xs
xsm
sm
md
lg

ปรับลุคสู่ความสำเร็จไปกับ "อลิสา" สุดยอดกูรูด้านภาพลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"...บ่อยครั้งที่ใครหลายคนพลาดเก้าอี้ผู้บริหาร หรือตำแหน่งงานดีๆ ไป ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีความสามารถ หรือไร้ประสบการณ์ แต่เป็นเพราะตัวเขามีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จริงๆ แล้วสามารถแก้ไขเพื่อจะได้มีโอกาสไปได้ไกลกว่านี้ในอาชีพการงาน แต่เขาไม่ได้ทำ เพราะไม่รู้ และไม่มีใครบอก จะให้ดิฉันไปบอกก็คงไม่ได้ เพราะเวลานั้น ดิฉันคือผู้สัมภาษณ์เพื่อคัดสรรเขาเท่านั้น..."

เป็นคำพูดที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือ "ภาพลักษณ์ สู่ความสำเร็จ" ผลงานเล่มแรกของ อลิสา โลหิตนาวี ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์บริษัท อิมเมจ แมทเทอร์ส เอเชีย จำกัด

ตอกย้ำให้เห็นว่า "คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะสร้างความประทับใจแรกพบ" ซึ่งเป็นวลีเด็ดที่ทำให้คำว่า ภาพลักษณ์ กลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาทันที และนี่คือเหตุผลให้ "อลิสา" ตัดสินใจไปศึกษาต่อด้าน Image Consulting อย่างจริงจังที่ The London Image Institute ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันด้านภาพลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ปัจจุบัน นอกจากจัดคอร์สอบรมร่วมกับไมก์ คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากายระดับท็อปของอังกฤษแล้ว ยังทำงานร่วมกับริก ฟิงก์ หนึ่งในผู้ฝึกสอนบัตเลอร์รุ่นเดอะที่สุดของอังกฤษ ในการเปิดคอร์สอบรมมารยาทสังคมชั้นสูงในประเทศไทย อังกฤษ และจีนด้วย

"ภาพลักษณ์" สำคัญไฉน

"ภาพลักษณ์สำคัญจริงๆ ค่ะ เพราะเวลาที่ไปเจอใครครั้งแรก สิ่งที่เขาเห็นคือเสื้อผ้าหน้าผม แม้จะยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่วินาทีนั้นเขาได้ตัดสินไปแล้วว่าเขาชอบคุณไหม เขาประทับใจแบบบวก หรือประทับใจแบบลบ นี่คือสิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะทำอย่างไร ถ้าคุณไม่มีโอกาสที่สองที่จะแก้ไขทัศนคติด้านลบที่คนอื่นมีต่อคุณ และจะง่ายกว่าไหม ถ้าคนรอบตัวรู้สึกชอบคุณตั้งแต่แรกเห็น และอยากหยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้"

อลิสา บอกในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานกว่า 20 ปีในหลากสาขาอาชีพ และหลายประเทศ ทั้งงานด้านบริการ งานฝึกอบรม โดยเฉพาะงานคัดสรรบุคลากรระดับผู้บริหารเพื่อป้อนตามความต้องการของบริษัทต่างๆ กับบริษัท Kennedy & Krichbaum แม้ความสามารถจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ภาพลักษณ์เป็นความประทับใจแรกที่คนเห็นจากตัวคุณก่อนบุคลิกภาพ และความรู้ความสามารถต่างๆ เสียอีก

"ทันทีที่คุณเดินเข้าประตูไป สิ่งแรกที่เขามองคือ ภาพลักษณ์ภายนอก ส่วนตัวเคยทำงานกับนักจิตวิทยาที่เมืองนอก มันจะมีผลการศึกษาวิจัยออกมา ซึ่งเขาตั้งกล้องถ่ายวิดีโอในบริษัทแห่งหนึ่ง สัมภาษณ์คน 3 คนสำหรับตำแหน่งเลขานุการ แล้วเขาให้คนสัมภาษณ์มีเหมือนที่กดขึ้นลง สมมติว่าเห็นคนนี้ปุ๊บ คุยได้สักพักกราฟขึ้น หรือลง สุดท้ายเชื่อไหมค่ะ ผลการตัดสินคน 3 คนนี้ เขาตัดสินในเวลาแค่ 15 วินาทีเท่านั้น โดย 5 วินาทีแรกตัดสินไปเรียบร้อยแล้วว่า ถูกชะตาหรือไม่ถูกชะตา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ใครหลายคนเริ่มกลับมาคิดละ" อลิสาขยายความให้เห็นภาพ ก่อนจะเสริมว่า

