของเพื่อนๆพ่อซึ่งเป็นเด็กหัวนอก

“ตอนนี้ย้ายกลับมาพักใหญ่แล้ว ก็พอมีเพื่อนนะ ถ้าไม่เลยก็น่าแปลกแล้ว” เธอเอ่ยถึงช่วงชีวิตปัจจุบันที่มาอยู่เมืองไทยได้ 3 - 4 ปีแล้ว “แยมก็จะมีกลุ่มเพื่อนอยู่ 2 กลุ่ม มีที่โรงเรียนก็จะเป็นกลุ่มเด็กไทยธรรมดา”

ขณะที่อีกกลุ่มเธอเผยว่าเป็นกลุ่มลูกของเพื่อนๆคุณพ่อที่จับกลุ่มสนิทกันมาตั้งแต่เด็กๆ

“ลูกๆเขาก็จะเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ พวกนี้จะเป็นแนวฝรั่งนิดนึง เป็นคนไทยบางคนโตเมืองนอก บางคนก็โตที่ไทยแต่มีนิสัยแบบฝรั่งเหมือนกัน เพราะคุณพ่อคุณแม่เราก็โตที่เมืองนอก เราก็จะอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้มากกว่า”

โดยเวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อนหัวนอกเธอเผยว่า จะมีการพูดภาษาอังกฤษกันบ้าง บางครั้งการทำอะไรก็มักจะสบายๆและไม่คิดอะไรมาก ขณะที่กลุ่มเพื่อนคนไทยเธอมองว่า มักจะมีมาดมากกว่าหน่อย แต่เธอก็อยู่ร่วมได้กับทั้ง 2 กลุ่ม

“2 กลุ่มเพื่อนของแยมมาอยู่ด้วยกันมันก็จะคนละแบบกันเลย จะว่าไปก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันต้องเห็นเอง วิธีพูดก็จะคนละแบบ คือกลุ่มของคุณพ่อจะเปิดเผยมากกว่า มีอะไรก็พูดชิลๆ อีกกลุ่มก็จะไทยนิดนึงอาจจะมีมาดหน่อย”

เก่งในสิ่งที่ชอบ

ท่ามกลางการแข่งขันในระบบการศึกษาผลการเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ มองอย่างหยาบ เกรดเฉลี่ยถือเป็นสิ่งชี้วัดความสามารถโดยรวมหากจะเปรียบเทียบมนุษย์คนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง เกรดเฉลี่ยที่ย่ำแย่ย่อมบอกว่า คนคนนั้นเรียนไม่เก่ง เธอเองก็เป็นเช่นเด็กเหล่านั้นที่มองว่าตัวเองเรียนไม่เก่งจากเกรดเฉลี่ยทั้งหมด

“เรียนไม่เก่งเลย (เน้นเสียง) เป็นเด็กที่ช้ามาก” เธอกล่าวขึ้น แม้ว่าแท้จริงแล้วย้อนกลับไปวัยเรียนเธอจะเจอกับบทเรียนที่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบมาเรียนไทย 2 ปีกลับไปต่ออสเตรเลีย 2 ปี ก่อนกลับมาไทย “แยมเป็นคนที่เข้าใจอะไรยาก อย่างวิชาคณิตศาสตร์ สมองแยมจะตันทันที คิดอะไรไม่ออก นิดเดียวก็คิดไม่ออกแล้ว”

ทว่าท่ามกลางเกรดเฉลี่ยที่ไม่ดีนัก เธอเผยว่า ตัวเองมักจะถนัดวิชาสายศิลป์อย่างภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์

“แต่แยมจะเก่งพวกภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ แยมจะมีความชอบมากกว่า แต่เกรดเฉลี่ยก็จะไม่ได้ต่ำอะไร แต่ก็ไม่ได้สูงอะไร จะกลางๆ มันจะดึงขึ้นดึงลงกัน”

