xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศึกรุก สทศ. รุมสวด U-NET ไม่จำเป็น แถมผลาญงบโดยใช่เหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังไม่ได้เริ่มสอบก็มีเสียงก่นด่าหนาหู สำหรับ U-NET หรือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (ระดับอุดมศึกษา) เพื่อวัดความรู้ของนิสิต/นักศึกษาป.ตรีปีสุดท้าย งานนี้เล่นเอาหลายฝ่ายของขึ้นรุมสวดคนต้นคิดผ่านโลกโซเชียลฯ พร้อมยกระดับคัดค้านด้วยการตั้งแฟนเพจ "ต่อต้านการสอบ U-NET จาก สทศ." และ แคมเปญรณรงค์ลงชื่อให้ได้ 50,000 คน เพื่อเสนอฝ่ายต้นคิดให้ยกเลิกการสอบ เพราะไม่จำเป็น แถมผลาญงบโดยใช่เหตุ ไปจนถึงการจี้ให้ยุบ สทศ. เพราะที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่เด็กตลอดเวลา

แม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่ฟาก สทศ. กลับเสียงแข็ง ยังตะแบงจัดสอบ พร้อมให้เหตุผลเพื่อวัดคุณภาพบัณฑิตโดยให้เด็กสอบฟรี และสอบตามสมัครใจ รวมไปถึงสอบเฉพาะสาขาวิชาที่ไม่มีสภาวิชาชีพเท่านั้น เกิดเป็นศึกระหว่าง สทศ.กับฝ่ายที่ออกมาโวยวายไม่เห็นด้วยผ่านสื่อออนไลน์จนเกิดเป็นพลังคัดค้านที่กดดัน สทศ. มากขึ้น

สอบ U-NET ความวุ่นวายระดับชาติ

ทันทีที่กระแส U-NET แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากสังคมหลายฝ่ายทั้งนิสิต/นักศึกษา รวมไปถึงนักวิชาการหลายๆ ท่าน จาก U-NET ที่หมายถึงการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา เริ่มมีผู้ให้ความหมายใหม่เป็น U-NET = U-TURN อนาคตการศึกษาไทย หรือ U-NET = Unpromising National Eccentric Test? (การทดสอบประหลาดระดับชาติที่เริ่มต้นไม่ค่อยจะดี)

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า การสอบ U-NET จะช่วยวัดความรู้ และมาตรฐานของบัณฑิตระดับปริญญาตรีได้จริงๆ และไม่สามารถชี้วัดอะไรได้เลยกับตัวนักศึกษา เพราะแต่ละสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีหลักสูตรในการสอนที่ต่างกัน ที่สำคัญหลังจากสอบมาแล้วบริษัทไม่มีความสำคัญที่จะต้องนำคะแนนส่วนนี้มาใช้รับคนเข้าทำงาน

แต่สิ่งที่ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) กำลังทำนั้น ทำให้ทุกอย่างซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ยังคงวนเวียนอยู่กับการสอบ ไม่มีเวลาในการคิดสิ่งสร้างสรรค์ และทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น และที่สำคัญที่สุด ตัวนิสิต นักศึกษาไม่ยินยอมแก่ระบบการสอบดังกล่าว และเป็นการเปลืองระบบงบประมาณโดยใช่เหตุ

นั่นเป็นที่มา และเหตุผลให้ Popethorn Parkpittchaya ลุกขึ้นเป็นตัวแทนสร้าง แคมเปญรณรงค์เข้าชื่อ ยกเลิกจัดสอบ U-NET บนเว็บไซต์ Change.org โดยตั้งเป้า 50,000 คน ล่าสุดมีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 4 หมื่นคน และนี่คือความเห็นของผู้ที่สนับสนุนแคมเปญรณรงค์เข้าชื่อ ยกเลิกจัดสอบ U-NET โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขอนุญาตหยิบยกบางความเห็นมานำเสนอเพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย

"เหตุผลจริงๆที่ควรให้ สทศ.พิจารณาคือ วิชาเหล่านี้ 'ซ้ำซ้อน' หรือ 'สอบไม่ได้' เช่น ความสามารถภาษาไทย ความสามารถภาษาอังกฤษ 2วิชานี้ตัวมหาวิทยาลัยทุกแห่งสอนและออกเกรดมาอยู่แล้ว สทศ.ก็เคยสอบแล้วในโอเน็ต ที่สำคัญ มันมีพวก IELTS, TOEFL, CU-TEP, TU-GET, TOEIC ฯลฯ มีอยู่แล้ว เป็นมาตรฐานที่ต่างประเทศให้การยอมรับด้วย ถ้าสทศ.จัดทำยูเน็ตขึ้นมา จะได้มาตรฐานสู้พวกนี้ได้ไหม (จากผลงานข้อสอบผ้าปูโต๊ะก็คงรู้ๆ กันอยู่ว่าไม่มีใครเขาเชื่อถือ) ปกติออฟฟิศก็มีการสอบวัดอยู่แล้วด้วย ซึ่งแต่ละออฟฟิศเขาก็ต้องการไม่เท่ากันมีมาตรฐานของเขาเฉพาะ ยูเน็ตมันกลายเป็นถามหว่านๆ ภาพรวม ซึ่งไม่เจาะจงที่เขาจะใช้ในอาชีพจริงๆ เพราะพยายามจะวัดทุกอาชีพด้วยข้อสอบเดียว

ส่วนการคิดวิเคราะห์ และการใช้สื่อเทคโนโลยี 2 วิชานี้ เป็นวิชาทักษะ "มันสอบไม่ได้" เราไม่สามารถวัดเรื่องวิจารณญาณหรือไหวพริบแก้ปัญหาจากข้อสอบ มันต้องมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ทำงาน การใช้สื่อเทคโนโลยียิ่งแล้วใหญ่ จะดูว่าคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นไหมจากข้อสอบฝนดินสอเนี่ยหรือ (การที่สทศ.ประชุมกันลงมติว่าสามารถวัดได้เนี่ย ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สทศ.อาจจะมีทักษะการคิดพิกลไปหน่อย)

ข้อสอบแนวจริยธรรมก็เช่นกัน หากคนเราวัดความดีได้จากการเลือกตอบข้อสอบ ความดีของประเทศเราก็ตื้นเขินและน่ากลัวนัก นอกจากนี้ใครจะเป็นคนกำหนดว่าอะไรเป็นมาตรฐานความดี อยากทราบว่า สทศ.ได้สำรวจความต้องการจากองค์กร และออฟฟิศต่างๆหรือยัง ว่าเขามีความจำเป็นต้องใช้ยูเน็ตหรือไม่" ไอซ์ พีริยา

"จะให้สอบอะไรไร้สาระ แล้วเอาคะแนนมาใช้ประกอบการพิจารณาเข้าทำงานมันเหมาะสมตรงไหน การรับคนเข้าทำงานควรพิจารณาทักษะเฉพาะในอาชีพนั้นๆ ไม่ใช่เหรอ จะให้สอบไปทำไม" Poonnakarn Sangnarit

"การสอบแบบนี้มันวัดอะไรกับชีวิตวัยทำงานไม่ได้หรอก ไม่ว่าคุณจะเพิ่มการสอบด้านคุณธรรมจริยธรรมแค่ไหนก็ตาม เพราะมันคือมุมมองของแต่ละคนและมุมมองความคิดเหล่านั้นไม่ควรที่จะถูกคนกลุ่มๆ เดียวกำหนดไว้" Pitchayapa Tippimwong

ส่วนปฏิกิริยาของคนในโลกโซเชียลฯ มีหลายความเห็นแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นการสอบที่สร้างความซ้ำซ้อน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอบเลย ในขณะที่บางส่วนบอกว่า เอางบประมาณที่จะจัดสอบ U-Net ไปปรับปรุงการจัดสอบ O-Net ดูท่าน่าจะดีกว่า

