xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! วายร้ายในคราบนักบุญ เรี่ยไรเงินผ่านมูลนิธิเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดินเรี่ยไรเงินบริจาคตามท้องถนน โดยมากคืออาสาสมัครเถื่อน ภาพจากเพ็จกู้ภัยสว่างโรจนธรรมสถาน สัตหีบ
ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยเลยจริงๆ สำหรับพวก “มิจฉาชีพ” ที่ยังคงอาศัยช่องโหว่ในการรับบริจาค ด้วยการแอบอ้างตัวเป็นหน่วยอาสาและตั้งมูลนิธิเถื่อน ออกเรี่ยไรข้าวของเงินทองจากประชาชน เพื่อฮุบ! เข้ากระเป๋าตัวเอง ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อของกลุ่มโจรประเภทนี้ ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า ทำบุญที่ไหนจึงจะปลอดภัยและไม่ตกเป็นเหยื่อ

 
กรุงเทพฯ แหล่งรวมโจรเรี่ยไร
 
 
หลายคนคงคุ้นชินกับป้ายรับบริจาคมาแล้วแทบนับไม่ถ้วน แต่รู้หรือไม่ ว่าทุกบาททุกสตางค์ของท่าน อาจถึงมือโจรก่อนถึงผู้ประสบภัยตัวจริง ไม่ว่าจะ อุทกภัย อัคคีภัย ศพไร้ญาติ หรือผู้สูงอายุ ไปจนถึงผู้พิการ กรณีนี้ พรชัย จิรกวีกุล หัวหน้าฝ่ายกู้ภัยมูลนิธิขอนแก่นสามัคคีอุทิศ จ.ขอนแก่น เคยเตือนภัยไว้ว่า 


  มูลนิธิต่างๆ เป็นห่วงมาก เพราะตอนนี้มีกลุ่มคนถือโอกาสแอบอ้างตัวเป็นมูลนิธิออกเรี่ยไรเงิน คอยตระเวนถ่ายภาพตามพื้นที่มีเหตุน้ำท่วมบ้าง ไฟไหม้บ้าง หรือตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ แล้วเอารูปพวกนั้นออกไปเดินเรี่ยไรเงินจากประชาชน มีการล่อลวง ต้มตุ๋นกันทั่วประเทศ แต่ที่พบกันมากคือในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่างหมอชิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” 

  แต่อย่าเพิ่งด่วนตกใจ เรื่องนี้ยังมีทางแก้ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู บอกวิธีแยกแยะอาสาสมัครระหว่างตัวจริงกับตัวปลอม เอาไว้ให้แล้ว 
 
  ถ้าพวกที่เดินเรี่ยไร ไม่ว่าจะตามถนน บนรถเมล์ หรือตามบ้านคน ให้ฟันธงไปได้เลยครับว่าเป็นตัวปลอม สามารถแจ้งตำรวจจับได้เลย ไม่ต้องไปสังเกตครับว่าเป็นคนจากมูลนิธิมารับบริจาคจริงมั้ย เพราะทางมูลนิธิจะไม่มีการออกเดินเรี่ยไรเงินแน่นอนครับ ถ้าอยากมาบริจาคจริงๆ ทางมูลนิธิมีจุดรับอยู่แล้วที่บางพลี กล้วยน้ำไทย หรือวัดหัวลำโพง” 
 
วิธีจับผิดมิจฉาชีพนี้ ตรงกับที่เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุประจำมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ทางมูลนิธิไม่เคยส่งคนไปตระเวนรับเงินแน่นอน หากผู้ใดต้องการทำทาน ก็ให้เข้ามาบริจาคที่มูลนิธิโดยตรงเท่านั้น แล้วถ้าเห็นคนที่สวมชุดเครื่องแบบของมูลนิธิ ทำพฤติกรรมดังกล่าว ให้แจ้งตำรวจในพื้นที่จับกุมได้เลย หรือประสานงานมายังมูลนิธิ เพื่อทางมูลนิธิจะได้ส่งคนเข้าไปตรวจสอบ หากเป็นผู้แอบอ้างจะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 
 
แต่ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นคนของมูลนิธิจริงๆ จะมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาด เพราะมูลนิธิอาสากู้ภัยทุกแห่งจะวางกฎเอาไว้อยู่แล้วว่า “ห้ามพนักงานออกไปเรี่ยไรเงินนอกมูลนิธิ ยกเว้นแต่กรณีบ้านเมืองประสบปัญหาหนัก อย่างเช่น เหตุน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54”

 
แนบเนียน แยกไม่ออก จับไม่ได้

หลายคนคงสงสัยแล้วว่า เหตุใดผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ออกมาเอาผิด ปล่อยปละละเลยให้เกิดการเรี่ยไรในวงกว้างเช่นนี้ได้อย่างไรกัน ข้อสงสัยนี้ เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอคลี่ปม

