กรณีข่าว "ณเดชน์" เข้าสมัครรับราชการทหารที่ จ.ขอนแก่น หลังผ่อนผันมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ผลตรวจสุขภาพ เป็นโรคหืด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 76 (พ.ศ.2555) ข้อ 2 (5) (ก) ควรอนุญาตให้ "งดเว้นการเกณฑ์ทหาร" เพราะถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 4 ไม่สามารถรับราชการทหารได้ ถ้ารับราชการทหารจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง เกิดเป็นประเด็นร้อนให้ถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับ "โรคหืด" กับ "การเป็นทหาร" ขึ้นมาทันที
โอกาสนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงขอพาไปทำความรู้จักกับโรคหืด ซึ่งเป็นข้อมูลที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเกี่ยวกับโรคนี้ได้มากขึ้น
จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.bangkokhealth.com นพ.ตฤณ จารุมิลินท ผู้อำนวยการศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด รพ.กรุงเทพ ได้เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ผลจากการประเมินจำนวนผู้เป็นโรคหอบหืดทั่วโลกขององค์กรอนามัยโลก (WHO-World Health Organization) พบว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณ 200 ล้านคนโดยเฉลี่ยของทุกประเทศ จะมีคนเป็นโรคหอบหืดอยู่ 6-7% และบอกด้วยว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 180,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นทั่วโลก โรคหอบหืดถือว่าอยู่ในกล่มโรคที่มีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตรุนแรงที่สุด
กล่าวสำหรับโรคนี้ มีลักษณะเฉพาะของการอักเสบเรื้อรังของปอด ส่วนใหญ่เกิดจากอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น สปอร์ของเชื้อรา ซึ่งความรุนแรงไม่เหมือนกัน เมื่อมีอาการของหอบหืดจะทำให้ท่อหลอดลมตีบแคบลง ทำให้การแลกเปลี่ยนอ๊อกซิเจนในอากาศที่คนเป็นโรคหอบหืดหายใจเข้าไป มีปริมาณไม่เพียงพอที่จะไปเลี้ยงเซลล์สมอง ทำให้ต้องหายใจจำนวนครั้งมากขึ้น มีลักษณะหอบเหนื่อย หายใจออกมีเสียงหวีดๆ บางครั้งได้ยินจากภายนอก โดยไม่ต้องใช้หูฟังของแพทย์ ถ้าอยู่ในสภาวะนี้นานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลมหดตัว จะมีอาการอักเสบมากขึ้น หลอดลมบวม ทำให้หายใจลำบากมากขึ้นรวมถึงมีอาการเหนื่อยมากขึ้นด้วย
การรักษา
ผู้มีอาการเหนื่อยหอบจากโรคหอบหืด แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาพ่นที่มีฤทธิ์ในการทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่อยู่รอบๆ หลอดลมที่หดตัวคลายตัวลง หลอดลมจะกลับมามีขนาดเท่าเดิม โดยทำให้อาการอักเสบบวมของหลอดลมมีอาการดีขึ้น ในกรณีที่เป็นรุนแรง อาจต้องใช้ยาฉีด หรือยารับประทานร่วมด้วยเพื่อขยายหลอดลมให้ได้ผลดีมากขึ้น
การป้องกัน
โรคหอบหืดมักมีอาการกำเริบขึ้นมา จากการที่ผู้ป่วยรายนั้นอาจไปรับสารที่ตนเองแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะการหายใจ บางรายหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปมากๆ หายใจเอาทินเนอร์ที่ผสมในสีเข้าไป หรือบางคนอาจแพ้ฝุ่นละอองบนที่นอน ผ้าห่ม อาจหายใจเข้าไปแล้วเกิดอาการหลอดลมหดตัว มีอาการหอบเหนื่อยได้
ผู้ที่มีอาการเรื้อรัง
ต้องพยายามหลีกหนีสิ่งที่ตนเองแพ้ และต้องรับการรักษาเมื่อมีอาการหลอดลมปอดหดตัวโดยการใช้ยาพ่นขยายหลอดลม โดยมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายแข็งแรง หัวใจ ปอด ระบบหายใจ และหลอดเลือด มีการทำงานที่สมบูรณ์ มีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี รวมทั้งโรคหอบหืดด้วย
กรณีที่มีรายงานการเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่เป็นรายที่เป็นรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคอื่นๆ อยู่ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต เมื่อมีอาการของหืดหอบรุนแรงอยู่นานๆ หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือระบบหายใจล้มเหลวได้
โรคหอบหืดในนักกีฬา
แม้นว่านักกีฬาชั้นแนวหน้าที่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าประชาชนทั่วไป แต่เวลาเล่นกีฬาก็อาจเกิดอาการหอบเหนื่อยขึ้นมาได้ โดยต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวที่คิดว่าตนเองแพ้ ซึ่งในเรื่องนี้การใช้ยาพ่นเพื่อรักษาอาการหอบเหนื่อยของนักกีฬาที่เป็นโรคหอบหืด ไม่ถือว่าเป็นการโด๊ป แต่ผู้ใช้ยาพ่นเพื่อการรักษาสามารถที่จะแจ้งแก่แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่ตรวจหาสารต้องห้าม โดยการเขียนลงฟอร์ม TUE (Therapeutic Use Exemption) และระบุไปว่าใช้ยาพ่นชนิดใด เพื่อที่จะได้รับพิจารณาว่าไม่มีความผิด
อย่างไรก็ดี แพทย์ที่ได้เคยมีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำทีมนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์หลายครั้ง เปิดเผยว่า นักกีฬาชั้นนำหลายๆ คน รวมทั้งนักกีฬาทีมชาติไทย มีการตรวจพบว่าเป็นโรคหืดมากพอสมควร อย่างกรณีของ "เบคแฮม" ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น
แม้จะไม่ค่อยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับความเจ็บป่วยโรคหอบหืดของเขา แต่เชื่อกันว่า คงได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี หรืออาจเรียกอีกอย่างหนี่งว่า อยู่ในความควบคุมของแผนการรักษาอย่างดียิ่ง ประกอบกับเบคแฮมเป็นนักกีฬาฟุตบอลที่ยังคงเล่นในลีกอาชีพมาโดยตลอด ร่างกายแข็งแรงมีความสมบูรณ์ที่จะทำให้เขามีร่างกายที่มีภูมิต้านทานสูง พยายามหลีกหนีสิ่งที่ตนเองมีประวัติแพ้ โรคหอบหืดก็สามารถได้รับการควบคุมให้อยู่เฉยๆ สงบนิ่งได้เป็นอย่างดี เล่นฟุตบอลไม่เหนื่อยง่าย สภาพร่างกายสมบูรณ์เช่นเดียวกับนักฟุตบอลปกติทั่วๆ ไป
ส่วนความหวังของคนเป็นโรคหอบหืดนั้น หากท่านปฏิบัติตนได้ดีตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา พยายามดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ตนเองมีประวัติว่าแพ้หลีกเลี่ยงสถานที่วัสดุสิ่งของหรือสิ่งที่ตนเองแพ้ เขาเหล่านั้นก็สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ หรือถ้าเป็นแบบเอคแฮมก็ถือว่าสามารถใช้ชีวิตได้เหนือคนปกติทั่วไป
เรียบเรียบข้อมูลจากบทความ "เบคแฮมเป็นโรคหืดเรื้อรัง" เขียนโดยนายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live