"ถ้ารวมตัวกันไม่สอบก็คงไม่มีผลอะไร สทศ. จะมาควบคุมอะไรได้ ก็ไม่สอบการผ่านหลักสูตรก็พิสูจน์ตัวเองพออยู่แล้ว หรือจะบอกว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ไร้มาตรฐาน ถ้าแบบนั้น สทศ. เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน น่าเชื่อถือแค่ไหนว่ามาตรฐาน สทศ.เป็นที่เชื่อถือได้เริ่มต้นจากทดสอบวัดผลของ สทศ. เองก่อนดีกว่าโดยให้อาจารย์ต่างๆ ตามมหาวิทยาลัยออกข้อสอบวัดผล แค่ข้อสอบระดับมัธยมยังผิดเยอะมาก" AK-47

"สทศ. ค่ะ ดิฉันว่าคุณควรจะรับฟังเยาวชนของชาตินะคะ การที่คุณอ้างเรื่องกฎหมายนั้น คุณลืมไปแล้วเหรอค่ะว่ากฎหมายเป็นของประชาชนไม่ใช่คุณกลุ่มเดียว อย่างน้อยทำประชามติก็ยังดี ดิฉันจะบอกความจริงอะไรให้คุณรู้นะคะ ดิฉันสอนพิเศษเด็กประถมกับมัธยม ดิฉันพบว่าเด็กเหล่านี้ล้วนแต่อยากทำคะแนน o-net ให้ได้มากๆ gat/pat ให้ได้มากๆ จึงยอมเสียเงินปีละเป็นหมื่นๆ มาเรียนพิเศษ เด็กบางคนหมดอนาคตเพราะเอาเงินไปสอบสิ่งเหล่านี้แต่ไม่มีเงินไปจ่ายค่าข้อสอบของมหาวิทยาลัย คุณลองคิดดูนะคะว่าพวกคุณทำร้ายเด็กไทยมากขนาดไหน และนานแค่ไหนแล้ว ดิฉันอยากเห็นเด็กที่เรียนเพื่อรู้มากกว่าเรียนเพื่อสอบค่ะ ฝากผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไปคิดด้วยนะคะ" dek thai

"คุณไม่สนใจ คุณจะเดินหน้าทำต่อไป แล้วไม่ฟังเสียงของนักเรียน นักศึกษาเลย นี่หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตย สงสัยประชาธิปไตย ของพวกคุณคือ ไม่ฟังเสียงข้างมาก" Moo Toomtam

"ท่านดร. อายุปูนนี้ยังไม่เข้าใจชีวิตอีกหรือ รู้จักสตีฟ จ็อบไหม รู้จักบิลล์ เกตต์ไหม และอีกหลายๆ คนในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขาไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในการศึกษา และมีคนอีกมากมายที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาแต่ทำงานได้ห่วยแตกมากๆ อย่างเช่นพวก ดร. แบบพวกท่านเป็นต้น การศึกษาเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และมนุษย์ไม่ใช่วัตถุที่ท่านจะพยายามมานั่งชั่งตวงวัด เพียงเพราะแค่ความอยากลองวิชาและยึดมั่นถือมั่นของคนบางกลุ่ม" แมว

ส่วนฝ่ายเห็นด้วยกับการจัดสอบดังกล่าว มองว่า การสอบ U-NET ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ เลิกวัดกันที่เกรดหรือสถาบันที่จบมา แต่ข้อสอบต้องมีคุณภาพ และสามารถวัดได้จริงๆ

อาจารย์มหา'ลัยรุมวิพากษ์ U-NET

หันมาฟังเสียงของนักวิชาการกันบ้าง รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช์ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีการจัดสอบ U-NET ของ สทศ.ว่า "การที่สทศ.บอกว่าต้องทำตามกฎหมายในการสร้างระบบมาตรฐานวัดผลการศึกษาอุดมศึกษา เลยจะสอบ U-NET นักศึกษาปีที่ 4 และขอให้นายจ้างพิจารณาคะแนนนี้ด้วย

