xs
xsm
sm
md
lg

“ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ในยุคสมาร์ทโฟน ก็แค่ ตู้คนจร-ที่หมานอน-ที่ระบายของเกรียนมือบอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่พักคนจร ที่นอนน้องหมา ที่แปะคำโฆษณา ที่ระบายของเกรียนมือบอน ฯลฯ
ที่พักคนจร ที่นอนน้องหมา ที่แปะคำโฆษณา ที่ระบายของเกรียนมือบอน ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ของ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ในประเทศไทยในยุคที่สมาร์ทโฟนครองเมือง โซเชียลมีเดียแพร่หลาย ส่งให้ตู้กระจกริมถนนเหล่านั้นกลายเป็น “ส่วนเกิน” ของเมืองไปโดยปริยาย ถ้าพวกมันพูดเป็นภาษามนุษย์ได้ คงอยากบอกใครต่อใครที่เดินผ่านไปมาว่า “ช่วยหยอดเหรียญ ยกหู แล้วใช้ฉันตามหน้าที่ที่ฉันควรเป็นเถอะ”




อนิจจา... เกิดเป็นตู้โทรศัพท์นั้นหนา ช่างน่าน้อยใจ
“ไม่รู้เขาจะเก็บไว้ทำไม เดินใกล้ยังไม่กล้า แล้วใครจะกล้าเข้าไปใช้” Jandharattana Permsookchit

“ควรรื้อออกให้หมด ไม่ใช่อะไร เพราะสมัยก่อนที่โทรศัพท์ยังไม่แพร่หลาย ก็ใช้การไม่ค่อยได้อยู่แล้ว กินเหรียญ สกปรกอีก ก็เข้าใจนะว่าของอะไรที่ใช้ๆ ไปมันต้องเสื่อมสภาพตามเวลา แต่องค์การโทรศัพท์ก็มิทำ...อะไรเลย นอกจากมาไขตู้เอาตังค์กลับไป” Phanchita Betranslator

เเถวบ้านเน่ามาก หยอดเงินหายไม่คืนเลย เเถมสกปรกมากๆ ไม่มีใครมาทำความสะอาดเลย จนไม่กล้าใช้” อั๋น จงเจริญกิจ

มีไว้ติดใบปลิว” แพรลี่ ไลน์

“จัดการทิ้งเลย เพราะ 99.99% เป็นตู้ไว้แปะเงินด่วน, นักสืบ บลาๆๆๆ” Lee Jun Mun May

แหล่งรวมโรค” Yudh Kaewmalang

“ไม่เคยใช้ค่ะ และควรเอาออกเพราะเป็นที่หลบซ่อนของผู้ร้ายได้ค่ะ” Chanpen Assawathanrongkiti

“น่าจะยกเลิก แล้วทำเป็นจุดปล่อย wifi แทน เพราะที่เห็น 10 ตู้ จะใช้ได้แค่ 1 ตู้” Yochi R. Kenji

เปลี่ยนเป็นจุดชาร์จไฟแบบหยอดเหรียญดีกว่ามั้ง แต่ก็ควรมีไว้บ้าง” Spacedogz Junior

เอาไปไว้ในที่ทุรกันดาร เช่น กลางป่าตามอุทยาน” ไร้เริ่มต้น ไร้จุดจบ

บังป้ายรถเมล์ สงสัยมานานแล้วว่าใครคิด เอาตู้โทรศัพท์ติดไว้เกือบทุกป้ายรถเมล์ แต่ดันตั้งก่อนถึงป้าย” Sharley Li

“มันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ต้องมีไว้ครับ ประเทศที่เจริญกว่าเรามากมายแค่ไหน เขาก็ยังมีไว้ แต่ของเรามันไม่ปรับปรุงเท่านั้นแหละ” Synkornize Fyi

