xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชีวิต “นักกราฟิตี” คนเปื้อนสีหลังกำแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณสถานที่: POD Hostel Cafe Design Shop
เกรียนมือบอน, ช่างสี, นักวาดภาพ, นักกราฟิตี, คนพ่นกำแพง ฯลฯ ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอย่างไร เธอไม่เคยรับมากระทบใจ เพราะทุกลายเส้นที่แต่งแต้ม-เติมสีลงไปบนฝาผนัง-พื้นถนน-เนื้อที่รกร้างในเมืองใหญ่ ล้วนเกิดมาจากความตั้งใจ และนี่คือคลื่นลูกใหม่แห่งวงการ Street Art เมืองไทย “จิตรกรข้างถนน” ที่มีฝีไม้ลายมือเป็นเอกลักษณ์และน่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในวินาทีนี้ คนในวงการรู้จักเธอดีในนาม “Mamablues”




วาด “ความฝัน” ลง “กำแพง”

แม้ไม่ตั้งใจ แต่มั่นใจว่าผลงานของเธอน่าจะเคยเตะตา-ติดใจใครหลายๆ คน ถึงแม้บางครั้งลายเส้นบนฝาผนังเหล่านั้นจะไม่มีลายเซ็นแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้ เพราะ “ฝ้าย-ฟ้าวลัย ศิริสมพล” มักจะเลือกใช้ “คนหน้าขาว” เป็นตัวแทนบอกเล่าความรู้สึกผ่านฝีแปรงลงกำแพง และแน่นอนว่าแรงบันดาลใจนี้มีที่มาที่ไป

“มันเป็นเรื่องราวสมัยเด็กๆ ค่ะ ฝ้ายเคยไปสวนสนุก ดูละครใบ้ ไปเห็นแล้วก็ติดตาอยู่ช็อตนึงว่า นักแสดงเขาชอบมีจังหวะที่เรียกว่า “ว้าว!” คือศิลปินจะไปอยู่ปะปนกับคนดู พอถึงเวลาแสดง เขาก็จะลุกจากที่นั่งซึ่งนั่งปนอยู่กับคนดูแล้วก็ขึ้นไปแสดง เราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าทึ่งนะ แค่เขาลุกจากที่นั่งตรงนั้นแล้วเดินไปปาดหน้าขาว เขาก็กลายเป็นนักแสดง กล้าแสดงออกมา

หลังจากนั้นก็ติดใจคาแร็กเตอร์ของ “คนหน้าขาว” มาตลอดเลยค่ะ รู้สึกว่าคนเราแค่มีอะไรฉาบหน้าก็สามารถทำให้มีความกล้าได้ ก็เหมือนชีวิตคนปกติสมัยนี้เลยค่ะ พอแต่งหน้าก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น กล้ามากขึ้นทั้งผู้หญิงผู้ชาย เหมือนกับว่าพอมี pattern ที่ดูดีขึ้นมา คนเราก็เปลี่ยนไป”

เหตุผลเพียงไม่กี่ประโยคของฝ้ายช่วยให้เข้าใจในมุมมองของ “ศิลปิน” มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังสัมผัสได้ว่าเธอค่อนข้างละเอียดต่อเรื่องความรู้สึก โดยเฉพาะเรื่อง “ความรู้สึกแรก” ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้ฝ้ายเชื่อในพลังแห่งจินตนาการมาจนถึงวันนี้

“ฝ้ายเชื่อเรื่องความรู้สึกแรกค่ะ มันจะบอกกับเราว่าเราน่าจะวาดอะไรลงไปบนผนังตรงนั้น อย่างเช่น ร้านกาแฟ Gallery Drip Coffee ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ฝ้ายไปนั่งกินกาแฟ มองไปเห็นผนังว่างๆ ตรงนั้นแล้วภาพมันก็แวบเข้ามาเลยค่ะ เป็นรูป “Mr.Drip” ไปนั่งคุยกับเจ้าของร้าน บอกเขาว่าเดี๋ยวกลับไปสเกตช์ภาพมาให้ดู ถ้าพี่อยากให้วาด ฝ้ายวาดให้ฟรีๆ เลย เอาสีมาได้เลย พี่เขาก็ตกลง ช่วงนั้นมีวันว่างแค่ 2 วันค่ะ วันที่ไปนั่งกินกาแฟ พอวันต่อมาก็เอาสีมาวาดเลย
Mr.Drip
เพราะเดินตามเสียงเรียกร้องจากภายในแบบนี้มาตลอด จึงทำให้เธอไม่ค่อยหลงทางเท่าไหร่ ถึงแม้ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ฝ้ายจะเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ตามที่ครอบครัวสนับสนุน แต่สุดท้าย เลือดศิลปินที่มีอยู่ในตัวก็ดึงให้เธอกลับมาสู่เส้นทางฝันริมกำแพงอีกครั้งหนึ่ง