ในฐานะอาจารย์ผู้สอนกว่า 16 ปี และรองวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชักจะเริ่มแปลกใจว่า คณะเราที่พร่ำสอนวิธีคิดเพื่อให้อิสระในการพัฒนาสร้างสรรค์ความคิดของนักศึกษาเอง และสอนให้ยอมรับความเห็นที่ต่างได้นั้น จะมีข้อสอบแบบมาตรฐานกลางใดที่อนุญาตให้นักศึกษาคิดต่างได้ เพราะข้อสอบอื่นๆ ที่ผ่านมา เป็นการยัดเยียดให้เด็กคิดตามผู้ใหญ่มากกว่าสอนให้คิด และคิดเอง"

สอดรับกับ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการจัดสอบ U-NET ว่าเป็นการสอบวัดความรู้ที่จัดขึ้นมาซับซ้อน และไม่มีเสถียรภาพในชี้วัดคุณภาพเพราะนิสิตนักศึกษาแต่ละสาขาวิชานั้นร่ำเรียนมาต่างกัน ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณากันอีกรอบ

"ในคณะแต่ละคณะแต่ละสาขาวิชามันมีธรรมชาติต่างกัน บางสาขาเน้นการทำวิทยานิพนธ์/ภาคนิพนธ์ หรือศิลปนิพนธ์ ดนตรีนิพนธ์ บางสาขาเป็นการสอบแบบประมวลความรู้ (comprehensive) ซึ่งต้องเขียนคิด วิเคราะห์ และอาจมีการสอบปากเปล่าด้วย บางสาขาไม่มีสอบหรือต้องทำรายงานเล่มใหญ่ แต่มันจะเรียนผ่านได้ก็มาจากการพัฒนาทักษะ (skill) อย่างมากจนอาจารย์ให้ผ่าน

ถ้าอธิบายระบบสอบ U-NET ว่าดีมันก็คงดีสำหรับคนคิดเท่านั้น เพราะความคาดหวังว่ามันจะยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่คุณภาพของนักศึกษามันต้องมาจากการสั่งสมความรู้ U-NET จึงเป็นระบบที่ซ้ำซ้อน ไม่มีหลักประกันที่เห็นผลได้จริง เพราะไม่เคยทดลองด้วยหลักสถิติมาก่อน ไม่มีใครรู้คุณภาพของข้อสอบ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะมองว่าเด็กคิดไม่เป็น และทำให้นักศึกษาต้องเสียเวลาเปล่า แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองในทางอื่น" อาจารย์พิพัฒน์ให้ความเห็น

ม.เกษตรฯ เอาด้วย คัดค้าน U-NET

จากการประชุมเครือข่ายผู้นำนิสิต-นักศึกษา 27 มหาวิทยาลัย ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยประธานสภา และนายกองค์การบริหาร ของทุกมหาวิทยาลัย ณ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมมีท่าทีคัดค้านการสอบ U-NET และได้ให้แต่ละมหาวิทยาลัยกลับไปประชุม เพื่อออกมติของแต่ละมหาวิทยาลัยในการคัดค้าน U-NET โดยให้เวลา 7 วันแจ้งมติกลับมา เพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันยื่นให้ สทศ. เพื่อให้ยกเลิกการจัดสอบ U-NET อย่างเด็ดขาด

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แจ้งมติคัดค้านอย่างเป็นทางการแล้ว โดย ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ ประธานสภาผู้แทนนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า เหตุผลในการคัดค้านการจัดสอบ U-NET ของเราก็คือ เรา "ไม่เห็น" ว่ามีเหตุผลที่จะต้องสอบ และ "ไม่เชื่อ" ว่ามีความจำเป็นที่ควรสอบ เมื่อไม่มีเหตุผลจำเป็นที่ต้องสอบ มันก็คือภาระที่เพิ่มขึ้นมาให้กับนิสิต-นักศึกษา ซึ่งถูกมัดมือชกที่มาพร้อมกับคำถามเรื่องมาตรฐานข้อสอบจากสถิติที่ผ่านมาการสอบ U-NET จึงเป็นได้แค่ เสาไม้ผุ ๆ ที่ไว้ล่ามศักยภาพของบัณฑิตเอาไว้ ให้ไปได้ไกลเท่าความยาวของเชือกที่ผูก สุดท้ายไม่มีใครได้ประโยชน์นอกไปจากสถาบันกวดวิชาเท่านั้น