ในส่วนของงานกิจกรรมโรงเรียนนั้น เธอถอนหายใจพลางยิ้มก่อนเผยว่า เป็นเด็กที่ไม่ชอบทำกิจกรรมนัก แต่หากให้ช่วยอะไรเธอก็ยินดี

“แยมเป็นเด็กที่ไม่ชอบทำกิจกรรมเลย เป็นเด็กขี้เกียจแต่ถ้าจะมีร่วมกิจกรรมก็เป็นพวกกีฬาสีอะไรแบบนี้ ก็จะช่วยเขาแข่งโน่นแข่งนี่ เวลาเขาเลือกมักจะเลือกแยมไปเล่นบาสเกตบอล แต่แยมเล่นไม่เก่ง ชอบฟลุกชูตลงมากกว่าแบบโยนแล้วเข้าเลย”

หลังจากกลับมาเรียนต่อในหลักสูตรนานาชาติจนจบเกรด 12 ที่ Keerapat International School เธอก็เรียน GED เทียบวุฒิม.6 ก่อนจะเข้าเรียนที่คณะศิลปศาสตร์(ภาคอินเตอร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเธอให้เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้ว่า น่าจะสามารถปรับใช้กับอนาคตได้ง่าย

“ก่อนตัดสินใจหนูได้อ่านตำราเรียนนิดหน่อยก็เห็นว่าน่าสนใจดี เพราะสิ่งที่เขาให้เรียนมันสามารถใช้ได้ในอนาคต”เธอเอ่ย โดยก่อนหน้านี้เธอเคยอยากเรียนคณะวารสาร แต่เมื่อลองมองอีกมุม เธอกลับเห็นว่า ความรู้ในคณะนั้นอาจมีให้เธอเก็บเกี่ยวจากการทำงานของเธออยู่แล้ว “เหมือนเราต้องใช้ในอาชีพของเราอยู่แล้ว ต้องเจออยู่ทุกวัน หนูเลยมองว่าไปเรียนธุรกิจภาษาอังกฤษอะไรแบบนี้ดีกว่า เพราะอนาคตเราอาจจะทำธุรกิจก็ได้ คณะนี้คล้ายอักษรแต่มีเชิงธุรกิจเข้ามาด้วย”

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอเลือกคณะที่เปิดกว้างในการต่อยอดก็มาจากว่า เธอยังไม่แน่ใจในความชอบของตัวเองมากนัก

“หนูไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เรียนตอนนี้มันจะมีประโยชน์ในอนาคตหรือเปล่า” เธอเอ่ยพลางหัวเราะ “แต่เรียนเพราะว่ามันไม่ได้เจาะจง อย่างบัญชีมันเป็นวิชาเจาะจงที่จบมาความรู้นี้ต้องใช้กับการทำงานบัญชี แต่อันนี้คณะที่หนูเลือกมันสามารถใช้ในการทำอะไรก็ได้”

การเป็นเด็กอายุ 17 ปี อนาคตก็ยังคงเปิดกว้างอยู่ การยังไม่รู้จักตัวเองและสิ่งที่ตัวเองต้องการในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

“แยมไม่มีความฝันอะไรเลย ไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย คือทำอะไรที่ชอบไปก่อน อย่างตอนนี้ก็คือทำงานนักแสดงไปก่อน”

แต่ในส่วนของเวลาว่างในการทำงานอดิเรก เธอเผยพร้อมเสียงหัวเราะว่า ตัวเองเป็นคนไม่มีงานอดิเรกอะไรสักเท่าไหร่

“แยมเป็นคนที่ไม่ค่อยทำอะไรมาก” เธอกล่าวพร้อมกับเสียงหัวเราะ “แต่แยมเป็นคนที่ติดฟังเพลง ทำอะไรก็ฟังเพลงอยู่ตลอด ชอบเพลงทุกแนวเลย มันแล้วแต่ว่าเพลงไหนจะถูกใจถูกหู ยังไงก็ขอให้มีเพลงฟังอยู่ตลอดเวลา ศิลปินที่ชอบถ้านึกตอนนี้ก็เป็นวงโคลเพล (coldplay)”