“พอเลือกเรียนสถาปัตย์แล้ว ปีแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้วาดรูปเหมือนแต่ก่อนเลยค่ะ ตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่พอตอนปี 4 มันเป็นช่วงที่ทุกคนจะเริ่มหาแรงบันดาลใจเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ฝ้ายก็เลยหา Gallery แสดงนิทรรศการกับเพื่อนๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฝ้ายได้เริ่ม paint ผนังจริง พอทำนิทรรศการครั้งนั้นก็ลืมเรื่องวิทยานิพนธ์ไปเลย มันเหมือนพอเราเจอสิ่งที่ใช่ มันก็หมดคำถามไปเลยค่ะ มันไม่มีคำถามแล้วจริงๆ




ของแท้ หรือ ของเทียม?

ขีด-เขียน-วาด-พ่น ลงบนผนัง ถ้าเป็นสมัยแรกๆ ของการกำเนิด Street Art คำว่า “Grafiti (กราฟิตี)” อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้ถูกเหมารวมไปง่ายๆ กับพวกเด็กเกรียน พ่นชื่อสถาบันอวดอ้างทับถมกันให้เดือดร้อนพื้นที่สาธารณะ ในฐานะนักกราฟิตีคนหนึ่งของเมืองไทย ฝ้ายไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้เท่าไหร่ “ฝ้ายไม่แคร์ว่าคนจะมองฝ้ายเป็นอะไร จะเป็นช่างสีก็ได้ เป็นเด็กมือบอนก็ได้ แต่เราชัดเจนว่าเราทำอะไรอยู่” และกำแพงที่เธอฝากลายเส้นเอาไว้ส่วนใหญ่ก็ได้รับอนุญาตแล้วทั้งนั้น

“ได้ยินมาตั้งแต่ตอนเรียนแล้วค่ะว่า เขาถือว่ากราฟิตีเป็นพวกขโมย เหมือนกับว่าต้องไปแอบพ่นแอบวาดตามที่ต่างๆ แต่อย่างฝ้าย ถามว่าขโมยมั้ย เราก็ไม่ได้ชอบกลุ่มคนที่พ่นกำแพงที่คนเขาไม่ได้ยินยอมนะ กำแพงคืออาณาเขต สังเกตว่ามนุษย์อยู่ตรงไหน ก็จะมีกำแพงเกิดขึ้นมาเพื่อบอกอาณาเขต ส่วนใหญ่ เวลาฝ้ายไปวาด จะไปวาดลงตึกที่เขาเขียนไว้ว่ามีระยะเวลาในการทุบวันนี้ๆ นะ หรือชอบไปวาดตามตึกที่ถูกทุบแล้ว ชอบที่ที่มันสวยด้วยตัวเองอ่ะค่ะ อย่างนี้ (หยิบภาพสถานที่รกร้างที่ถ่ายเก็บไว้ในมือถือขึ้นมาให้ดู) ฝ้ายจะชอบเดินไปหาสถานที่ด้วยตัวเอง

ถ้าว่างๆ วันไหนก็จะไปเดิน เดินไปพร้อมสีเลยค่ะ พกใส่ขวดเล็กๆ ไป 2 ขวด สีขาวกับสีดำ แล้วก็จะมีสมุดสเกตช์ไปด้วย ถ้าเกิดฝ้ายมีภาพที่ตัวเองอยากทำอยู่แล้ว ก็จะถือสมุดสเกตช์เพื่อไปหาสถานที่ที่จะทำวันนั้นเลย แต่ถ้าเกิดไม่ได้คิดอะไร จู่ๆ เดินไปแล้วเห็นว่าตรงนี้ที่สวย แต่ยังไม่มีภาพในหัว ก็จะนั่งลงวาดภาพลงสมุดสเกตช์เล็กๆ ก่อนแล้วค่อยวาดลงผนัง หรือไม่ก็วาดลงผนังเลยค่ะ วาดจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายลายเส้นออกไปเรื่อยๆ”