“ใช้บ้างเวลาเงินในเครื่องหมดแล้วหาที่เติมเงินไม่ได้ แต่ก็นานๆ ทีถึงจะใช้เพราะมีมือถืออยู่แล้ว แต่คิดว่าโทรศัพท์สาธารณะควรมีไว้เผื่อยามฉุกเฉิน คนที่เขาไม่มีโทรศัพท์ส่วนตัวก็จะได้ใช้ด้วย เท่าที่เห็นตู้โทรศัพท์สมัยนี้ บางตู้ใช้ได้ บางตู้ก็แย่ แต่ทั้งนี้พวกเราประชาชนควรมีจิตสาธารณะในการช่วยกันดูแลบ้าง ที่สำคัญเด็กวัยรุ่นทั้งนั้นที่ชอบใช้สีเขียนทั้งตู้โทรศัพท์ กำแพงบ้าน ประตูบ้านคนอื่นก็ไม่เว้น เด็กจำพวกนี้ควรได้รับการสั่งสอนบ้างว่าอะไรควรไม่ควร” Phim Anna Lim

“หรือว่าประเทศเราต้องมีกฎรุนแรง ติดกล้องวงจรปิดไว้ตรวจจับคนทำลายตู้ค่ะ มันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานนะ เผื่อลำบากอยู่นอกบ้าน แล้วจะติดต่อขอความช่วยเหลือ” Muay Peace

คุณภาพของคนล้วนๆ ต่อให้ตู้ดีแค่ไหนก็โดนเหมือนเดิม” Toey Lop Angelis

“ต้องมีไว้ค่ะ แล้วต้องปรับปรุงให้ดีด้วย ยามจำเป็นต้องใช้ได้ ไม่ใช่ว่ามีแต่ตู้ไว้เฉยๆ แต่โทรไม่ได้” Npj Poro

“จำเป็น ต่างจังหวัดยังใช้กันอยู่เผื่อยามยาก” Aunchaleeyheengyung Showpunya

ลืมไปแล้วว่ายังมีอยู่...” Nuch Neeyo




นึกถึง “แพกลิงก์” คิดถึง “ตู้สาธารณะ”
เมื่อไม่ค่อยมีคนใช้และแทบไม่มีใครเห็นความสำคัญ ลองเปลี่ยน “ตู้โทร.” เป็น “ตู้ปลา” ท่าจะดีเหมือนกัน... จากไอเดียนี้เองที่ทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะบางตู้ในแดนกิมจิ กลับมาอยู่ในสายตาของคนที่เดินผ่านไปมาอีกครั้ง หลังจากตั้งเป็นอากาศธาตุมานานหลายปี สะท้อนให้เห็นว่านี่อาจมาถึงยุคที่เครื่องมือสื่อสารสาธารณะชนิดนี้ค่อยๆ ตายไปจากกิจวัตรและความทรงจำของผู้ใช้พร้อมๆ กันทั่วโลก รวมถึงในประเทศจีนซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก

มีการทำสถิติเกี่ยวกับ “การใช้งานเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโทร.เบอร์ทั่วไปตลอดทั้งปีของกรุงปักกิ่ง” ในปี 2555 เอาไว้ พบว่า เฉลี่ยแล้วมีผู้เข้าไปใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะทั้งหมดประมาณ 40 ล้านครั้ง รวมระยะเวลาการโทร.ราว 260 ล้านนาที เฉลี่ยแล้วเท่ากับมีการใช้งาน 2.8 ครั้งต่อวัน คิดเป็นเวลาประมาณ 18.2 นาที เท่ากับว่ามีคนเข้าไปเยือนในตู้ริมถนนเหล่านั้น ร้อยละ 98.7 ของเวลาทั้งวัน ซึ่งหมายความว่าส่วนใหญ่แล้วตู้เหล่านั้นจะตกอยู่ในสภาวะเงียบเหงา (ข้อมูลจากคอลัมน์ “เก่าเล่าไปใหม่บอกมา” โดย วังฟ้า)

ลองหันมาดูอัตราการใช้ในบ้านเราบ้าง ถึงแม้จะไม่มีการทำสถิติระบุตัวเลขออกมาแน่ชัด แต่จำนวนตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ถอนทิ้งไปก็มีสูงถึงเกือบ 20,000 ตู้ จากเดิมเคยมีจำนวน 40,000 กว่าตู้ทั่วกรุงเทพฯ จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ติดตามดูแลเรื่องการจัดระเบียบตู้สาธารณะในที่สาธารณะมาโดยตลอด ให้ข้อมูลสำคัญเอาไว้

