โดย...กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ นักปฏิวัติการศึกษาไทย
การศึกษาคือระบบเพียงหนึ่งเดียวที่หล่อหลอมเติมเต็มสาระแห่งความเป็นมนุษย์ และกำหนดทิศทางวิวัฒนาการของสังคม ลักษณะการของผู้คนและความเป็นไปในสังคมจึงเป็นกระจกเงาส่องสะท้อนสารัตถะแห่งการศึกษาของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี
Nelson Mandela อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งประเทศแอฟริกาใต้ เคยกล่าวไว้ว่า “Education is the most powerful weapon which you can use to change the world.” - “การศึกษาคือศาสตราวุธที่ทรงพลังที่สุดที่คุณสามารถใช้มันเปลี่ยนแปลงโลกได้” โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด มันขึ้นอยู่กับการจัดการศึกษา โลกประกอบขึ้นมาด้วยคน การศึกษาเปลี่ยนแปลงคน และนั่นหมายถึงการศึกษาเปลี่ยนแปลงโลก
ทว่า พลังอันยิ่งใหญ่ของการศึกษาในการสรรสร้างอาจกลับกลายเป็นระเบิดเวลาที่มีผลานุภาพการทำลายล้างมหาศาล หากไม่รู้จักใช้หรือใช้ไม่เป็น ในเมื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดคุณภาพของคนในชาติ การทำลายการศึกษาก็เท่ากับการทำลายชาติ การปล่อยปละละเลยไม่สนใจพัฒนาการศึกษาจึงเท่ากับการปล่อยให้ชาติจมลงสู่ก้นบึ้งแห่งหายนะ
การศึกษาไทยกำลังสร้างสรรค์หรือทำลาย?
ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจและติดตามข่าวสารในแวดวงการศึกษาบ้านเราอยู่เนืองนิตย์คงจะทราบกันดีว่า ในขณะนี้มีประเด็นที่เป็นชนวนชวนให้นิสิต/นักศึกษาจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านการกระทำบางอย่างบางประการของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. กล่าวคือ เรื่องการจัดสอบ U-net หรือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษาซึ่งจะมีการทดสอบในสี่เรื่องต่อไปนี้ หนึ่ง การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สอง การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต สาม การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และ สี่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (1)
U-net สร้างสรรค์หรือทำลาย?
มันดูเหมือนว่า สิ่งที่ สทศ. มีความถนัดสันทัดจัดเจนเป็นพิเศษคือการสร้างความซ้ำซ้อนทางการศึกษาที่ช่วยเร่งอาการป่วยขั้นโคม่าของการศึกษาไทยให้ทรุดหนักลงไปอีก ในประเด็นการสร้างความซ้ำซ้อน สทศ. ให้ข้อมูลว่า การทดสอบไม่มีความซ้ำซ้อนกับการทดสอบของแต่ละสถาบันการศึกษา เพราะเป็นการทดสอบที่มุ่งวัดทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ไม่เน้นการท่องจำ (2) ใช่หรือไม่ที่การตอบเช่นนี้ถือเป็นการส่อนัยซ่อนเร้นว่า การจัดการเรียนการสอนและการทดสอบในรายวิชาต่างๆ ตลอดหลักสูตรปริญญาตรีไม่ได้บ่มเพาะทักษะความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ? ใช่หรือไม่ที่การตอบเช่นนี้พยายามจะบอกว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเน้นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง? ใช่หรือไม่ที่การตอบเช่นนี้ กำลังบอกเราว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มีคุณภาพ?
นอกจากนี้ เนื้อหาที่จะถูกใช้ในการสอบ U-net มีความไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น มันไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องมีการทดสอบการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เพราะเหตุผลง่ายๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นได้แล้วว่า บัณฑิต ป.ตรีน่าจะมีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยอยู่แล้ว ส่วนการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ผมเห็นว่า หากไปสอบ TOEFL, IELTS หรือ TOEIC ซึ่งเป็นการทดสอบภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติน่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้สอบมากกว่า เรื่องของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ, ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กไทยขาด, เป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง และควรได้รับการปลูกฝังมาสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก ก่อนจะคิดทดสอบดังที่ U-net เสนอมา เราเคยคิดจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณแบบจริงจังจับต้องได้แล้วหรือ? บรรยากาศในห้องเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนท้าทายความคิดความเชื่ออย่างอิสระและเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลแล้วหรือยัง? เราถอนเอาอำนาจของระบบการเรียนการสอนที่ครูอาจารย์เป็นใหญ่ในห้องเรียนออกไปแล้วหรือยัง? อาจารยาธิปไตยคือศัตรูตัวฉกาจที่ปิดกั้นการกล้าคิดกล้าถามกล้าวิจารณ์ของนักเรียน
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ชี้แจงว่า “.....ทั้งนี้ สทศ. คงไม่สามารถยกเลิกการจัดสอบยูเน็ตได้ เนื่องจากการจัดสอบดังกล่าวเป็นพันธกิจของ สทศ. ในเรื่องของการ ประกันคุณภาพ การศึกษาและการประกันคุณภาพบัณฑิตระดับอุดมศึกษา” (3) แน่นอนครับว่า การตรวจสอบและการประกันคุณภาพเป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้เราทราบข้อด้อยและจุดบกพร่องของระบบเพื่อการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไป แต่ก่อนคิดประกันคุณภาพการศึกษา เราทำให้การศึกษาของเรามีคุณภาพแล้วยัง?