 
เพราะเขามีบัตรถูกต้องตามกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาตำรวจเข้าไปขอตรวจ เขาก็แสดงบัตรกับเอกสารให้ดูครบ แล้วก็บอกว่าเขาไม่ได้เรี่ยไร แค่ออกมารับบริจาคเพื่อส่งเงินให้กับสมาคมไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

ส่วนพฤติกรรมของ "วายร้ายในคราบนักบุญ" เหล่านี้ เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊ง แจกแจงรายละเอียดให้ทราบอีกว่า “มีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นกลุ่มนายทุนที่ร่วมกันตั้งคณะทำงานขึ้นมา แล้วไปขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ จากนั้นก็จะจ้างลูกมือประมาณ 4-5 คน ใช้ชื่อมูลนิธิ และเอกสารการก่อตั้งที่ได้รับอนุญาตการเปิดมูลนิธิเป็น "ใบเบิกทาง" ออกไปหากินเรี่ยไร่เงินตามที่ต่างๆ โดยเงินบริจาคที่ได้มาจากประชาชน ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือจริง แต่ที่เหลือจะเก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง 
 
หนำซ้ำยังมีอีกกรณีคือ นายทุนบางกลุ่มที่ไม่ได้ขออนุญาตเปิดมูลนิธิ แต่รู้จักคุ้นเคยกับกลุ่มคนที่ทำงานเป็นคณะกรรมการในมูลนิธิใดมูลนิธิหนึ่ง ซึ่งส่วนมากจะเป็นมูลนิธิที่เปิดใหม่ และไม่มีผู้บริจาคเงิน โดยนายทุนกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยวางแผน แล้วขอใช้ชื่อมูลนิธิ นำเอาเอกสารต่างๆ ของมูลนิธินั้นๆ ออกไปรับบริจาค แล้วนำผลประโยชน์มาแบ่งกัน คือ ถ้ามีเงินบริจาค 100 บาท จะเข้ามูลนิธิจริงๆ แค่ 40 บาท นอกนั้นกลุ่มนายทุนก็จะรับไปเหนาะๆ 60 บาท โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละวันสามารถหาเงินได้ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท"

มาฟังเสียงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.อนุกูล ดาวลอย รองผู้กำกับการ สภ.อ.เมืองขอนแก่นดูบ้าง จะเห็นว่าข้อเท็จจริงในส่วนนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ทางตำรวจได้มีการออกตรวจตามพื้นที่ได้รับผิดชอบตลอด และมีประชาชนร้องเรียนว่ามีกลุ่มมูลนิธิเดินเรี่ยไรเงินตลอด เมื่อตำรวจออกไปตรวจกลุ่มมูลนิธิจะไม่สามารถแสดงใบอนุญาตการออกเรี่ยไรเงินรับบริจาค และสามารถจับกุมได้หลายราย ตามกฎหมายบทลงโทษของการเรี่ยไรเงินเป็นคดีลหุโทษ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หลังจากนั้นก็มีการประกันตัวออกไป และออกมาเรี่ยไรเงินอีกเหมือนเดิม


ส่วนถ้ามูลนิธิ หรือวัดต่างๆ จะออกเดินขอเงินทำบุญ หรือเรี่ยไรเงิน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่เท่านั้น โดยจะมีการออกหนังสือรับรองที่ถูกต้องให้ แต่ระยะหลังมีมูลนิธิที่ออกมาเรี่ยไรเงินโดยไม่มีการขออนุญาต รวมถึงใช้ใบอนุญาตปลอมเป็นจำนวนมาก จึงอยากเตือนประชาชนให้ตรวจเอกสารของกลุ่มที่เข้ามาเรี่ยไรเงินอย่างละเอียด

อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ กลุ่มวายร้ายในคราบนักบุญ ก็ยังคงออกเดินสายเรี่ยไรเงินอยู่ตามที่ต่างๆ ฉวยโอกาสจากความมีน้ำใจของคน เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยไม่นึกถึงบาปบุญคุณโทษ หากคุณคือคนหนึ่งที่ใจบุญ และต้องการให้คนประเภทนี้หมดไปจากสังคม ก่อนจะควักสตางค์บริจาค ควรสังเกตให้ดีหรือลองพิจารณาดูสักนิด ถ้าไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มิจฉาชีพลอยหน้าลอยตาในสังคม


“ที่ผ่านมา มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่พวกเราก็ทำงานกันด้วยใจกันจริงๆ ครับ และไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย เพราะเวลาคนมอง เขาจะเหมารวมพวกเรากับพวกนั้นด้วย อยากให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาให้ด้วยครับ แล้วเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีต่อไป” เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์จากมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวทิ้งท้าย
 

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


การทำบุญโลงศพวัดหัวลำโพง
มูลนิธิร่วมกตัญญู จุดวัดหัวลำโพง
มูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง
กำลังโหลดความคิดเห็น