“ตู้โทรศัพท์สาธารณะส่วนใหญ่ขาดการดูแล บางครั้งก็ชำรุด มีแต่ตู้ไม่มีเครื่อง มีเครื่องไม่มีหูฟัง หรือไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง แสดงว่าพี่น้องประชาชนไม่ค่อยได้ใช้สอย หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาดูแลก็น้อยลง เราจึงต้องแจ้งให้มารื้อถอนออกไป อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะทางบริษัทที่รับสัมปทานไปวางตู้ ชอบวางทีละ 7-8 ตู้ หลังจากวางไป 15-16 ปี ตอนนี้คงประเมินได้แล้วว่าแต่ละบริเวณที่ไปวางมีผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน บางตู้ไม่มีผู้ใช้เลยก็มี ตรวจสอบได้จากจำนวนเหรียญที่หยอดเข้าไปในตู้ได้

บางครั้งตู้โทรศัพท์ส่วนใหญ่ที่มาติดตั้ง ก็ไม่ได้วางตามตำแหน่งที่เรากำหนด หรือวางโดยไม่ได้รับอนุญาต พบว่าในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์สาธารณะบนท้องถนนจากจำนวนทั้งหมด 40,000 กว่าตู้นั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้วางในตำแหน่งที่กำหนดเกือบๆ 30,000 กว่าตู้ ได้รับอนุญาตเพียง 10,000 กว่าตู้เท่านั้นเอง เลยกลายเป็น “ตู้เถื่อน” ไป ต้องรื้อถอนออก”

ย้อนกลับไปมองวันวาน เมื่อครั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะยังคงเป็นที่ต้องการของทุกคน บางครั้งถึงกับต้องต่อคิวเพื่อเข้าใช้บริการกันเลยทีเดียว นับถอยหลังไปก็ราวๆ 20-25 ปีที่แล้ว สมัยนั้น การจะซื้อมือถือแต่ละเครื่องต้องใช้เงินเป็นแสน เพราะคลื่นมือถือยังมีจำกัด แถมโทรศัพท์ก็มีราคาแพง เครื่องมือสื่อสารที่ฮอตฮิตติดลมบนในช่วงนั้นจึงหนีไม่พ้น “แพกลิงก์” ซึ่งมีไว้ส่งข้อความสั้นๆ ถึงกัน และหนึ่งในข้อความยอดนิยมนั้นก็คือ “ติดต่อกลับด้วย” จึงทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ เพื่อที่จะเดินเข้าไปหยอดเหรียญ-ยกหู-กดเบอร์ และต่อสายถึงปลายทาง




ตู้ขยะ-ตู้อาชญากรรม
บางทีก็เป็นที่กองขยะบ้าง, ที่พักสัตว์เลี้ยง, ที่พักคนจรจัด หรือพอไฟดับก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นได้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันครับ เพราะจุดต่างๆ ที่วางตู้โทรศัพท์ก็ทำให้เกิดจุดอับขึ้นได้ ในกรณีที่ตั้งไว้ใต้สะพานลอย เอาตู้โทรศัพท์ไปวางหลายๆ ตู้ก็เป็นจุดอับขึ้นมาได้ และอาจเป็นที่ซ่องสุมของอาชญากรในอนาคตได้ เพราะคนอาจจะไม่ค่อยระวังตัวเวลาเดินผ่านตู้ ระหว่างนั้นมิจฉาชีพก็อาจจะใช้ช่องทางนี้เข้าจู่โจมทำให้เกิดปัญหา” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงกับออกปากเอง

และเชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์ร่วมกันมาก่อนเมื่อเดินผ่านตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถ้าไม่เห็นคนจรจัดนั่ง-นอนพักพิงอยู่ในนั้น ก็ต้องเคยเห็นน้องหมา-น้องแมวเข้าไปหลบแดด-กำบังฝน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องปรายตาเห็นบ้างว่าสภาพตู้โทรศัพท์แต่ละตู้นั้นทรุดโทรมขนาดไหน บ้างก็มีรอยขีดข่วนผ่านรอยเมจิกที่เกรียนมือบอนฝากไว้ บ้างก็กลายเป็นแหล่งปลดปล่อยอารมณ์ของพวกชอบทุบกระจก หรือแม้แต่แม่ค้าขายของเองยังฝากเครื่องมือหาเลี้ยงชีพต่างๆ นานาเอาไว้ในตู้ บอกได้เลยว่า ภาพคนใช้เครื่องมือสื่อสารชิ้นนี้ตามหน้าที่ของมัน หาดูได้ยากเต็มที

ก่อนที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้จะกลายเป็น “ขยะ” ในสายตาของคนเมืองไปจริงๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาทางปรับปรุงอยู่เหมือนกัน โดยทาง กทม. มองเอาไว้ว่าต้องการให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศโดยออกแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะให้สอดคล้องกับถนน ย่านชุมชน สำนักงานต่างๆ เป็นการปรับภูมิทัศน์ของเมืองไปในตัว โดยเฉพาะบริเวณป้ายรถเมล์ คิดไว้ว่าควรออกแบบให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ภายในศาลาที่พักผู้โดยสารไปเลย ก็จะไม่ทำให้เกะกะพื้นที่ เช่นเดียวกับโมเดลศาลาที่พักผู้โดยสารในอังกฤษ, ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ทำให้ตู้สาธารณะตั้งได้โดยไม่มีส่วนไหนมาบดบังให้เกิดเป็นมุมอับและอันตราย

ส่วนเรื่องเกณฑ์ในการตั้งตู้โทรศัพท์ทุกวันนี้ที่เห็นอยู่เกลื่อนทุกมุมเมืองจนเกินความจำเป็นนั้น เป็นเพราะไม่มีการระบุชัดเจนว่าควรตั้งมากน้อยเท่าใด มีเพียงระยะหลังเท่านั้นที่มีการหยิบเอาเรื่องระเบียบทางเท้าเข้ามาใช้ควบคู่ จึงมีข้อจำกัดตั้งเอาไว้อยู่บ้างว่า ตั้งแล้วต้องไม่ทำให้ทางเท้าหรือฟุตปาธแคบเกินไป เมื่อวางตู้โทรศัพท์แล้วต้องเหลือที่ให้เดินไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร, ต้องไม่วางเกะกะป้ายรถประจำทาง, ต้องตั้งเรียงกันไม่เกิน 5-6 ตู้ และต้องไม่วางใกล้ทางม้าลาย-ทางแยก

ที่สำคัญ ถ้าจะให้โทรศัพท์สาธารณะมีคุณค่าน่าใช้ตามยุคสมัย ทางกรุงเทพมหานครคิดเอาไว้ว่า ต้องปรับปรุงกันขนานใหญ่โดยให้เปลี่ยนเป็นรูปแบบ “One Stop Service”

จริงๆ แล้วเราก็สามารถปรับให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะทำกิจการเกี่ยวกับการเงินได้ เติมเงินมือถือได้ ทำนิติกรรมทางการเงินต่างๆ ได้ อย่างในหลายๆ ประเทศ ตู้โทรศัพท์สาธารณะสามารถเติมเงินบัตรรถไฟฟ้า-รถเมล์ และโอนเงินได้ด้วย ประชาชนก็จะได้รับความสะดวกมากขึ้น ตรงนี้ก็ต้องมาดูกันว่าจะร่วมมือกับองค์การสื่อสารยังไง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นเป็นโครงการนำร่องนะครับ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะจับมือกันเพื่อปรับในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องภูมิทัศน์ของถนนต่างๆ ให้สวยงาม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ข้างถนน ทั้งตู้โทรศัพท์, ป้ายรถเมล์แสดงผล หรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสาร สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบที่จะต้องทำต่อไปในอนาคต




