xs
xsm
sm
md
lg

กอด-จูบ-ลูบ-ไซ้ “ความสมจริง” ที่ “ผิดจุด” ของละครไทยวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื้อแนบเนื้อ โชว์ฝีมือการนัวเนียกันในระดับมืออาชีพ ตั้งแต่ระดับโลมเล้าในสระว่ายน้ำ โคลสอัปให้เห็นทุกลีลาท้าต่อมสยิว บดขยี้ปากจนแทบจะกลืนกิน ไซ้ซอกคอ ซุกเนินเนื้อ เร้าระดับอารมณ์กระทั่งไปสิ้นสุดจุดพีคที่เตียงนุ่ม เนื้อตัวเปลือยเปล่า มีเพียงผ้าห่มและชุดเซฟสำหรับฝ่ายหญิงเท่านั้นที่ทำให้ดูเป็นการแสดง...

ฉากเลิฟซีนร้อนรักระหว่าง “ชาม” และ “อ้น” ทางทีวีช่อง 8 ในครั้งนี้ เรียกเสียงฮือฮาได้มากพอๆ กับเสียงก่นด่าระคนสงสัยจากคอละครว่า “นี่มันละครหรือหนังเอ็กซ์ ต้องทำให้สมจริงกันขนาดนี้เลยหรือ!?!”



สมจริงเกินไป คนไทยรับไม่ได้!
เล่นเอาตาถลนออกจากเบ้ากันเป็นแถบ เมื่อคอละครหลายรายเห็นฉากเลิฟซีนที่แสนจะจริงจังระหว่าง “ชาม-ไอยวริญท์ โอสถานนท์” และ “อ้น-สราวุธ มาตรทอง” ในละครช่อง 8 เรื่อง “สาปสาง” เมื่อความหวือหวาออนแอร์ออกไป ความฮือฮาและถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์จึงตามมา โดยเฉพาะผลตอบรับในทางลบที่มีต่อ “ความจริงจังแบบผิดจุด” ของละครไทย จนถึงขั้นออกมาประชดประชันผู้ผลิตว่า น่าจะจริงจังกับฉากอื่นๆ ในละครบ้าง ละครคงน่าดูขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว

แม้แต่เพจ “Drama-addict” ที่มักหยิบเรื่องร้อนๆ ในสังคมมากระแหนะกระแหน ยังอดจิกกัดเกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ไม่ได้เลย “ฉาก...สมจริงมาก ทำไมฉากปั๊มหัวใจ ช่วยคนไข้ในละครไทย ไม่สมจริงแบบนี้บ้าง” ซึ่งก็มีผู้คนตามมาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น ประชดประชันเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกมากมาย

“เพราะเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องสำคัญ จึงจำเป็นต้องสมจริง เดี๋ยวเด็กโตไปจะทำไม่เป็น” หรือ “การปั๊มหัวใจไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่คนจะได้นำมาใช้บ่อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องให้สมจริงมาก แต่เซ็กส์เป็นกิจวัตรประจำวันของหมู่มวลมนุษยชาติ ดังนั้น ต้องพิถีพิถันทำออกมาให้สมจริง ไม่งั้นจะโดนแฟนละครด่ายับ” และอีกหลากหลายความคิดเห็นที่มีต่อความหวือหวาเกินขอบเขตในครั้งนี้

หนังเกาหลีไม่เห็นต้องมีฉาก...กันเลย คนติดทั้งบ้านทั้งเมือง สอดแทรกสาระ คุณธรรมไว้ด้วย ที่หลังให้มีอะไรกันจริงๆ เลยนะครับ เพื่อจะได้ทำงานดูเต็มที่แบบสุดๆ”

“ใส่ชุดชั้นในแนบเนื้อแล้วฟัด มันก็ไม่ต่างอะไรกับมีอะไรกันโดยสวมถุงยาง

“ผู้กำกับน่ะเกินไป ละครไทยมีอะไรที่สร้างสรรค์ได้มากกว่านี้ บทนี้ต้องให้สมจริงหรือ เหลือรับจริงๆ”

