การถูกพ่อค้า-แม่ค้า โกงเอารัดเอาเปรียบคงเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะร้านถูก ร้านแพง ก็ดูเหมือนจะมีพ่อค้าแม่ค้าเหลือบไรแฝงตัวอยู่ไปหมด อย่างล่าสุด ร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยวอย่างกระบี่ ก็คิดราคาอาหารมื้อหรูถึง 10,000 บาท ซึ่งราคานี้ทางร้านคิดเงินเกินไปเกือบเท่าตัว ถือเป็นการเตือนภัยว่า หากไม่ระมัดระวังตัว บิลมาจ่ายเงินไปโดยไม่ตรวจสอบดู ก็อาจเสียเงินเกินราคาจริงไปแบบไม่รู้ตัวเสียนี่
“คิดเงินมั่ว” มุกเดิมฉวยโอกาส
ใครจะไปนึกคิด การกินข้าวมื้อเดียวจะถูกฟันหัวแบะ กลโกงเดิมๆ ที่ร้านอาหารหลายร้านคิดไม่ซื่อกับลูกค้า หวังฉวยโอกาสคิดเงินเกิน อย่างล่าสุด มีการแฉผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดัง pantip.com ถึงการคิดราคาอาหารเกินไปกว่า 5,000 บาท ซึ่งถ้าลูกค้าคนนั้นไม่เอะใจคงต้องเสียเงินไปฟรีๆ
“เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเที่ยวอ่าวนาง จ.กระบี่ กับกลุ่มเพื่อนๆค่ะ ช่วงเวลาอาหารเย็น เราก็เลยฝากท้องไว้ที่ร้านอาหาร..... เราไปกันหลายคนค่ะ พนักงานเสิร์ฟก็เลยให้เรานั่งเป็น 2 โต๊ะ เราก็โอเคนั่ง 2 โต๊ะ ใกล้ๆกัน พออิ่มก็สั่งเช็กบิล โอ้วแม่เจ้าโว้ยยยยยย ค่าอาหาร 11,440 บาท ก็จะชักจ่ายกันสิคะ แต่ก็เอะใจ เอ๊ะ ทำไมอาหารมันถึงได้แพง ก็เลยลองมานั่งดูบิล เช็กรายการอาหาร กับราคาอีกที เช็กไปเช็กมา ราคาอาหารมันแค่ 5,500 บาท เท่านั้น แล้วส่วนที่เกินมา 5,940 บาท มันมาจากไหน????
พวกเราเริ่มไม่ยอมแล้วค่ะ ขอพบผู้จัดการร้าน พนักงานเสิร์ฟแจ้งว่า ผู้จัดการร้านไม่ว่าง เพื่อนไม่ยอมค่ะ บอกว่า ให้ไปตามผู้จัดการร้านมา ซักพักก็มีผู้หญิงแต่งตัวแบบเดียวกับพนักงานเสิร์ฟเดินมา ซึ่งพวกเราได้รับแจ้งว่า ผู้หญิงคนนี้คือผู้จัดการร้าน เอาวะ ถึงแม้พวกเราคิดว่าหล่อนไม่น่าจะใช่ ก็คุยกับหล่อนนี่แหละ พวกเราได้รับคำตอบจากผู้หญิงที่เขาบอกว่าเป็นผู้จัดการร้านว่า สาเหตุที่คิดผิดพลาดเกิดมาจากเครื่องคิดเลขผิดพลาด เครื่องคิดเลขมีปัญหา นี่หรือ...คือคำตอบของหล่อน
จากเหตุการณ์ที่เล่าสู่กันฟังนี้นะคะ
1. แคชเชียร์ที่คิดเงินทุกๆ วัน เข้าใจค่ะว่า มีโอกาสที่จะคิดผิดได้ มันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คนที่คิดเงินอยู่ทุกวัน จำนวนตัวเลขที่เห็น มองคร่าวๆ ก็น่าจะเอะใจได้แล้วนะว่า มันน่าจะถึง 10,000 บาทมั้ย
2. คำตอบของผู้จัดการร้าน เป็นคำตอบที่โทษเครื่องคิดเลข ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบหรือความจริงใจต่อลูกค้าเลย
3. ถ้าเครื่องคิดเลขมีปัญหาจริงอย่างที่ผู้จัดการร้านบอก ทำไมเขาไม่แก้ปัญหาตรงเครื่องคิดเลข ทั้งๆ ที่ตอนเขามาแก้ตัว เขาเป็นคนบอกเองว่า เครื่องคิดเลขมันก็เคยเป็นแบบนี้
4. ถ้าลูกค้าไม่ตรวจสอบบิล ใครจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์??