หลักๆ แล้ว กราฟิตี้แบ่งออกเป็น 2 สไตล์ คือรูปแบบตัวอักษร กับรูปแบบคาแร็กเตอร์ตัวละคร แต่ที่รู้จักแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมากในระยะหลังๆ คือรูปแบบภาพวาด-ตัวละคร โดยเฉพาะลายเส้นของ “MAMAFAKA” หรือ “ตั้ม-พฤษ์พล มุกดาสนิท” ที่เป็นตำนาน Street Art แห่งเมืองไทยไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคนนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้วงการโฆษณาเห็นค่าของศิลปะประเภทนี้กันมากขึ้น
ส่งลายเส้นไว้อาลัย “ตั้ม MAMAFAKA” รุ่นพี่วงการเดียวกัน
“พี่ตั้ม เขาสามารถเอา Commercial กับ Street Art มาผสมกันได้ เพราะเขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ค่ะ เขาสามารถทำให้ตัวคาแร็กเตอร์กับแบรนด์ไปด้วยกันได้ พอแบรนด์ต่างๆ หันมาใช้ Street Art คนเลยเริ่มสนใจ แบรนด์อื่นๆ ก็ทำบ้าง พี่ตั้มก็เลยดังมากๆ ตรงที่หลายๆ แบรนด์เลือกเขามาทำงานด้วย
แต่พี่เขาก็จะโดนแอนตี้จากกลุ่ม Street Art เองเหมือนกันค่ะ บอกว่าเขาไม่ใช่ Street Art แต่เป็น Commercial Art เพราะถ้าเกิดเป็นกราฟิตีจริงๆ มันคือวัฒนธรรมการแย่งชิงพื้นที่ คือการระบาย การบ่งบอกตัวตน ซึ่งพี่ตั้มอาจจะไม่เคยต้องฝ่าฟันตรงนี้มา เขาเลยจะโดน 2 กระแส แต่ตัวฝ้ายไม่ได้มองอย่างนั้นค่ะ

ฝ้ายมองว่าเขาก็ดูจริงใจกับงานของเขานะ เขาก็ดูสนุกกับงานของตัวเองและไม่ได้ฝืน เขาเป็นคนเข้าสังคมได้และไม่รู้สึกเขิน สนุกกับการไปปาร์ตี้ ไปโชว์ตัว มันก็คือตัวเขา ถึงให้โอกาสคนอื่นไปเป็นก็ไม่สามารถทำได้อย่างเขาหรือเปล่า ฝ้ายชอบคนที่สนุกกับงานและมีความสุขกับตัวเองค่ะ

ฝ้ายว่าพี่ตั้มเขาทำให้คนทั่วไปเปิดใจกับ Street Art มากขึ้นนะ คือเวลามันเป็นกระแส มันไม่ได้เป็นกระแสเล็กๆ ไงคะ แต่เป็นเหมือนคลื่นของน้ำ พอมันไปตูมตรงกลาง คลื่นมันก็ส่งไปต่อได้เรื่อยๆ คนที่อยู่นอกวงการ Street Art ก็ยังรู้สึกได้เลยว่า เอ...หรือเราจะใช้ Street Art ดีนะ ร้านอาหาร, โรงแรม, ร้านกาแฟ, หอศิลป์, ข้างทาง ฯลฯ ที่ไหนๆ ตอนนี้ก็อยากได้ Street Art ส่วนนึงคงเพราะแรงกระเพื่อมจากพี่เขา งานมันเลยอาจจะกระจายมาโดนฝ้ายในตอนนี้ด้วยก็ได้นะ”


อยากได้คำจำกัดความชัดๆ ว่าจริงๆ แล้ว “Street Art” โดยเนื้อแท้เป็นอย่างไรกันแน่? จึงให้คู่สนทนาลองวิเคราะห์งานของตัวเองให้ฟังสักนิด คนถูกถามนิ่งคิดไปพักใหญ่ๆ ก่อนให้คำตอบด้วยน้ำเสียงเย็นๆ อย่างที่เป็นมาตลอดบทสนทนาว่า