"ฝรั่งเขาจะมีคำพูดที่ว่า อย่าตัดสินหนังสือจากปก แล้วเราตัดสินจากอะไรเวลาที่มันวางเรียงกันเต็มไปหมด สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินจากปกก่อนแล้วจึงค่อยไปดูว่ากี่บาท น้อยคนมากที่จะดูว่ากี่บาทก่อนแล้วค่อยไปดูปก เช่นเดียวกับคนค่ะ แวบแรกก็ตัดสินเขาจากรูปลักษณ์ภายนอกก่อนการได้รู้จัก หรือพูดจากัน"

ดังนั้น "ภาพลักษณ์" จึงเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกอาชีพ แต่บางอาชีพจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีอยู่เสมอ

"อาชีพที่ต้องให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์มากๆ ก็คือ อาชีพที่ต้องนำเสนองาน หรือไปพบลูกค้า ไม่เช่นนั้นเขาจะแข่งกับคนอื่นได้อย่างไร ยกตัวอย่างนะคะ สมมติเราเลือกฝ่ายขายมา 3 บริษัทนั่งคุยกันทีละคน เขามีโอกาสเดียวนะที่จะทำให้เราประทับใจ แล้วพอกลับไป เกิดอีกคนแต่งตัวดูดีกว่า หน้าตาดูดีกว่า พูดจารู้เรื่องกว่า เราก็จำเป็นต้องเลือกเขา

เพราะฉะนั้น ความประทับใจแรกเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งการพบเจอกัน หรือการสัมภาษณ์งาน ซึ่งจากประสบการณ์นับสิบปีในบริษัทจัดหาบุคลากร บ่อยครั้งที่ลูกค้าชอบคนที่มาสัมภาษณ์มาก แม้จะมีคุณสมบัติไม่ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการก็จะหาตำแหน่งที่ตรงให้จนได้ ในทางกลับกัน แม้คุณสมบัติจะครบทุกอย่าง แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่เลือกไปเลย"



ภาษากาย ทำได้ดี ย่อมได้เปรียบ

ภาพลักษณ์ และมารยาททางสังคม ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการเปิดประตูแห่งโอกาส และการเป็นที่ยอมรับ ซึ่งปัจจุบันหลายคนตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับภาษากาย มีผลการศึกษาวิจัยออกมาว่า คนเราใช้ภาษากาย หรือที่เรียกว่าอวัจนภาษามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในการสื่อสาร

สำหรับการเรียนรู้ภาษากาย อลิสา บอกว่า นอกจากจะช่วยให้อ่านท่าทีของคนอื่นได้ถูก ทำให้รู้จังหวะว่าควรทำอะไร พูดอย่างไร และเมื่อไรถึงจะเหมาะสมแล้ว ยังช่วยให้สื่อภาษากายไปได้คล้องจองกับสารที่ต้องการจะสื่อด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้รับการปลูกฝัง หรือไม่ค่อยได้เข้าสังคมจะขาดทักษะดังกล่าวนี้

ยกตัวอย่าง เด็กเนิร์ดที่เอาแต่เรียน ไม่เคยออกไปเล่นกับเพื่อนเลย เมื่อโตขึ้นจะเข้าสังคมได้ยากกว่าเด็กทั่วไป เพราะบางครั้งไปทำอะไรที่คนอื่นไม่ชอบใจ โดยที่ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาไม่ชอบ ก็เลยทำอยู่นั่นแหละ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นไม่ชอบเรา (ทั้งที่คนอื่นอาจมีการแสดงปฏิกิริยาไม่ชอบแล้ว แต่เขาอ่านไม่ออก)

บางกรณีที่เก่งมากจนเติบโตขึ้นไปเป็นผู้บริหารก็อาจเป็นผู้บริหารที่ลูกน้องไม่กล้าเข้าหา เพราะไม่ชอบสบตาใครและมีท่าทางจริงจังตลอดเวลา