แต่เวลาว่างก็ยังคงมีอยู่ ในช่วงว่างเหล่านั้นบางครั้งเธอก็จะไปเล่นกีฬากับเพื่อน ไปในแบบที่เธอใช้คำว่า เพื่อนไปไหน เราก็ไปด้วย

“หนูเลยไม่ค่อยมีกีฬาที่เล่นประจำ บางครั้งก็ต่อยมวยไม่ก็ตีแบดฯ เป็นแนวออกกำลังกายกับเพื่อนๆ แล้วแต่เพื่อนจะทำกิจกรรมกัน เพื่อนไปไหนเราก็ไปด้วย”

นอกจากนี้ การอ่านหนังสือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เธอทำ แม้จะไม่ได้ติดหนังสือชนิดที่ว่าต้องอ่านตลอดก็ตาม เธอมักจะอ่านเฉพาะเรื่องที่สนใจและชอบจริงๆเท่านั้น โดยมากแล้วก็จะเป็นแนวจิตวิทยาเสียด้วย

“ไม่ใช่คนติดหนังสือแล้วก็ไม่ได้มีเล่มโปรด แยมเป็นแนวอ่านไปเรื่อยๆ มากกว่า เล่มที่อ่านอยู่ตอนนี้เป็นภาษาอังกฤษชื่อ วาย เมน เลิฟ บิสเชส (why men love bitches) จะอธิบายว่าทำไมผู้ชายถึงชอบผู้หญิงแรงๆ แยมชอบแนวๆนี้เกี่ยวกับจิตวิทยาหน่อย”

ไม่แรงแต่ชอบเคลียร์!

หลังผ่านงานละคร 2 เรื่อง “แค้นเสน่หา” กับ “ไฟรักเพลิงแค้น” คำว่า แค้น ดูจะตามติดเธอแบบทีเล่นทีจริง จากบทบาทล่าสุดที่ตามล่าล้างแค้น แต่แน่นอนว่าชีวิตจริงคงไม่เป็นอย่างในละคร

“โอย! ไม่หรอกค่ะ” เธอเอ่ยยิ้มเมื่อเราถามอย่างทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับการล้างแค้นเอาคืนในชีวิตจริง “ละครก็คือละคร ชีวิตจริงเราควรจะมองว่าการแก้แค้นไปมันมีแต่ความทุกข์ เราไม่ค่อยได้อะไรหรอก แล้วคือหนูเองก็คงไม่เก่งขนาดนั้นวางแผนเหมือนนักธุรกิจในเรื่องด้วย”

โดยในชีวิตจริงนั้น เธอมองตัวเองว่า เป็นคนง่ายๆ ทำอะไรก็สบายๆ และไม่คิดมากในบางเรื่อง บางครั้งออกจะแมนๆนิดนึงด้วยซ้ำ สิ่งหนึ่งที่ดูแมนมากคือการเป็นคนชอบเคลียร์ไม่ให้มีเรื่องค้างคาอยู่ในใจ

“แยมจะคิดมากก็เรื่องคนรอบข้างคิดอะไร เราควรจะทำอย่างนั้นมั้ย จริงๆก็แล้วแต่เรื่อง แต่แยมเป็นคนไม่ชอบมีปัญหาอะไรที่ค้างคาใจ ถ้ามีปัญหาอะไรอยู่ในใจแยมจะไม่มีความสุขเลย แยมก็จะชอบเคลียร์!” 
แต่เธอก็ไม่ใช่คนตรงๆ ขนาดที่จะเดินเข้าไปเผชิญหน้า เฮ่ย! มีเรื่องอะไร เธอไม่ใช่คนแรงขนาดนั้น แต่มักจะหาวิธีแก้ปัญหาให้ดีที่สุดมากกว่า