“แท้-ไม่แท้ มันก็มีส่วนของอีโก้ด้วยนะ ถ้าจะมานั่งวัดกัน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องมานั่งลิสต์หรือเปล่าว่า การกระทำแบบไหนที่เป็นของแท้ อันไหนเป็นของไม่แท้ สำหรับตัวฝ้าย ฝ้ายสนุกกับการตีโจทย์ที่ลูกค้าให้มาค่ะ แต่ถ้าเป็นงานผนังจะชอบเป็นพิเศษ ถึงเพื่อนไปชวนให้วาดผนังแบบไม่ได้ตังค์ เราก็ไปค่ะ (ยิ้มตาหยี) แต่ถ้าเป็นงานประเภทอื่น เราจะเหี่ยวๆ นิดนึง (หัวเราะ) ก็เลยไม่ได้ซีเรียสกับคำว่าเป็น Street Art แท้หรือไม่แท้

คือเราไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นอะไร เราเป็นอะไรก็ได้อยู่แล้ว แต่เรารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และเราชอบทำอะไรมากกว่าค่ะ




ศิลปินอินดี้ อีโก้ต่ำระดับ 0

นั่งเปิดอกคุยกันมาถึงตอนนี้ บอกได้เลยว่าฝ้ายเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มากๆ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไม่เยอะ” นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากลักษณะของคนที่เรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” ส่วนใหญ่ที่มักจะมีข้อแม้นั่นนี่ตลอดเวลา เธอได้แต่ยิ้มรับเบาๆ ด้วยท่าทีอ่อมน้อมถ่อมตัวแล้วอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า ทำไม?

จริงๆ แล้วเขาบอกว่า คนที่ทำงานศิลปะน่าจะ “เอาแต่ใจ” บ้าง เพื่อที่จะเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้วก็ไม่โดนเปลี่ยนเยอะ เราจะได้คงคาแร็กเตอร์ความเป็นตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ลดความเป็นตัวเองให้มากที่สุด อย่างคุยกับเพื่อน เพื่อนก็จะบอกเลยว่า “เรามา 100 ถ้าจะมาลดอะไร อย่าให้เหลือต่ำกว่า 80 แล้วกัน เราอย่าไปยอมเขา” แต่ฝ้ายจะไม่ใช่แบบนั้นค่ะ ฝ้ายจะไปแบบ 0 เลย ไปนั่งคุยกับเขาว่าอีกฝ่ายที่อยากได้ภาพวาดเรา เขาอยากได้แบบไหน เพราะมันเป็นสถานที่ของเขา ฝ้ายไม่อยากจะให้เสียความตั้งใจแรกไป

อาจเพราะเธอเรียนออกแบบตกแต่งมาด้วย จึงให้ความสำคัญกับความต้องการของเจ้าของพื้นที่ และอาจเพราะเธอไม่เคยยึดติดกับคำว่า “ศิลปิน” จึงทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดที่จะสูญเสียตัวตน

“ฝ้ายไปรับงานที่ไซด์งานที่ยังสร้างไม่เสร็จ เขาอยากให้เราวาดภาพฝาผนังให้ เป็นร้านอาหารที่กำลังสร้าง เราไปเริ่มงานพร้อมช่างไฟ, ช่างสี, ช่างปูน เลยค่ะ เขาก่อผนังไหนเสร็จ เราต้องรีบวาดให้ทัน เข้าไปทำงานตั้งแต่ยังไม่ได้ทำความสะอาด ไฟไม่มี น้ำยังไม่ได้ติดตั้ง คือเราต้องเข้าไซด์งานไปพร้อมๆ กัน ช่างไฟเขาก็จะเรียกฝ้ายว่า “ช่างสี” (ยิ้ม) เราก็โอเคค่ะ ถือว่าเราเป็นช่างคนละประเภท อยู่ด้วยกัน แย่งบันไดกันใช้ได้ตามปกติ