เราเคยคิดมุ่งพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างจริงจังมากแค่ไหน? เราเคยคิดหาทางวางแผนเพื่อสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันให้เกิดขึ้นในการศึกษาไทยแล้วหรือยัง? การตะบี้ตะบันประกันคุณภาพการศึกษาอย่างมืดบอดและเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อการพัฒนาไม่ต่างอะไรกับกระบวนการการผลิตที่มุ่งเน้นตรวจสอบ output อย่างเดียวโดยไม่สนใจ input และprocess กระบวนการเช่นนี้ไม่อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่พึงประสงค์แน่นอน การพัฒนากับการตรวจสอบต้องไปด้วยกัน การประกันคุณภาพกับการพัฒนาคุณภาพต้องสอดคล้องกัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจึงเหมือนการรดน้ำที่ปลายยอดไม้เท่านั้น โดยไม่สนใจบำรุงราก ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องตายยกต้น (4)
บางที เราน่าจะตั้ง สพศ. -สำนักงานพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ- ขึ้นมาแทนสถาบันทดสอบ (ทำลายล้าง) ทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) การศึกษาไทยเป็นอย่างไร? สัมฤทธิ์ผลหรือไม่? สภาพสังคมและความคิดความอ่านของคนในสังคมสามารถให้คำตอบเราได้เป็นอย่างดี ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาจริงกับการพัฒนาการศึกษา
นักเขียนชาวอเมริกัน Alvin Toffler เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Future shock (1970) ว่า “The illiterate of the future will not be the person who cannot read. It will be the person who does not know how to learn.” (5) Toffler นำเสนอแนวคิดว่า การศึกษาที่แท้จริงจะต้องทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในรับ กลั่นกรอง และแยกแยะข้อมูล รู้จักประเมินข้อเท็จจริงของข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะเชื่อ และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้จากหลายมุมมอง และที่สำคัญสามารถเรียนรู้ที่จะสอนตัวเองได้ เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง การศึกษาไทยสร้างคนอ่านออกเขียนได้จำนวนมาก แต่จะมีสักกี่คนที่คิดวิเคราะห์แยกแยะเป็น วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่คิดแตกต่างจากตนอย่างไม่แตกแยกได้
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาลูกโซ่ เป็นตัวโดมิโนที่ล้มลามกระทบต่อเนื่องกันไป เราผิดพลาดกันมาตั้งแต่การจัดการศึกษาในระดับประถมฯ มัธยมฯ ตลอดจนความล้มเหลวในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อเพื่อเป็นบุคลากรทางการศึกษา กระบวนการผลิตครูที่มีปัญหา รวมไปถึงระบบที่หล่อเลี้ยงและพัฒนาบุคลากรครูอันน่าเวทนาอาดูร นี่ดันมี U-net เกิดขึ้นมาอีก เราก็วนเวียนกันอยู่แบบนี้ เพราะความเหลาะแหละไม่ตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง
คุณภาพทางการศึกษาที่เราตามหา ไม่อาจได้มาด้วยการประกัน แต่หากได้มาด้วยการลงมือแก้ปัญหาให้ถูกจุดอย่างต่อเนื่องจริงจัง หากชาติคือบ้านหลังหนึ่งซึ่งสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นอิฐหินดินปูน เป็นวัสดุที่จะก่อตัวรวมกันขึ้นมาเป็นชาติ การศึกษาก็คือเสาเข็มของบ้าน เป็นสิ่งที่สำคัญระดับรากฐาน หากเสาเข็มไม่ดี ไม่แน่น อิฐหินดินปูนก็สั่นคลอน บ้านก็ไม่มั่นคง พร้อมจะพังทลายลงได้ทุกเมื่อ
สทศ. หรือผู้มีอำนาจที่กุมการศึกษาของชาติไว้ในกำมือ โปรดระลึกและสำนึกอยู่เสมอว่า ท่านกำลังกุมอนาคตของชาติเอาไว้ และได้โปรดคิดให้ลึก ไตร่ตรองให้รอบคอบ เพ่งมองให้ไกล และเปิดใจให้กว้าง ท่านก็น่าจะเห็นว่า สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นี้มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ผมกล้าเสี่ยงที่จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การจัดสอบ U-net ไม่สามารถช่วยให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน หากการศึกษาคือคนแก่ที่กำลังสิ้นหวัง การสอบ U-net ก็คือปืนพร้อมกระสุนที่วางอยู่ตรงหน้า.
การศึกษาไทยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายรอวันตายมาอย่างแสนทรมาน จะได้ไปสบายก็งานนี้แหละครับ!
รายการอ้างอิง และสิ่งอ้างถึง
http://teen.mthai.com/education/71072.html
http://networkedblogs.com/Wm4dO
http://www.thairath.co.th/content/419112
สำนวนของนายบุญฤทธิ์ บุญมา อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมฯ
Toffler, A. (1970) Future Shock. New York: Random House.