xs
xsm
sm
md
lg

ป้องกัน "โจรห่มเหลือง" ออกกฎห้ามพระขับ-ขี่รถ!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ห้ามพระขับขี่รถยนต์-รถจักรยานยนต์ เว้นเสียแต่ว่าจะไปทำกิจของสงฆ์” เมื่อข่าวออกมาข้อห้ามดังกล่าว อยู่ในร่างประกาศคณะสงฆ์ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ภายใน 14 ก.พ.นี้ จึงกลายเป็นประเด็นน่าสนใจ ยิ่งทราบว่าเบื้องหลังข้อห้ามนี้เกิดจากความต้องการตัดปัญหาเรื่องพระมิจฉาชีพ จึงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและส่ายหน้า และนี่คืออีกหนึ่งเสียงที่ต้องการสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้




ป้องกันพระปลอม สงสารพระจริง
“ระเบียบนี้คงจะไม่เหมาะมั้งครับ เพราะไปเหมารวมพระปลอมเรื่องการใช้รถในการแฝงกายเรี่ยไรเงิน มาทำให้พระรูปดีๆ ต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะพระท่านก็ต้องไปธุระ ต้องไปทำกิจของสงฆ์ ถ้าเดินทางด้วยรถแล้วมีกฎออกมาห้ามแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเดินทางไปได้ยังไง
ไม่แน่ใจว่าการไปห้ามแบบนี้จะไปป้องกันมิจฉาชีพได้มากแค่ไหน เพราะมิจฉาชีพเขาก็มีวิธีอื่นอีกเยอะแยะที่จะหลบเลี่ยงได้ เขามีรถส่วนตัวของตัวเอง แต่ออกกฎแบบนี้อาจจะกระทบต่อพระทั่วๆ ไปที่ต้องโดยสารรถเมล์ แท็กซี่ด้วย จะทำให้ท่านเดือดร้อนไปด้วยศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะเอาไว้

ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปตามท้องถนนหรือที่สาธารณะยกเว้นการทำงานในวัด แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาส หากพระภิกษุสามเณรละเมิดประกาศนี้ ให้เจ้าอาวาสว่ากล่าวตักเตือนหากยังทำผิดซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ให้ลงโทษตามสมควรและรายงานความผิดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัดตามลำดับ หากผู้ที่กระทำความผิดเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป เมื่อได้มีการว่ากล่าวตักเตือนแล้ว 3 ครั้ง ยังกระทำความผิดอีก จะถูกลงโทษโดยระงับการขอตำแหน่งและสมณศักดิ์เป็นเวลาตั้งแต่ 1-3 ปี”

นี่คือรายละเอียดที่ว่ากันว่ากำลังจะประกาศใช้ภายในวันที่ 14 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ซึ่งถึงแม้จะอนุโลมให้พระภิกษุสามเณรโดยสารรถได้ในกรณีที่ไปทำกิจของสงฆ์ แต่อาจารย์วัชระก็ยังมองว่าเป็นข้อจำกัดที่ “มากเกินไป” อยู่ดี

“ถึงจะบอกว่าถ้าเป็นกิจของสงฆ์อนุญาตให้โดยสารรถไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่อนุญาต แต่ความจริงแล้ว เราจะมานั่งแบ่งแยกกันยังไง จะทำให้พระท่านลำบากไปมั้งครับ เหมือนกับไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของท่านมากไป น่าจะมีมาตรการอื่นออกมาดีกว่ามั้ยครับถ้าจะออกกฎนี้มาเพื่อป้องกันพระปลอมที่ทำไม่ดี

และถึงออกมาเป็นกฎจริงๆ การตรวจสอบก็จะยุ่งยาก เราจะรู้ได้ยังไงว่าท่านไปหรือไม่ได้ไปกิจของสงฆ์จริงๆ ทุกคนก็อ้างได้ครับ คราวนี้ก็จะมาเดือดร้อนพระรูปที่ท่านต้องไปทำกิจสงฆ์จริงๆ เพราะพระที่ทำกิจจริงๆ ท่านก็ต้องวิ่งวุ่นกันทั้งวันล่ะครับ และวิธีนี้ก็ป้องกันไม่ค่อยได้ เวลาตรวจสอบพระปลอมก็อ้างได้ว่าไปกิจของสงฆ์ หลักฐานปลอมก็อ้างกันได้ง่ายๆ เหมือนการเรี่ยไรไงครับ เดี๋ยวนี้พระปลอมเขาก็สามารถบอกบุญกันได้ง่ายๆ พิมพ์ใบผ้าป่า-กฐินปลอมกันได้เยอะแยะไป ตรวจสอบลำบากครับ