แต่พอมาวาดรูปในโรงแรม เขาเรียกเราว่า “นักวาดภาพ” เราก็โอเคค่ะ พอหอศิลป์ฯ เชิญเราไป เขาก็ให้บัตร “ศิลปิน” เรามา คือทำงานมาหลายแบบ มีคนเรียกเราหลายอย่าง ถ้าเราไม่ยึดติดว่าใครเรียกเราว่าอะไร หรือเราเป็นอะไร เราไม่ซีเรียสอยู่แล้วค่ะว่าเราจะสูญเสียตัวตนหรือเปล่า

เรื่องตัวตน ฝ้ายไม่ค่อยสนใจค่ะ หรือเรื่องภาพลักษณ์ด้วย คนเขาบอกว่าศิลปินต้องขายตัวเองนะ ต้องรู้จัก present ตัวเองหน่อย แต่ฝ้ายรู้สึกว่า อ้าว...แล้วนี่เราทำงานหรือว่าทำอะไรอยู่ เขาดูงานเราหรือเปล่า ถ้าดูงานก็ดูที่ตัวงานสิ แต่ถ้าจะมาดูเรา งั้นเดี๋ยวค่อยมานัดเจอกันทีหลังตอนแต่งตัวดีๆ ก็ได้ (ยิ้ม) ถ้าไม่เกี่ยวกับงานก็ค่อยนัดมาคุยกัน แต่ถ้าเกี่ยวกับงานก็ไม่ต้องมาสนใจเรื่องลุคอะไรมากก็ได้มั้ง ตอนทำงานฝ้ายเลยจะเละเทะมากค่ะ ลุคออกมาก็จะดูกรรมกรมาก (หัวเราะเบาๆ) เพื่อนแซวว่าถ่ายรูปทีผมเปียก-สีเลอะตลอด เราก็ไม่รู้จะบอกว่าอะไร ก็...ก็ทำงานอ่ะ” เธอยิ้มบางๆ ปิดท้าย

เห็นเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แบบนี้ แต่ฝ้ายก็อึดใช่เล่น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพนักงานประจำที่ไหน แต่งานเธอก็ชุกใช่ย่อย เพราะรับหมดทั้งงานเล็ก งานใหญ่ งานเพื่อเงิน และงานเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง

“มีหมดค่ะ มีวาดลงเฟรมผ้าใบ เฟรมไม้ แล้วก็รับออกแบบ ทำภาพประกอบ ปกซีดี เว็บ รับทำเป็นอาร์ตเวิร์ก หมายความว่าไม่ว่าเขาจะเอาไปตกแต่งรีสอร์ต โรงแรม อะไรก็แล้วแต่ ฝ้ายรับทำ สมมติรีสอร์ตต้องการภาพเพื่อเอาไปประดับในนั้น 10-20 ห้อง ฝ้ายก็วาดเป็นล็อตๆ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเลยแหละ แต่ฝ้ายก็ไม่ได้เอาผลงานตรงนั้นมาเผยแพร่ เพราะมันเป็นงานที่ทำเพื่อความอยู่รอด ส่วนถ้าเป็นงานที่บ่งบอกตัวตนของเรา เราก็จะเอาลงเฟซบุ๊กค่ะ พูดง่ายๆ ว่างานไหนเราไม่อยากได้งานต่อ เราไม่ present เลย แต่ถ้าเกิดมีเข้ามา เราก็ทำ (หัวเราะ)”




ติสท์อย่างไร ไม่ให้ไร้สาระ

ทุกวันนี้ ฝ้ายบอกเลยว่าต้องทะเลาะกับตัวเองบ่อยอยู่เหมือนกัน เพราะต้องพยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่าง “งานที่ทำเพื่อความอยู่รอด” กับ “งานที่ทำเพื่อสนองความสุข-ความต้องการ”

“งานที่เรารับมา อาจจะมีหลายอย่าง สมมติมีอยู่ 3 งาน อาจจะมีงานนึงที่เราอยากทำมากๆ เขาให้พื้นที่เรามาและให้เราออกแบบเอง วาดอะไรก็ได้ หรืออาจจะมีอีก 2 งานที่เราไม่ได้อยากทำ แต่มีกำหนดเวลาต้องส่ง มันคือความรับผิดชอบที่เราต้องทำ ถึงใจเราจะไม่อยากทำทั้งที่ 2 งานนี้ได้ตังค์ แต่อีกงานนึง มีที่ว่างๆ ให้ แต่ไม่ได้ตังค์ ทำฟรี ให้เราโชว์ฝีมือ เพราะงั้น เราก็ต้องทำ 2 งานที่ได้ตังค์บ้าง เพื่อที่จะได้ทำงานที่ไม่ได้ตังค์ได้อย่างมีความสุขค่ะ ก็พยายามจะ balance อยู่