“แยมจะหาคิดหาวิธีที่แก้ปัญหาให้ดีที่สุด มองปัญหาให้ขาด คิดให้ถูกต้อง ใช้เหตุผลให้มากที่สุด” เธอว่าก่อนยกตัวอย่าง “เวลามีปัญหากับเพื่อน เราอาจจะเข้าใจอะไรผิดกัน เวลามีอะไรแบบนี้ต่างคนก็ต่างเงียบๆ กันไป แต่เราจะไม่สบายใจคือแยมก็เป็นคนรักเพื่อน วิธีคือแยมอาจจะไม่เข้าไปคุยตรงๆกับเขา อาจจะอ้อมไปถามเพื่อนอีกคนหนึ่ง ให้คนนั้นไปถามให้อีกที คือบางครั้งแยมไม่ค่อยกล้า เป็นคนขี้อายนิดนึงในบางเรื่อง แต่ยังไงก็ต้องเคลียร์ ยิ่งเพื่อนสนิทก็จะต้องเคลียร์เองเลย”

เมื่อพูดถึงข้อดี - ข้อเสียของตัวเองนั้น อาจเป็นมุมมองที่เปิดกว้างหรือประสบการณ์ที่ยังไม่มากพอ ทำให้เธอไม่แน่ใจนักว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ข้อดี เมื่อไม่นานมานี้ในชั้นเรียนก็มีการให้เธอมองหาข้อดีของตัวเอง แต่เธอมักจะเห็นแต่ข้อเสียที่ต้องปรับปรุง

“ข้อเสียอาจจะหาง่ายแต่ข้อดีหายากหน่อย” เธอเอ่ยพลางหัวเราะ “จริงๆนะ ข้อเสียคือแยมจะเป็นคนขี้รำคาญนิดนึง จะหงุดหงิดง่ายแต่หายเร็ว อันนั้นข้อดีมั้ง? คือแยมไม่รู้ว่าข้อเสีย - ข้อดีมันเป็นยังไง แยมเป็นคนที่ยอมคน แต่ว่าพอมันถึงจุดหนึ่งแยมจะไม่ยอมเลย คือตัดออกไปเลย อย่างเรื่องเพื่อน ถ้าเขาทำให้เราเจ็บมาก เราก็ตัดเขาออกไปเลย อันนั้นไม่รู้ดีหรือไม่ดี แต่มันคือสิ่งที่แยมเป็น”

ทั้งนี้ ข้อเสียที่เธอมองว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรคือ เธอทำอะไรเองไม่ค่อยเป็น ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า ทำงานบ้าน แม้ว่าจะโตที่เมืองนอก เธอก็เผยว่า ตอนนั้นเธอยังเด็กอยู่ทำให้มีคนคอยช่วยดูแล เมื่อกลับเมืองไทยกระทั่งถึงเข้าวงการก็ยิ่งทำให้หลายสิ่งหลายอย่างมีคนจัดหาทำให้หมด

“สมมติถ้าอายุเท่านี้แล้วไปอยู่ที่ออสเตรเลียแยมก็ต้องเริ่มทำงานแล้ว แต่ว่าแยมกลับมานี่ก่อน แล้วพอมาอยู่ในวงการนี้คนก็จะทำอะไรให้เยอะ อย่างในกองเราไม่ต้องทำอะไรเลยจะมีฝ่ายดูแลนักแสดงช่วย กลับมาบ้านบางครั้งก็จะถามแม่ว่าให้ทำอะไรมั้ย มีอะไรให้ช่วยมั้ย แม่ก็จะบอก ไม่ต้อง (เสียงดุ) เพราะแยมทำอะไรแล้วไม่ได้เรื่อง เคยตากผ้าให้แม่แล้วไม่ดี แม่ก็จะหงุดหงิด(หัวเราะ)”

ในส่วนของมุมมองเกี่ยวกับเรื่องความรักนั้น เธอตอบโดยเร็วว่า ไม่มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจเพราะยังเด็กและยังมองไม่ขาด