ถ่ายหนัง xxx กันหรอ

“ดาราเก่าๆ ก็ต้องแบบนี้ ทำไงได้ กระแสไม่มีแล้วนี่ ต้องหาทางกลับมาเรียกกระแส

“ทำไมต้องเอาผ้าห่มมาคลุมตัวขนาดนั้นคะ ไม่สมจริงนะคะ ไหนๆ ก็จูบจริง แลกลิ้นกันจริงแล้ว น่าจะทำกันไปเลยจริงๆ ค่ะ อีกนิดเดียวเอง หนังกับนักแสดงจะได้รับรางวัลกันไปเลย เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล

ใครบอกละครไทยไม่สมจริง อย่าไปเชื่อ ถ้าไม่บอกว่าเป็นละคร นึกว่าหนังโป๊ค่าย WANZ เลยนะ”

เสื่อม

แล้วจะเซ็นเซอร์การ์ตูนไปทำไมวะ



คนไทยดัดจริต อคติฉากเลิฟซีน?
ในส่วนของนักแสดงเอง ชาม-ไอยวริญท์ ได้ออกมาเปิดใจเอาไว้ในรายการ “คนดังนั่งเคลียร์” ว่าสมัครใจเล่นเลิฟซีนเอง เพราะมีความฝันอยากเป็นนักแสดง พอมีโอกาสก็เลยทำเต็มที่

ก็เล่นจริงเท่าที่เห็นค่ะ แต่ก็ไม่ถึงกับขนาดนั้น มันเป็นการไว้ใจ เพราะก่อนที่เราจะเล่นฉากเหล่านี้ ได้มีการประชุมปรึกษากันก่อนว่าลิมิตแค่ไหน เราสมัครใจจะเล่นขนาดไหน มีการคุยกันระหว่าง ผู้จัด ผู้กำกับ ตัวพี่อ้น ผู้จัดการ และตัวชาม เราก็พยายามทำหน้าที่นักแสดงของเราให้ดีที่สุด

อย่างฉากบนเตียงที่ชามเปลือยหลังทั้งหมด ชามก็ไม่ได้แก้ผ้านะคะ คือเรามีการเซฟข้างหน้า เซฟหมดทุกอย่าง เรามีชุดเซฟตีเป็นชุดชั้นในสีเนื้อเรียบติดหนัง ก็จะไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น และก็ไม่มีใครอยู่ในห้องเลย กองถ่ายเขาเซฟให้เราเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนฉากแลกลิ้นในสระน้ำ คือถ้าไม่ใช่พี่อ้นชามคงไม่กล้าเล่น เพราะเป็นครั้งแรกของชามที่เล่นบทหนักและแรงขนาดนี้ แต่ชามก็ไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะกล้องเยอะ คือตอนนั้นเราพยายามทำให้เทกเดียวผ่าน

เราพยายามทำให้มันเต็มที่ในทุกๆ บทบาท ที่ได้รับ ไม่ใช่แค่บทเลิฟซีนนะ ไม่ว่าจะบทบู๊ หรือบทอื่นๆ เราก็ต้องเล่นเอง เล่นจริง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ชามจะไม่ใช้สแตนด์อินนะ ถ้ามันไม่อันตรายจริงๆ ชามจะเล่นเองหมด อย่างฉากกระโดดจากตู้ชามก็เล่นเอง มันก็แล้วแต่ว่าบทบาทที่เราได้รับเป็นแบบไหน เพราะชามก็ยังรับเล่นบทอื่นๆ ด้วย ก็มีคุยๆ อยู่ อย่างบทแบ๊วๆ ก็มี”

ไม่ว่านักแสดงจะออกมาให้เหตุผลอย่างไร แต่สำหรับคนที่แอนตี้ภาพโจ๋งครึ่มของละครที่ออกมาแล้ว ก็คงจะเหมารวมสปิริตนักแสดงว่าเป็นความใจกล้าเกินจำเป็นอยู่ดี แต่ในฐานะคนทำงานในวงการนี้มานานอย่าง นท พูนไชยศรี ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตละคร บริษัท มุมใหม่ จำกัด แล้ว เขาอยากให้มองอย่างเข้าใจมากกว่านั้น