ล่าสุด มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ นำโดย นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร (ยทก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบการศึกษา ออกมาบอกว่า ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ กำลังรวบรวมรายชื่อ โดยในเบื้องต้นได้แล้ว 6,000 รายชื่อ ซึ่งเป็นรายชื่อของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่อยู่ในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ หลังจากนี้จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ และในสัปดาห์หน้าจะนำไปยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้องผู้อำนวยการ สทศ. และคณะกรรมการ สทศ.ทุกคน จากการประกาศใช้การสอบยูเน็ต เนื่องจากสร้างภาระและสร้างความเดือดร้อนให้แก่นิสิต และนักศึกษา รวมทั้งให้ยกเลิกมติการสั่งให้มีการจัดสอบสอบยูเน็ตด้วย ถึงแม้ว่าจะบอกว่าไม่บังคับให้สอบก็ตาม ขณะเดียวกันจะยื่นหนังสือต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ยุบ สทศ. เพราะที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่เด็กตลอดเวลา

แม้จะมีเสียงคัดค้านไม่เอา U-NET จำนวนมาก ทั้งตั้งแฟนเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ ต่อต้านการสอบ U-NET จาก สทศ. และ รณรงค์ให้ผู้ไม่เห็นด้วยลงชื่อให้ได้ 50,000 คน เพื่อเสนอต่อ สทศ.ให้ยกเลิกการสอบ แต่ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็ออกมาบอกแค่ว่า อาจเป็นความเข้าใจผิด หรือยังเข้าใจไม่ตรงกันของนักเรียน นักศึกษา และยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าจัดสอบต่อไป เนื่องจากการจัดสอบดังกล่าวเป็นพันธกิจของ สทศ. ในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษาและการประกันคุณภาพบัณฑิตระดับอุดมศึกษา ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF และนักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบทั้งสิ้น

ทั้งยังชี้แจงต่อไปอีกว่า การสอบดังกล่าว จะจัดสอบให้เฉพาะคณะ/สาขาที่ไม่มีสภาวิชาชีพดูแลเท่านั้น ส่วนสาขาที่มีสภาวิชาชีพกำกับดูแล เช่น เสภัช แพทย์ พยาบาล ฯลฯ จะไม่จัดสอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน การจัดสอบ U-NET นั้นนักศึกษายังได้ประโยชน์ จะได้รู้สมรรถนะ ความสามารถของตนเองว่าอยู่ในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เรียนในสาขาเดียวกันและเครื่องมือการวัดแบบเดียวกัน เพื่อจะได้พัฒนาได้ถูกทาง

แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีการทำประชาพิจารณ์หรือให้มหาวิทยาลัย และนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การตัดสินใจทำอะไรตามอำเภอใจ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ระดับชาติแบบนี้ ไม่ใช่วิสัยของสถาบันที่ดูแลเรื่องการทดสอบและการประเมินผลทางการศึกษาของชาติ ยังไม่นับรวมงบประมาณที่อาจจะต้องเสียไปโดยใช่เหตุ ซึ่งหลายฝ่ายมองในทิศทางเดียวกันว่า ควรเอางบประมาณจัดสอบ U-NET ไปปรับปรุงการจัดสอบ O-NET ให้มีคุณภาพกว่านี้น่าจะดีกว่า เพราะจากเสียงบ่น และข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านมาก็พอจะสะท้อนอะไรได้มาก

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการสอบ U-NET คงจะหนีไม่พ้นปัญหาการกวดวิชาอย่างหนักของเยาวชนไทย

นี่หรือคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการเคยบอกว่า การศึกษาที่ดีคือการเรียนอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คงพอจะมองออกว่า ใครกันแน่ที่สุข ใครกันแน่ที่กำลังจะเป็นทุกข์...

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live 






กำลังโหลดความคิดเห็น