เปลี่ยนเป็น “ตู้เติมเงิน” ได้ไม่คุ้มเสีย
ถ้าสามารถทำได้ตามที่ท่านรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครวาดฝันเอาไว้ก็คงจะดีไม่น้อย เพียงแต่ว่า ความเป็นจริงมันไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น วสุ คุณวาสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด หนึ่งในบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทานให้ติดตั้งและดูแลโทรศัพท์สาธารณะ บอกจากประสบการณ์เลยว่า เป็นไปได้ยาก แค่ให้ลองคิดเล่นๆ ว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ค่อยๆ ตายทุกวันนี้ จะสามารถแปลงโฉมให้สร้างสรรค์ น่าใช้กว่าเดิมได้อย่างไร เจ้าตัวยังได้แต่หัวเราะเบาๆ แล้วตอบว่า “เป็นคำถามที่ยากมากเลย เพราะผมก็เคยพยายามคิดนะ แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออก”

“พูดกันตรงๆ เลย โทรศัพท์สาธารณะทุกวันนี้รอวันตายอย่างเดียวครับ เพราะอัตราการใช้มันลงแบบสุดๆ แล้วทั้งในและต่างประเทศ บางคนใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน แล้วเงินหมดพอดี ก็เลยต้องหยอดเหรียญแทน เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องมีตู้โทรศัพท์กระจายๆ กันอยู่ ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศต้องมี ในแหล่งที่ห่างไกลบ้าง แหล่งชุมชนบ้าง บริษัทที่มาตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์แบบจริงๆ จังๆ แทบไม่มีแล้วครับ

ส่วนที่ฝันหวานถึงทางออกของตู้โทรศัพท์สาธารณะเอาไว้ว่า ให้แปลงโฉม เพิ่ม option เติมเงินเข้าไปนั้นก็ทำได้ แต่บอกได้เลยว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

“จุดที่เห็นว่าเหมาะสมในการทำให้สามารถเติมเงินได้ด้วย ก็จะเห็นว่ามีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเติมเงินโทรศัพท์อัตโนมัติโดยเฉพาะ เข้าไปติดตั้งเครื่องตรงจุดนั้นแล้ว อย่างเช่น ตามจุดที่เป็นห้างสรรพสินค้า, ชุมชน, รถไฟฟ้า ฯลฯ ก็เข้าไปเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าไปแข่งขันก็ต้องพิจารณาให้ดี ว่าถ้าจะเข้าไปลงทุนแล้วจะคุ้มมั้ย

อย่างของ True เอง ตู้สาธารณะของเราตั้งอยู่ตามท้องถนนเยอะ ซึ่งอาจจะไม่ใช่จุดที่ควรเปลี่ยนให้เติมเงินได้ด้วย เพราะพื้นที่ตรงนั้นอาจจะไม่ใช่จุดที่จะมีคนมาใช้จนกระทั่งคุ้มทุน ถ้าเรามีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ และตู้ที่อยู่ในแหล่งที่ยังทำเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งชุมชนครับ เช่น แถวโรงงานอุตสาหกรรม, อนุสาวรีย์ชัยฯ, หัวลำโพง, ตลาด ฯลฯ

แต่อย่างในห้าง ตู้เติมเงินเฉพาะก็มีอยู่แล้ว และคนก็ใช้น้อย ถ้าตู้ของเราทำเติมเงิน ก็อาจจะมีปัญหานิดนึง เพราะตู้ของเราไม่สามารถเติมได้ทุกแบรนด์ เราเติมให้กับแค่ True Move อย่างเดียว เพราะฉะนั้น การแข่งขันก็อาจจะสู้ตู้เติมเงินโดยเฉพาะไม่ได้ รายได้ที่ได้ก็ไม่ได้ได้เยอะเลยจากการเติมเงินผ่านตู้ เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจพวกนี้เป็น Micro Pop up ทั้งนั้นแหละครับ เติมเงินขั้นต่ำ 20-30 บาทเท่านั้นเอง”

ลองพิจารณาจากราคาต้นทุนดู จะเห็นว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” อย่างที่ยืนยันเอาไว้จริงๆ เพราะแค่ราคาตู้เติมเงินที่ซื้อมาตั้งตามห้างฯ, ย่านชุมชน และสถานีรถไฟฟ้า ที่เห็นๆ กัน เครื่องหนึ่งก็อยู่ในหลักหมื่น