“จะบอกว่ามันจริงเหรอฉากเลิฟซีนขนาดนั้น มันก็ไม่ได้จริงเหมือนกันนะ มันเป็นเพียงสิ่งที่คนเราฝันอยากจะเป็น เพราะโดยมนุษย์ปกติ ก็ไม่ได้เยอะแยะมากมาย แบบนี้เลยจะเกินจริงด้วยซ้ำ ถามว่าจริงจังทำอยู่ฉากเดียวมั้ยเหรอ (หัวเราะ) ที่วิจารณ์กันว่าตั้งใจทำจริงจังมาก สมจริงมาก มองอีกมุม จริงๆ แล้ว คนผลิตเขาอาจจะไม่ได้จริงจังกับฉากนี้กว่าฉากอื่นก็ได้นะ แต่คนไทยส่วนนึงอาจจะแอบดัดจริตหน่อยๆ กับฉากอะไรแบบนี้ พอเห็นว่ามันโจ่งแจ้งเลยไปวิจารณ์ว่าเขาจริงจังกว่าที่ทำฉากอื่น หรือบอกว่าทีมงานตั้งใจทำเฉพาะฉากนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วผมว่าทีมงานน่าจะตั้งใจทำในทุกฉากนั่นแหละ

พูดยากที่จะไปตัดสินว่าทีมงานให้ความสำคัญกับฉากไหนมากกว่ากัน มันวัดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ถ้าวัดกันที่เรต ฉากเลิฟซีนนี้อาจจะเกินเรต น.13+ อันนี้พูดได้ ถ้าภาพนำเสนอออกมารุนแรงในฉากเลิฟซีนเกินไป ก็คงต้องให้ฟีดแบ็กกลับไปแค่ตรงนั้น แต่อย่าเอามาเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของละครดีกว่า ว่าใส่ใจแค่ฉากเลิฟซีน



“ไม่สมจริง” ไม่เปลี่ยนแปลง
พูดกันตรงๆ ละครไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถทำให้เชื่อได้ว่าตัวละครเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริงหรือเป็นหุ่นจำลองของคนจริงๆ ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ผิดเพี้ยนไปจาก “ข้อเท็จจริง” อย่างให้อภัยไม่ได้ ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันบ่อยๆ จากปากผู้ชม ทั้งเรื่องหน้าสวยตอนนอน, ล้มทับกันแล้วพบรัก, ติดหนวดปลอมเป็นผู้ชายแล้วไม่มีใครจำได้ ฯลฯ และรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายที่ไม่เคย “สมจริง”

“ตั้งแต่เด็กๆ มา เราจะได้ยินการ์ตูนของน้าต๋อยพากย์เสียงผู้ร้าย เป็นเสียงหัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า แบบตัวร้าย เราก็เลยเอาการสื่อสารอะไรง่ายๆ แบบนี้มาใส่ เพื่อสื่อสารไปยังคนดูให้ออกมาแล้วเข้าใจง่ายๆ อย่าลืมว่าละครเนี่ย ต้องส่งไปทีเดียวแล้วต้องปิ๊งเลย ไม่ใช่ว่าต้องให้เข้าใจเยอะ เพราะคนดูไม่ได้มีเวลาอยู่กับเราตลอดเรื่อง ถามว่าทำไมตัวร้ายต้องใส่ชุดดำ นางร้ายต้องแต่งหน้าจัด ทำไมผมต้องเป็นลอนขนาดนี้