ถ้าเป็นงานทำเพื่ออยู่รอด วาดอย่างที่เขาต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้ต้องออกแบบอะไรเลย เช่น เขาอยากให้วาดภาพปลาคาร์ฟเป็นภาพสีน้ำ หรือนกกะเรียนตามสไตล์พู่กันจีน อะไรแบบนี้ เราก็จะวาดตามที่เขาต้องการได้ แต่เราก็ไม่มีความสุข (ยิ้ม) ฝ้ายรู้สึกว่ามันเป็นงานของช่างฝีมือ หรือเอาภาพผลงานของศิลปินคนนี้มา re-product ลอกลายเส้นให้เหมือนเด๊ะ เราก็ทำได้ แต่ฝ้ายบอกเลยว่าถ้าเรียกราคาเท่านี้แล้วพี่ไม่ไหว ฝ้ายก็ไม่เอาเลยนะ เพราะว่างานแบบนี้ฝ้ายไม่ได้อยากทำ แต่ถ้าพี่อยากให้ทำ พี่ก็ต้องยอมจ่ายนะ

บางทีวันนึงผ่านไปก็แล้ว 2 วันก็แล้ว กำหนดส่งจะมาถึงอยู่แล้ว แต่พอไม่มีอารมณ์ มันก็ไม่มีจริงๆ นะ ไม่ยอมทำสักที แล้วก็จะกลายเป็นทำงานแบบลนๆ ทุกครั้งคือ ต้องบังคับให้ตัวเองมาทำทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากทำ ก็เลยต้องอดนอน แต่ถ้าเป็นงานวาดฟรี วาดบ่อยมากค่ะ (ยิ้มสดใส) มันดีต่อจิตใจ ถ้าฝ่ายมีเวลาว่าง ฝ้ายจะปล่อยภาพลงสถานที่อย่างเดียวเลย เหมือนกับว่าเราทำงานมา พวกงานพู่กัน งานพ่นสี พ่นสเปรย์ ฯลฯ เราก็จะได้เทคนิคตรงนั้นมา พอได้เทคนิคปุ๊บ ก็เหมือนคนอยากลองของ ว่างปั๊บเป็นไม่ได้ ชวนเพื่อนละ พรุ่งนี้ว่างมั้ย ชวนเพื่อนคน 2 คนไปละ จัดคาแร็กเตอร์ ไปปล่อยตามผนัง ก็จะมีความสุขมาก” สีหน้าและแววตาของเธอบ่งบอกอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

ถ้าให้ถามเด็กรุ่นใหม่ๆ หลายคนในตอนนี้ เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งอยากเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ต้องทำงานประจำ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่มีใครบังคับ คิดอยากจะติสท์เมื่อไหร่ก็ติสท์ได้ เพราะเราเป็นเจ้านายตัวเอง แต่สำหรับ Artist ตัวจริงกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะเธอมองว่า “อิสระ” กับ “ไร้สาระ” มันต่างกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง

“ตอนนี้ก็จะเคารพกฎตัวเองค่ะ กฎของเราก็อยู่ที่แต่ละวัน เราจะตั้งกฎง่ายๆ เช่น บางวันรู้สึกว่าช่วงนี้นอนดึกมาก บริจาคเลือดไม่ได้ ก็จะตั้งกฎว่าจะนอนหลับก่อน 23.00 น. ไม่ว่าหลับหรือไม่หลับ เราก็จะนอน จะไม่เล่นมือถือ แล้วก็ต้องตื่นก่อน 07.30 น. นะ จะได้ไปเดินสวนสาธารณะ 1 รอบ พอทำได้ประมาณเดือนนึง ครบที่ตั้งใจไว้ ก็อาจจะลองเปลี่ยนกฎใหม่ ช่วงนี้ต้องเก็บตังค์ไปทำนู่นนี่นะ เพราะฉะนั้น ต้องทำงานให้ได้ 7 งานต่อเดือน เราก็จะตั้งกฎง่ายๆ แบบนี้กับตัวเองสักข้อ 2 ข้อค่ะ แล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย

คือถ้าเราจะอิสระ เราต้องมีกฎของตัวเอง คนทำงานอิสระต้องบังคับตัวเองได้ค่ะ ไม่งั้น ความเป็นอิสระจะกลายเป็นความไร้สาระไป มันใกล้กันมากเลยนะระหว่าง “อิสระ” กับ “ไร้สาระ” หรือการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ต้องถามว่าเราจะอิสระเพื่อจะเอาเวลาไปทำอะไร แล้วก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ ไม่งั้นจะอิสระไปทำไม หรือเราเป็นแค่คนอยากสบายหรือเปล่า

ดูท่าทางเธอจะเป็นคนจริงจังและทำงานหนักมากๆ คนหนึ่ง ถามว่า “ความสุข” ของเธอคืออะไร เธอตอบกลับมาว่า “ตอนนี้คือฝ้ายชอบทำงานค่ะ (ยิ้ม) มันคงเป็นช่วงๆ อย่างตอนเด็ก เราก็มีความสุขกับการเล่นกับเพื่อน ตอนวัยรุ่นก็มีความสุขกับการแหกกฎ พอโตมา ถึงวัยทำงาน เราก็มีความสุขกับการทำงาน หรือแค่เห็นคนถ่ายรูปกับงานของเรา ภาพนั้นถูกส่งต่อไป หรือถ้าโชคดี บางทีก็มีดาราไปถ่ายภาพผลงานเราอัปลงอินสตาแกรม คนที่ follow เขาก็ได้เห็นผลงานเราต่อไปอีกไม่รู้กี่คน แค่นี้ฝ้ายก็มีความสุขแล้ว




---ล้อมกรอบ---
โดนโกงเป็นประจำ

“คิดราคาต่ำเกินไป” คือข้อหาที่ฝ้ายถูกเพื่อนร่วมวงการรุมประณามเป็นประจำ “มีคนมาถามเหมือนกันว่าฝ้ายคิดราคา paint ผนังต่ำไปหรือเปล่า ฝ้ายก็ไม่รู้ ฝ้ายรู้แต่ว่ามันพอดี ถ้าเกิดฝ้ายบอกราคาไป เขาต่อราคามา ถ้าเราลดได้ก็ลด ลดไม่ได้ก็บอกเขา มันอยู่ที่ความพอใจค่ะ”

ก็เพราะเป็นคนง่ายๆ แบบนี้นี่เองเลยทำให้เธอถูกเบี้ยวเงินอยู่บ่อยๆ “เคยรับมางานนึง เขาบอกให้ค่าแบบเราเรตเท่านี้นะ เราก็ซื้อสีมา แล้วจู่ๆ ก็บอกว่าไม่ทำแล้วดีกว่า แล้วก็ยกเลิก เราก็ถามว่าแล้วอย่างนี้จะให้ทำยังไงอ่ะคะ เขาก็บอกว่าแต่น้องฝ้ายก็ยังไม่ได้ทำอะไรไม่ใช่เหรอ แค่ร่างๆ มาไม่กี่ทีเอง เราก็...(ทำหน้าเซ็งนิดๆ) มันก็จะมีคนประมาณนี้ค่ะ และถ้าเกิดเขาคิดแบบนี้ เราก็ไม่รู้จะคุยกับเขายังไงแล้ว มันแปลว่าทัศนคติเขากับเราไม่ค่อยตรงกัน ก็ถือเป็นบทเรียนไป

ปกติบางคนเขาให้เก็บให้ได้ก่อน 70 เปอร์เซ็นต์ก่อนทำงาน แล้วค่อยไปเก็บทั้งหมดตอนเสร็จงาน แต่ของฝ้าย ค่อยเก็บทีเดียวตอนเสร็จงาน เลยเจอแบบไม่จ่ายเยอะมาก (หัวเราะเนือยๆ) แต่ก็คิดว่าตอนนี้ยังไม่ได้ ก็ยังไม่เดือดร้อนมาก แต่ถ้าได้ก็คงดีนะ” ใจดีขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงโดนโกง

เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: จิรโชค พันทวี
ขอบคุณภาพบางส่วน: เฟซบุ๊ก Fawalai Sirisomphol



กำลังโหลดความคิดเห็น