“ต้องทำให้รับได้ทั้งเหรียญทั้งแบงก์ ราคาก็ไม่ได้ถูกเลย เพราะฉะนั้น จะมาเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เติมเงินได้ มันอาจจะไม่คุ้มทุนเพราะจำนวนคนใช้ก็ไม่ได้เยอะ เท่าที่ผมเคยเช็คราคาเอาไว้ เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เช็คจากเมืองจีน ตัวเครื่องที่สามารถใส่หูโทรศัพท์และเติมเงินได้ด้วย ตู้หนึ่งตั้ง 3-4 หมื่นบาทแน่ะ

แล้วถ้าจะจับเอาตู้เก่ามาอัปเครื่องใหม่ ทำให้เติมเงินได้ด้วย ผมว่าเปลี่ยนเครื่องใหม่ไปเลยดีกว่าครับ (น้ำเสียงปลงๆ) เครื่องเดิมสภาพมันเก่ามากแล้ว ถ้าจะปรับจากของเดิม มันยิ่งจะไม่คุ้ม ส่วนถ้าจะสั่งซื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะตัวใหม่เข้ามา ก็แทบหาซื้อไม่ได้แล้ว แทบจะไม่มีขายแล้วครับ พอโทรศัพท์สาธารณะคนไม่นิยมใช้ ก็แทบไม่มีใครผลิต และถ้าจะสั่งผลิตบางแบรนด์ก็จะแพงมากๆ หรือถ้าจะซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเครื่องเก่าที่ชำรุดอยู่ อายุการใช้งานแต่ละเครื่องก็เกือบ 10-20 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็พยายามดูแลรักษาเท่าที่ทำได้ เพราะบางยี่ห้อ บางรุ่น อะไหล่ก็ไม่มีแล้วจริงๆ

แต่ถามว่ายังมองเห็นความจำเป็นของตู้เก่าๆ ทั้งหลายเหล่านี้อยู่บ้างไหม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด ตอบเลยว่า “ยังจำเป็นอยู่นะครับ โดยเฉพาะเมืองไทยที่คนใช้โทรศัพท์แบบเติมเงินถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เติมเงินมันก็ต้องมีวันหมด จึงสามารถใช้ตู้สาธารณะได้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะพึ่งได้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ตั้งให้มันถี่มาก ตั้งให้มันห่างๆ กันหน่อย หน้าร้านสะดวกซื้อบ้าง ปั๊มน้ำมันบ้าง เฉพาะจุดที่สำคัญๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้มีทุกมุมถนน เต็มไปหมดอย่างที่เป็นอยู่

ที่สำคัญคือ ทางภาครัฐ ผู้ให้สัมปทานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องออกตัวเลยว่าจะเป็นคนรับผิดชอบ ให้บริการโดยไม่หวังรายได้หรือกำไรอะไรมากมาย แต่ถือว่าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ และต้องให้มีฝ่ายจัดการดูแลโดยเฉพาะ อย่างที่ในต่างประเทศเรียกว่า USO (United Service Organizations)

“เพราะถ้าไม่จัดการให้เป็น USO ไม่ได้ออกกฎบังคับออกมาว่า ในกรุงเทพฯ ต้องมีตู้โทรศัพท์สาธารณะกี่เครื่องๆ ลองนึกภาพสิครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหมดสัมปทานแล้วไม่มีใครดูแล และทางภาครัฐก็ไม่เข้ามาดูแลตรงนี้ คำถามคือเอกชนรายไหนจะมากล้าลงทุน สู้ไปลงทุนอย่างอื่นที่อยู่ในเทรนด์ดีกว่า

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
เรื่องโดย อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพโดย สุภิญญา นาคมงคล, นฤมล ประพฤติดี, อิสสริยา อาชวานันทกุล


ที่นอนคนจร

ที่พักของ น้องหมา
ที่นอน น้องแมว
ที่วางของสาธารณะ


สภาพน่ารันทด

แหล่งระบายเกรียนมือบอน


ที่แปะคำโฆษณา


แปลงโฉมเป็นตู้ปลา
แปลงตู้ให้เข้ากับเมือง
ยกตู้เถื่อนทิ้ง
นานที จะได้เห็นคนใช้บริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น