เราจะเห็นหลายๆ ครั้งจะมีฉากพระเอกกับนางเอก ถ่ายเลือดให้กันโดยตรง ซึ่งจะจับพระเอกกับนางเอกมานอนเตียงข้างๆ กัน แล้วถ่ายเลือดให้อีกคนเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อันนี้ผมเคยเห็น สเตตัสของนักเทคนิคการแพทย์พูดถึงละครเรื่องนึงเอาไว้ เพราะความเป็นจริง การเอาเลือดออกจากตัวคนคนนึง ต้องเอาไปผ่านกรรมวิธีก่อน เพื่อจะตรวจสอบเลือดก่อนหรือดึงแค่บางส่วนของเลือดเพื่อเอาไปใส่ให้ผู้ป่วยอีกคน คนเราไม่สามารถถ่ายเลือดให้กันตรงๆ ได้อย่างในละคร พอถามว่าคุณเลือดกรุ๊ปอะไรครับ อ้อ! ตรงกันกับนางเอกพอดี ขอถ่ายเลือดแบบต่อตรงให้กันเลย ทำแบบนั้นจริงๆ ไม่รอดแน่ครับ เป็นสิ่งที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว

ผมก็เลยจะคอยระวังกับฉากอะไรพวกนี้มาก ดูให้ดีๆ ไม่ให้ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความเป็นความตายมันออกอากาศไป ถ้าจำเป็น อยากจะได้ช็อตที่แสดงให้เห็นว่าพระเอกให้เลือดนางเอกนะ เราก็อาจจะเลี่ยงโดยถ่ายอีกแบบนึงคือ ให้ทั้งสองคนนอนแยกห้องกัน อีกห้องนึงพระเอกก็บริจาคเลือดไป และอีกห้อง นางเอกก็นอนป่วยไป หรือไม่อย่างเลยที่สุด บางทีบทมันบังคับมาก เรื่องราวมันบังคับมากว่าอยากให้พระเอกกับนางเอกมองหน้ากัน ต้องนึกถึงเรื่องราวที่เคยทำมาในอดีตด้วยกัน เราก็จะให้นอนข้างๆ กัน แต่จะไม่ถ่ายให้เห็นว่า ถ่ายเลือดให้กันโดยตรง แค่ให้นอนให้น้ำเกลือข้างๆ กันเฉยๆ อันนี้พอจะเป็นไปได้

มีอยู่ฉากนึงในละครเรื่องนึง เอาหลอดตวงที่มีฐานเป็นแก้ว เอามาต้ม ลนบนตะเกียงแอลกอฮอล์ อันนี้เป็นไปไม่ได้ มันไม่ได้ใช้งานแบบนั้น ถือว่าให้ความรู้แบบผิดๆ หรืออย่างวันก่อน มีตัวละครถือกล้วยไม้มา แล้วตัวละครอีกตัวก็พูดว่า “ไม่ได้นะ นายอย่าเอากล้วยไม้ที่ออกมาจากป่า เพราะมันเป็นพืชสงวน” ซึ่งจริงๆ แล้ว กล้วยไม้ไม่ใช่พืชสงวนครับ แต่เป็นพืชพันธุ์อนุรักษ์ ซึ่งความหมายมันต่างกัน

ถ้าเป็นไปได้ ผมว่าผู้ผลิตก็ควรจะรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองผลิต ควรระวังเรื่องการให้ความรู้ผิดๆ ให้มาก ต้องตรวจสอบดีๆ อะไรที่ผิดไม่ควรให้ออกไป คุณจะบอกว่าคุณไม่มีเวลาไม่ได้ คุณต้องรับผิดชอบกับงานที่ออกไป เพราะมันคืองานของคุณ ไม่สามารถยอมรับคำว่า “ไม่มีเวลา” ได้ครับ ยังไงมันก็งานคุณ ลายเซ็นคุณ” นท ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตละคร ฝากไว้ให้คิด



นานทีมีหน ละคร “สร้างสรรค์”
ยิ่งเทียบกับมาตรฐานต่างประเทศ ต้องบอกว่าแทบจะนับเรื่องได้เลยที่ละครไทยจะเสริมสร้างความคิดมากกว่าสะท้อนภาพความรุนแรง ขายเซ็กส์-ตบจูบ กันอยู่แบบนี้ ผศ.ณาณัฏฐ์ธัญ วงศ์บ้านดู่ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอนเกี่ยวกับการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ยังได้แต่ปลงตก เพราะจะหวังพึ่งการจัดเรตรายการทีวีก็ไม่ได้ผล เพราะทุกวันนี้เด็ก-เยาวชนดูผ่านอินเทอร์เน็ตกันหมดแล้ว