“แยมไม่มีมุมมองความรัก จริงๆนะ แยมรู้สึกว่า ถ้าเจอใครที่ใช่มันก็คงใช่ละมั้ง คือสงสัยแยมยังเด็กด้วยแหละ แยมคงคิดเรื่องนี้ไม่ค่อยละเอียดว่า มันต้องเป็นยังไง เราควรจะมองโลกยังไงเรื่องความรัก เหมือนแยมยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ด้วย”

แต่กับสำหรับหนุ่มในสเปกนั้น เธอเผยว่า ต้องเป็นคนที่ทำให้เธอเป็นตัวของตัวเองได้เมื่ออยู่ด้วย

“แยมชอบคนที่ใจดีแล้วก็ทำให้แยมเป็นตัวของตัวเองได้ นี่คือสเปกของแยม แต่ว่าเรื่องหน้าตาแยมไม่ค่อยมี คือขอปกติหรือดีนิดนึงก็พอ (หัวเราะ)”

นางเอกแค้นฝังใจ - สาวบู๊

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆส่วนจาก “แค้นเสน่หา” ผลงานที่ผ่านมาทั้งสำเนียงที่อาจจะยังพูดไม่ชัด และการแสดงที่ถูกมองว่าไม่ผ่านเกณฑ์ มาถึงผลงานที่เพิ่งลาจอไปอย่าง “ไฟรักเพลิงแค้น” เธอขึ้นแท่นเป็นนางเอก แถมยังเป็นตัวละครที่เดินเรื่องทั้งหมดอีกด้วย บอกได้ว่า หากแสดงได้ไม่ดีคงมีเปลี่ยนช่องหนี

“ไฟรักเพลิงแค้นหนูรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้นมาได้เยอะเหมือนกัน” เธอเอ่ยพร้อมบอกเหตุผล “สิ่งสำคัญก็คือบทและผู้กำกับ แยมโชคดีได้ผู้กำกับดี พี่ชุ(ชุดาภา จันทเขตต์)ช่วยแยมได้เยอะมากๆ เพราะเขาเป็นคนใส่ใจกับรายละเอียดทุกอย่างเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด เขาคอยบอกแยมทุกอย่าง ทำให้แยมรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาได้เยอะขึ้น”

เธอให้เหตุผลว่า หากผู้กำกับปล่อยผ่านในการแสดงที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์เธอก็จะยังไม่รู้ว่าแสดงแบบไหนถึงจะถูกถึงจะดี โดยความยากของบทบาทนี้มีตั้งแต่ตอนแรกที่เหมือนเป็นเด็กใสซื่อ แต่หลังจากไปเมืองนอกและกลับมา พัฒนาการของตัวละครเป็นสิ่งสำคัญที่เธอต้องสื่อให้คนดูเห็น

“ตอนแรกกลับมาจากเมืองนอกก็ยังธรรมดา แต่สักพักก็เริ่มเก็บความแค้น เริ่มมีเก็บกดอารมณ์จนเริ่มแก้แค้นซึ่งมันก็ยากเพราะในเรื่องเขาเป็นนักธุรกิจอายุ 25 แล้ว ขณะที่แยมอายุ 17 คือเราต้องเข้าใจชีวิตตัวละครวีด้าทั้งหมดว่า เขาผ่านอะไรมา ทำไมเขาถึงทำอย่างนี้? ถ้าเราเล่นแบบฉากต่อฉากมันก็ยาก”

ในช่วงแรกเธอเผยว่ายังคงติดขัดบ้าง ซึ่งเธอมองว่า เป็นกับทุกเรื่องที่มาจากการยังไม่สามารถเข้าใจบทได้มากพอ แต่พอผ่านเวลาไปสักพักก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวละครวีด้าในสายตาเธอนั้นคือเป็นคนที่มีเหตุมีผลสูง ตัวเองถูกทำร้ายจึงต้องทำร้ายอีกฝ่ายกลับ ทั้งยังเป็นตัวละครที่ฉลาดในการวางแผนรอบคอบอีกด้วย