เพราะฉะนั้น คิดว่าน่าจะเป็นมาตรการที่ได้ผลน้อย ในขณะที่จะไปส่งผลเสียต่อพระเณรที่ท่านเป็นพระเณรที่ดี ไม่ได้สร้างผลเสียอะไรมากกว่า โดยเฉพาะพระตามต่างจังหวัด จะไปทำกิจแต่ละครั้งท่านก็ต้องอาศัยรถประจำทางบ้าง รถวัดบ้าง ถึงจะออกไปได้ ไม่อย่างนั้นก็คงต้องบอกให้ท่านอยู่แต่ในวัดซึ่งยุคนี้ก็คงทำไม่ได้ เดี๋ยวกลายเป็นว่าท่านอยู่เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอีก ผมคิดว่ามาตรการนี้น่าจะได้ผลน้อย มันจะเป็นผลเสียซะมากกว่า น่าจะมีมาตรการที่ได้ผลดีกว่านี้ครับ”




พระขับรถ ไม่ผิดพระวินัย
ลองวิเคราะห์ดูแล้ว อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าส่วนหนึ่งที่มีกฎแบบนี้ออกมา อาจเป็นเพราะ “นิสัยของคนไทย” เอง

“เรื่องวินัย ในยุคนี้ คงไม่ได้ผิดอะไร แต่คงเป็นที่คนไทยมองว่าไม่เหมาะสมมากกว่า เพราะตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยบัญญัติไว้ว่าผิดพระวินัย เพราะสมัยนั้นก็ยังไม่มียานพาหนะใช้ พอมายุคนี้ เราก็คงต้องดูกันตามความจำเป็นครับ ถ้าเห็นว่าจำเป็น ก็คงต้องปล่อยให้ท่านใช้รถตามปกติ ถ้าต้องทำกิจสงฆ์แล้วไม่สามารถเดินทางไปเองได้ ก็คงต้องอนุโลมครับ เว้นเสียแต่ว่าท่านไปขับรถซิ่ง อันนี้ก็ค่อยว่ากันว่าไม่เหมาะสม

ในสถานที่ที่มีคนบริการท่านได้ ก็ไม่น่าให้พระขับ เพราะสังคมไทยอาจจะมองว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้าอยู่ในที่ที่ไม่มีใครให้บริการท่านได้ ก็น่าจะอนุโลมให้ท่านได้นะครับ เพราะไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอะไรที่ชัดเจน

เรื่องพระขับรถ จริงๆ แล้วไม่มีผิดวินัยโดยตรงน่ะนะครับ แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะมองดูแล้วคิดว่าไม่เหมาะสม ไม่เหมาะกับพระ ก็เลยคิดกันไป ยกตัวอย่างในที่ที่ทุรกันดาร จะเห็นว่าบางที่ พระท่านก็ยังต้องขี่ม้า ขี่จักรยานไปบิณฑบาตนะครับ ไม่งั้นท่านจะไม่สามารถเดินทางไปรับบาตรได้ทันฉันเพล

ถ้าข้อบังคับนี้ออกมาด้วยเหตุผลของเรื่องที่ต้องการจะป้องกันพระปลอม-พระมิจฉาชีพ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องแก้ปัญหาไปที่เรื่องการประสานงานกับพระสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองให้มากขึ้นครับ ในการจะตรวจสอบพฤติกรรมต่างๆ และประชาชนก็ช่วยเป็นหูเป็นตาให้มากขึ้น ถ้าเกิดมีพระมาเรี่ยไรบอกบุญ ให้โทร.ไปแจ้งที่สำนักพุทธฯ หรือเจ้าคณะกรุงเทพฯ เพื่อให้สังคมตื่นตัวและไม่ให้ถูกหลอก ทำให้พระปลอมที่จะมาหลอกชาวบ้านมีน้อยลง”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE









กำลังโหลดความคิดเห็น