“พฤติกรรมของคนดูในปัจจุบัน มานั่งดูทีวีเครื่องเดียวกันแล้วพ่อแม่จะมาแนะนำเรียกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เด็กสมัยดีดูผ่านมือถือ ดูผ่านคอมฯ ไม่ได้มานั่งดูจอทีวีเดียวกันในห้องแล้ว ทีนี้เนื้อหาอะไรต่างๆ เด็กแยกไปดูได้หมด เพราะฉะนั้น ฉากเลิฟซีนที่เน้นสมจริงเสียเหลือเกิน มันก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อเยาวชน จะบอกว่าถึงไม่ดูละครไทย เด็กก็เห็นฉากเลิฟซีนจากซีรีส์ต่างชาติอยู่ดี ก็ต้องถามว่ามีคนทำอยู่ 10 แล้ว คุณยังจะไปโหม ทำเป็นรายที่ 11 อีกเหรอ หรือจะมานั่งโทษคนดู เพราะคนดูชอบดูอย่างนี้ เลยต้องทำออกมาขาย ก็มาโยนความผิดให้คนดูอีกแล้ว สุดท้าย มันกลายเป็นการสร้างเรตติ้ง แข่งกันจนลืมทุกอย่าง

คำว่า “สมจริง” กับ “โจ่งแจ้ง” มันต่างกันนะ ต้องมานิยามตรงนี้ก่อน สมจริงใช้มุมกล้องก็สมจริงได้ ทำให้รู้ว่าพระเอกกับนางเอกจูบกันจริงๆ ได้ นี่ก็ถือว่าสมจริงนะ คำว่าสมจริงผู้กำกับสามารถนำเสนอแบบมีสไตล์ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็บอกว่าหนังเอ็กซ์เป็นศิลปะแบบนึง บางคนก็บอกหนังอาร์เป็นศิลปะแบบนึง อันนี้อยู่ที่การตีความ

สมัยก่อน ฉากเลิฟซีน จะปล่อยให้จอดำแล้วให้ได้ยินแต่เสียง อือ..อา.. คนก็จินตนาการกันไป วิจารณ์ไปว่ายิ่งทำจอดำยิ่งอันตราย ยิ่งจินตนาการกันไปเปิดเปิง สมัยก่อน มีการจูบแบบใช้มุมกล้องบัง แต่พอมาตอนนี้ ยิ่งจูบจริงยิ่งเป็นข่าว ชมกันว่าพระ-นางคู่นี้ใจถึง กลายเป็นเรื่องของการตลาดไป

ผมเคยนั่งดูซีรีส์เกาหลีกับญี่ปุ่น ยังคิดอยู่เลยว่า เฮ้ย! ทำไมมันจูบกันจืดชืดนัก อยากจูบกันจริงๆ หรือเปล่าเนี่ย อันนี้ยังนั่งวิจารณ์กับแฟนอยู่เลยตอนนั่งดูด้วยกันว่า ไม่เห็นเขาจะต้องบดขยี้ปากกันแบบหนังไทยเลย กลายเป็นว่าการถูกเนื้อต้องตัวของเขา การจูงมือกัน นานมากกว่าจะได้เจอฉากนึง หรือการทรมาน การทารุณกรรมทางเพศ การที่ผู้ชายข่มเหงผู้หญิง ฯลฯ แทบไม่เห็น เห็นก็เห็นแป๊บเดียว เพื่อให้คนดูรู้แค่ว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้วนะ อย่างที่บอกครับ ความสมจริง มันจะลากไปแค่ไหน อย่างไหนถึงจะเรียกว่า “สมจริง” แบบไหนที่ต้องการเน้นให้ “โจ๋งครึ่ม” ตั้งใจเน้นฉากให้รู้สึกรัญจวนใจเข้าไปอีก