ทางที่ดี พ่อแม่ควรปลูกฝังทักษะทางสังคมให้แก่ลูก การให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนเป็นการส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมในทุกด้าน เพราะจะเกิดการรวมกลุ่มของเด็กหลายวัยจากหลายครอบครัวที่มีความสนใจร่วมกัน หรือบางกิจกรรมยังเป็นการสอนโดยตรง เช่น ละครหน้ากาก ทำให้เด็กมีความเข้าใจเรื่องภาษากายชัดเจน เวลาไปเห็นที่ไหนจะรู้เลยว่าคนอื่นกำลังโกรธ มีความสุข หรือเศร้า

เมื่อต้องทำงานกับชาวต่างชาติ

ด้วยความที่มีเครือข่ายมากมายทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการทำงานกับชาวต่างชาติ อลิสา บอกว่า เมื่อต้องทำงานกับชาวต่างชาติ ควรวางตัวสุภาพแต่พอดี ถ้านอบน้อมมากไปอาจถูกข่มได้ นี่คือสิ่งที่เธอกำลังจะขยายความให้เห็นภาพต่อไป

"ท่ายื่นนามบัตร คนไทยชอบถือสองมือแล้วยื่นให้ เพราะรู้สึกว่าเป็นท่าที่สุภาพและอ่อนน้อม โดยมักจะค้อมตัวยื่นให้ ทางที่ดีควรยื่นด้วยมือข้างเดียว แล้วใช้มืออีกข้างรับนามบัตรของอีกฝ่ายเพื่อแสดงความเสมอภาค นอกจากนี้การเอาอกเอาใจมากจนเกินไปก็ต้องระวัง เพราะชาวต่างชาติบางคนรู้สึกซึ้ง แต่บางคนกลับได้ใจ

"อีกอย่าง เราไม่ได้ด้อยไปกว่าชาวต่างชาติเพียงเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่เก่งเท่าเขา แต่ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง ควรพูดออกไปตรงๆ อย่าอึกอักหรือทำเสียงอ่อนให้เขาถือโอกาสเอาเปรียบ คนไทยพอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เรามักจะกลัว พอเรากลัว เวลาที่ชาวต่างชาติเข้ามา เรามักจะหงอ ซึ่งเราไม่ได้แก้ปัญหาให้ถูกจุดเลย ถ้าพูดไม่ได้ก็พยายามฝึก หรือไปเรียนภาษา จะได้พูด และฟังเขารู้เรื่อง" อลิสาเผย ก่อนจะฝากให้คิดว่า "วัฒธรรมไทยเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่โลกกำลังจะเปลี่ยนไป คุณรับได้ไหม"

ท้ายนี้ อลิสา ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ทั้งที่ยังเรียนอยู่ และกำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานว่า ใครที่เตรียมพร้อมเรื่องภาพลักษณ์และความสามารถมาดี ย่อมได้รับโอกาส และเป็นที่ยอมรับสูงกว่า

"เด็กทุกวันนี้สอนยาก เขาอยากจะแต่งอะไรก็แต่ง เพราะเข้าใจว่ายังไม่ถึงวัยที่จะต้องมาอยู่ในกรอบ แต่พอถึงตอนที่สมัครงาน ต้องคิดแล้วว่า โลกมันเปลี่ยนไป คุณไม่ได้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะฉะนั้นจะแต่งตัวอย่างที่เคยแต่งมันไม่ได้ อย่างหนึ่งที่คนสมัครงานควรจะคิดก็คือ ฝ่ายบุคคลเกือบทุกบริษัทเห็นใบสมัครเป็นพัน เป็นหมื่น ใครเด่นกว่าใครจะให้เขาดูจากตรงไหน ถ้าไม่ใช่ดูที่รูป ซึ่งเรื่องนี้ต้องคิดให้เป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นพ่อแม่ ต้องช่วยกันดู แต่ปัญหาคือ พ่อแม่บางคนเอาแต่ทำงาน กลายเป็นการปัดลูกให้ไปเป็นปัญหาของผู้อื่น พอเข้าไปในองค์กร เขาก็จะต้าน เพราะไม่เคยอยู่ในกรอบมาตั้งแต่แรก ถ้าครอบครัวฐานะดีก็ดีไป ย้ายไปทำงานที่อื่น แต่ถ้าไม่ดีล่ะ และต้องใช้เงินเลี้ยงดูครอบครัว จะทำอย่างไร" อลิสาฝากให้คิด

สกู๊ปโดย ASTVผู้จัดการ Lite






กำลังโหลดความคิดเห็น