5. ข้อนี้คิดว่า สำคัญมากนะคะ จ.กระบี่ มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ถ้าทั้งคนไทยหรือคนต่างชาติ เจอแบบนี้เข้า อาจจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวค่ะ
ตั้งแต่นี้ไปคงต้องเพิ่มความรอบคอบในการจ่ายเงินมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ”
อย่างไรก็ตาม กระทู้ต้นเรื่องดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งหากถ้าร้านไม่ได้ทำผิดจริงดังที่กล่าวหา แต่เราในฐานะผู้บริโภคก็อาจจะได้ข้อคิดสะกิดใจว่า ควรตรวจสอบราคาให้เรียบร้อยถี่ถ้วนก่อนจะชำระเงิน เพราะไม่เช่นนั้น อ้อยเข้าปากช้างแล้ว คงไม่คายออกมาง่ายๆ
ชาวโซเชียลร่วมเตือนภัย
แน่นอนว่า ภายในกระทู้ดังกล่าวเคยมีผู้ร่วมประสบภัยโดนฉวยโอกาสจากร้านอาหารเดียวกันนี้มาบ้าง หรือถึงแม้จะไม่ใช้ร้านเดียวกัน แต่การโดนโกงในร้านอาหารก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนหากไม่ระวังตัว ดังนั้น กระทู้นี้จึงเต็มไปด้วยข้อความที่ส่งต่อให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องรู้จักรอบคอบและระมัดระวังตัวเอง
“ไปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ควรจะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะคนเยอะอาจถูกเอาเปรียบได้ง่ายกว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว กรณีนี้ดีที่ตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน ถ้าเงินออกจากกระเป๋าแล้วมาเห็นทีหลังต้องเสียเวลาทวงคืนอีก”
“รณรงค์ให้ดูบิลก่อนจ่ายเงินทุกครั้ง เพราะ อาจจะมีเจ้าของร้านบางร้านหัวใส หากินกับลูกค้าบางคนที่ไม่ได้ใส่ใจเช็กรายละเอียด เพราะนึกไม่ถึงว่า จะกล้าทำแบบนี้!!!”
ทั้งนี้ เหตุการณ์ถูกเอารัดเอาเปรียบดังกล่าว ทำให้หวนนึกถึงกระทู้ฮือฮาเมื่อปีที่แล้ว แฉประสบการณ์โดนโกงที่ถูกกล่าวขานอยู่พักใหญ่ “แจ้งเตือนร้านขนมไทยอ่างศิลา ขายแพง ขายเป็นขีด อาจเสียเงินจากการมึนงงได้” เรื่องของร้านขายขนมไทยในแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งราคาไว้สูงถึงขีดละ 40 บาท หรือกิโลกรัมละ 400 บาทเลยทีเดียว
“มีใครเคยซื้อขนมหวาน ขนมไทย เช่น ขนมชั้น สังขยา แบบชั่งน้ำหนักแล้วคิดเงินบ้าง มีที่นี่ ที่อ่างศิลา
เมื่อวาน วันที่ 15 เมษายน 2556 พาแฟนขับรถไปเที่ยวบางแสน แต่คนเยอะ ลงหาดไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจไปทานข้าว
ที่อ่างศิลา ซึ่งเปิดเจอในเน็ต ว่าเป็นร้านแนะนำ เมื่อได้คิวจึงเข้าไปสั่งอาหารที่ร้านแล้ว รออาหาร แฟนก็เห็นว่าว่าง รออาหารนาน จึงเดินออกไปนอกร้านเพราะเห็นว่ามีร้านขนมหวาน ขนมไทย จึงเดินออกไปซื้อ