ก็ไม่ได้จะบอกว่าซีรีส์เกาหลีดีกว่า เพราะละครไทยดีๆ ก็มีเหมือนกัน แต่เรื่องฉากเลิฟซีนบางเรื่อง พระเอก-นางเอกของเขาก็รักกันไม่แพ้ละครไทยหรอก แต่บทจูบหรือบทอะไร แทบไม่เห็นเลย เห็นก็เห็นแป๊บเดียวแล้วก็ตัดไปแล้ว มันอยู่ที่การตีความของผู้กำกับน่ะครับว่ามีภาพในหัวยังไงบ้าง”

ถ้าละครไทยจะใส่ใจเรื่อง “ความสมจริง” กันให้มากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะไปโฟกัสที่จุดไหน อาจารย์ขอแนะนำในเรื่องบทบาทของตัวละครเอาไว้ ถ้าสามารถทำให้คนเห็นคุณค่าของอาชีพแต่ละอาชีพได้ จนอาจบันดาลใจให้ผู้ชมชื่นชมหรืออยากเป็นแบบนั้น นั่นก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว

“อยู่ที่คนเขียนบทจะให้น้ำหนัก สอดแทรกให้เห็นถึงคุณค่าของอาชีพนั้นด้วยหรือเปล่า เพราะว่าอาชีพนั้นๆ ทำอะไร แต่บ้านเราบอกเป็นผู้บริหารแต่ไม่เห็นว่าเข้าไปบริหารอะไรเลย แต่ถ้าเราไปดูละครบางประเทศ มีอาชีพ หมอ, พีอาร์ ฯลฯ เขาเอาฉากของแต่ละอาชีพมาเป็นตัวดำเนินเรื่องให้เห็น เราก็ได้ความรู้ไปด้วยว่า วิธีปั๊มหัวใจทำกันอย่างนี้ อยู่ในห้องผ่าตัด เขาติดต่อสื่อสารกันอย่างนี้นะ แต่ละครบ้านเรา ไม่เคยได้เห็นความจริงจังในห้องผ่าตัด เรามีแต่หนังชิงรักหักสวาท ถ้าพระเอกเป็นหมอก็คงไม่ค่อยได้เห็นฉากหมอตรวจคนไข้อย่างจริงจัง อาจจะเห็นแค่พระเอกเอาหูฟังแพทย์มาพาดคอเฉยๆ

เราก็จะไปโทษคนดูไม่ได้ว่าเพราะเขาต้องการแค่นี้ ถามว่าคุณลองคิดว่าเคยให้สิ่งใหม่ๆ แก่คนดูบ้างหรือเปล่า ถ้าลองพยายามให้สิ่งใหม่ๆ คนเขียนบทยอมเสียเวลา ลงมานั่งคุยกับหมอ survey คุยกับหมอ เคยไปสังเกตจริงๆ จังๆ บ้างมั้ย แต่ก็เข้าใจว่าโปรดักชั่นบ้านเรามีข้อจำกัดด้วยเรื่องเวลา งบประมาณ ต้องเร่งถ่าย คนเขียนบทบางเรื่อง กำหนดมาแล้วว่าละครจะออนแอร์เดือนหน้า ต้องเขียนให้เสร็จเลย เพราะฉะนั้น รายละเอียดเรื่องต่างๆ ก็จะมีโอกาสน้อย ต้องปั่นกันสุดชีวิต ฝ่ายติดต่อสถานที่ก็ติดต่อไป พอถึงเวลาก็ถ่ายทำ ก็อาจจะมีบ้างบางส่วนที่เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาบางเรื่อง อาจจะมีละครฟอร์มยักษ์-ฟอร์มใหญ่อยู่ ปีนึงไม่กี่เรื่องที่ลงลึกใช้เวลากับมัน และทำให้มัน “สมจริง” ในแบบที่ควรจะเป็น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
อิสสริยา อาชวานันทกุล





ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
“ชาม” เผยสมัครใจแลกลิ้นกับ “อ้น สราวุธ” เอง บอกแม่ไม่ว่าเพราะเป็นคนเข้าใจโลก
 
เร่าร้อนทุกลีลา





เต็มที่ทุกท่วงท่า


จิกๆ กัดๆ ในเพจ Drama-addict
กำลังโหลดความคิดเห็น