“กระแสตอบรับ จริงๆ ดีกว่าที่คิดด้วยซ้ำเพราะว่าเราเป็นคนเดินเรื่องเลย แล้วถ้าคนจะไม่ดูก็คือไม่ดูเลยเพราะจะเห็นแยมเกือบทุกฉาก แต่ฟีดแบ็กกลับมาดีมาก บอกแยมโอเค แยมเล่นเก่งขึ้น พูดชัดขึ้น ซึ่งเรื่องการแสดงเครดิตแยมต้องให้พี่ชุหมดเพราะพี่ชุไม่ปล่อยแยมเลย”

กับผลงานต่อไปของเธอละครแนวบู๊ฟอร์มใหญ่ หัวใจปฐพี ครั้งนี้เธอก็ได้ประกบคู่กับนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างปอ - ทฤษฎี สหวงศ์ ทั้งยังมีอีกคู่ดารายอดนิยมอย่าง ไมค์ - พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ร่วมด้วย

“ตอนนี้กำลังเตรียมเปิดเรื่องหัวใจปฐพีของพี่ปิ่น(ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์) เป็นแนวบู๊ก็เลยมีเรียนบู๊เป็นการเตรียมตัว” เธอเอ่ย “พระเอก 2 คนก็จะบู๊ทั้งคู่อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายหญิงมีแยมบู๊อยู่คนเดียวคะ ตอนนี้ก็เริ่มซ้อมแล้วยากมาก(เน้นเสียง)”

ด้วยความที่เธอเป็นคนไม่ได้ออกกำลังกายอย่างจริงจังทำให้ตัวเองกลายเป็นคนที่เส้นแข็ง นอกจากนี้เธอยังมองว่าตัวเองมีลักษณะเก้งก้างทั้งยังเป็นคนช้าๆ ทำให้โดนดุเร่งให้เร็วอยู่บ้าง

“เตรียมตัวผ่านมาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว เขาจะสอนแบบให้หนักไว้ก่อน พอเราเจอหน้ากองจะได้ชิล สอนแบบเบสิกให้ท่าสวย การ์ดสวย”

ความน่าสนใจของละครเรื่องนี้นั้น เธอเผยว่า คือบทบาทดรามาของคนที่ต้องการความรักจากพ่อซึ่งทำให้ตัวละครตัวนี้ของเธอเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บกด

“จริงๆ ทุกเรื่องมันก็มีความน่าสนใจของมัน สำหรับตัวแยมเองก็น่าสนใจว่าแยมจะถ่ายทอดมันออกมาได้เป็นแบบไหน”



วงการบันเทิงในยุคปัจจุบันแน่นอนว่า ดาวรุ่ง - ดาวร่วงนั้นสลับหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันอย่างรวดเร็ว หากสอบไม่ผ่านในละครเรื่องแรกอาจถูกทิ้งลืมในไม่นาน เมื่อบทสนทนาเดินมาถึงคำถามถึงอนาคตในวงการ เธอยิ้มพลางเอ่ยว่า อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอนยิ่งอนาคตในวงการบันเทิง ยังคงมีบทพิสูจน์ที่รอเธออยู่ บทพิสูจน์ที่จะแยกเธอระหว่างคนที่เป็นได้เพียงดาวรุ่ง กับดาวค้างฟ้า


(ล้อมกรอบ)

มทิรา ตันติประสุต
ชื่อเล่น แยม
วันเกิด : 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 อายุ : 17 ปี
การศึกษา : Keerapat International School ปัจจุบันกำลังเข้าศึกษาต่อที่ คณะศิลปศาสตร์ อินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนสูง : 170 เซนติเมตร น้ำหนัก : 49 กิโลกรัม
งานอดิเรก : อ่านหนังสือ ฟังเพลง
ศิลปินที่ชื่นชอบ : โคลเพล ความสามารถพิเศษ : เล่นโบว์ลิ่งและพูดภาษาอังกฤษ
ผลงาน ละครไชยเชษฐ์ แค้นเสน่หาทางช่อง 3 ไฟรักเพลิงแค้น ทางช่อง 3

เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!













กำลังโหลดความคิดเห็น