แฟนเล่าว่าตอนซื้อ ตั้งใจจะสั่งแค่ขนมชั้น กับ ข้าวเหนียวดำสังขยา อย่างละ 1 ชิ้นเท่านั้น คงไม่กี่บาท จึงสั่งคนขายไป อย่างละชิ้น คนขายบอกว่า ตักครั้งละ 6 ชิ้นนะ แฟนถามว่าขายยังไงเท่าไหร่ คนขายชี้ไปที่ป้ายที่ติดอยู่ เขียนว่า ขีดละ 40 บาท แล้วบอกว่าของเราดีมีคุณภาพคะ ด้วยอาการงงๆ ของแฟน แบบตั้งรับไม่ทัน คนขายตักมาชั่ง ปรากฏว่า 5 ขีดกว่า แฟนตั้งสติได้ตกใจ รีบเดินมาเอาเงินเพิ่ม ตัวผมให้ไปเพราะคิดว่าคงซื้อพวกปลาหมึกแห้งพวกนี้
พอได้เงินเอาไปจ่าย คนขายบอก ทั้งหมด 230 บาท!!! แม่เจ้า ขนมชั้น กับข้าวเหนียวดำ ราคาเท่ากรรเชียงปู ที่กำลังจะกินเลย แฟนทำหน้าเศร้าเดินมาพร้อมถุงขนมไทย มาสารภาพว่า ราคา 230 ผมตกใจเลย ได้แต่ปลอบแฟน เพราะแฟนเสียใจเหมือนโดนหลอก โทษตัวเอง ว่าไม่อ่านป้ายให้ดีก่อน ในร้านข้าวเองก็มีป้ายติดเตือนว่า "ขนมไทยร้านข้างๆ ขายขีดละ 40 บาท ไม่เกี่ยวข้องกับทางร้าน" พอเห็นป้ายจึงรู้ว่าโดนเข้าแล้ว ตอนเก็บเงินที่ร้านข้าว เด็กในร้านเห็นขนมจึงถามว่าโดนมาเท่าไหร่
หลังจากนั้นเดินออกมาหน้าร้านเพราะอยากเห็นคนขาย แล้วจึงเดินไปซื้อข้าวหลาม แม่ค้าขายข้าวหลาม เห็นถุงขนมจึงชี้ให้เพื่อนแม่ค้าด้วยกันดู แม่ค้าขายข้าวหลามพูดว่าโดนกันอีกแล้วเหรอไอ้ขนมหลอกลวง คนโดนกันเยอะเลยนะ บางคนเอาไปด่าลงเว็บก็มี หลายครั้งแล้ว ผมจึงไปเปิดหาดูในเว็บก็มีคนแจ้งเตือนไว้แล้วจริงๆ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าจะซื้ออะไรต้องอ่านให้ดีก่อน กลโกงมันมีมาก ร้านนี้มันไม่เจริญหรอก มีแต่คนด่า เจ็บใจ ใครไปอ่างศิลา ระวังไว้นะครับ มิอย่างนั้นท่านอาจเป็นเหยื่อ ช่วยกันแชร์นะครับ”
ผู้บริโภคต้องรักษาสิทธิ
อีกช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนนอกเหนือไปจากการลากไส้ประจานในโซเชียลมีเดียแล้ว ยังมีหน่วยงานที่คอยคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่ถึงกระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยได้นำเรื่องร้องเรียนเข้าไปร้องทุกข์ในองค์กรเหล่านี้มากเท่าไหร่นัก ดังเช่นที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ในส่วนของการร้องเรียนเรื่องของร้านอาหารจำหน่ายอาหารเกินราคา ไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามามากอย่างที่คาดไว้
“ส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับร้านอาหาร ก็จะเป็นเรื่องอาหารแพง ร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีราคาแพงกว่าร้านทั่วไป ก็จะมีการร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊กของมูลนิธิ ประเด็นหลักคือการสั่งอาหารไปแล้วพอคิดเงินราคาที่ออกมาไม่ตรงกันกับในเมนู ด้วยประเด็นเรื่องอาหาร มันอยู่ตรงที่การตัดสินใจ ทีนี้สิ่งที่มันจะต้องมองคือเรื่องของราคา ถ้าเป็นในแง่ของข้อกฎหมายเนี่ย ก็มักจะมองในเรื่องของการปิดป้ายราคาว่าบอกไว้หรือเปล่า กรณีถ้ามีการติดป้ายราคา ผู้บริโภคก็มีสิทธิตัดสินใจที่จะเข้าไปซื้อสินค้าร้านนั้นหรือเปล่า ส่วนในกรณีที่ไม่ติดป้ายราคาเลย ผู้บริโภคก็ไปสั่งแล้วราคามันแพงกว่าปกติ อันนี้ถือว่าเป็นความผิดนะคะ เพราะทางร้านไม่ได้ติดป้ายราคาบอก แต่ถ้าทางร้านติดราคาบอกแล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิตัดสินใจแล้ว อันนี้ถือเป็นเรื่องของความสมัครใจ ความพึงพอใจ ที่ผู้บริโภคอยากจะทานร้านนี้
อีกเคสคือปัญหาการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สมมติว่า ป้ายราคาติดไว้ที่ 60 บาท แต่เวลาคิดเงินคิดไปอีกเท่าตัวนึงของราคาที่บอกไว้ อันนี้ก็ต้องมีการสอบถามทางผู้บริโภคก่อนที่จะสั่ง ในเมนูได้ระบุไว้มั้ยว่าถ้าเป็นเมนูพิเศษจะมีการคิดราคาเพิ่ม หรือมีการสั่งเพิ่มมั้ย ถ้ามีราคาพิเศษบอกไว้หลายๆ ราคา มีราคาให้เลือก จานเล็ก จานใหญ่ บางครั้งสั่งจานเล็กไป แต่พอมาคิดเงินกลับคิดอีกราคานึง ก็ถือว่ามีความผิดเหมือนกัน”
หากพูดกันจริงๆ แล้ว เหตุการณ์การโกงเงินลูกค้าคงเป็นเรื่องที่ห้ามปรามไม่ให้เกิดขึ้นได้ยาก องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้อาจยังไม่สามารถดูแลควบคุมได้ทั้งหมด ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคคงต้องดูแลตัวเองด้วยในระดับหนึ่ง ด้วยการเลือกเข้าร้านอาหารที่มีเมนูอาหารและราคาระบุไว้อย่างชัดเจน รวมถึงก่อนจะชำระเงินควรตรวจสอบราคาอาหาร เครื่องดื่มในบิล และบวกราคาให้ถี่ถ้วนแน่นอนว่า ไม่ได้ถูกทางร้านหมกเม็ดและแจ้งราคาผิด
“คำแนะนำง่ายๆ สำหรับผู้บริโภคคือ หนึ่ง เมนูมีมั้ย สอง มีการแสดงราคาหรือไม่ ถ้าไม่มีเมนูเลย สมมติเป็นร้านอาหารตามสั่ง เพราะร้านอาหารตามสั่งไม่ค่อยมีเมนู คนก็มักจะสั่งเป็นผัดกะเพรา ข้าวไข่เจียว หรืออะไรที่มันง่ายๆ พอคิดราคามา 50 บาท มันเป็นไปได้มั้ย จานขนาดนี้ 50 บาท ส่วนร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวบอกได้เลยว่าทุกร้านบวกราคาเพิ่มแน่นอน เพราเป็นแหล่งที่สามารถโกยรายได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขอแค่ให้มีเมนูและแสดงราคาเอาไว้ให้ชัดเจน อันนี้สำคัญมากและก็เป็นกฎหมายของกรมการค้าภายในด้วย ถ้าไม่มีคือโกง ผู้บริโภคสามารถแจ้งความเอาผิดได้เลย
หากมีแต่เมนูแต่ไม่มีการแสดงราคา อันนี้ถือเป็นการเจตนาที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายแน่นอน เพราะคุณไม่แสดงราคา แต่ถ้าคุณแสดงราคาแล้ว แต่ผู้บริโภคบอกว่าฉันไม่พอใจ อันนี้ไปแจ้งความเอาผิดไม่ได้นะ เพราะถือว่าเค้าแสดงราคาแล้ว แต่มันก็ต้องดูปริมาณอาหารที่ได้กับราคาที่ต้องจ่าย มันโอเคมั้ย” นฤมล กล่าวแนะนำ
ทั้งนี้ หากพบเห็นร้านค้าหรือร้านอาหาร ที่ไม่ระบุราคาไว้ในเมนูอาหารสามารถร้องเรียนไปได้ที่กรมการค้าภายในทุกจังหวัด เพื่อให้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาทำการตรวจสอบร้านอาหารนั้นๆ โดยผู้ประกอบการถือมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนภัย เรื่องเงินๆ ทองๆ มันไม่เข้าใครออกใครเสียจริง
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!